ทำความรู้จัก Japanese Bobtail – – แมวหางกุดสุดน่ารักจากแดนอาทิตย์อุทัย
หลังจากที่คราวก่อนเราเอาใจทาสหมาด้วยการพาไปรู้จักเรื่องราวของชาคาลิน ฮัสกี้ ซึ่งถือกำเนิดที่รัสเซียแต่ทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในสุนัขท้องถิ่นของญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อความบาลานซ์ของเหล่าทาสทั้งหลาย ครั้งนี้เราจึงขอชวนไปทำความรู้จักกับเจ้าเหมียวที่ได้ชื่อว่าเป็นแมวเจ้าบ้านประจำแดนปลาดิบกันบ้างดีกว่า บอกเลยว่าน่ารักปุ๊กปิ๊กไม่แพ้กันเลยละ ว่าแล้วก็ไปอ่านเรื่องราวของเจ้า Japanese Bobtail กันเลย!
แม้ว่าสุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่นอย่างชิบะหรืออาคิตะ อาจจะเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมในบ้านเรามากกว่า แต่จริงๆ แล้วชาวประชาญี่ปุ่นนั้นกลับได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่นิยมเลี้ยงแมวมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก! ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเลี้ยงสุนัขต้องใช้พื้นที่มากกว่าการเลี้ยงแมวนั่นเอง จึงทำให้เจ้าเหมียวกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มากกว่า
ในขณะที่ญี่ปุ่นมีสุนัขสายพันธุ์ท้องถิ่นอยู่มากมาย แต่กลับมีแมวแดนอาทิตย์อุทัยที่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นแท้ๆ อยู่แค่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือแมวสายพันธุ์ที่ชื่อว่า Japanese Bobtail ซึ่งดูเผินๆ แล้วมีลักษณะหน้าตาที่คล้ายกันกับแมวไทย เพียงแต่จะมีจุดเด่นตรงหางซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ ฟูๆ ดูคล้ายหางกระต่าย ไม่ได้มีหางยาวแกว่งไปมาอย่างที่เราคุ้นตากัน – – หลักฐานโบราณที่ค้นพบเกี่ยวกับการเลี้ยงแมวในญี่ปุ่นนั้นย้อนกลับไปได้ถึงในช่วงราวศตวรรษที่ 6 เลยทีเดียวละ เชื่อกันว่าในยุคแรกเริ่มนั้น แมวถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นโดยเหล่านักบวชพุทธชาวจีน ซึ่งนิยมเลี้ยงแมวในวัดเพื่อกำจัดหนูซึ่งจะมากัดแทะคัมภีร์หรือบทสวดมนต์ต่างๆ ที่ทางวัดเก็บไว้ ต่อมาแมวได้รับความนิยมจากเหล่าขุนนางและชนชั้นสูงในราชสำนัก จนถึงในยุคขององค์จักรพรรดิ Ichijo ก็ถึงขั้นมีการประกาศแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ขุนนางให้กับแมวที่ทรงเลี้ยงเอาไว้ และห้ามไม่ให้มีการขยายพันธุ์แมวโดยไม่ได้รับอนุญาต แถมในบางครั้งเมื่อถึงเวลาออกว่าราชการ องค์จักรพรรดิก็ยังนำแมวที่ทรงเลี้ยงไว้ คล้องด้วยสายจูงผ้าไหมสีแดงสดสูงค่าออกไปพบข้าราชบริพารที่มาเข้าเฝ้าพร้อมกันบ่อยๆ อีกด้วย
ในช่วงประมาณปี ค.ศ.1602 อุตสาหกรรมผ้าไหมซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในสมัยนั้น เกิดความเสียหายจากการที่ถูกหนูบุกเข้าไปกัดกินหนอนไหมและรังไหมจนเกิดการเสียหายเป็นวงกว้าง ทำให้มีการเรียกร้องจากบรรดาผู้ผลิตไหมให้มีการนำแมวที่ผู้คนทั้งหลายเลี้ยงไว้มาใช้ช่วยในการกำจัดหนู ทางการจึงจำเป็นต้องออกนโยบายให้มีการปล่อยแมวที่ถูกเลี้ยงเอาไว้ตามบ้านออกมายังพื้นที่สาธารณะ และห้ามไม่ให้มีการซื้อขายหรือเลี้ยงแมวในบ้านส่วนตัวอีกต่อไป ทำให้เหล่าบรรดาแมวลูกคุณลูกท่านหลานเธอทั้งหลายกลายเป็นแมวข้างทางที่พบได้ทั่วไปในญี่ปุ่นภายในพริบตา รวมถึงเกิดการขยายพันธุ์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในช่วงต่อมาซึ่งญี่ปุ่นได้เปิดประเทศต้อนรับบรรดาพ่อค้าและผู้คนจากทุกมุมโลก ถือเป็นช่วงที่มีการนำแมวสายพันธุ์ต่างๆ จากนานาประเทศเข้าไปในญี่ปุ่นมากมาย ทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์และเกิดการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมที่หลากหลายขึ้นของแมวในญี่ปุ่นตั้งแต่นั้นมา
หากเมื่อญี่ปุ่นได้ทำการปิดกั้นตนเองจากโลกภายนอกในช่วงราวปี ค.ศ.1603 – 1867 จึงไม่มีการนำเข้าแมวจากต่างประเทศอีกต่อไป ซึ่งในช่วงนี้เองที่ทำให้แมวในประเทศญี่ปุ่นได้ผสมพันธุ์ปนเปกันไปจนทำให้เกิดเป็นแมวที่มีหางสั้นกลมขนเป็นพู่นุ่มๆ เหมือนหางกระต่าย จากนั้นในปี ค.ศ.1968 Elizabeth Freret ได้เดินทางมาที่ญี่ปุ่นและพบกับเจ้าแมวหางกลมประจำท้องถิ่นนี้เข้า จากนั้นเธอจึงนำเจ้า Japanese Bobtail เดินทางข้ามโลกไปยังฝั่งตะวันตก ก่อนที่พวกมันจะได้รับการยอมรับในฐานะ Championship status ใน Cat Fanciers’ Association ช่วงปี ค.ศ.1976 และขึ้นทะเบียนเป็นแมวสายพันธุ์ท้องถิ่นของญี่ปุ่นซึ่งได้รับการยอมรับไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
ว่ากันว่าชาวญี่ปุ่นนั้นมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับแมวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่มีหางสั้นๆ เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อแบบโบราณที่ว่าแมวหางยาวนั้นเมื่อโตเต็มวัยจะมีหางงอกเพิ่มขึ้นมา และจะใช้การเดินด้วยขาหลังไปพร้อมกับการร่ายเวทย์มนต์ใส่ผู้คนทั้งหลาย รวมถึงยังมีนิทานโบราณที่เล่าต่อกันมาถึงกำเนิดของเจ้า Japanese Bobtail ว่าเดิมทีเจ้าแมวท้องถิ่นของญี่ปุ่นก็มีหางยาวเหมือนกับแมวทั่วไปนั่นละ วันนึงขณะที่แมวตัวหนึ่งกำลังนอนหลับอยู่ใกล้ๆ กับเตาผิงอันอบอุ่นนั้น หางของมันเกิดแกว่งเข้าไปใกล้ๆ เตาผิงจนทำให้ไฟลุกติดหางของมันขึ้นมา ด้วยความตกใจ เจ้าแมวจึงวิ่งเตลิดไปทั่วเมืองจนทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนครั้งใหญ่ ทำให้องค์จักรพรรดิทรงพิโรธจัด และสั่งให้จับแมวทุกตัวที่เจอมาตัดหางให้สั้นกุดตั้งแต่นั้นมา จนเป็นที่มาของเจ้า Japanese Bobtail อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้นั่นเอง
อาจเพราะเรื่องเล่าทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้ชาวญี่ปุ่นโบราณเชื่อว่าแมวหางกุดจะนำมาซึ่งความโชคดีในหลายด้านมากกว่าแมวหางยาวทั่วไป จนนำพวกมันมาเป็นต้นแบบของแมวกวัก หรือ Maneki Neko ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องรางและสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่เราคุ้นตากันอยู่ในปัจจุบัน – – ส่วนนิสัยที่แท้จริงของเจ้า Japanese Bobtail นั้น ถือเป็นแมวที่ค่อนข้างขี้เล่นและเป็นมิตรกับเด็กๆ รวมถึงสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นๆ แต่ว่ากันว่าพวกมันจะเข้ากันได้ดีที่สุดกับแมวสายพันธุ์เดียวกัน นอกจากนั้นพวกมันยังเป็นแมวที่ฉลาดและมีแนวโน้มที่จะอ้วนได้ง่าย หากไม่หมั่นให้ออกกำลังกายและควบคุมอาหารการกินให้ดี – – โดยรวมแล้ว นี่คือแมวอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ทั้งฉลาด น่ารัก และยังเชื่อกันว่าจะนำพาโชคดีเข้ามา ทาสคนไหนสนใจ ลองหา Japanese Bobtail มาไว้ในบ้านดูซักตัวสองตัวก็แล้วกัน!
เรื่องแนะนำ :
– เรื่องหมาๆ ในแดนอาทิตย์อุทัย ไม่ได้มีแค่ฮาจิโกะเท่านั้นนะ!
– หนังสือการ์ตูนยุคแรกเริ่มของญี่ปุ่นเป็นยังไง ไปดูกัน!
– 10 ลาย ‘Wagara’ กับความสวยที่ไม่ใช่แค่ลวดลาย แต่มีความหมายดีๆ ซ่อนอยู่
– ส่องที่มาเทศกาล ‘Hanabi’ ดอกไม้ไฟแห่งปีที่คนญี่ปุ่นนับล้านรอคอย!
– ก่อนจะเป็น หนึ่ง สอง สาม สี่ เดือนญี่ปุ่นเคยมีชื่อเรียกมาก่อนนะ!
อ้างอิงข้อมูลและรูปภาพจาก:
https://pangovet.com/pet-lifestyle/cats/cats-in-japanese-culture-and-history/
https://pangovet.com/pet-breeds/cats/japanese-bobtail-cat/
https://www.cat-breeds-info.com/japanese-bobtail-cats.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_Bobtail
#ทำความรู้จัก Japanese Bobtail – – แมวหางกุดสุดน่ารักจากแดนอาทิตย์อุทัย