ว่าด้วยเรื่องของคอสตูมนักมวยปล้ำญี่ปุ่น…ในวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นนั้น ต้องบอกว่าเป็นวงการที่เต็มไปด้วยความลับ และความใส่ใจในทุกรายละเอียดจริง ๆ ไล่มาตั้งแต่เรื่องของบทบาท, การรักษาภาพพจน์ในที่สาธารณะ และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถือเป็น First Impression ของแฟน ๆ นั่นก็คือเรื่องของ “คอสตูม” ที่นักมวยปล้ำจะสวมใส่นั่นเอง
ในวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นนั้น ต้องบอกว่าเป็นวงการที่เต็มไปด้วยความลับ และความใส่ใจในทุกรายละเอียดจริง ๆ ไล่มาตั้งแต่เรื่องของบทบาท, การรักษาภาพพจน์ในที่สาธารณะ และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะถือเป็น First Impression ของแฟน ๆ นั่นก็คือเรื่องของ “คอสตูม” ที่นักมวยปล้ำจะสวมใส่นั่นเอง
คอสตูมของนักมวยปล้ำญี่ปุ่นนั้นกว่าจะได้เป็นคอสตูมที่นักมวยปล้ำมีอิสระในการใส่หรือออกแบบตามที่ตนเองต้องการนั้น บางสมาคมก็จะมีกฏห้ามเอาไว้จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม หรือกระทั่งการส่งต่อคอสตูมเก่าของตนเองให้กับนักมวยปล้ำคนอื่น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ ทุกอย่างมี “ค่านิยม” กำหนดไว้ทั้งสิ้น ดังนั้นวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักเรื่องราวของ “คอสตูมนักมวยปล้ำ” กันครับ
รูปแบบของคอสตูมมวยปล้ำ
– Mix & Match : กล่าวคือรูปแบบนี้จะไม่ได้เป็นคอสตูมมวยปล้ำที่ตัดเฉพาะเพื่อนักมวยปล้ำคนนั้น แต่จะเป็นการที่นักมวยปล้ำไปหาชุดมาประกอบกันเองให้เข้ากับคาแรกเตอร์ของตน คือสมมติต้องรับบทเป็นทหาร เขาอาจจะไปซื้อเสื้อกล้ามทั่วไปมาใส่คู่กับกางเกงลายทหาร เป็นต้น คือสรุปง่าย ๆ ว่าเอาชุดปกติที่หาได้ตามร้านค้ามาผสมผสานกันให้ตรงกับบทบาทและใส่ขึ้นโชว์นั่นเอง ข้อดีของแบบนี้คือค่อนข้างประหยัดงบประมาณ และหากมีการสูญหายระหว่างขนย้าย โอกาสที่จะหามาทดแทนก็พอจะมีโอกาสมากกว่าชุดที่สั่งตัดเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ข้อเสียก็คือ ชุดบางชุดเราอาจหารูปแบบที่ต้องการไม่ได้ หรืออาจจะมีข้อเสียเรื่อง “ขนาด” ที่ไม่ได้ถูกวัดมาให้เข้ากับขนาดตัวของเราอย่างตรงเป๊ะ และการแข่งขันมวยปล้ำที่ต้องขยับร่างกายเยอะ การที่ชุดเคลื่อนอาจเป็นอุปสรรคในการต่อสู้ได้ครับ
– ชุดที่สั่งตัดโดยเฉพาะ : สำหรับนักมวยปล้ำที่ไม่สามารถหาชุดโดยการมิกซ์ แอนด์ แมตช์ได้ หรืออาจจะมีดีไซน์เป็นของตนเอง ก็จะใช้วิธีการสั่งตัดครับ โดยปกติแล้วชุดมวยปล้ำจะหาคนทำยากและมีเฉพาะส่วน เพราะรูปแบบการตัดเย็บนั้นจะต้องเรียนรู้เป็นกรณีพิเศษ เพราะหากชุดตัดเย็บไม่ดีและไปฉีกขาดบนเวที จะเป็นเรื่องที่น่าอับอายมาก ผมเคยมีโอกาสไปเดินพาหุรัต เพราะนักมวยปล้ำญี่ปุ่นต้องการจะตัดเย็บชุดมวยปล้ำในไทย และก็สามารถหาผ้าชนิดเดียวกันได้ในราคาที่ถูกกว่าญี่ปุ่นหลายเท่า แต่พอมาลองตัดเย็บในไทยจริง ๆ ก็พบว่าแม้จะวัดตัวอย่างถูกต้อง แต่ชุดก็ยังขยับบ่อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ไม่สามารถใช้แข่งขันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเมื่อลองเอาชุดไปแก้ไขที่ญี่ปุ่น ก็พบว่ามีรูปแบบการตัดเย็บที่ไม่เหมือนกัน
ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าชุดมวยปล้ำนั้น หากมีรายละเอียดเยอะ ควรสั่งตัดที่ร้านสำหรับทำชุดมวยปล้ำหรืออย่างน้อยต้องมีประสบการณ์จริง ๆ หรือหากไม่สามารถหาได้ ควรตัดเสร็จแล้วมาทดลองใส่วิ่ง หรือกระโดด ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่าชุดจะใช้งานได้จริง ๆ ไม่ควรตัดเสร็จแล้วใส่ขึ้นปล้ำเลยอย่างเด็ดขาด
ราคาของคอสตูมมวยปล้ำ

– คอสตูมถือเป็นสิ่งที่แพงที่สุดในตัวของนักมวยปล้ำครับ อย่างที่บอกไปในเรื่องของความยากในการสั่งตัด และทางร้านเองก็มักจะคิดราคาแพงเนื่องจากบล็อคหรือแบบที่วางไว้สามารถใช้ได้แค่กับคนที่เป็นนักมวยปล้ำเท่านั้น ไม่สามารถเอาไปทำขายต่อเป็นงาน Mass Market ได้
นอกจากนี้ร้านที่รับทำชุดมวยปล้ำแบบมืออาชีพก็มักจะสอบถามตั้งแต่เนิ่น ๆ เลยว่าจะต้องการสิ่งใดบ้างในการทำคอสตูม ไล่มาตั้งแต่ เสื้อ กางเกง กระโปรง สนับศอก สายรัดข้อมือ สนับเข่า รองเท้า แผ่นรองเตะ ฯลฯ ทั้งนี้ผู้ที่เป็นนักมวยปล้ำต้องระบุให้ชัดเจน เพราะการดีไซน์ทั้งหมดจะต้องสัมพันธ์กัน ตลอดจนวิธีการตัดก็จะไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่แล้วนักมวยปล้ำจะทำให้เสร็จเป็นชุด ๆ เลย ไม่ค่อยมีการสั่งทำชุดก่อน แล้วค่อย ๆ ทำสนับแข้งสนับขาตามมาทีหลัง และที่สำคัญร้านที่รับทำชุดมวยปล้ำจริง ๆ จะมีประสบการณ์ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยมาก
ยกตัวอย่าง สมมตินักมวยปล้ำวาดภาพลายที่ตนเองต้องการมา ร้านบางร้านก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ทำให้ หรือออกความเห็นให้แก้ไข เพราะชุดบางชุดอาจจะสวยจริง แต่การป้องกันอาการบาดเจ็บจะทำได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้นเป็นเรื่องของนักมวยปล้ำที่จะต้องพูดคุยกับผู้ผลิตให้ดี เพื่อที่จะได้ของที่ปลอดภัยและสวยงามโดนใจที่สุด
จุดขายสปอนเซอร์
ปัจจุบันวงการมวยปล้ำมีปัจจัยสำคัญ 3 อย่างที่เชื่อมโยงกันคือ
1.ค่าจ้างนักมวยปล้ำมีราคาถูกลง
2.นักมวยปล้ำอยากเปลี่ยนคอสตูมบ่อย ๆ
3.แฟน ๆ ที่อยากสนับสนุน ตลอดจนวงการธุรกิจสีเทา
ดังนั้นจึงเกิดการนำปัจจัยเหล่านี้มารวมกันครับ ต้องบอกว่าการสนับสนุนจากแฟน ๆ นั้นมีเป็นจำนวนมาก และแฟน ๆ เองในปัจจุบันต้องบอกว่ายินดีที่จะสนับสนุนคนที่ตนเองรักมากกว่าแต่ก่อน (จากประสบการณ์คิดว่าแบบนี้) ดังนั้นเราจะเห็นว่านักมวยปล้ำหลายคนจะมีโลโก้ของร้านค้า หรือชื่อบริษัทติดอยู่บนเสื้อหรือกางเกงของตนเอง พวกนี้คือคนที่ช่วยออกทุนในการทำคอสตูมให้ครับ หรือถ้าเอาแบบดาร์คหน่อย ๆ ก็คือธุรกิจสีเทา หรือธุรกิจหนังลามกอะไรแบบนี้ ธุรกิจลามกจะไม่สามารถประกาศอย่างโต้ง ๆ เลยว่าเขาสนับสนุนรายการอีเวนท์นี้ โดยเฉพาะวงการมวยปล้ำหญิงที่แทบจะตัดขาดกับวงการสื่อลามกเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร?
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือวงการเหล่านี้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ของนักมวยปล้ำแทน และบางทีเราก็จะเห็นนักมวยปล้ำชายขึ้นปล้ำในสมาคมมวยปล้ำหญิง และมีโลโก้บริษัทเอวีติดอยู่บนกางเกง มันเป็นเหมือนวิธีการเลี่ยงกฏหมายทางอ้อมน่ะครับ แม้หลาย ๆ คนจะไม่ชอบ (คือไม่ชอบวิธีการนี้ แต่ก็จำเป็นต้องใช้งานนักมวยปล้ำคนนี้) มันเป็น contrast ที่ไม่สามารถเลือกได้ของตัวสมาคม อารมณ์ว่าถ้าอยากได้นักมวยปล้ำคนนี้ก็ต้องยอม
คอสตูมสำหรับนักมวยปล้ำหน้าใหม่เท่านั้น
นอกจากคอสตูมมวยปล้ำที่นักมวยปล้ำสามารถเลือกได้แล้ว เรายังมีคอสตูมเฉพาะที่สมาคมมวยปล้ำบังคับให้เด็กฝึก หรือนักมวยปล้ำหน้าใหม่ของสมาคมใส่ด้วย จนกว่าจะได้รับการยอมรับหรือมีบทบาทอื่น ๆ ในอนาคตมารองรับ ยกตัวอย่างที่ดัง ๆ ก็เช่น
– Young Lion ของสมาคม New Japan Pro Wrestling : นักมวยปล้ำที่เป็น Young Lion (อธิบายยาว เอาเป็นว่าอารมณ์ประมาณนักมวยปล้ำหน้าใหม่ละกัน) จะใส่กางเกงในดำ รองเท้าดำ ไม่มีอะไรฟูฟ่าฮือฮาเป็นจุดเด่น รวมถึงท่ามวยปล้ำก็จะเน้นพื้นฐานด้วย แต่ก็จะมีการพลิกแพลงออกมาให้น่าสนใจ คือให้คนโฟกัสไปที่ความไม่สิ้นสุดของลีลาการปล้ำที่ยอดเยี่ยมนั่นเอง
– รุคกี้ของ Sendai Girls Pro Wrestling : (หมายเหตุ : ภาพประกอบด้านบนเป็นภาพเก่านะครับ) สมาคมนี้ก็จะบังคับเด็กของตนเองใส่คอสตูมสีแดง อาจจะมีสไตล์ต่างกันบ้าง (แบบทรงเสื้อ) ซึ่งทุกคนก็จะไม่มีข้อยกเว้นครับ อย่างน้อยต้องมีปีสองปี และทุกคนก็จะกินอยู่ด้วยกัน ฝึกด้วยกัน ตรงนี้เป็นเหมือนกุศโลบายให้นักมวยปล้ำเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั่นเอง
คอสตูมนักมวยปล้ำนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งครับ เป็นความแฟนตาซี เป็น First Impression ให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักมวยปล้ำ ต้องหันมามอง (อย่างเช่นอะไรล่ะที่สมมติเขาเปิดช่องทีวีมาเจอมวยปล้ำ ต้องหยุดดูว่าเห้ย ไอ้ตัวประหลาดนี่มันใครกันนะ) องค์ประกอบนี้เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าทักษะการปล้ำเลยล่ะครับ
เรื่องแนะนำ :
– ความน่ากลัวของแฟนมวยปล้ำ
– ความยากลำบากของการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ
– Kansui Park สวนสาธารณะที่ควรไปสักครั้ง
– The Omiya Bonsai Art Museum สวรรค์สำหรับคนรักบอนไซ
– สถานที่แปลกๆ ในการจัดมวยปล้ำญี่ปุ่น