รู้หรือไม่ว่ากาแฟที่ใช้ในร้านมูจินั้น เป็นกาแฟ “ดอยตุง” MUJI เลือกดอยตุงเนื่องจากคุณภาพดี และต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ทางแบรนด์รับรู้เรื่องโครงการในพระราชดำริที่ต้องการสร้างงานให้ชาวเขาเพื่อไม่ให้พวกเขาหันไปปลูกฝิ่น และต้องการสนับสนุน
ในยุคที่แบรนด์ต่าง ๆ แข่งขันกันทำการตลาดแย่งส่วนแบ่งในใจผู้บริโภค มันคงเป็นการยากที่จะลูกค้าอย่างเรา ๆ จะรักแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งไปนาน ๆ และซื้อสินค้าของแบรนด์นั้นอย่างสม่ำเสมอ
ขณะพิมพ์ต้นฉบับนี้ ดิฉันกำลังนั่งมองปากกาหมึกซึมมูจิด้ามละ 30 บาทที่ใช้เป็นด้ามที่ 3 ในชีวิต ปากกาที่เขียนง่าย หมึกไม่เคยขาด ไม่เคยเยิ้มเลอะกระดาษ มีคลิปหนีบที่เวลาเหงา ๆ นิ้ว ก็เอามานั่งกด ๆ หนีบ ๆ นิ้วเล่น แต่ไม่เคยหัก สุดแสนจะใช้ง่าย ตั้งแต่ดิฉันได้พบกับปากกามูจิ ดิฉันก็ไม่เคยหันไปใช้ปากกายี่ห้ออื่นอีกเลย และนั่นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นแทบทุกครั้งเวลาดิฉันใช้สินค้ามูจิตัวอื่น ๆ
เพื่อนดิฉันหลายคนชอบความเรียบง่ายของมูจิ
แต่มูจิ … มีดีแค่ความเรียบง่ายจริงหรือ?
สัปดาห์ที่แล้วดิฉันโชคดีที่ได้มีโอกาสไปพบคุณ Masaaki Kanai อดีต CEO ของมูจิ และได้ฟังท่านเล่าเกี่ยวกับปรัชญาและคอนเซปท์ของแบรนด์ โดยมี Managing Director ของมูจิประเทศไทย คุณ Akihiro Kamogari ไปด้วย แถมยังพาดิฉันไปชมร้าน Flagship store ที่สาขา Yurakucho อีก ขออนุญาตนำความประทับใจบางส่วนมาฝากนะคะ
1. บริษัทไม่ได้ชื่อ “มูจิ”
นี่คือหน้าตาของ Headquarter แบรนด์มูจิค่ะ ☺ อยู่ย่าน Ikebukuro ในโตเกียว ชื่อบริษัท ไม่ได้ชื่อ “มูจิ” นะคะ แต่ชื่อ “良品計画(Ryohinkeikaku)” แปลว่าการวางแผนทำสินค้าที่ดีค่ะ

บริษัท Ryohin keikaku ต่างจากที่อื่นตรงที่ไม่มีฝ่ายประชาสัมพันธ์หน้าตาจิ้มลิ้มมานั่ง ทุกอย่างเรียบง่ายและประหยัดพลังงานมาก เดินเข้าประตูมาจะมีโทรศัพท์วางอยู่เครื่องหนึ่ง พร้อมเบอร์ติดต่อแต่ละแผนก มาพบใครก็โทรเรียกคนนั้นโดยตรงเลยง่ายดี (ง่าย ๆ งี้เลยเหรอ)
ด้านล่างโทรศัพท์มีกล่องใส่ป้าย GUEST วางอยู่ พร้อมข้อความว่า “ท่านที่มาเยือน รบกวนติดเข็มกลัดนี้” ให้เราหยิบป้ายและติดเข็มกลัดเอง (อีกครั้ง ง่าย ๆ งี้เลยเหรอ…) ป้ายก็เรียบ ๆ สไตล์มูจิดีค่ะ
ด้านในจะเป็นห้องประชุมเล็ก ๆ ซอยเป็นห้อง ๆ เข้าไป (ดิฉันไม่ได้ถ่ายรูปไว้) แต่ด้านหน้าตรงทางเข้า จะเป็นนิทรรศการเล็ก ๆ เกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ของมูจิ เช่น MUJI Books ซึ่งรวบรวมหนังสือดี ๆ น่าสนใจเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแต่งบ้าน วิธีการแต่งตัว นิตยสาร Kinfolk หนังสือภาพเก๋ๆ
หรือแนวคิดเรื่องการพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมของมูจิ อย่างบอร์ดด้านล่างก็เขียนเกี่ยวกับอนาคตของป่า
2. ไม่ใช่แค่ความเรียบง่าย
เมื่อเข้าไปในห้องประชุม ดิฉันก็เห็นแผ่นเซรามิคนี้วางอยู่บนชั้นวางหนังสือด้านหลัง … คือประโยคที่ว่า “われ ただ たるをことを しる(วาเร ทาดะ ทารุ โอะ ชิรุ)” แปลว่า “รู้จักพอเพียง” ค่ะ
แบรนด์มูจิเป็นแบรนด์ที่เกิดในปีค.ศ. 1980 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังอยู่ในขาขึ้น คนญี่ปุ่นบ้าแบรนด์ ใช้สินค้าฟุ่มเฟือย แพ็คเกจจิ้งไฮโซห่ออย่างปราณีตอู้ฟู่ทุกอย่าง เกิดขึ้นในยุคนี้ แต่… มูจิ เป็นแบรนด์สวนกระแส ผู้บริหารเห็นว่าไม่เห็นต้องไปสุดโต่งแบบนั้นเลย ทำสินค้าดี ๆ แพ็คเกจจิ้งเรียบง่ายก็ได้นี่นา จะได้ขายราคาถูกด้วย นี่เลยเป็นที่มาของแบรนด์มูจิค่ะ
หน้าตาสินค้ามูจิรุ่นแรก ไม่มีฉลากห่อเยอะแยะ แถมปริ้นท์ฉลากแค่สีเดียว ประหยัด
เพราะฉะนั้นความเรียบง่ายของแบรนด์มูจินั้น เริ่มแรกไม่ได้เกิดจากความเก๋ไก๋ minimalism แต่เป็นความประหยัด และความตั้งใจที่จะนำสินค้าดี ๆ ไปให้ผู้บริโภคในราคาย่อมเยามากกว่า
พอเข้าช่วงปี 2000 มูจิก็ขยับจากความปรารถนาที่จะทำ “สินค้าที่ดี” มาเป็นการสร้าง “ชีวิตที่ดี” ให้แก่ผู้บริโภคและสังคม สินค้ามูจิจึงเป็นสินค้าที่ถูกดีไซน์เพื่อมาตอบโจทย์ปัญหาของผู้บริโภค หรือทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น เช่น เสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายออร์แกนิคที่ตัดเย็บพิเศษสวมใส่สบาย ซึ่งผู้บริโภครู้สึกสบายไม่อึดอัด ขณะเดียวกัน เกษตรกรผู้ผลิตก็ไม่ต้องโดนสารเคมีทำลายสุขภาพ เรียกได้ว่าเป็นมิตรกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
3. ร้านกาแฟและกาแฟมูจิ
ร้านมูจิบางสาขาที่ใหญ่ ๆ จะเปิดส่วนหนึ่งเป็นร้านคาเฟ่ด้วย มีเสิร์ฟทั้งอาหาร ขนมและเครื่องดื่มด้วย
รู้หรือไม่ว่ากาแฟที่ใช้ในร้านมูจินั้น เป็นกาแฟ “ดอยตุง” มูจิเลือกดอยตุงเนื่องจากคุณภาพดี และต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ทางแบรนด์รับรู้เรื่องโครงการในพระราชดำริที่ต้องการสร้างงานให้ชาวเขาเพื่อไม่ให้พวกเขาหันไปปลูกฝิ่น และต้องการสนับสนุน
ขนาดการเลือกกาแฟยังตรงกับ Concept ของแบรนด์ที่ว่า “สร้างชีวิตที่ดี” ให้ผู้คนจริงๆ
4. ร้านมูจิที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
อยู่ที่สถานี Yurakucho ค่ะ เลยสถานี Tokyo ไปแค่ 1 ป้าย ร้านใหญ่ 3 ชั้น

ชั้นวางของที่ใช้ในร้านเป็นการนำไม้ที่เหลือจากการผ่าทำเฟอร์นิเจอร์มาประดับค่ะ ลองพยายามดูรอยต่อโค้ง ๆ ตรงลายสิคะ จริง ๆ คือการนำไม้สองแผ่นมาประกบกันค่ะ มูจิพยายามใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดจริง ๆ
นอกจากสินค้ามูจิมหาศาลแล้ว ร้านนี้ยังมีบริการต่างๆ เช่น
• บริการให้คำปรึกษาการตกแต่งห้องสไตล์มูจิ
• การจัดนิทรรศการ
ตอนที่ดิฉันไปเขาจัดนิทรรศการเรื่องการย้อมและทอผ้าแบบญี่ปุ่น มีตั้งแต่เรื่องราวของผู้ทอ ลายผ้า กระบวนการทำ แม่พิมพ์ต่าง ๆ เหมือนเดินดูมิวเซี่ยมเล็ก ๆ เลยค่ะ
ที่เก๋มาก ๆ คือ ตรงป้าย “ผู้ทอ/ผู้ย้อม” ไม่ได้เขียนแค่ชื่อ แต่ยังเล่าถึงงานอดิเรก กิจกรรมที่ทำในวันหยุด และคำที่ชอบด้วย ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับผู้ทอผ้าผืนนั้นจริง ๆ
จริง ๆ แล้วนิทรรศการนี้เชื่อมโยงกับส่วนแสดงสินค้าในโครงการ Found Muji ในโครงการนี้ ดีไซเนอร์มูจิจะไปเสาะหาวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นดี ๆ ทั้งในและนอกญี่ปุ่น นำมาดีไซน์และปรับให้เข้ากับมูจิ จากนั้นให้คนในชุมชนนั้นช่วยทำ อย่างของไทยมูจิเคยนำเครื่องถ้วยศิลาดล มาปรับสไตล์มูจิค่ะ
นี่คืออีกตัวอย่างที่มูจิพยายามรักษาวัฒนธรรมและความหลากหลายของสังคม ขณะเดียวกันช่วยยกระดับชีวิตของผู้ผลิตให้ดีขึ้นด้วยค่ะ
หลังจากคุณ Kamogari พาดิฉันชมร้านมูจิ Flagship store แห่งนี้เสร็จ ก็ถึงเวลาช่วยอุดหนุนทางร้านเสียที อุดหนุนไปอุดหนุนมา เสียเงินไปเกือบหมื่นบาทได้ พนักงานมูจิก็ใจดีเหลือเกิน เห็นของมหาศาลเลยใส่ถุงสองชั้นให้ แถมพันหูหิ้วถุงกันมือเจ็บด้วย
น่ารักทั้งคอนเซปท์แบรนด์ สินค้า และพนักงาน…เจออย่างนี้ ไม่รัก ไม่ได้แล้ว! ☺
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– หนุ่มญี่ปุ่นตัดสินใจแต่งงานเมื่อไร
– แพ็คเกจจิ้งญี่ปุ่น….ทำอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด
– เผยเคล็ดลับทำล่ามญี่ปุ่นอย่างไรให้ได้ดี
– สิ่งที่คนญี่ปุ่นสงสัยเกี่ยวกับร้านอาหารในไทย
– ทำไมคนญี่ปุ่นไม่ตกใจเวลาเกิดแผ่นดินไหว