Quiz ทายมารยาทสังคมญี่ปุ่น (ที่คนญี่ปุ่นเองอาจยังไม่รู้)…Japan Gossip ฉบับนี้ ดิฉันขอคัดมาแค่ 3 ข้อพอ เป็นสามข้อที่คนญี่ปุ่นบางคนอาจตอบไม่ได้ก็ได้ ว่าแล้ว…ลองดูเลยนะคะ
สมัยอยู่ญี่ปุ่น ดิฉันชอบดูรายการโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือสอนมารยาทมากๆ แบบ…โรคจิตค่ะ อยากจะรู้ว่าคนประเทศนี้จะมีระเบียบพิธีรีตองในชีวิตมากขนาดไหน (พบว่ามีข้อกำหนดทุกจังหวะของชีวิต ตั้งแต่วิธีการเขียนจดหมายยันวิธีส่งของไปให้คน)
หนังสือที่ยอมรับว่าเป็นประโยชน์มากๆ คือ หนังสือสอบประกาศนียบัตรเลขานุการ แบบ…จะเป็นเลขาฯ ได้ ต้องรู้ว่าควรส่งกระเช้าดอกไม้แบบไหนไปแสดงความยินดี ควรเขียนซองจดหมายว่าอย่างไรเวลานายไม่อยู่ จะบอกปฏิเสธลูกค้าอย่างไรถ้าต้องไปหาซื้อของเยี่ยมคนป่วยแทนนาย จะซื้ออะไรดี ฯลฯ อ่านไปอึ้งไปมากๆ
Japan Gossip ฉบับนี้ ดิฉันขอคัดมาแค่ 3 ข้อพอ เป็นสามข้อที่คนญี่ปุ่นบางคนอาจตอบไม่ได้ก็ได้ ว่าแล้ว…ลองดูเลยนะคะ
ข้อ 1. ท่านกำลังจะมอบซองแสดงความยินดีให้หลานที่กำลังจะรับปริญญา ท่านคิดว่าการเขียนหน้าซองแบบไหนถูกต้อง
ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่าคุณผู้อ่านพอจะแยกความแตกต่างระหว่างซอง A กับซอง B ไหมคะ จริงๆ แล้วทั้ง 2 ซองเขียนเหมือนกันค่ะ ด้านบนคือ ตัวอักษรคำว่า 御祝 (O-iwai) แปลว่า “ขอแสดงความยินดี” (ภาษาญี่ปุ่นเขียนแล้วสั้นมาก เยี่ยมจริงๆ) ส่วนด้านล่าง (田中京子)เป็นชื่อผู้ให้ค่ะ
ส่วนที่แตกต่างคือ ขนาดตัวอักษรเท่านั้นเอง แบบ A เขียนขนาดเท่ากันหมด แบบ B เขียนชื่อตนเองเล็กกว่าคำว่า “ขอแสดงความยินดี” นิดหนึ่ง
กลับมาที่คำถามของเรานะคะ ซองแบบไหนถึงจะเป็นซองอวยพรที่เหมาะสมนะ
เฉลย …. แบบ B ค่ะ เขียนชื่อตัวเองให้เล็กกว่า
แค่การเขียนซองก็สะท้อนความเป็นคนญี่ปุ่นมากๆ แล้ว คือเวลามายินดี อยากแสดงความรู้สึกยินดี! ไม่ใช่เรียกร้องว่า “ฉัน” เป็นผู้ให้นะ! ญี่ปุ่นเอาตัวเองไว้ทีหลัง สุภาพ เจี๋ยมเจี้ยม ไม่ให้ตัวเองเด่นเกินค่ะ
นอกเรื่องนิดหนึ่ง ถ้าเป็นซองงานแต่งเราจะใส่เงินในซองที่ใส่การ์ดเชิญไม่ได้เด็ดขาดนะคะ ต้องซื้อซองใหม่เพื่อแสดงความรู้สึกยินดีอย่างแท้จริง (ถ้าใช้ซองเดิมจะถูกมองว่า ประชดหรือไม่ได้ยินดีกับเขาด้วยจริงๆ) ส่วนความหรูหราของซองก็แล้วแต่จำนวนเงินที่ใส่ อย่างภาพด้านล่างแสดงซองที่ใส่จำนวนเงินจากน้อยไปมาก

นอกจากนี้ธนบัตรที่ใส่ในซองต้องเป็นธนบัตรใหม่ แสดงถึงความรู้สึกอวยพรให้บ่าวสาวเริ่มชีวิตใหม่ที่ดี …
เป็นอย่างไรบ้างคะ แค่เรื่องงานแต่งงานก็มีพิธีรีตองเยอะแล้ว
ข้อ 2. ในงานศพแบบญี่ปุ่น เจ้าภาพจะยื่นถุงใส่ของขอบคุณที่มาร่วมงาน (อารมณ์ลูกอมด้ายแดงบ้านเรา แต่ญี่ปุ่นให้ของจริงจังกว่า มักเป็นพวกผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ขนมที่เป็นกล่องๆ) ตอนรับถุงท่านจะบอกเจ้าภาพว่า ….
A. Osore irimasu (恐れ入ります)
B. Domo arigato gozaimasu (どうもありがとうございます)
ท่านอาจจะทราบแค่ข้อ B. ที่แปลว่า “ขอบคุณมาก” ส่วนข้อ A. ท่านอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนก็เป็นข้อวัดใจค่ะ ดูว่าจะเลือกระหว่างข้อที่แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ กับข้อที่แปลว่า “ขอบคุณ”…
เฉลย… A
คำว่า Domo arigato gozaimasu ใช้ในแง่ความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งดีๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามทำให้ ใช้ในโอกาสที่ดีหรือเป็นมงคล
แต่สถานการณ์ในข้อนี้ คือ งานศพ เป็นงานโศกเศร้า ภาษาญี่ปุ่นจะมีคำขอบคุณอีกแบบ คือ คำว่า “Osore irimasu” แปลว่า ขอบคุณเช่นเดียวกัน แต่บวกความหมายที่ว่า “รู้สึกเกรงใจที่สร้างความรบกวนให้แก่ท่าน” ไปด้วย อารมณ์ประมาณว่าท่านเองก็แบกรับความเศร้าโศกไว้อยู่แล้ว เรายังมากวนให้ท่านต้องอุตส่าห์เตรียมของให้พวกเราอีก จึงขอขอบคุณและขออภัยที่สร้างความรบกวนให้ท่านในเวลาเช่นนี้จริงๆ (ซับซ้อนเนอะ)
เวลาผู้ใหญ่ทำอะไรให้หรือรบกวนฝ่ายตรงข้าม เช่น ผู้ใหญ่อุตส่าห์เตรียมของที่จำเป็นมาให้เรา หรือเวลาจำเป็นต้องฝากให้ลูกค้าจองห้องประชุมให้ เราก็จะใช้คำนี้เพื่อขอบคุณ และแฝงความรู้สึกขอโทษเข้าไปด้วยค่ะ
ขอเสริมเรื่องการแต่งกายนิดหนึ่ง ทั้งไทยทั้งญี่ปุ่นต้องแต่งขาว-ดำเหมือนกัน แต่ของญี่ปุ่นจะซีเรียสกว่า คือ ผู้ชายควรใส่สูทและผูกเนคไทสีดำ ส่วนผู้หญิงอาจใส่กิโมโนสีดำ หรือหากใส่ชุดควรเป็นชุดเดรสและมีสูททับ ชุดเป็นสีดำทั้งชุด ไม่มีลาย และห้ามแต่งหน้าจัด ห้ามทาเล็บ ใครผมยาว ไม่ควรปล่อยผม ให้รวบผมเก็บให้เรียบร้อย กระเป๋าถือสำหรับผู้หญิง ก็ต้องเป็นแบบเรียบๆ ไม่มีลายหรือเครื่องประดับสะท้อนแสง งานศพคนญี่ปุ่นจึงดูเรียบๆ ทั้งงานค่ะ

3. เมื่อคนญี่ปุ่นไปไหว้สุสานบรรพบุรุษ (คล้ายๆ เทศกาลเช็งเม้งของคนไทยเชื้อสายจีน) ข้อใดต่อไปนี้ถูกต้อง
A. นำซูชิไปไหว้
B. นำของไหว้กลับบ้าน ไม่ทิ้งไว้
http://photozou.jp/photo/show/659653/47284719
สุสานญี่ปุ่นจะเป็นเหมือนแท่งหินแกรนิตเรียงรายกันแน่นมาก ไม่ค่อยมีเป็นเนินเล็กๆ เหมือนฮวงซุ้ยบ้านเรา (คิดเอาเองว่าคงเป็นการประหยัดพื้นที่)
คนญี่ปุ่นมักไปไหว้บรรพบุรุษช่วงเทศกาลโอบ้ง (ประมาณกลางเดือนสิงหาคม) กลับมาที่คำถามนะคะ ข้อใดถูกต้องเอ่ย ….
เฉลย …. B:นำของไหว้กลับมาค่ะ
อันนี้อาจคล้ายๆ กับบ้านเรา คนญี่ปุ่นคิดว่าไม่ควรทิ้งของไหว้ไว้ เพราะเดี๋ยวสัตว์หรืออีกามาทาน แล้วจะทำเสียงรบกวนบรรพบุรุษที่หลับไหลอยู่หรือผู้ที่อาศัยบริเวณนั้น (คิดเผื่อถึงผู้อื่นจริงๆ)
ส่วนซูชิหรืออาหารสดต่างๆ คนญี่ปุ่นไม่ค่อยนิยมเอาไปไหว้เพราะเก็บยากและอาหารอาจเสีย เอาไปทานต่อไม่ได้ ของไหว้ส่วนใหญ่จึงเป็นผลไม้ ขนมปัง ชา เหล้าสาเกขวดเล็กๆ ค่ะ
+++++++
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับมารยาทแบบคนญี่ปุ่นที่คนญี่ปุ่นเองอาจทำผิดได้ (ไม่เชื่อลองเอาไปทายคนญี่ปุ่นก็ได้ค่ะ อิๆๆ) ท่านใดตอบถูกครบ 3 ข้อ ถือว่าเป็นสุดยอดผู้มีมารยาทตามธรรมเนียมญี่ปุ่นเลยค่ะ!
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– การสังสรรค์ของสาวญี่ปุ่น
– Sumikko…คาแรคเตอร์สะท้อนนิสัยคนญี่ปุ่น
– เมื่อเปรียบผู้ชายญี่ปุ่นเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ
– เทคนิคการจัดจานอาหารสไตล์คาเฟ่ญี่ปุ่น
– เครื่องดื่มที่มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นโปรดปรานมากที่สุด