“E-BOOK” อัศวินขี่ม้าขาว ผู้กอบกู้วงการหนังสือญี่ปุ่น…“ขาลงของวงการหนังสือญี่ปุ่น” เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน อันเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ทค่อยๆ เติบโตนั่นล่ะครับ ดังนั้นหากจะสรุปให้ชัดเข้าไปอีกก็คือ ปัญหาลิขสิทธิ์เนี่ยแหละที่ทำให้วงการเจอปัญหา หนังสือผิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นในวงกว้างขึ้น ตลอดจนเมื่ออินเตอร์เน็ทเติบโต สิ่งที่ตามมาก็คือ…
ในช่วงสัปดาห์นี้เป็นช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครับ ดังนั้นผมจึงมีโอกาสได้พูดคุยกับสำนักพิมพ์ต่างๆ มากมายจากนานาประเทศ รวมไปถึงสำนักพิมพ์จากประเทศญี่ปุ่น ทั้งในแง่มุมของการ์ตูน ตลอดจนหนังสือทั่วไป และปีนี้ก็มีประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็คือเรื่องการเติบโตของธุรกิจหนังสือออนไลน์ หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า “อี-บุ๊ค”
อย่างที่ผมเคยพูดไปในบทความก่อนหน้านี้ในหลายๆ ครั้งว่าธุรกิจหนังสือญี่ปุ่นนั้นอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก และนั่นคือเหตุผลที่ทางญี่ปุ่นเองต้องหาทางเอาตัวรอด
และวิธีการแรกที่พวกเขาทำก็คือการเปิดโอกาสให้ต่างชาติซื้อลิขสิทธิ์หนังสือของเขามากขึ้น (หากใครทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ จะทราบดีว่าการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์กับญี่ปุ่นนั้นยากมาก และมีราคาค่อนข้างสูง แต่ตอนนี้ก็มีการผ่อนปรนมากขึ้น)
ถามว่าวิธีการนี้ประสบความสำเร็จไหม? ตอบได้เลยว่าประสบความสำเร็จครับ มีคนรู้จักหนังสือญี่ปุ่นเยอะขึ้นมาก ในขณะที่ตลาดฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราอย่างเวียดนามก็เติบโตเหลือเกิน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนหลายปีก่อนหน้านี้ก็คือ “ธุรกิจหนังสือญี่ปุ่นอยู่ในช่วงขาลงมากจนเกินไป จนวิธีการฟื้นฟูเพียงวิธีการเดียวไม่เพียงพอ”
หากจะนับเป็นตัวเลขแล้ว “ขาลงของวงการหนังสือญี่ปุ่น” เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน อันเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ทค่อยๆ เติบโตนั่นล่ะครับ ดังนั้นหากจะสรุปให้ชัดเข้าไปอีกก็คือ ปัญหาลิขสิทธิ์เนี่ยแหละที่ทำให้วงการเจอปัญหา หนังสือผิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นในวงกว้างขึ้น ตลอดจนเมื่ออินเตอร์เน็ทเติบโต สิ่งที่ตามมาก็คือ
“มันมีวิธีการมากมายเพื่อหาความบันเทิง หนังสืออาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป”
แน่นอนพวกเขาไม่ได้มองว่าคุณค่าของหนังสือน้อยลง แต่สมมติสมัยก่อนพวกเขาเลือกอ่านนิยายเพื่อหาความบันเทิง แต่ปัจจุบันพวกเขาอาจเลือกที่จะเปิดเว็บไซท์หรือดูสื่อออนไลน์มากขึ้น และเลือกอ่านแต่พวกหนังสือ non-fiction (พวกหนังสือความรู้, พัฒนาตนเอง ฯลฯ) เป็นหลักแทน ภาพรวมเหล่านี้ทำให้ยอดขายของหนังสือลดลง และอยู่ในช่วงที่น่าเป็นห่วงครับ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่วงการหนังสือญี่ปุ่นนั้น มีสิ่งที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างหนึ่ง ก็คือวัฒนธรรมของการอ่านการ์ตูน แน่นอนญี่ปุ่นแม้จะมีคนซื้อหนังสือน้อยลง แต่วงการหนังสือก็ยังต้องสร้างงานออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้บางทีมันอาจจะสวนกับตลาดที่ดิ่งลง (แต่ผลงานกลับถูกสร้างขึ้นมาเรื่อยๆ) อัตราส่วนของการ์ตูนญี่ปุ่นในวงการหนังสือนั้น ถือว่าโดดเด่นเป็นที่หนึ่งของโลก คือจะมีการ์ตูนหนึ่งเล่มในทุกๆ หนังสือสี่เล่ม ดังนั้นญี่ปุ่นก็ต้องหามาตรการอะไรบางอย่างมารองรับ และที่สำคัญหากมันจะช่วยให้วงการหนังสือฟื้นฟูขึ้นมา…

ทางญี่ปุ่นเคยพยายามแล้วครับ เรื่อง e-book และผมเองก็เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งว่ามันไม่ได้ผล คนญี่ปุ่นยังนิยมที่จะซื้อหนังสือเป็นตัวเล่มมากกว่า แต่ปีที่ผ่านมานั้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งครับ คือแต่ละสนพ.เริ่มมีนโยบายเกี่ยวกับการขายออนไลน์มากขึ้น และมันก็ส่งผลกลับมาเป็นอย่างดีครับ
ก่อนจะลงไปในรายละเอียด ผมขอพูดในเรื่องของตัวเลขก่อนละกันครับ ยอดขาย e-book (รวมทั้งหมดทั้งหนังสือ นิตยสาร และการ์ตูน) ในปี 2014 อยู่ที่ 114.4 (พันล้านเยน) แต่หลังจากที่ทางแต่ละสนพ.พยายามขยายแคมเปญอย่างจริงจัง ก็ทำให้ผลประกอบการออกมายอดเยี่ยมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยในปี 2015 ยอดขายขึ้นมาเป็น 150.2 (พันล้านเยน) หรือเทียบเป็นจำนวนถึง 31.3% ! และนั่นทำให้ภาวะขาดทุนของตลาดหนังสืออยู่ในภาวะที่ดีขึ้น
ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “อีบุ๊คญี่ปุ่นไม่ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด” แต่เพราะปีก่อนหน้าตลาดมันแทบจะเจ๊งเลยก็ว่าได้ และการที่ e-book มันเริ่มขายได้ ข้อดีก็คือมันพอจะทดแทนยอดขายของหนังสือเล่มๆ คือปกติแล้วเวลามีรายงานผลประกอบการ เราก็จะเห็นว่ายอดขายมันตกพรวดเอาๆ โดยไม่มีอะไรมาดึงขึ้น
ปี 2015 ยอดขายตัวเล่ม ก็เป็นกราฟตกมาเหมือนเดิมแหละครับ แต่พอเราเอายอดรวมของ e-book มาเสริม กลายเป็นว่ากราฟมันกลายเป็นเส้นตรงซะอย่างนั้น ทางญี่ปุ่นเขาเลยถือว่า อีบุ๊คคืออัศวินที่ช่วยให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะขาดทุนเสียที
เรามาลงรายละเอียดแยกของธุรกิจหนังสือออนไลน์แต่ละประเภทกันหน่อย
1. E-Book (หนังสือทั่วไป)
ตลาดถือว่ายังเล็กมากครับ เทียบกับตลาดหนังสืออนไลน์ทั้งหมดแล้ว ถือว่าอยู่ที่ประมาณ 3% เท่านั้น อย่างไรก็ตามตอนนี้ถือว่ามีโอกาสที่จะเติบโตได้ เพราะหลายๆ สนพ.เริ่มหันมาร่วมมือกัน และเริ่มจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ ควบคู่ไปกับแบบตัวเล่ม ดังนั้นเป็นไปได้ว่าในปี 2016 นี้ เราจะได้เห็นส่วนแบ่งทางการตลาดจากหนังสือหมวดนี้มากขึ้น
2. E-Comic
หนังสือการ์ตูนในรูปแบบนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากครับ และสิ่งสำคัญที่พวกเขาใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ก็คือการให้มีหน้า “ทดลองอ่าน” (Free Sample) นั่นเอง และการทดลองอ่านนี้ไม่ใช่แค่หน้าสองหน้านะครับ บางทีให้อ่านกันเป็นเล่มๆเลย ตรงนี้ทำให้คนที่ไม่เคยคิดจะซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ ก็มีโอกาสได้ทดลองอ่านมากขึ้น ทำให้ตลาดเติบโตครับ
3. E-Magazines
อันนี้กลายเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่น่าสนใจอย่างไม่น่าเชื่อ กล่าวคือคนที่เข้ามาเล่นตลาดนี้คือบริษัทโทรศัพท์รายใหญ่ของประเทศอย่าง NTT Docomo ที่เปิดบริการนิตยสารออนไลน์ สนนราคาเพียงเดือนละ 400 เยน และคุณสามารถอ่านนิตยสารได้มากถึง 180 รายการ !!! ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จมากครับ มีคนสมัครถึง 2.5 ล้านคนเข้าไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เลยล่ะครับ
และตอนนี้ทางญี่ปุ่นก็เริ่มจะขยายตลาดหนังสือออนไลน์ออกมา คือมีการสร้าง platform เป็นของตน (อย่างเช่นทาง Kodansha ที่โฟกัสเรื่องนี้มากๆ ในช่วงหลายปีหลังนี้) และเขาก็พยายามที่จะหาจุดเด่นมาให้กับ platform อย่างเช่นการนำหนังสือจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อเรียกให้คนใช้บริการแอพพลิเคชั่น
ดังนั้นหนังสือไทยตอนนี้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญเลยครับ ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับตัวแทนที่ทำพวกหนังสือออนไลน์ของญี่ปุ่นซึ่งเดินทางมาในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้เพื่อหาข้อมูลหนังสือไทยที่น่าจะโดดเด่นพอที่จะขายคนญี่ปุ่น (โดยเขาจะสนับสนุนเรื่องการแปลเป็นญี่ปุ่นเองด้วย) ถือว่าต้องจับตาดูกันครับว่าหนังสือของไทยเล่มไหนที่จะต่อยอดไปสู่ตลาดแดนอาทิตย์อุทัยได้ (ตอนนี้หนังสือของเพื่อนบ้านเราอย่างอินโดนิเซียเริ่มออกสู่ตลาดญี่ปุ่นแล้วครับ ส่วนประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจก็เช่น comics จากฝรั่งเศส ซึ่งถือว่ากำลังมาแรงในประเทศญี่ปุ่นมากๆ)
ตลาดหนังสือตอนนี้มีสิ่งที่น่าสนใจเยอะครับ ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของญี่ปุ่น ดังนั้นหากมีอะไรคืบหน้า ผมจะนำมาฝากแฟนๆมารุมุระ อย่างแน่นอนครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า หรือทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ
เรื่องแนะนำ :
– “รู้แบบนี้ไม่มีตกงาน” คำแนะนำจากชาวญี่ปุ่นสำหรับคนอยากประสบความสำเร็จทางการงาน
– ช่วงเวลาที่ยากลำบากของวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น
– ตำนาน HAYABUSA นักมวยปล้ำที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลก
– TOKYO JOSHI ค่ายมวยปล้ำหญิงที่มาแรงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น
– ฟุกุอิเมืองที่ทำให้ความสุขเบ่งบาน