ตอนจบที่ไม่สวยของละครญี่ปุ่นมันก็มีเหตุผล และข้อคิดที่ซ่อนเอาไว้อยู่ค่ะ เรามาดูกันค่ะว่า “ทำไมละครญี่ปุ่นมักจบไม่ค่อยสวย”
ถ้าใครได้ดูละครญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ จะเห็นว่าในตอนจบของละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่เนี่ย มักจะจบแบบไม่ค่อยสวย หรือบางทีก็จบแบบค้างคา ไม่เคลียร์อยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นว่า เรื่องไหนที่จบแบบ Happy ดูเหมือนยังไม่ใช่ละครญี่ปุ่นเท่าไรนะ (เรื่องที่จบแบบสวยๆ เคลียร์ๆ ก็มีค่ะ แต่เจอน้อยมากกก)
การที่จบไม่สวยแบบนี้ก็แอบทำให้คนดูหลายคนรู้สึกเคืองๆ ค้างคาใจ ชวนให้อารมณ์เสียอยู่เหมือนกัน แต่ว่า…ตอนจบที่ไม่สวยของละครญี่ปุ่นมันก็มีเหตุผล และข้อคิดที่ซ่อนเอาไว้อยู่ค่ะ เรามาดูกันค่ะว่า “ทำไมละครญี่ปุ่นมักจบไม่ค่อยสวย”
1. สร้างภาคต่อ
ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่มักจบแบบไม่สวย หรือบางเรื่องก็อาจจะไม่เคลียร์ หลายคนอาจจะรู้สึกหงุดหงิด ดูมาตั้งนาน จบแบบเนี่ยนี่นะ! จริงๆ แล้ว มันก็มีเหตุผลของการจบแบบนี้ค่ะ จากที่ดูละครญี่ปุ่นมา กว่า 80% ละครที่จบแบบบอีหร็อบนี้มักจะมี “ภาคต่อ” ค่ะ เผื่อเรตติ้งดี คนตามเยอะ อยากจะชมอีก แทนที่จะ “รีเมค” ก็สร้าง “ภาคต่อ” ดีกว่า เหมือนเป็นการย้อนเข้าสู่เรื่องเดิมในรูปแบบที่แปลกใหม่ บ้านเราอาจไม่ค่อยคุ้นชินกับละครภาคต่อสักเท่าไร มีน้อยเรื่องมากที่จะสร้างภาคต่อ แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้ว ละครภาคต่อถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ และนิยมทำมากกว่าการสร้างละครรีเมค และละครภาคต่อนี้เองก็เป็นตัวที่พอให้เราเดาทางได้ว่า ถ้าเรื่องเรื่องนั้นต้องสนุกเอาการ เลยถูกสร้างต่อมาหลายภาคอย่างไม่รู้เบื่อ

อย่างเช่นเรื่อง “Hero” ละครญี่ปุ่นยอดนิยมที่ถูกสร้างมาแล้วหลายภาคค่อ เริ่มตั้งแต่ Season1 ในปี 2001 ประสบความสำเร็จอย่างสูง เรตติ้งของละครเรื่องนี้ยังครองแชมป์ “เรตติ้งเฉลี่ยรวมทั้งเรื่อง” ที่สูงสุดในวงการละครญี่ปุ่น (34.03%) แล้วตามมาด้วยภาค Special ในปี 2006 ตามด้วยเวอร์ชั่นภาพยนตร์ในปี 2007 แล้วกลับมาอีกครั้งใน Season2 ปี 2014 แม้วันเวลาเปลี่ยนไป แต่ความเก๋าของ “คุริว โคเฮย์” ยังไม่เปลี่ยนแปลง และล่าสุดมีข่าวว่ากำลังจะมี Hero เวอร์ชั่นภาพยนตร์อีกครั้ง ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2015 ถือว่าเป็นละครญี่ปุ่นที่อยู่คู่คนญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานเลยค่ะ รวมๆ แล้วทั้งภาคใหญ่ ภาคพิเศษ ภาคภาพยนตร์ก็มีถึง 5 ภาคด้วยกัน!
2. โศกนาฏกรรมเป็นสิ่งที่น่าจดจำมากที่สุด
เขาว่ากันว่า…เรื่องเศร้า หรือเรื่องโศกนาฏกรรมมักจะเข้าถึงใจและเป็นที่จดจำมากกว่าเรื่องราวแห่งความ สุขค่ะ แม้จะไม่ Happy แต่ก็ตราตรึงจำฝังใจ เหมือนเวลาเรามีความรัก รักที่เราลืมไม่ลง มักจะเป็นเรื่องราวที่เราเจ็บปวด กระทบจิตใจ เพราะเรื่องแบบนี้มันส่งผลต่อความรู้สึกเราอย่างแรงกล้า มันเลยมักถูกเก็บไว้และล็อกอย่างแน่นหนาในกล่องความทรงจำ
ละครที่จบแบบสวยๆ รักกัน ครองคู่กันไปจนแก่ มันก็ดีต่อความรู้สึกค่ะ ประทับใจเหมือนกัน รู้สึกดีที่ตัวละครที่เราเชียร์ ลุ้นมาทั้งเรื่องเขามีความสุข ส่วนตอนจบที่ไม่สวยหรู อาจเกิดความรู้สึกหดหู่ เศร้าใจ แต่มันฝังลึก และทำให้เกิด “ข้อแตกต่าง” ที่ทำให้เราจดจำละครเรื่องนั้นได้

ละครญี่ปุ่นที่ดิฉันจำฝังใจจนถึงวันนี้ก็คือเรื่องนี้เลยค่ะ “Last Friends” เป็นละครแนวความรัก ที่สะท้อนปัญหาชีวิตของกลุ่มคนญี่ปุ่น มาพีคสุดๆ ในตอนจบ พระ-นางไม่สามารถคู่กันได้โดยนิรันดร์ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ทั้งคู่ต้องลาจากกันมันตอบปัญหาต่างๆ ที่ค้างคาใจคนดูได้หมดเลยค่ะว่า ทำไม “โซสุเกะ” (พระเอกของเรื่อง) ถึงต้องตามรังควานนางเอก คอยทำร้ายเธออยู่เรื่อยๆ จากอารมณ์โกรธแค้นในตอนแรก กลายมาเป็นความสงสาร ความเข้าใจได้เพียงในฉากเดียว บางทีแค่พูดออกมาว่า “รัก” เราก็ไม่เก็ทค่ะ แต่การกระทำบางอย่างมันอาจจะสื่อถึงความรู้สึกได้มากกว่าคำพูด ถือว่าเป็นละครที่จบแบบโศกนาฏกรรมที่อยู่ในความทรงจำของแฟนละครญี่ปุ่นหลาย คน
3. ประลองเชาว์ปัญญาให้คิดต่อ
บางเรื่องก็จบแบบงงๆ ไม่สวยๆ ไป ไม่ใช่ว่าจะมีภาคต่อหรืออะไรนะคะ แต่ตั้งใจให้จบแบบค้างคาอย่างนั้นค่ะ อย่างเช่นเรื่องนี้ค่ะ “Kazoku Game” (ขอสปอยล์ล่ะกันเนอะ จะได้เห็นภาพ)

ในขณะที่ครอบครัวของ “นูมาตะ” กำลังบ้านแตก “ชินอิจิ” พี่ชายคนโตของบ้าน รู้สึกโกรธ “โยชิโมโตะ โคยะ” ครู สอนพิเศษผู้ลึกลับ ที่ก่อความวุ่นวายในครอบครัวเขา เขาก็เลยรีบวิ่งไปหาโคยะที่ห้องพัก เพื่อจะเคลียร์ปัญหา แต่กลับไม่เจอ พบแต่ใบปลิวที่บ่งบอกสถานที่อยู่ของผู้หญิงคนหนึ่งที่รู้เรื่องราวทุกอย่าง และแล้ว “นูมาตะ” ก็รู้ความจริงจากผู้หญิงคนนั้น แล้วเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่โคยะทำลงไปก็เพื่อครอบครัว “นูมาตะ”
พอทุกอย่างเคลียร์แล้ว แทนที่จะจบบริบูรณ์แบบ Happy Ending แต่ไปไปมามา เจ้าเด็กหนุ่มคนนี้จู่ๆ กลับฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า…เอ๊ะ! จะว่าไปเหตุการณ์นั้นโคยะอาจจะเป็นคนจัดฉากขึ้นมาเองก็ได้นะ วางแผนให้เขาต้องเดินไปหาผู้หญิงคนนั้น แล้วกุเรื่องต่างๆ ขึ้นมาอีกหรือเปล่า? แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น เรื่องราวจากปากผู้หญิงคนนั้นล่ะ จะเป็น “เรื่องจริง” หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น “โยชิโมโตะ โคยะ” เลยตอบกลับมาว่า…

ก็จบแบบว่าให้คนดูคิดต่อค่ะว่า สรุปแล้วในโค้งสุดท้ายเนี่ยเรื่องราวความลับของ “โยชิโมโตะ โคยะ” เป็นความจริงแท้ หรือแต่งเรื่องมาหลอกกัน! ความจริงคืออะไร ต้องกลับไปคิดกันเอาเอง เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เวลาดูละครญี่ปุ่นต้องตีความไปด้วยนะจ๊ะ ดูแบบชิวๆ ไม่ได้
4. พลิกเรตติ้ง
หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดประมาณว่า “เรตติ้งสูงสุดแห่งปี” “เรตติ้งสูงสุดเป็นประวัติการณ์” ซึ่ง “เรตติ้ง” ที่ว่า ไม่ใช่เรตติ้งเฉลี่ยรวมในเรื่องเสมอไปนะคะ อย่างเช่นเรื่อง “Hanzawa Naoki” ถูก ยกว่าเป็นละครที่มีเรตติ้งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่เรตติ้งที่ว่านั้นเป็นเพียง “เรตติ้งในตอนสุดท้าย” เท่านั้นค่ะ ถ้าเป็นเรตติ้งเฉลี่ยรวม แชมป์ยังคงอยู่ที่เรื่อง “HERO”
จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่า “ละครตอนสุดท้าย” มีความสำคัญเช่นกัน เพราะ เป็นตัวตัดสินเรตติ้งในโค้งสุดท้าย ถ้าทำดีก็จะมีเกียรติยศไว้ประดับ ทำนองที่ว่า เป็นละครเรตติ้งสูงสุด หรือเป็นละครเรตติ้งดี และนั่นหมายความว่า ไม่สายเกินไปที่จะมาพลิกเรตติ้งให้สวยๆ ในตอนจบ
แล้วจะพลิกเรตติ้งยังไงล่ะ? ก็ต้องทำพล็อตให้คน “เดาทางไม่ได้” ว่า จะจบแบบไหน ถ้าทำละครออกมาว่าต้องจบแบบสวยๆ ตลอด คนดูก็จะเบื่อๆ ไม่อยากติดตามเท่าไร เพราะรู้ว่า ยังไงๆ ทุกอย่างก็ต้องลงเอยกันด้วยดี ทำให้มีละครญี่ปุ่นบางเรื่องเลือกที่จะหักมุมคนดูแบบคาดไม่ถึงในตอนจบของ เรื่อง
5. เพราะชีวิตไม่ได้ Happy ชีวิตดี๊ดีอยู่เสมอ

ก็เพราะบทสรุปชีวิตจริงในแต่ละช่วงของคนเรามันไม่ได้ Happy Ending เสมอไปน่ะสิคะ ละครญี่ปุ่นเลยต้องการจะสื่อให้คนดูเห็นด้วยว่า จริงๆ แล้วชีวิตของคนเรามันไม่ได้สวยหรูเสมอไปนะ ตรงคอนเซ็ปต์กับแนวละครญี่ปุ่นแบบ Trendy Dramas ที่มีจุดประสงค์นำเสนอเรื่องราวชีวิตที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากที่สุด เพราะชีวิตไม่ Happy หรือชีวิตดี๊ดีตลอดเวลา ละครก็เลยอยากจะสะท้อนให้เห็นถึงจุดๆ นี้ค่ะ ทำให้เห็นว่าการที่เราไม่สมหวังอาจไม่ใช่ “ความโชคร้าย” แต่มันเป็นเรื่อง “ธรรมดาโลก” ที่ไม่ว่าใครก็เจอได้ แม้แต่พระเอกและนางเอกเองก็ไม่ใช่คนที่ต้องมีความสุขในตอนจบ หรือ Happy ได้ด้วยความดีอย่างเดียว เพราะในชีวิตจริงแค่ “ความดี” อาจไม่สามารถทำให้เราคว้า “ชัยชนะ” ได้ แต่ต้องอาศัยสิ่งอื่นๆ อีกมากมายทั้ง “จังหวะชีวิต” “โอกาส” “ความสามารถ” และอื่นๆ
พอเห็นตอนจบแบบนี้ มันสอนให้เราได้เรียนรู้ค่ะว่า พอเจอเรื่องผิดหวังอย่าฟูมฟาย แต่ควรเข้าใจ ยอมรับมัน แล้วใช้ชีวิตต่อไปให้ได้ แม้ว่าช่วงชีวิตหนึ่งจะเคยจบไม่สวยอย่างไร แต่ชีวิตที่เหลือของเราก็ต้องพามัน “ก้าวเดิน” ต่อไปให้ได้
นี่ก็คือเหตุผลที่ว่า “ทำไมละครญี่ปุ่นถึงมักจบไม่สวย” ตอนจบของละครเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ ต้องจบให้เป็นที่จดจำ และการจบให้ประทับใจไม่ได้หมายความว่า ต้องจบแบบ “ถูกใจ” เสมอ แต่การสร้างความแปลกใหม่อย่างคาดไม่ถึง ก็เป็นอะไรที่ชวนให้ตราตรึงใจอยู่เช่นกัน อาจจะขัดใจคนดูไปบ้าง แต่กลายเป็นว่าถ้าละครญี่ปุ่นเรื่องไหนจบแบบสวยๆ ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ละครญี่ปุ่นของแท้!
ชีวิตที่คาดเดาได้ไปซะทุกอย่าง มักจะทำให้ความท้าทายและความสนุกลดน้อยลง
#ละครก็เช่นกัน
ตามติดบทความ ของ ChaMaNow ทั้งหมด คลิ๊ก >>> Sakura Dramas
ทักทายพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ที่ >>> Facebook Sakura Dramas