วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
ตามหาวิชาดาบอิไอ (5) ประวัติและพัฒนาการของวิชาดาบอิไอสำนัก “มุโซจิกิเด็นเอชินริว”
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน บางทีชะตาชีวิตคนเรานั้น ในบางช่วงมันอาจจะมีอะไรกระทบใจให้ต้องละทิ้งบางสิ่งไป แต่พอถึงจุดหนึ่ง มันก็มีอะไรเล็กๆ บางอย่างที่ทำให้ต้องหวนกลับมาใหม่อีกครั้งครับ
วันนี้จะขอมาเล่าเรื่องมูลเหตุที่ทำให้ผมกลับมาฝึกดาบอิไอ (แม้จะยังไม่เต็มตัวก็เหอะ) และในโอกาสนี้ ก็ขอรับใช้ท่านผู้อ่าน ด้วยการค้นคว้าเรื่องราวของประวัติและพัฒนาการของวิชาดาบอิไอสำนัก “มุโซจิกิเด็นเอชินริว” ที่ผมเคยได้เรียนเมื่อตอนเรียนอยู่ที่โอซาก้า แล้วเอามานำเสนอท่านผู้อ่าน ณ ที่นี้ นะครับ
ก่อนอื่นขอรับใช้ท่านผู้อ่านด้วยการเล่า “ประวัติศาสตร์ของวิชาดาบอิไอ” อย่างย่นย่อที่สุดแค่พอที่เห็นพัฒนาการของวิชานะครับ
ว่ากันว่าในเชิงประเพณี (ซึ่งฟังดูเหมือนจะเป็นนิยายปรัมปรานั้น) มักอ้างถึงตำนานของ ฮายาชิซากิ จินสุเกะ ชิเงะโนบุ (林崎甚助源重信) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 15 (ถึงแก่กรรมปี 1621 หรือราว พ.ศ. 2163 พูดง่ายๆ คือราวสี่ร้อยปีก่อน ช่วงรอยต่อระหว่างปลายยุคเซ็นโกกุถึงต้นยุคเอโดะ) ซึ่งมีตำนานว่า เพื่อล้างแค้นให้บิดา ได้สวดภาวนาต่อเทพเมียวยินแห่งฮายาชิ (林の明神) ถึงร้อยวัน เอาดาบประจำตระกูลคาดสะเอว ฝึกวิชาชักดาบ (บัตโต 抜刀) ทั้งวันทั้งคืน จนเทพเมียวยินแห่งฮายาชิมาบอกวิชาให้ในฝัน อายุสิบเก้าจึงล้างแค้นให้บิดาได้สำเร็จ วิชาดาบที่ได้มาจากเทพนี้ ภายหลังถูกเรียกว่า มุโซฮายาชิซากิริว (夢想林崎流) แปลลิเกนิดๆ ได้ว่า “สำนักฮายาชิซากิสุบินนิมิต”
ด้วยเหตุนี้ในทางประเพณี สำนักมุโซจิกิเด็นเอชินริว จึงอ้างว่า ฮายาชิซากิ จินสุเกะ ชิเงะโนบุ นั้น คือปฐมาจารย์แห่งวิชาดาบอิไอ ครับ
ฮายาชิซากิ จินสุเกะ ชิเงะโนบุ (ที่มา chugokuchiku-iaidorenmei.com)
จากนั้นฮายาชิซากิ จินสุเกะ ชิเงะโนบุ ก็มีลูกศิษย์ หลานศิษย์ ต่อๆ กันมา จนมาถึงรุ่นที่ 7 คือ ฮาเซกาวะ จิคาระโนะสุเกะ ฮิเดะโนบุ (長谷川主税助英信) ซึ่งรุ่นที่ 7 นีแหละครับสำคัญ พึงทราบว่า แม้วิชาดาบอิไอจะอ้างประวัติตำนานว่ายาวย้อนไปได้ถึงยุคเซ็นโกกุ แต่รูปแบบวิชาที่ฝึกหัดกันมาจนถึงยุคปัจจุบันนั้นจริงๆ ถูกพัฒนาขึ้นมา (ตามบริบททางสังคม) ในยุคเอโดะต่างหาก จุดสำคัญของการพัฒนาวิชาในรุ่นที่ 7 คือการใช้ดาบคาตานา (อุจิกาตานะ) ซึ่งเป็นดาบที่เล็กกว่าทะจิที่ใช้กลางสนามรบในยุคเซ็นโกกุ ทะจินั้นเวลาคาดเอว เอาคมดาบหันลงพื้น แต่คาตานะน่ะ เอาคมดาบหันขึ้นบน ทำให้เทคนิคการชักดาบออกจากฝักต้องเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งวิชาของ ฮาเซกาวะ จิคาระโนะสุเกะ ฮิเดะโนบุ นั้น ภายหลังเรียกว่า ฮาเซกาวะเอชินริว (長谷川英信流) บ้าง (เอชิน คือคำแผลงเรียกชื่อ ฮิเดะโนบุ เป็นเสียงอน 英信 ครับ) มุโซจิกิเดนริว (無双直伝流) “สำนักถ่ายทอดตรง (สายตรง) ไร้เทียมทาน” บ้าง
พอมาถึงรุ่นที่ 9 คือ ฮายาชิ โรคุดะยุ โมริมาสะ (林六太夫守政) นั้น ในรุ่นนี้ได้เกิดพัฒนาการของวิชาทีสำคัญอีกอย่าง นั่นคือกระบวนท่าดาบที่เริ่มจากท่านั่งเซสะ ครับ ซึ่งกระบวนท่าเหล่านี้ ฮายาชิ โมริมาสะ นั้นเคยได้ไปเรียนมาจากวิชาดาบอิไอสำนักโอโมริ (大森流居合) (ซึ่งเล่ากันว่าเจ้าสำนักโอโมริ คือ โอโมริ โรคุระซาเอมอน มาซามิตสึ นั้น เป็นโรนินที่แต่ก่อนเคยเรียนวิชากับ ฮาเซกาวะ ฮิเดะโนบุ ซึ่งเป็นรุ่นที่ 7 แต่ตอนหลังถูกไล่ออกจากสำนักด้วยเหตุใดไม่แจ้ง) ก่อนที่จะเรียนวิชากับรุ่นที่ 8 คือ อาราอิ เซเท็ตสึ คิโยโนบุ (荒井勢哲清信) ที่เอโดะ จนได้รับช่วงต่อเป็นรุ่นที่ 9 จึงนำเอาวิชาดาบสายสำนักโอโมริมาประสมด้วย ภายหลังได้ไปเป็นข้ารับใช้แคว้นโทสะ (ปัจจุบันคือเขตจังหวัดโคจิ) และวิชาดาบอิไอของรุ่นที่ 9 นี้ก็ได้กลายเป็นวิชาดาบประจำแคว้นไป
กระบวนท่าสายนั่งเซสะ (เซสะโนะบุ 正座の部) ที่เรียนกันในวิชาสำนักมุโซจิกิเด็นเอชินริวทุกวันนี้ (ซึ่งเป็นหมวดวิชาที่คนได้ โชดัง (初段) ต้องเรียนเพื่อสอบขึ้นสองดั้ง (นิดัง 二段) นั้น อาจกล่าวได้ว่ามีที่มาจาก “รุ่นที่ 9” นี่เอง ครับ และในรุ่นนี้เองที่ได้เริ่มนำเอาเรื่องของจรรยามารยาท การทำความเคารพ (เรชิกิ 礼式) เข้ามาในการฝึกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
พอมาถึงรุ่นที่ 11 คือ โอกุโระ โมโตเอมอน คิโยคัตสึ (大黒元右衛門清勝) นั้น เกิดมีศิษย์ที่ฝีมือโดดเด่นแบบไม่มีใครยอมใครอยู่สองคน และทั้งสองคนก็พัฒนาวิชากันไปคนละแบบ หนึ่งคือ ฮายาชิ โมริโนะโจ มาซาโมริ (林益之丞政誠) ซึ่งต่อมาได้เป็นรุ่นที่ 12 เรียกกันว่า สายทานิมูระ (谷村派) อีกหนึ่งคือ มัตสึโยชิ ฮาจิซาเอมอน ฮิสะโมริ (松吉八左衛門久盛) เรียกกันว่า สายชิโมมูระ (下村派) ซึ่งพอเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ก็แยกออกมากลายเป็นสำนัก มุโซชินเด็นริว (無双神傳流) ไป
มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า แล้วตกลงเรียกชื่อไปต่างๆ เนี่ย แล้วชื่อ “มุโซจิกิเด็นเอชินริว” เนี่ย มันมาจากไหน?
ชื่อสำนักนี้ที่เรียกว่า “มุโซจิกิเด็นเอชินริว” (無双直伝英信流 “สำนักเอชินถ่ายทอดตรงไร้เทียมทาน”) อย่างเป็นทางการ ในยุคของเจ้าสำนักรุ่นที่ 17 โอเอะ มาซาจิ (大江正路) ครับ (ซึ่ง ณ ตอนนั้น ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคสมัยใหม่หลังปฏิรูปเมจิแล้ว) และวิชาสำนักนี้ที่เรียนกันในทุกวันนี้นั้น ผู้ที่เรียบเรียงหลักสูตรการเรียน โดยแบ่งหลักสูตรอยางเป็นระบบเป็นสามส่วน คือ ส่วนวิชาท่านั่งเซสะ (正座の部 เซสะโนะบุ ซึ่งมีที่มาย้อนไปถึงวิชาของสำนักโอโมริ) ส่วนวิชาท่านั่งชันเข่า (立膝の部 ทะจิฮิสะโนะบุ ซึ่งเป็นวิชาของสำนักฮาเซกาวะเอชิน) ส่วนวิชาอิไอระดับลึก (奥居合 โอคุอิไอ ซึ่งมีทั้งท่านั่งชันเข่าและท่ายืน)ก็คืออาจารย์โอเอะนี่แหละครับ
นอกจากการรวบรวม คัดสรร กระบวนท่าจากความที่ท่านเคยเรียนวิชาทั้งสายทานิมูระและชิโมมูระมาแล้ว ท่านยังได้ประดิษฐ์กาต้า (คาตะ 型) ประยุกต์ที่เรียกว่า บังไก (番外) อีกสี่กระบวนท่า และยังนำเอากาต้าแบบเข้าคู่ อย่างทะจิอุจิ โนะ คุราอิ (太刀打之位) เข้ามาด้วย ซึ่งนับเป็นการพยายามทำให้เป็นมาตรฐาน (standardization) เพื่อจะเผยแพร่วิชาให้กว้างไกลขึ้น เพื่อความอยู่รอดของศิลปะวิชาอันนี้ อย่างไรก็ดี ในยุคที่อาจารย์โอเอะเรียนวิชาดาบอิไอนั้น ไม่ทราบว่าเพราะเป็นยุคเสื่อมของวิชาต่อสู้โบราณ (ซึ่งเกี่ยวพันกับสังคม-การเมืองญี่ปุ่นยุคนั้น) ว่ากันว่า วิชาหลายๆ วิชาของสำนักที่มิใช่วิชาดาบอิไอ (เช่นวิชาดาบ (เคนจุตสึ) วิชากระบอง (โบจุตสึ) วิชาคว้าจับ (วะจุตสึ 和術 “วิชายาวาระ” มันคืออีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “ยูยิตสู”) นั้นอาจารย์โอเอะ มิได้ถ่ายทอด เลยกลายเป็นสูญไป (อาจเพราะถูกมองว่า “ล้าสมัย” อ่ะพูดตรงๆ ตอนหลังยูยิตสูก็ถูก “ยูโด” ดิสรัปไปซะ)
อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่า อาจารย์โอเอะ เป็นปรมาจารย์แห่งวิชาดาบอิไอยุคใหม่ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทำให้วิชาสำนักนี้แพร่หลายออกไป แต่…ก็เป็นจุดเริ่มของการแตกสาย แยกวง ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ ก็ไปเกี่ยวพันกับการที่ ทำไมวิชาดาบอิไอสำนักนี้ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็น “วิชาประจำแคว้นโทสะ” นั้น กลับกลายเป็นว่า ไปเผยแพร่ในโอซาก้าซะได้?
อาจารย์โอเอะ มาซาจิ ปรมาจารย์แห่งวิชาดาบอิไอยุคใหม่ (ที่มา wikipedia)
เรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงทศวรรษที่ 20 (พูดอีกอย่างคือ ราวหนึ่งร้อยปีก่อน) มีโรงฝึก (เคนโด้?) หลายที่ที่เขาอยากเรียนอิไอด้วย เลยไปขอให้อาจารย์ โฮกิยามะ นามิโอะ (穂岐山波雄) ศิษย์ของอาจารย์โอเอะ (ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าสำนักรุ่นที่ 18 สายทานิมูระ) มาสอนวิชาให้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง ยาเองากิไค (八重垣会) ในโอซาก้า หลังจากอาจารย์โฮกิยามะถึงแก่กรรม อาจารย์ฟุกุอิ ฺฮารุมาสะ (福井春政) ก็เป็นเจ้าสำนักรุ่นที่ 19 แล้วก็ไปสอนที่โอซาก้าด้วย แล้วโคโน่ มิโนรุ ซึ่งต่อมาเป็น อาจารย์โคโน่ เฮียคุเร็น (河野百錬) เจ้าสำนักรุ่นที่ 20 ก็ย้ายที่ทำงานไปอยู่โอซาก้าเพื่อไปเรียนวิชาต่อกับอาจารย์ฟุกุอิด้วย
อาจารย์ โฮกิยามะ นามิโอะ เจ้าสำนักรุ่นที่ 18, อาจารย์ฟุกุอิ ฮารุมาสะ เจ้าสำนักรุ่นที่ 19
อาจารย์โคโน่ เฮียคุเร็น เจ้าสำนักรุ่นที่ 20 (ที่มา facebook)
เรื่องของอาจารย์โคโน่นี่แหละครับ ที่เป็นจุดที่ทำให้เกิดการแยกวงกันของสององค์กรใหญ่ที่เกี่ยวกับอิไอโดในญี่ปุ่น เรื่องมีอยู่ว่า พอหลังสงครามแปซิฟิก ญี่ปุ่นโดน GHQ แบนเรื่องการฝึกศิลปะการต่อสู้ (เพราะกลัวว่ามันคือการปลุกลัทธิจักรวรรดินิยม?) อาจารย์โคโนะก็พยายามจะหาทางรวมเอาผู้ฝึกวิชาอิไอโดและเคนโด้ทั้งหลายมารวมกันเพื่อสร้างองค์กรระดับชาติที่จะสืบสานวิชาดาบอิไอ เกิดเป็น สมาพันธ์อิไอโดแห่งญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2497 (ว่ากันว่าก่อนหน้านั้นอาจารย์โคโนะเคยไปเสนอให้เอาวิชาอิไอโดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธ์เคนโด้แห่งญี่ปุ่น แต่ทางสมาพันธ์เคนโด้ฯ ยุคนั้นไม่สนใจ) แต่ไปๆ มาๆ ตอนหลังสมาพันธ์เคนโด้ฯ ดันตั้ง แผนกอิไอโด ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2499 ซะงั้น (อ้าวๆ) และแน่นอน มีลูกศิษย์อาจารย์โอเอะบางคนอย่าง อาจารย์มาซาโอกะ คัตสึทาเนะ (政岡壹實) อาจารย์ยามาโมโตะ ฮารุสุเกะ (山本晴介) และบรรดาศิษยานุศิษย์ พากันออกจากสมาพันธ์อิไอโดฯ แล้วไปเข้า สมาพันธ์เคนโด้ฯ แผนกอิไอโดกันแทน (ซะงั้น)
เลยกลายเป็นว่า ในญี่ปุ่นนั้นมีองค์กรเกี่ยวกับวิชาดาบอิไอ (อิไอโด) ในระดับชาติ หลักๆ อยู่สององค์กร คือ สมาพันธ์อิไอโดแห่งญี่ปุ่น (เซ็นนิปปอนอิไอโดเร็นเมย์ 全日本居合道連盟) ซึ่งอาจารย์โคโน่ก่อตั้งกับ สมาพันธ์เคนโด้แห่งญี่ปุ่น แผนกอิไอโด (เซ็นนิปปอนเคนโด้เร็นเมย์ อิไอโดบุ 全日本剣道連盟居合道部) ที่ตั้งขึ้นมีหลังแล้วมีบรรดาอาจารย์ที่เป็นศิษย์สำนักมุโซจิกิเด็นฯ “แยกวง” ไปสังกัดตรงนี้
อาจารย์ยามาโมโตะ ฮารุสุเกะ
อย่างไรก็ดี หนึ่งในลูกศิษย์ของ อาจารย์โคโน่ เฮียคุเร็น นั้น มี ซากาโมโตะ คิจิโร่ (坂本吉郎) อาจารย์สอนเคนโด้ของกรมตำรวจโอซาก้า ซึ่งภายหลังนั้นได้ตั้งโรงฝึกชุมปูไค (春風会) และที่น่าสนใจคือ ประธานของโรงฝึกชุมปูไค คือ อาจารย์ฟุกุดะ คาซุโอะ (福田一男) นั้น เคยเป็นหัวหน้าแผนกอิไอโด (ของโอซาก้า) ของสมาพันธ์เคนโด้ฯ ด้วย แล้วอาจารย์ซากาโมโตะ คิจิโร่ นั้นก็ยังมีบรรดาลูกศิษย์ที่ตอนหลังไปเป็นอาจารย์ของ “ไดเค็งเคียว” (大剣協) หรือ สมาคมเคนโด้โอซาก้า (大阪剣道協会) ด้วย
มันคงเป็นชะตาฟ้าลิขิต น่ะนะ เพราะไปเรียนหนังสือที่โอซาก้า เลยได้เรียนวิชาดาบของสำนักนี้ซะงั้น (โรงฝึกที่ผมเรียนอยู่ ทั้งที่บุโดคังอำเภอซุยตะ กับบุโดคังอำเภอมิโน่ นั้น สังกัด “สมาพันธ์เคนโด้แห่งญี่ปุ่น แผนกอิไอโด” นะครับ)
เอาล่ะครับการเล่าถึงประวัติศาสตร์ก็จบลงแล้ว คราวนี้มาถึงปัจจุบันปี 2024 มันเกิดอะไรขึ้นผมถึงจะกลับมาจับดาบอีก
มันมาจากที่จู่ๆ ผมไม่รู้นึกไง แบบ ไปเห็นรูปที่ผมฝึกดาบอิไอ ถ่ายคูกับอาจารย์โอคาดะ (ย้อนไปดูได้ที่นี่) โค้ชผม (ไรอัน) บอกว่า ยูควรจะกลับไปฝึกอิไอโดนะ ฝึกด้วยตัวเองก็ได้ อย่าลืมฝึกลมปราณท่ายืนควบคู่ไปด้วย…
…ตัวผมที่กำลังรู้สึกอยู่พอดีว่า ควรจะหาทางฝึกฝน “พลังจิตใจ” เพื่อหาทางยกระดับอัพเวลวิชา BJJ ให้เร็วกว่านี้ หลังจากที่มีคน “แซงหน้า” ผมขึ้นไปเป็นสายน้ำเงินสี่แถบแล้ว (พูดง่ายๆ คือ รอขึ้นสายม่วง) ในขณะที่ตัวผมยังคาอยู่ที่สามแถบ งานนี้ อะไรที่ผมจะทำแล้วทำให้อะไรๆ มันดีขึ้นได้ ก็ต้องลองทำแล้วล่ะ…
แต่ตัวผมตอนนี้ ไม่มีอะไรสักอย่าง
เลยต้องเริ่มต้นใหม่ START AGAIN โดยการซื้อดาบไม้ร้าน ITTOU – RYU เอาแบบที่หนักใกล้เคียงกับดาบที่ใช้ฝึก (ดาบอิไอ) ชุดก็นะ อยู่กับบ้านเอาชุดยูโดเก่าๆ มาใส่ไปก่อน มีเงินค่อยซื้อชุดเคนโด้ อ้อ ต้องซื้อสนับเข่าด้วย เวลาฝึกท่าสายท่านั่ง เอาเสื่อโยคะมาปูด้วย
อัพเดทล่าสุด (เม.ย. ๒๕๖๗) ซื้อชุดเคนโด้และก็โอบิ (จากร้านเดียวกัน) มาใส่เอาฤกษ์เอาชัยละ มีโอบิ กับนุ่งฮากามะ ก็พอเอาดาบคาดสะเอวได้ ตอนนี้มีแค่ดาบไม้ ดาบอิไอ (อิไอโต) รอเก็บตังค์ก่อน ไม่นานเกินรอ เดี๋ยวได้มาเมื่อไหร่จะถ่ายรูปให้ท่านผู้อ่านดูอีกที
ครั้งแรกในรอบเกือบยี่สิบปีแล้วมั๊ง ที่ไม่ได้ใส่ชุดแบบนี้ (ฮา)
อันนี้แค่ยืนถ่ายรูปนะ ฝึกกลางแจ้งไม่ไหวจริงๆ แต่สำหรับผม ดาบอิไอฝึกในบ้านได้ครับทั้งท่านั่งท่ายืนท่าเดิน (ฝุ่นพีเอ็ม ๒.๕ ที่ว่าเลวร้ายยังไง ก็ไม่เลวเท่าผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ทำตัวเหมือนที่พ่อผมเคยสอนว่า “คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว” หรอกนะครับ //ฝากไว้ให้คิด)
อย่างน้อยการได้ยืนจับดาบ (ถึงจะเป็นดาบไม้ก็เถอะ) มันก็ ทำให้ความรู้สึกเก่าๆ กลับมา ทำให้ใจมันฟูมัน พร้อมที่จะดิ้นรนในหนทางของ BJJ ต่อไป ผมจับดาบคราวนี้ มันเป็นเรื่องของใจ วิชาเดี๋ยวนี้ไม่มีไรปกปิดแล้ว วิดีโอในยูทูปผมเจอแล้วแบบ โหย มากๆ สิ่งที่มันเคยของปิดกลายเป็นของเปิด ตัวเราก็ค่อยๆ ปรับจูนการเคลื่อนไหวไป
ตอนนี้ก็คือ ถ้าไม่นับในบ้าน ยิมเป็นที่เดียวที่จะได้ออกกำลังกายสำหรับผมไปละ (ที่มา facebook)
ผมหวังว่า ผมจะยังดิ้นรนอยู่ในวิถีของ BJJ ได้ จนถึงเป้าหมาย นะครับ แม้ร่างกายจะ นะ เป็นไปตามสังขาร แต่ด้วยการ “พัฒนาจิต” นี่แหละ มันคงจะมีทางทำอะไรได้บ้าง
สุดท้ายนี้ ขอฝากคำคมนี้ครับ
「其れ剣は心なり。心正しからざれば、剣又正しからず。すべからく剣を学ばんと欲する者は、まず心より学べ」
ดาบนั้นคือจิต ถ้าจิตไม่ตรง ดาบก็ไม่ตรง ผู้อยากเรียนดาบนั้น ควรเรียนจากจิตก่อน
คำคมจาก ชิมาดะ โทราโนะสุเกะ (島田虎之助) นักดาบแห่งปลายยุคเอโดะ
สัปดาห์หน้า
พบกับซีรี่ส์ใหม่
ที่จะทำให้ท่านผู้อ่าน ปากอ้าตาค้าง กันเลยทีเดียว (ขนาดนั้นเลย) แน่นอนครับ
อย่าลืมติดตามอ่านนะครับ
เรื่องแนะนำ :
– ตามหาวิชาดาบอิไอ (4) เมื่อผมต้องสอบเลื่อนสาย
– ตามหาวิชาดาบอิไอ (3) วิชาต่อสู้ของญี่ปุ่นที่คนไทยไม่ (น่าจะ) รู้จัก
– ตามหาวิชาดาบอิไอ (2) พื้นฐานของวิชาดาบอิไอ
– ตามหาวิชาดาบอิไอ (1) บูโดคังอำเภอซุยตะ
– อภิปรายเรื่อง “อิคิไก” (生き甲斐) ในทัศนะของ Lordofwar Nick
#ตามหาวิชาดาบอิไอ (5) ประวัติและพัฒนาการของวิชาดาบอิไอสำนัก “มุโซจิกิเด็นเอชินริว”