เคยไหมคะ เวลาทานอาหารญี่ปุ่น ไม่ทราบว่าวิธีที่ฉันทานตอนนี้ ถูกต้องแล้วหรือยัง แต่ก็ไม่รู้จะไปถามใคร วันนี้เกตุวดียินดียืนหยัดคู่สังคมไทยในการไขข้อข้องใจเรื่องกินๆ แล้วค่ะ คำถามต่อไปนี้ รวบรวมและดัดแปลงคำถามที่ได้รับจากลูกเพจและเพื่อนๆ ดิฉันนะคะ
ศิราณีรับปรึกษาปัญหาหัวใจ เกตุวดีนั้นไซร้ รับปรึกษาปัญหาการกินการอยู่ฮ่ะ ช่วงเดือนที่ผ่านมาดิฉันได้รับคำถามเกี่ยวกับวิธีการทานอาหารญี่ปุ่นมากเป็น พิเศษ มันเกิดอะไรขึ้นคะ! มีโรงแรมไหนจัดบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นโปรโมชั่นอะไรรึเปล่า
เคยไหมคะ เวลาทานอาหารญี่ปุ่น ไม่ทราบว่าวิธีที่ฉันทานตอนนี้ ถูกต้องแล้วหรือยัง แต่ก็ไม่รู้จะไปถามใคร
วันนี้เกตุวดียินดียืนหยัดคู่สังคมไทยในการไขข้อข้องใจเรื่องกินๆ แล้วค่ะ คำถามต่อไปนี้ รวบรวมและดัดแปลงคำถามที่ได้รับจากลูกเพจและเพื่อนๆ ดิฉันนะคะ
หมวดการกินซูชิ
Q1: เวลากินซูชิที่คำใหญ่ๆ ทานคำเดียวไม่หมด จะทำยังไงดี? กัดครึ่งคำจะน่าเกลียดไหมคะ กลัวเสียภาพพจน์

A: หลายคนคงเคยประสบปัญหาซูชิใหญ่เกินไซส์ปาก แม้คุณใช้ตะเกียบคีบเข้าปากแล้วพยายามกัดครึ่ง แต่ก็กัดไม่ขาดอยู่ดี บางคนพยายามใช้ตะเกียบหั่นๆ ปลาดิบออกครึ่งหนึ่ง แต่กลายเป็นว่า เนื้อปลาดูยุ่ยๆ เละๆ ดิฉันก็เคยเป็นอย่างนั้นค่ะ โชคดีที่คุณป้าญี่ปุ่นท่านหนึ่งทนเห็นสภาพดิฉันไม่ไหว เลยถ่ายทอดภูมิปัญญาคนญี่ปุ่นให้ หลังจากนั้นดิฉันรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นมาก
เทคนิคที่ว่า คือ การเอาตะเกียบสอดไปใต้ปลาดิบแล้วบิก้อนข้าวเป็น 2 คำก่อน จากนั้นทานคำแรกโดยมีปลาดิบชิ้นเดียวกับข้าวก้อนเล็ก แล้วถึงค่อยคีบก้อนข้าวที่นอนเหลืออย่างเดียวดายบนจานเข้าปากต่อ วิธีนี้จะทำให้เราไม่ต้องพยายามฝืนหั่นปลาดิบด้วย และแบ่งทานซูชิในขนาดที่พอดีคำด้วยค่ะ
Q2: เอาวาซาบิไปแหมะไว้ตรงขอบถ้วยน้ำจิ้มโชยุได้ไหมคะ
A: ได้ค่ะ สมมติว่าถ้าไปทานกันหลายคน แล้วในจานซาชิมิมีวาซาบิก้อนโต ให้เอาตะเกียบคีบวาซาบิตามปริมาณที่ต้องการ แล้วป้ายถ้วยน้ำจิ้มได้เลย ถ้าจะเอาให้มารยาทถูกต้องเป๊ะ กรุณาใช้ปลายตะเกียบอีกด้านค่ะ อย่าทำแบบเพื่อนฉันดูดปลายตะเกียบตัวเอง แล้วเอาไปคีบวาซาบิ คีบปลาดิบ …อันนั้นมันกลายเป็นจูบทางอ้อมได้เลยนะคะ บรึ๋ย….
หมวดอาหารทั่วไป
Q3: กลุ้มใจเกี่ยวกับหัวไชเท้าฝนที่วางข้างๆ ปลาย่างค่ะ มีวิธีทานอย่างไรคะ?

A: หัวไชเท้าฝน หรือภาษาญี่ปุ่นคือ Daikon-Oroshi (大根おろし)นี้ มักจะมาคู่กับปลาย่างโดยเฉพาะ ปลาที่มันเยอะๆ เช่น ปลาซาบะ เพราะหัวไชเท้าฝนนี้ จะทำให้กระเพาะย่อยไขมันปลาได้ดีขึ้นค่ะ วิธีทานจริงๆ ก็ไม่มี pattern ตายตัว อยากจะคีบปลาแล้วคีบหัวไชเท้าตามก็ได้ ใครรู้สึกว่าปลาเค็มน้อยไป ก็ราดโชยุที่หัวไชเท้าก็ได้ ปกติคนญี่ปุ่นใช้ปลายตะเกียบแบ่งเนื้อปลาขนาดคำที่ต้องการ แล้วใช้ตะเกียบคีบหัวไชเท้าฝนมาวางบนเนื้อปลา แล้วก็ตักเข้าปากค่ะ แต่ถ้าใครจะคีบเนื้อปลาก่อน แล้วคีบหัวไชเท้าทานตามก็ไม่เป็นปัญหาเช่นกันค่า
Q4: ซุปมิโสะนี่เอาช้อนตักหรือยกซดคะ?
A: ร้านอาหารญี่ปุ่นหลายๆ ร้านในเมืองไทยมักจะเอาใจลูกค้าชาวไทยด้วยการเสิร์ฟซุปมิโสะพร้อมช้อนตักน้ำ แกง แต่จริงๆ แล้ว ร้านที่ญี่ปุ่นจะไม่มีช้อนให้ค่ะมีแค่ตะเกียบ เวลาจะทานซุปคนญี่ปุ่นจะยกถ้วยขึ้นดื่มซดเลย อย่ากางแขนกางข้อศอกเวลายกถ้วยซดนะคะ หนีบจั๊กแร้ไว้นิดหนึ่งภาพจะออกมาดูดี และถ้าจะทานสาหร่ายวากาเมะหรือเต้าหู้ในถ้วยก็ใช้ตะเกียบคีบเอา

สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าเวลายกซุปซดแล้ว ชอบมีเต้าหู้หรือสาหร่ายวากาเมะไหลเข้ามาด้วย ยิ่งร้านไหนใส่หัวไชเท้า เต้าหู้ทอด จะยกซดลำบากมาก ดิฉันมีเทคนิคขั้นสูงมานำเสนอค่ะ นั่นคือ การเอาตะเกียบกั้นพวกเต้าหู้สาหร่ายเหมือนเป็นเขื่อน แล้วค่อยยกซด


Q5: เวลาทานราเม็งต้องซดเสียงดังไหม ไปไม่เป็นจริงๆ ครับ
A: หลายๆ ท่านมักได้ยินมาว่าเวลาทานราเม็งต้องซู้ดเสียงดังๆ เป็นการให้เกียรติเจ้าของร้าน เพราะนั่นแปลว่าราเม็งอร่อย แต่พวกเราก็ไม่ค่อยชินกับการทานบะหมี่เสียงดัง
ต้องเกริ่นก่อนว่าราเม็งญี่ปุ่น น้ำซุปจะร้อนมาก เขาจึงต้องซู้ดเสียงดัง เพราะฉะนั้นการซู้ดไม่ใช่แค่การแสดงความอร่อยอย่างเดียว แต่เป็นทักษะการเอาตัวรอดของมนุษย์ญี่ปุ่นจากราเม็งซุปเดือด การซู้ดเป็นการระบายอากาศและเป่าให้เส้นเย็นค่ะ แต่แม้แต่ดิฉันที่อยู่ญี่ปุ่นมานานในระดับหนึ่ง ก็ยังไม่สามารถสืบทอดวัฒนธรรมการทานแบบนี้ได้ ซู้ดทีไร เส้นหมี่ตีแสกหน้าทุกที ปัจจุบันก็ยังทำตัวซู้ดๆ นิดหน่อย แต่ซู้ดแบบเบาๆ เอาช้อนค่อยๆ ประคองเส้นเพื่อลดความเสี่ยงซุปกระเด็นและเส้นตีแสกหน้า
เขียนมาตั้งยาวเอาจริงๆ ถ้าเจ้าของร้านทราบว่าเราเป็นคนต่างชาติ ก็ทานแบบตักบะหมี่พักใส่ช้อนแล้วเป่าฟู่ๆ แบบไทยไปเถอะค่ะ เขาไม่ว่าอะไรหรอก
ส่วนถ้าอยากทานสไตล์ญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะซู้ดบะหมี่ทานก่อนแบบเร็วๆ เพราะถ้าทานช้า เส้นจะอืดแล้วไม่อร่อยค่ะ จากนั้นพอเส้นใกล้หมดถึงค่อยซดซุปตาม ส่วนคนที่คลั่งราเม็งเขาจะเริ่มตักซุปชิมก่อน หลับตาพริ้มๆ เพื่อวิเคราะห์รสชาติ แล้วรีบซู้ดเส้นบะหมี่ด้วยความเร็วสูงต่อทันที เพื่อให้ยังเอร็ดอร่อยกับราเม็งอันร้อนระอุชามนั้น

Q6: ตะเกียบต้องเอามาสีกันไหม

A: เวลาไปทานอาหารญี่ปุ่น ดิฉันเห็นคนไทยบางคนเอาตะเกียบมาสีกัน นัยว่าเป็นการกำจัดเสี้ยน แต่คนญี่ปุ่นไม่ทำอย่างนั้นกันแล้วค่ะ ปัจจุบันเทคนิคการผลิตตะเกียบก้าวไกลไปมาก ตะเกียบที่ฉีกออกมาแล้วเป็นเสี้ยน จะไม่ถึงมือลูกค้าแน่นอน เขามีวิธีเหลาไม้ตะเกียบให้เราฉีกออกมาได้อย่างสวยงามค่ะ เพราะฉะนั้นฉีกไม้ออกมาแล้วก็ตักโซ้ยได้เลยค่ะ
สำหรับอาทิตย์นี้ดิฉันเลือกมาแค่ 6 คำถามหลักที่มีผู้ถามเข้ามาเยอะนะคะ ส่วนใครมีข้อสงสัยอื่นๆ อีกคอมเม้นท์ได้ทั้งในเพจหรือในเว็บนะคะ ^^ เดี๋ยวจะรวบรวมมาไขข้อข้องใจต่อค่ะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura