มาต่อกันที่มรดกคริสตังลับแห่งที่ 4 – 6 ที่นางาซากิและอามาคุสะ อันได้แก่ ชุมชนซาคิทสึแห่งอามาคุสะ, ชุมชนชิทสึ, และชุมชนโอโนะแห่งโซโตเมะ
สวัสดีค่ะ
จากที่ป้าหมวยยยอธิบายประวัติศาสตร์ของคริสต์ศาสนาในพื้นที่นางาซากิในตอนที่ 1 และแนะนำสถานที่ 3 แห่งแล้วแรกในตอนที่ 2 แล้ว เราต่อกันที่มรดกคริสตังลับแห่งที่ 4 – 6 ได้แก่ ชุมชนซาคิทสึแห่งอามาคุสะ, ชุมชนชิทสึ, และชุมชนโอโนะแห่งโซโตเมะกันนะคะ
4. ชุมชนซาคิทสึแห่งอามาคุสะ (Sakitsu Village in Amakusa)

ชุมชนซาคิทสึเป็นมรดกโลกแห่งเดียวในจำนวน 12 แห่งที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดคุมาโมโต้ ทางตอนใต้ของหมู่เกาะอามาคุสะเคยเป็นพื้นที่ที่คริสต์ศาสนารุ่งเรืองไม่น้อยไปกว่านางาซากิ
ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 16 เกาะอามาคุสะปกครองโดยตระกูลที่มีอำนาจ 5 ตระกูล แรกสุดหัวหน้าตระกูลชิกิ (志岐氏 Shiki-shi) ต้องการทำการค้ากับต่างประเทศจึงเข้ารีตและอนุญาตให้มีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในพื้นที่เป็นการแลกเปลี่ยน จากนั้นคุณพ่อหลุยส์ เดอ อัลเมดา (Louis de Almeida) แห่งคณะเยซูอิตเดินทางมายังอามาคุสะในปี 1566 และเริ่มประกาศข่าวดี อย่างไรก็ตาม เมื่อตระกูลชิกิไม่ประสบความสำเร็จในการทำการค้าต่างประเทศจึงละทิ้งศาสนา ศูนย์กลางกิจกรรมทางศาสนาคริสต์จึงย้ายไปยังพื้นที่ภายใต้การปกครองของตระกูลอามาคุสะ (天草氏 Amakusa-shi) เมื่อตระกูลที่เหลือเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ทำให้ในเวลานั้นมีคริสตังบนเกาะอามาคุสะถึง 15,000 คนและมีการสร้างโบสถ์มากมายถึง 30 แห่ง
ในปี 1588 กองทัพของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิเข้ายึดครองคิวชูได้สำเร็จ และมอบหมายให้คาโต้ คิโยมาสะ (加藤清正 Katō Kiyomasa) ดูแลแคว้นฮิโงะ (คุมาโมโต้) ส่วนบน และโคนิชิ ยูคินางะ (小西行長 Konishi Yukinaga) ดูแลส่วนล่างรวมทั้งเกาะอามาคุสะ ตระกูลทั้งห้ายอมจำนนและอยู่ภายใต้การปกครองของยูคินางะ
ในปีถัดมา เกิดความขัดแย้งระหว่างยูคินางะและตระกูลทั้งห้าในการก่อสร้างปราสาทอุโตะ เมื่อความไปถึงฮิเดโยชิ จึงมีคำสั่งให้คิโยมาสะและยูคินางะร่วมมือกันส่งกองทัพมากำราบผู้กระด้างกระเดื่อง ชัยชนะในการรบตกเป็นของรัฐบาล ยูคินางะไว้ชีวิตอามาคุสะ ทาเนะโมโตะ (天草種元 Amakusa Tanemoto) เจ้าตระกูลอามาคุสะ หลังจากนั้นคริสต์ศาสนาในพื้นที่อามาคุสะก็รุ่งเรือง มีการสร้างสามเณราลัยชั้นต้น (เซมินาริโย) และสามเณราลัยชั้นสูง (คอเลจิโย) เพราะผู้ปกครองอย่างยูคินางะเป็นคริสตังให้การสนับสนุน
ทว่าเวลาแห่งความรุ่งเรืองนั้นสั้นนัก ในปี 1596 ฮิเดโยชิออกคำสั่งขับไล่บาทหลวงฉบับที่ 2 ทำให้มีการเบียดเบียนศาสนามากขึ้น และในปี 1600 เกิดสงครามเซกิงาฮาระ (関が原の戦い Sekigahara no Tatakai) โคนิชิ ยูคินางะที่เข้ากับฝ่ายตะวันตกซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้จึงต้องโทษประหารที่เกียวโต ส่วนอามาคุสะ ทาเนะโมโตะเสียชีวิตในที่รบ จากนั้นผู้ปกครองใหม่ เทราซาวะ ฮิโรทากะ (寺沢広高 Terasawa Hirotaka) จากเขตคาราทสึ เข้ามาปกครองอามาคุสะแทน ทำให้คริสตังแห่งอามาคุสะใช้ชีวิตยากลำบากยิ่ง
ในปี 1614 รัฐบาลบากุฟุประกาศสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์อย่างเด็ดขาด ชาวบ้านถูกเบียดเบียนศาสนาประกอบกับการถูกขูดรีดภาษีอย่างหนัก ความคั่งแค้นนำพาให้ชาวบ้านร่วมกันก่อกบฏคริสตังชิมาบาระ-อามาคุสะขึ้นในปี 1637 กลุ่มกบฏยืดหยัดต่อสู้อยู่ 88 วันพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพผสมรัฐบาล สมาชิกกลุ่มทั้ง 37,000 คนถูกฆ่าตายหมด หลังจากนั้นคริสตังในพื้นที่อามาคุสะจึงต้องปกปิดตัวตนเช่นเดียวกับคริสตังลับในนางาซากิ
ซาคิทสึเป็นหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะชิโมจิมะของหมู่เกาะอามาคุสะ ชาวบ้านเริ่มหันมานับถือศาสนาคริสต์เมื่อคุณพ่อหลุยส์ เดอ อัลเมดาได้เข้ามาประกาศข่าวดีในหมู่บ้านราวปี 1569 มีการจัดตั้งกลุ่มคริสตังย่อยเรียกว่า “โคะกุมิ” (小組 Kogumi) และมีผู้นำที่เรียกว่า มิซึคาตะ (水方 Mizukata) จะเป็นผู้ทำพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีล้างบาป พิธีศพ และพิธีอื่น ๆ ตามปฏิทินพิธีกรรม
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์กบฏชิมาบาระ-อามาคุสะ ชาวบ้านในหมู่บ้านซาคิทสึรวมทั้งหมู่บ้านใกล้เคียงอย่างทาคาฮามะ, โอเอะ, และอิมาโทมิไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มกบฏจึงไม่ได้ถูกเพ่งเล็งมากนัก เมื่อรัฐบาลออกกฏห้ามนับถือศาสนาคริสต์จึงยังสามารถปิดบังตัวตนไว้ได้โดยไปวัดหรือศาลเจ้าแต่ยังคงแอบทำพิธีกรรมอย่างลับ ๆ
ในช่วงที่รัฐบาลห้ามนับถือศาสนาคริสต์ ทุกคนในหมู่บ้านจะต้องทำมาพิธีเหยียบแผ่นฟุมิเอะ (踏絵 Fumie) หรือแผ่นจำลองรูปพระเยซูหรือพระแม่มารีย์ปีละครั้งที่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน (庄屋 Shoya) ภายใต้สายตาของเจ้าหน้าที่รัฐบาล และต้องลงทะเบียนชื่อและสังกัดวัดในสมุดที่เรียกว่า ชูมง อาราตะเมะโจ (宗門改帳 Shūmon Aratame-chō) คริสตังลับนอกจากแสดงตัวเป็นพุทธศาสนิกชนแล้วยังเข้าร่วมศาสนพิธีกรรมแบบชินโตที่ศาลเจ้าสุวะเพื่อปกปิดตัวตนด้วย
ศาลเจ้าสุวะแห่งซาคิทสึ (崎津諏訪神社 Sakitsu Suwa Jinja) ตั้งอยู่บนเนินเขาใกล้อ่าว เป็นศาลเจ้าที่ตั้งขึ้นในปี 1647 และเป็นดั่งศูนย์กลางของชุมชนซาคิทสึ ชาวบ้านมักมาขอพรเพื่อความปลอดภัยยามออกทะเลและขอให้ทำประมงได้ แต่เมื่อกลับบ้านคริสตังลับจะสวดบทสวดคอนจิริซังโนะริยาคุ (こんちりさんのりやく Konchirisan no Riyaku, คอนจิริซัง มาจากภาษาโปรตุเกส Contrição หรือภาษาอังกฤษ Contrition หมายถึงการเป็นทุกข์ถึงบาป ส่วน Riyaku หมายถึงความช่วยเหลือจากเบื้องบน) เพื่อวอนขอการอภัยบาปต่อพระเจ้า
คริสตังลับแห่งซาคิทสึจะบูชาเทพไดโกกุเท็น (大黒天 Daikokuten) หรือเทพเอบิสุ (恵比須 Ebisu) แทนองค์เซอุส (แผลงมาจาก Deus หรือพระเจ้า) เพื่อขอให้จับปลาได้มาก ๆ รวมทั้งบูชาลวดลายบนหอยมุกหรือหอยอื่น ๆ แทนพระแม่มารีย์ นอกจากนี้มีการถวายเนื้อปลาที่พระแท่นตามอย่างธรรมเนียมพุทธ เมื่อไปศาลเจ้าจะสวดบทภาวนา “อังเมนริยุสุ” (あんめんりゆす) หรือ Amen Deus หรือ Jesus ทั้งหมดนี้แสดงถึงการผสมผสานความเชื่อทั้งชินโต พุทธ และคริสต์ในพื้นที่

ต่อมา รัฐบาลตั้งข้อสังเกตว่า คนในหมู่บ้านซาคิทสึและหมู่บ้านใกล้เคียงจะล้มวัวและถวายเนื้อบนแท่นบูชาทุก ๆ ช่วงคริสต์มาส และเคารพรูปบูชาที่แตกต่างจากรูปปั้นทางพุทธศาสนา จึงนำไปสู่การเปิดโปงคริสตังลับในปี 1805 โดยพบว่ากว่า 70% ของชาวบ้านในหมู่บ้านซาคิทสึเป็นคริสตังลับ มีการบันทึกคำสารภาพและข้อมูลต่าง ๆ เช่น รูปแบบองค์กร ธรรมเนียมปฏิบัติ บทสวด วัตถุบูชา และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อย่างไรก็ตาม เป็นความโชคดีของคริสตังลับแห่งซาคิทสึ เพราะเหตุการณ์นี้รัฐบาลมองว่าเป็น ‘ความเชื่อต่างลัทธิ’ ที่ไม่ขัดกับคำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ และสั่งให้นำวัตถุบูชามาทิ้งที่ศาลเจ้าสุวะเท่านั้น
เมื่อคำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ถูกปลดลงในปี 1873 ไม่กี่ปีหลังจากนั้น คุณพ่อหลายท่านจากคณะมิสซังแห่งกรุงปารีส (M.E.P) เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากฝรั่งเศสมาถึงอามาคุสะเพื่อฟื้นฟูชุมชนคริสตังขึ้นมาใหม่หลังจากที่ต้องหลบซ่อนอยู่ 250 ปี ณ เวลานั้นคริสตังลับแห่งอามาคุสะต้องเลือกระหว่างกลับเข้าสู่พระศาสนจักร หรือยังคงเป็นคริสตังลับต่อไป คนในหมู่บ้านซาคิทสึและโอเอะยินดีกลับรับศีลล้างบาป ในขณะที่คนในหมู่บ้านอิมาโทมิยังคงสืบทอดธรรมเนียมคริสตังลับอีกกว่า 30 ปีจนยอมกลับเข้าสู่พระศาสนจักรในราวปี 1940
ศูนย์กลางของชุมชนซาคิทสึ คือ โบสถ์ซาคิทสึ (崎津教会 Sakitsu Kyōkai) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสังฆมณฑลฟุกุโอกะ โบสถ์หลังแรกสร้างบนพื้นที่ติดกับศาลเจ้าสุวะในปี 1888 และโบสถ์หลังปัจจุบันสร้างขึ้นในปี 1934 โดยตั้งอยู่ในตรอกเล็ก ๆ ริมอ่าว โดยเป็นความตั้งใจของคุณพ่อออกุสแตง ฮัลบูต์ (Fr. Augustin Halbout) ที่ขอซื้อที่สร้างโบสถ์ ณ จุดที่เคยเป็นบ้านของผู้ใหญ่บ้าน (โชยะ) ที่ชาวบ้านต้องมาเข้าพิธีเอฟุมิในช่วงห้ามนับถือศาสนาคริสต์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูพระศาสนจักร

โบสถ์ซาคิทสึหลังใหม่มีสถาปัตยกรรมภายนอกแบบโกธิค ตัวโบสถ์ส่วนหน้าทำด้วยหินสีเทา แต่ส่วนหลังทำด้วยไม้เพื่อประหยัดงบประมาณ เมื่อมองด้านข้างจึงเห็นได้ชัดเจนว่าตัวโบสถ์มีสองสี

ภายในโบสถ์มีเพดานสูงแบบ Rib vault ทาสีขาวดูสะอาดตา และปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิตั้งแต่แรกสร้าง เป็นการผสมผสานของความเป็นตะวันตกและความเป็นญี่ปุ่นที่ดูแปลกตาแต่ลงตัว เวลามีพิธีมิสซาจะตั้งเก้าอี้พับเพื่อความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ตำแหน่งของพระแท่นเอกด้านในสุด คือจุดที่ชาวบ้านต้องเหยียบแผ่นฟุมิเอะในสมัยก่อน

การเดินทางโดยรถยนต์นั้น ใช้เวลาขับรถจากตัวเมืองคุมาโมโต้ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง การเข้าชมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซท์ http://kyoukaigun.jp โดยเลือกวันเวลาที่ต้องการเข้าชม ห้ามถ่ายภาพภายในโบสถ์ และเนื่องจากพื้นที่คับแคบจึงจำเป็นต้องติดตามการประกาศเกี่ยวกับจุดจอดรถล่วงหน้าเสมอ
ห่างจากโบสถ์ซาคิทสึประมาณ 6 กิโลเมตรมีโบสถ์โอเอะ (大江教会 Ōe Kyōkai) ตั้งอยู่บนเนินเขา โบสถ์โอเอะเป็นโบสถ์สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ทาสีขาว สร้างขึ้นในปี 1933 ใกล้เคียงกับโบสถ์ซาคิทสึ โดยคุณพ่อเฟเดอริก หลุยส์ การ์นิเย่ (Fr. Frederic Louis Garnier) ที่มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสคนแรกเรี่ยไรเงินจากผู้ศรัทธาและญาติมิตรที่ฝรั่งเศสสร้างโบสถ์ขึ้น และตรงทางขึ้นเนินเขามีพิพิธภัณฑ์อามาคุสะโรซารีโอ (天草ロザリオ館 Rozario-kan) จัดแสดงวัตถุบูชาของคริสตังลับ

ทั้งโบสถ์ซาคิทสึและโบสถ์โอเอะออกแบบและดูแลการก่อสร้างโดยนายช่างเท็ตสึคาวะ โยสึเกะ (鉄川与助 Tetsukawa Yosuke) ซึ่งเกิดในตระกูลช่างไม้ และมีโอกาสเรียนรู้ศึกษารูปแบบการก่อสร้างแบบตะวันตกจากคุณพ่อบาทหลวงฝรั่งเศส จึงนำเทคนิคการก่อสร้างแบบตะวันตกมาผสมผสานกับเทคนิคแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม โบสถ์คาทอลิกที่เป็นผลงานของคุณเท็ตสึคาวะกระจายอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วจังหวัดนางาซากินับสิบแห่ง แต่ละแห่งล้วนได้รับการยกย่องถึงความสวยงาม
5. ชุมชนชิทสึแห่งโซโตเมะ (Shitsu Village in Sotome)

โซโตเมะ (出津 Shitsu) เดิมเป็นชื่อตำบลที่ทอดยาวไปตามชายฝั่งซุโมนาดะทางตะวันตกเฉียงเหนือจากเมืองนางาซากิไปราว 30 กิโลเมตร เมื่อข้ามทะเลไปจะเป็นบริเวณเกาะนากาโดริ หนึ่งในหมู่เกาะโกโต้ (五島列島 Gotōrettō) ที่นี่เป็นต้นแบบของหมู่บ้านคริสตังโทโมงิที่ปรากฏในนวนิยายชื่อดัง “沈黙” (Silence) ของเอ็นโด ชูซากุ (遠藤周作 Endō Shūsaku)
ชาวบ้านในพื้นที่หันมานับถือคริสต์ศาสนาตั้งแต่ราวคริสตศตวรรษที่ 16 โดยคุณพ่อฟรังซิสโก คาบรัล (Francisco Cabral) แห่งคณะเยซูอิตเป็นผู้เข้ามาประกาศข่าวดีในโซโตเมะในปี 1571 การแพร่ธรรมเป็นไปด้วยดีจนมีคำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ออกบังคับในปี 1614
ด้วยบริเวณโซโตเมะเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างเขตโอมูระและเขตซางะ แม้เขตโอมูระจะเข้มงวดในการตรวจสอบผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่โซโตเมะอยู่ไกลจากปราสาทจุดศูนย์กลางการปกครองมาก ทำให้ยากในการส่งข้าราชการมา นอกจากนี้หมู่บ้านชิทสึยังอยู่ในการปกครองของเขตซางะที่ไม่ค่อยเข้มงวดในการตรวจสอบ จึงทำให้มีคริสตังลับอาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นจำนวนไม่น้อย
ภายในหมู่บ้านคริสตังลับ จะแบ่งเป็นกลุ่มคริสตังย่อยเรียกว่า คุมิ (組 Kumi) หลายกลุ่ม มีการเลือกกลุ่มผู้นำเรียกว่า “จิฮิซามะ” (ジヒサマ Jihisama) ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้า, รองหัวหน้า, และสาวกอย่างละ 1 คน หน้าที่ของจิฮิซามะคือ ทำพิธีล้างบาป พิธีศพ และนำพิธีสวดภาวนาในโอกาสต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น เทศกาลคริสต์สมภพที่เรียกว่าโกะตันโจ (ご誕生 Gotanjō) โดยอ้างอิงปฏิทินพิธีกรรมเรียกว่า โอโจ (お帳 Ochō) ที่สืบทอดมาตั้งแต่ก่อนมีคำสั่งห้ามนับถือศาสนา

ศาสนวัตถุของคริสตังลับแห่งโซโตเมะมีหลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น หุ่นเซียนทำด้วยสำริดทองแดงจากจีนที่คริสตังลับเรียกว่า “อินัชโชะซามะ” (イナッショさま Inassho-sama) ใช้เป็นตัวแทนของนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา (Ignatius of Loyola) ผู้ก่อตั้งคณะเยซูอิต นอกจากนี้ยังมีศาสนวัตถุแบบดั้งเดิมที่คริสตังลับเสี่ยงชีวิตเก็บรักษารุ่นต่อรุ่นยาวนานนับร้อยปี เช่น แผ่นสำริดทองแดงรูปพระแม่มารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล และภาพแขวน Our Lady of the Snows

ภาพแขวน Our Lady of the Snows (雪のサンタマリア Yuki no Santa Maria) ถูกค้นพบในปี 1973 ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ 26 นักบุญมรณสักขี (二十六聖人記念館 Nijūrokuseijin Kinenkan) ที่เมืองนางาซากิ ทั้งแผ่นมีขนาด 21 x 27 ซม. แต่ตัวภาพมีขนาดเพียง 10 ซม. เท่านั้น เป็นภาพพระแม่มารีย์แบบตะวันตกแต่วาดด้วยสีและเทคนิคการวาดแบบญี่ปุ่นบนกระดาษญี่ปุ่น สันนิษฐานว่าถูกวาดขึ้นในราวต้นศตวรรษที่ 16 แม้ผ่านไป 400 ปีแล้วแต่ยังคงปรากฏรายละเอียดและสีสันสวยงาม นอกจากนี้ภาพนี้ยังปรากฏอยู่ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ Silence (2016) ที่กำกับโดย Martin Scorsese ด้วย

ในปี 1865 เมื่อคริสตังลับหมู่บ้านอุราคามิในนางาซากิไปแสดงตัวเป็นครั้งแรกต่อคุณพ่อชาวฝรั่งเศสที่โบสถ์โออุระในนางาซากิ ทำให้หัวหน้าคริสตังลับแห่งหมู่บ้านชิทสึได้ติดต่อคุณพ่อเป็นการลับ เพื่อเชิญมายังหมู่บ้านและมีชาวบ้าน 200 ครัวเรือนได้เข้ารับศีลล้างบาป บางส่วนยังคงยึดธรรมเนียมคริสตังลับต่อไป แต่ในปัจจุบันแทบไม่เหลือคริสตังลับในพื้นที่แล้ว
แปดปีหลังจากนั้น เมื่อปลดคำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ในปี 1873 ทางคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P) ได้ส่งคุณพ่อมัลค์ มารี เดอ โรต์ซ (Marc Marie de Rotz) มาประจำที่หมู่บ้านชิทสึ คุณพ่อมาถึงในปี 1879 ทุ่มเทแรงกายใจในการสอนศาสนาและกิจการต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวบ้าน และไม่เคยกลับไปยังฝรั่งเศสอีกเลยจนเสียชีวิตในปี 1914
คุณพ่อเดอโรต์ซนอกจากเป็นบาทหลวงมีใจเมตตา แล้วมีความรู้รอบด้านทั้งด้านการก่อสร้าง เภสัชศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ ท่านช่วยเหลือชาวบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกท่านด้วยความเคารพว่า “โดโระซามะ (ท่านโดโระ)” (ド・ロ様 Doro-sama)

โบสถ์ชิทสึ (出津教会 Shitsu Kyōkai) ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของอัครสังฆมณฑลนางาซากิ สร้างเสร็จในปี 1882 ตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นผลงานออกแบบของคุณพ่อเดอโรต์ซ สร้างด้วยอิฐฉาบปูน มีหลังคาเตี้ยเพื่อให้คงทนต่อแรงลมทะเลที่พัดมาตลอดเวลา มีการสร้างหอเล็กและหอระฆังบนยอดหลังคาในการต่อเติมปี 1891 และ 1909 ภายในหอใหญ่ติดตั้งระฆังและตั้งพระรูปพระแม่มารีย์จากฝรั่งเศสไว้ด้านบนยอด หอระฆังถูกนำออกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันสร้างหอระฆังแยกไว้ต่างหาก

ภายในโบสถ์ชิทสึเป็นเพดานเรียบและมีช่องเว้าตรงกลางนำสายตาไปยังพระแท่นเอก แตกต่างจากโบสถ์อื่น ๆ ในสมัยนั้นที่นิยมสร้างให้ภายในมีหลังคาโค้งสูงแบบ Rib vault
การเดินทางใช้รถยนต์จะสะดวกที่สุด โดยขับรถจากตัวเมืองนางาซากิหรือเมืองซาเซโบะ ใช้เวลาประมาณ 50 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง การเข้าชมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซท์ http://kyoukaigun.jp โดยเลือกวันเวลาที่ต้องการเข้าชม และห้ามถ่ายภาพภายในโบสถ์
ภายในหมู่บ้าน นอกจากโบสถ์ชิทสึแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโซโตเมะ (外海歴史民俗資料館Sotome Rekishi Minzoku Shiryōkan) ที่จัดแสดงโบราณวัตถุยุคหินเก่าที่ขุดพบที่ชิทสึ ข้าวของเครื่องใช้ในท้องถิ่นในสมัยก่อน และศาสนวัตถุของคริสตังลับ, พิพิธภัณฑ์คุณพ่อเดอโรต์ซ (ド・ロ神父記念館 Doro Shinpu Kinenkan) จัดแสดงของใช้ส่วนตัวของคุณพ่อเดอโรตซ์, พิพิธภัณฑ์ศูนย์ฝึกอาชีพชิทสึ (旧出津救助院 Kyū Shitsu Kyūjoin) จัดแสดงการฝึกอาชีพต่าง ๆ ที่คุณพ่อเคยริเริ่มขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านที่ยากจนได้เรียนรู้นำไปประกอบอาชีพ เช่น การทำเส้นโซเม็ง มักโรนี การทำโชยุ เป็นต้น
6. ชุมชนโอโนะแห่งโซโตเมะ (Ono Village of Sotome)

ห่างจากหมู่บ้านชิทสึไปทางเหนือประมาณ 4.5 กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านโอโนะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่เคยมีคริสตังลับอาศัยอยู่เช่นเดียวกับหมู่บ้านชิทสึ
คุณพ่อฟรังซิสโก คาบรัล (Francisco Cabral) เป็นผู้นำคริสต์ศาสนามาสู่หมู่บ้านโอโนะในปี 1571เช่นเดียวกับหมู่บ้านชิทสึ เมื่อมีคำสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์ออกมาในปี 1614 คริสตังลับในหมู่บ้านอำพรางตัวเป็นผู้นับถือศาสนาชินโต โดยสักการะเทพเจ้าที่ศาลเจ้าสำคัญในหมู่บ้านสามแห่ง ได้แก่ ศาลเจ้าโอโนะ (大野神社 Ōno Jinja), ศาลเจ้าคาโดะ (門神社 Kado Jinja), และศาลเจ้าทสึจิ (辻神社 Tsuji Jinja)
ศาลเจ้าโอโนะมีศักดิ์สูงที่สุดในบรรดาศาลเจ้าทั้งสาม เป็นเสมือนเทพผู้คุ้มครองหมู่บ้าน ส่วนศาลเจ้าคาโดะและศาลเจ้าทสึจิ คริสตังลับเคารพบูชายามาดะ โยชิมิทสึ (本田敏光 Honda Yoshimitsu) โดยเรียกว่า “ซังจูวังซามะ” (サンジュワン様 Sanjuwan-sama) ตามชื่อของนักบวชชาวโปรตุเกสที่เคยลักลอบแพร่ธรรมในโซโตเมะในช่วงต้นของการห้ามนับถือศาสนา (คนละคนกับ “ซังจูวังซามะ” ที่เป็นที่นับถือในพื้นที่ฮิราโดะ) กล่าวกันว่ายามาดะเป็นผู้หลบหนีจากเหตุการณ์กบฏชิมาบาระ (ปี 1637-1638) มายังหมู่บ้าน
เมื่อหมู่บ้านชิทสึเชิญคุณพ่อบาทหลวงฝรั่งเศสมาที่หมู่บ้านเป็นการลับ คริสตังลับของหมู่บ้านโอโนะก็ได้ถือโอกาสนี้เชิญคุณพ่อมาที่หมู่บ้านและเข้ารับศีลล้างบาปกลับเข้าสู่พระศาสนจักรคาทอลิก
เมื่อมีการปลดคำสั่งห้ามนับถือศาสนาในปี 1873 คริสตังในหมู่บ้าน 200 หลังคาเรือนต้องเดินทางไกล 3-4 กิโลเมตรเพื่อไปร่วมพิธีมิสซาที่โบสถ์ชิทสึ ต่อมาคุณพ่อเดอโรต์ซจึงให้สร้างโบสถ์โอโนะขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้คริสตังในชุมชนที่ไม่สะดวกเดินทาง โบสถ์นี้ไม่มีบาทหลวงประจำ ดังนั้นคุณพ่อจะเดินทางจากโบสถ์ชิทสึมาทำพิธีมิสซาให้ สมัยก่อนเคยมีคริสตชนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้น

โบสถ์โอโนะ (大野教会 Ōno Kyōkai) ตั้งอยู่บนเนินเขากลางหมู่บ้าน สร้างขึ้นในปี 1893 ด้วยเงินส่วนตัวของคุณพ่อเดอโรต์ซและแรงงานของชาวบ้าน เป็นโบสถ์เล็ก ๆ ที่มีความกว้าง 6.1 เมตร และยาว 11.8 เมตร มีห้องพักบาทหลวงที่ต่อเติมขึ้นในปี 1926 โบสถ์นี้มีความพิเศษที่ผนังกำแพงซึ่งใช้เทคนิคที่คุณพ่อเดอโรต์ซดัดแปลงจากวิธีก่อสร้างกำแพงแบบพื้นบ้านให้มีความคงทนมากขึ้น โดยนำทรายกับปูนขาวผสมลงในดินเหนียวละลายน้ำ ใช้เป็นตัวเชื่อมแผ่นหินบะซอล์ตที่วางซ้อนกันจนเป็นกำแพงหินที่แข็งแรงคงทนต่อลมทะเลและมีความสวยงามแปลกตา ผนังและกำแพงที่สร้างด้วยเทคนิคนี้เรียกว่า “กำแพงเดอโรต์ซ” (ド・ロ壁 Doro-kabe)

ปัจจุบันโบสถ์โอโนะไม่ได้ใช้งานแล้วนอกจากมีพิธีมิสซาที่จะจัดขึ้นเพียงปีละครั้งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและพิธีศพ ผู้เยี่ยมชมสามารถชมได้แต่ภายนอกเท่านั้น การเข้าชมต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่เว็บไซท์ http://kyoukaigun.jp โดยเลือกวันเวลาที่ต้องการเข้าชม
ตอนหน้าป้าหมวยยยจะพาไปรู้จักชุมชนบนเกาะคุโรชิม่า, ซากชุมชนบนเกาะโนซากิ และชุมชนบนเกาะคาชิระงาชิม่าค่ะ
เรื่องแนะนำ :
– แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 2
– แลมรดกโลก : มรดกคริสตังลับแห่งนางาซากิและอามาคุสะ ตอนที่ 1
– คุมะมงภูมิใจนำเสนอ Amakusa Daiō : ไก่ราชันอามาคุสะ
– Tenjōkyō : สะพานที่เกือบจะได้ชื่อว่า “สะพานคุมะมง”
– สะพานทั้งห้าแห่งอามาคุสะ (Five Bridges of Amakusa)
ข้อมูลจาก
https://amakusac-ch.jimdo.com/天草キリシタン史について
http://www2.harimaya.com/sengoku/html/amakusa.html
http://www.geocities.jp/amakusa_tanken/tensyounotatakai.html
https://www.city.amakusa.kumamoto.jp/sakitsu-sekai/…/3_17_8798_up_83ugl8r0.pdf
https://www.nishinippon.co.jp/special/isan/201401/article/keisho.shtml
http://oratio.jp
http://shitsu-kyujoin.com/en/publics/index/4/
http://www1.odn.ne.jp/tomas/oonosoto.htm