HAYABUSA จากไปด้วยอาการเลือดออกในสมอง ซึ่ง ณ เวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบถึงสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตามการตายครั้งนี้ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากเรามองย้อนกลับไปถึงอดีตและจิตใจที่เข้มแข็งของเขาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่ใหญ่ที่สุดในวงการกีฬาต่อสู้ทั่วโลก ก็คือการจากไปของตำนานนักมวยปล้ำญี่ปุ่น “Eiji Ezaki” หรือที่แฟนมวยปล้ำรู้จักกันในนามของ “ฮายะบุสะ” (Hayabusa) นักมวยปล้ำหน้ากากเจ้าของคาแรกเตอร์นกฟินิกซ์ในตำนาน ผู้คิดค้นท่าเหินเวหามากมาย จนถือได้ว่าเขาเป็นผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการมวยปล้ำครับ
เขาจากไปด้วยอาการเลือดออกในสมอง ซึ่ง ณ เวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบถึงสาเหตุอย่างละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตามการตายครั้งนี้ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากเรามองย้อนกลับไปถึงอดีตและจิตใจที่เข้มแข็งของเขาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ผมขอย้อนกลับไปถึงเรื่องราวในอดีตสักนิดนะครับ สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นแฟนมวยปล้ำนั้นอาจไม่รู้ว่า Hayabusa ต้องนั่งรถเข็นมาตั้งแต่ที่เขาเกิดอุบัติเหตุในเดือนตุลาคม 2001 โดยเขากำลังจะใส่ท่าสปริงบอร์ด ตีลังกากับเชือกเส้นที่สอง แต่เกิดลื่นทำให้คอของเขาปักลงที่พื้นเวทีอย่างแรง จนเขาเป็นอัมพาตทันที นี่ถือเป็นอุบัติเหตุครั้งที่รุนแรงและส่งผลต่อวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นให้ตระหนักถึงความปลอดภัยมากขึ้นครับ ซึ่งหากใครต้องการชมวีดีโอในตอนที่เกิดอุบัติเหตุ ก็สามารถดูได้จากคลิปด้านล่างนี้
https://www.youtube.com/watch?v=pdyTZfojgLY
ถ้าถามว่า Hayabusa มีความสำคัญอย่างไรต่อวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น? ผมขอนำเสนอส่วนนี้จากมุมมองของผมนะครับ
หลักๆ แล้วทาง Hayabusa เองขึ้นปล้ำในค่าย FMW ซึ่งปกติค่ายนี้จะใช้รูปแบบการปล้ำแบบ Ultra Violence หรือแบบป่าเถื่อนมาก (เหนือกว่าคำว่าฮาร์ดคอร์หรือโหดนะครับ) กล่าวคือการปล้ำของ FMW จะมีลวดหนาม หลอดนีออน หรือกระทั่งระเบิดเวลาเป็นส่วนประกอบของแมตช์ หรือกระทั่งบางแมตช์ก็มีการเอาไฟจริงๆ มาใช้ และจากข้อมูลมีนักมวยปล้ำบางท่านที่ต้องเจอแผลไฟไหม้ไปกว่า 80% ของร่างกาย
นี่คือสไตล์การปล้ำดั้งเดิมของสมาคม FMW จนกระทั่งทาง Hayabusa เริ่มค่อยๆ สร้างชื่อเสียงมากขึ้นในสมาคม ด้วยสไตล์การปล้ำที่แตกต่างกันออกไป คือแน่นอนพวกเขาคงตัดอาวุธทั้งหลายทิ้งไม่ได้ เพราะมันก็เป็นจุดขายของสมาคม แต่เขาเลือกที่จะเปลี่ยนโดยเอาความเสี่ยงจากอาวุธต่างๆ เปลี่ยนมาเป็นความเสี่ยงไว้ที่ตัวเขาแทน ยกตัวอย่างก็คือการใช้ท่าที่ผาดโผนอันตราย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากคนญี่ปุ่นเป็นอย่างดีครับ
ตรงจุดนี้เองทำให้ทาง FMW เปิดกว้างในมวยปล้ำหลากหลายรูปแบบขึ้น มีการเชิญนักมวยปล้ำต่างชาติมาขึ้นปล้ำแบบปกติ ไม่ต้องมีอาวุธอะไรอันตราย หรือรวมไปถึงมวยปล้ำหญิง (ซึ่งหัวหน้าของผมคนปัจจุบัน ก็เป็นนักมวยปล้ำหญิงในยุคสมัยเดียวกับฮายะบุสะครับ) จนมีคำกล่าวว่า “Hayabusa คือเลือดเนื้อและเป็นจิตวิญญาณของสมาคม FMW”

ดังนั้นหลังจากอาการบาดเจ็บของเขา ทำให้สมาคม FMW ค่อยๆ ปิดตัวลงและล่มสลายไป นั่นเพราะคนที่เป็นจิตวิญญาณของสมาคม ไม่เหลือกำลังพอที่จะขับเคลื่อนมันต่อไปอีกแล้ว…
ฮายะบุสะต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็นตลอดเวลาตั้งแต่ปี 2001 แต่เขาไม่ท้อครับ นี่คือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนที่พบเห็นเป็นอย่างดี เพราะเขาไม่เคยหยุดที่จะกลับมาเป็นนักมวยปล้ำให้ได้อีกครั้งครับ ในตอนนั้นหมอบอกว่าเขาจะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีกแล้ว เพราะอาการบาดเจ็บที่คอในครั้งนั้น กับอาการบาดเจ็บที่สะสมมามากมาย
(คือต้องอธิบายก่อนว่าวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นเนี่ย เรื่องการรักษาพยาบาลถือเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนปัจจุบันครับ นักมวยปล้ำหลายคนต้องออกมาติดต่อแฟนๆ ขอรับบริจาคเพื่อหาเงินไปรักษาตัวเองด้วยซ้ำ ดังนั้นหลายๆ คนเลยเลือกที่จะเยียวยาตัวเอง และมันก็สะสมไปอย่างไม่รู้ตัว)
โดยในขณะที่เวลาผ่านไปนั้น เขาก็พยายามมีส่วนร่วมในวงการมวยปล้ำให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมาคมของตนเอง หรือเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับหลายๆ สมาคม นั่นเพราะเขาคิดว่าแม้เขาจะป่วย แต่สิ่งที่เขารับรู้มาตลอดก็ยังส่งผลดีต่อวงการมวยปล้ำในภาพรวมได้
ในขณะที่บาดเจ็บ เขาก็ยังร้องเพลงออกคอนเสิร์ตด้วยครับ (คือตอนแกเสียชีวิต ก็เพราะแกมีคิวเล่นคอนเสิร์ตแล้วไม่ได้ไปร่วมงานตามกำหนดนั่นแหละครับ ทำให้คนออกตามหาจนมาพบว่าเสียชีวิต) ผมมีแผ่นของเขาที่ซื้อมาจากญี่ปุ่นด้วยครับ (ภาพตามด้านล่างนี้เลย)

Hayabusa ไม่ได้ขึ้นปล้ำที่ญี่ปุ่นเท่านั้นนะครับ แต่เขาเป็นนักมวยปล้ำที่ตระเวณปล้ำมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่เม็กซิโก ซึ่งเขาได้เรียนกับทาง Rey Mysterio Sr. ตำนานนักมวยปล้ำหน้ากากของโลก จากนั้นก็ไปตระเวณปล้ำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขายังเคยขึ้นปล้ำในสมาคม ECW โดยจับคู่กับ Jinsei Shinzaki (Hakushi) เจอกับทีมของ Rob Van Dam และ Sabu ซึ่งแมตช์นี้ได้รับการยอมรับว่าสนุกและมีคุณภาพมากๆ นอกจากนี้เขายังได้รับการติดต่อจากสมาคมมวยปล้ำญี่ปุ่นมากมายเพื่อจะเซ็นสัญญาเขาไปเข้าสมาคม แต่ก็ถูกปฏิเสธเสมอมา เพราะเขาจงรักภักดีกับทาง FMW มาก จนกระทั่งอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดดังกล่าวมาถึงครับ

ต้องบอกก่อนว่าในญี่ปุ่นเนี่ย ปกติแล้วนักมวยปล้ำที่เลิกปล้ำ เกียรติสูงสุดคือการได้เดินขึ้นไปบนเวทีและรับการตีระฆัง 10 ครั้ง พร้อมกับประกาศชื่อตนในฐานะนักมวยปล้ำอาชีพครั้งสุดท้าย ถือเป็นเกียรติสูงสุดเลยครับ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับโอกาสนี้ บางคนก็แค่เลิกปล้ำ แล้วก็หายไปจากวงการซะอย่างนั้น
และทุกคนก็คิดว่านี่คือสิ่งที่ฮายะบุสะควรจะได้รับ เพราะเขาคือคนที่สร้างสิ่งดีๆ ให้กับมวยปล้ำมากมาย แต่ต้องมาหมดอนาคตด้วยอุบัติเหตุ และทางฮายะบุสะเอง ลึกๆ แล้วก็ไม่อยากที่จะได้รับเกียรตินี้ในขณะที่นั่งบนรถเข็นหรือต้องให้คนคอยประคองบนเวทีครับ เขาพยายามตั้งเป้าหมายว่าเขาจะต้องกลับมาเดินได้อีกครั้ง แม้จะยากให้เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซนต์ แต่อย่างน้อยแค่เขาสามารถลุกขึ้นมาเดินและยืนได้อย่างมั่นคงขึ้นบ้างด้วยไม้เท้าก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก
อย่างไรก็ตามมันก็ถือเป็นเรื่องยากครับ สำหรับคนที่บาดเจ็บอย่างหนักและเป็นอัมพาตไปแล้ว… แต่สุดท้ายสิ่งที่เป็นปาฏิหารย์ก็เกิดขึ้น เขาสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง (แม้จะเล็กๆ น้อยๆ)

จริงๆ แล้วเขาบาดเจ็บในเดือนตุลาคม 2001 ครับ แต่ในปี 2002 – 2003 เราก็เห็นเขาพยายามกลับมาเดินได้บ้าง แม้จะมีคนประคอง แต่นั่นก็คือนิมิตรหมายอันดี อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นเขาก็ค่อยๆ หายจากหน้าจอไป และภาพที่เขาเดินก็ค่อยๆ หายไป จนมีคนกล่าวว่าเขาอาจฝืนตัวเองหรือประสบเหตุบางอย่างให้อาการกลับมาแย่ลงอีกครั้งก็เป็นได้ (อันนี้ไม่ได้คอนเฟิร์มนะครับ แต่เป็นการคาดเดาจากสถานการณ์ที่เห็นกัน)
อย่างไรก็ตามในปี 2015 ในที่สุดฮายะบุสะก็สามารถเดินขึ้นบนเวทีที่เขารัก และรับเกียรติระฆัง 10 ครั้ง เป็นการปิดฉากอาชีพนักมวยปล้ำอย่างสมบูรณ์ครับ คลิปด้านล่างนี้เป็นคลิปที่ทำให้หลายคนเสียน้ำตามาแล้ว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับมวยปล้ำอาชีพครับ
https://www.youtube.com/watch?v=VTbOv9mZqt8
สุดท้ายแล้วมวยปล้ำก็คือกีฬาที่ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างมาก ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตได้เลย สุดท้ายนี้ผมอยากฝากข้อความที่ฮายะบุสะกล่าวเอาไว้หลังจากประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นมุมมองและข้อคิดให้กับคนอื่นๆ ว่า…
“นักมวยปล้ำคือคนที่ฝึกฝนร่างกาย และฝึกฝนทักษะการรับแรงกระแทก” นั่นคือสาเหตุที่นักมวยปล้ำสามารถรับมือกับการโจมตีของคู่ต่อสู้ได้เป็นอย่างดี และเป็นเรื่องยากมากที่เราจะบาดเจ็บจากการโจมตีเหล่านั้น
อย่างไรก็ตามยุคสมัยได้เปลี่ยนไป ปัจจุบันมีท่ามวยปล้ำมากมายที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุและผล เป็นท่ามวยปล้ำที่ตั้งอยู่บนความเสี่ยงสูงมาก และที่สำคัญมีนักมวยปล้ำไม่น้อยที่ขึ้นปล้ำโดยโฟกัสไปที่ท่าอันตรายเป็นหลัก แทนที่จะมาสนใจความสำคัญของท่ามวยปล้ำจริงๆ และใช้มันให้ถูกที่ถูกเวลาให้ได้ประโยชน์ที่สุด
ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกนักมวยปล้ำต่างชาติที่มีโอกาสได้ดูมวยปล้ำญี่ปุ่น พวกนั้นจะมีทัศนคติประเภทนี้มากที่สุด
มวยปล้ำไม่ได้เน้นเพียงแค่การโจมตีบนเวทีเท่านั้น แต่มวยปล้ำคือสื่อบันเทิง มีคาแรกเตอร์ มีตัวละครมากมายที่รับบทโดยนักกีฬามวยปล้ำ และการโจมตีแต่ละครั้งต้องมีความหมาย ต้องมีช่องว่างระหว่างการโจมตีให้คนได้รู้สึกสนุก
จริงอยู่ว่าท่าเสี่ยงอันตรายมักทำให้แฟนๆ มีความสุข แต่หากมองถึงความถูกต้องแล้ว มันก็ไม่ได้ดีงามซะทีเดียว นั่นเพราะความผิดพลาดแม้เพียงนิด ก็อาจทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นมาได้
ในฐานะที่ผมเองคือหนึ่งในคนที่ทำให้เทรนด์นี้ดังขึ้นมา ผมก็ได้แต่หวังว่าต่อไปนับจากนี้ จะเป็นยุคที่นักมวยปล้ำสนใจความเป็นมวยปล้ำจริงๆ มากกว่าจะไปโฟกัสที่ท่าเสี่ยงอันตรายแบบนั้นโดยไม่จำเป็น…
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า หรือทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ
เรื่องแนะนำ :
– TOKYO JOSHI ค่ายมวยปล้ำหญิงที่มาแรงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น
– ฟุกุอิเมืองที่ทำให้ความสุขเบ่งบาน
– Eihei-ji วัดในตำนานที่ชีวิตนี้ต้องไปเยือนสักครั้ง
– พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ FUKUI 1 ในสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับคนรักไดโนเสาร์
– TONAMI : THE CITY OF TULIP “เมืองแห่งทิวลิปที่สวยที่สุดในโลก”