ปีหนูมาถึง แสดงว่าปีหมูได้ผ่านพ้นไปแล้ว และหากพูดถึงปีหมูไม่รู้ว่าจะมีสักกี่คนที่สังเกตเห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ใช้ “หมูป่า” เป็นสัญลักษณ์ของปีกุน
ในที่สุดก็กลับมาเริ่มต้นปีนักษัตรชวดหรือปีหนูอีกครั้ง ปีหนูมาถึง แสดงว่าปีหมูได้ผ่านพ้นไปแล้ว และหากพูดถึงปีหมูไม่รู้ว่าจะมีสักกี่คนที่สังเกตเห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ใช้ “หมูป่า” เป็นสัญลักษณ์ของปีกุน
ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน 12 นักษัตรถูกแทนด้วยสัตว์ 12 ชนิด แน่นอนว่าวัฒนธรรมการนับปีโดยการใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ถูกแพร่หลายมาจากประเทศจีน ซึ่งอันที่จริงจีนไม่ได้ใช้สัตว์ทั้ง 12 ชนิดมานับแค่เวลาหน่วยปี
อันที่จริงสัตว์ทั้ง 12 ชนิดยังถูกใช้ในการนับเดือน วันและเวลา เช่น จีนแบ่ง 1 วันออกเป็น 12 ยาม ใน 1 ยามยาวนาน 2 ชั่วโมง ดังนั้น 1 วันของจีนจึงยาวนาน 24 ชั่วโมงเช่นกัน
วัฒนธรรม 12 นักษัตรในจีนมีตำนานเล่าขานมากมาย โดยในวรรณกรรมไคเภ็ก ซึ่งเล่าเรื่องราวในยุคปรัมปรากล่าวว่า 12 นักษัตรเกิดจากบรรดากษัตริย์ผู้เป็นพี่น้องกันเลือกสัตว์มาเป็นสัญลักษณ์คนละ 1 ชนิด จนกลายมาเป็น 12 นักษัตร 1 รอบของจีนจึงเท่ากับ 12 ปีอย่างที่เราทราบกันดี
หนู วัว เสือ กระต่าย มังกร งู ม้า แพะ ลิง ไก่ หมา หมู นักษัตร 11 ปีแรกมักจะไม่ต่างเมื่อถูกส่งต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่เหตุใด “หมู” ในปีสุดท้ายของชาวญี่ปุ่น จึงไม่ใช่ “หมูบ้าน” ตัวสีชมพูดอ้วนพี แต่กลับเป็น “หมูป่า” ที่มีเขี้ยวโง้งขนยาว
มีหลายทฤษฎีที่เล่าถึงความเป็นไปได้ของการใช้หมูป่าในปีกุนของชาวญี่ปุ่น แต่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ดูเหมือนจะถูกกล่าวกันว่า ในสมัยก่อนประเทศญี่ปุ่นไม่มีการเลี้ยงหมูตามที่พักอาศัย การที่จะได้กินเนื้อหมู จึงมีเพียงการออกล่าหมูป่า และคนโบราณก็เขื่อว่า เนื้อหมูป่าเป็นยาที่รักษาได้สารพัดโรค หมูป่าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา
แต่ก็ยังมีข้อสันนิษฐานที่ต่างไป ข้อสันนิษฐานนี้เกี่ยวข้องกับระบบการนับวันเดือนปีอย่างที่กล่าวไปข้างต้น การนับแบบนักษัตรของจีนโบราณ ว่ากันว่าเริ่มใช้ในสมัยราชวงศ์ซางของจีน หมูในคำจีนโบราณใช้อักษร 豕 shǐ จีนกลางอ่านว่า“สื่อ” เดิมที่หมายถึง “หมูป่า” แต่ต่อมาด้วยพัฒนาการของมนุษย์ก็เริ่มมีการจับหมูป่ามาเลี้ยงจนกลายเป็นปศุสัตว์ในครอบครัว ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า อักษร 家 ที่แปลว่าบ้าน มีคำว่าหมูอยู่ใต้หลังคา คนจีนเองจึงมีคำกล่าวว่า “ไม่มีหมูไม่ใช่บ้าน” เพราะหมูเป็นสัตว์ที่ชาวจีนเลี้ยงไว้เป็นอาหาร มักจะสร้างคอกไว้ใกล้ห้องส้วมเพื่อให้มันช่วยกินสิ่งปฏิกูลตลอดจนนำไปรดแปลงเกษตรให้ครัวเรือน
และเมื่อระบบการนับแบบนักษัตรถูกส่งต่อมาถึงประเทศญี่ปุ่น อย่างที่กล่าวไปว่าญี่ปุ่นไม่มีการเลี้ยงหมู มีแต่หมูป่าหมูป่าถูกพบเห็นจนเป็นที่ชินตามากกว่าหมูบ้าน ดังนั้นปีกุนของชาวญี่ปุ่นจึงนำหมูป่ามาเป็นสัญลักษณ์ในที่สุด
“หมูบ้าน” ในความคิดคนส่วนมากมักจะเป็นสัตว์ที่ชอบกินและเกียจคร้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างให้มันเป็นเช่นนั้น เพราะคนเราต้องการนำมันมาเป็นอาหาร จึงเลี้ยงมันให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ที่สุด วันๆ ก็เลยได้แต่ให้มันกินๆ นอนๆ ปีหมูในสายตาคนทั่วไปจึงดูน่ารัก ตุ๊ต๊ะ นุ่มนิ่ม สบายๆ เหมือนเป็นการอวยพรไปในตัว ในขณะที่หมูป่าของชาวญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ เข้มแข็ง ทรงพลัง จึงไม่แปลกถ้าคนญี่ปุ่นจะใช้หมูป่ามาเป็นสัญลักษณ์แทนนักษัตรปีกุน
เรื่องแนะนำ :
– ที่มาอักษรญี่ปุ่น
– โรนินกับเขาเหลียงซาน
– ปีใหม่
– สามสหายในเหมันต์
– ขบวนการห้าสี
ขอบคุณภาพประกอบจาก:
-https://m.intl.taobao.com/detail/detail.html?spm=a21wu.10013406.0.0.23017008lNqn6B&id=571464623321
-https://k.sina.cn/article_6869160206_1996f110e00100szb0.html?from=news
-https://frame-illust.com/?p=13118