โกโบ (Gobo, 牛蒡) และแม้จะเป็นแค่รากพืช แต่ก็เป็นรากของพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง แถมยังเต็มไปด้วยคุณสมบัติทางยาอีกด้วย
โกโบ (Gobo, 牛蒡) และแม้จะเป็นแค่รากพืช แต่ก็เป็นรากของพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง แถมยังเต็มไปด้วยคุณสมบัติทางยาอีกด้วย โกโบจึงถูกนำมาปรุงเป็นอาหารและรับประทานกันทั่วไปทั้งในญี่ปุ่นและไต้หวัน

โกโบ (Gobo, 牛蒡) หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Burdock Root” เป็นส่วนของรากไม้ตระกูลหญ้าเจ้าชูชนิดดี ซึ่งสามารถรับประทานได้ มีชื่อเป็นภาษาลาตินว่า “Arctium lappa” โดยโกโบจะพบได้ทั่วไปในที่ที่อากาศดี ดินมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ และแสงแดดจัด แล้วยังมีการเพาะปลูกกันทั่วไปในญี่ปุ่นด้วยนะ

โกโบที่พบเห็นได้ทั่วไปก็มีอาทิ โออุระ โกโบ (Oura Gobo, 大浦ごぼう) ซึ่งอยู่ทางซ้ายสุดของภาพ มีลักษณะค่อนข้างหนา หนาได้ถึง 10 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 1 เมตร ส่วนโกโบภูเขา (Yama Gobo) นั้นมีขนาดค่อนข้างเล็กและสั้น ในขณะที่โกโบชั้นดีที่เรียกว่า Super Risou Gobo (スーパー理想ごぼう) มีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 75 เซนติเมตร ขนาดเล็ก ผิวเรียบ



การปลูกโกโบนั้น มักจะเริ่มเพาะเมล็ดกันราวกลางฤดูร้อน จะใช้เวลาเพียง 3 – 4 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ คือประมาณปลายฤดูใบไม้ร่วง หลังจากนั้นโกโบก็จะมีกากใยมากเกินไป ส่วนใหญ่จึงจะเก็บเกี่ยวกับเมื่อมีอายุราว 3 เดือน แต่โกโบเป็นพืชจะชอบปุ๋ยมาก สมัยก่อนเกษตรกรจึงนิยมใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ในจังหวัดชิซูโอกะ (Shizuoka Prefecture) ก็เริ่มมีความนิยมในการปลูกโกโบแบบออร์แกนิคส์มากขึ้นเรื่อยๆ เน้นการเพาะปลูกแบบชีวภาพ เป็นธรรมชาติ โดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
ลักษณะของรากโกโบนั้นค่อนข้างเรียว มีความหนาเฉลี่ยประมาณ 2 เซนติเมตร และสามารถยาวได้ถึง 1 เมตร โกโบมีลักษณะกรุบกรอบ และมีรสหวานอ่อนๆ แต่ก็มีกลิ่นฉุนเหมือนกัน แล้วก็อาจจะขื่นคอบ้าง ซึ่งสามารถลดความขื่นได้โดยการหั่นโกโบเป็นชิ้นเล็กๆ และแช่น้ำทิ้งไว้ 5 – 10 นาที อย่างไรก็ตามถ้านำโกโบไปทำ Tonjiru (ทงจิรุ) หรือซุปมิโสะใส่หมู ความขื่นนี้จะทำให้รสชาติของ Tonjiru อร่อยขึ้น แล้วดอกอ่อนของโกโบสามารถเก็บเกี่ยวมารับประทานได้เช่นกันในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ รสชาติก็คล้ายๆ กับอาร์ติโช้ก (Artichoke) ซึ่งเป็นพืชในตระกูลเดียวกัน


เมนูที่นิยมนำโกโบมาทำนอกจาก Tonjiru ก็ยังมี Kinpira Gobo, Gobo Makizushi, ทำเป็น Tempura ก็ได้ แถบเกียวโตนิยมนำมาทอดกรอบ คล้ายๆ มันฝรั่งทอด (Potato Chips) แล้วโกโบก็ยังนำมาปรุงได้อีกหลากหลาย อาทิ โกโบนึ่ง, โกโบตุ๋น, คินพิระ (Kinpira) หรือโกโบหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ทอดกับสาเก ซีอิ้วขาว มิริน น้ำมันงาอย่างเผ็ด, โออุระ โกโบตุ๋น, สลัดโกโบย่าง, ผัดผักรวมกับ Kinpira, สลัด Super Risou Gobo หรือ โกโบภูเขานึ่ง/ทอด



คุณสมบัติอันโดดเด่นของโกเบก็คือคุณค่าทางอาหาร ช่วยบำรุงเลือด แถมยังเชื่อกันว่าจะป้องกันโรคมะเร็ง และต่อต้านโรคเบาหวานได้ด้วย ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมนำมาปรุงอาหารเพื่อสุขภาพ…
ถ้านำรากโกโบมาปรุงอาหาร โดยผสมกับสาหร่ายวากาเมะ (Wakame) หรือขึ้นฉ่าย (Celery) หรือเห็ดเข็มทอง (Enoki) หรือบุก (Konnyaku) ก็จะช่วยบรรเทาอาการความดันโลหิตสูง สุขภาพเส้นผมแข็งแรง เป็นต้น
แต่ถ้านำโกโบมาปรุงกับหัวไชเท้าแห้ง (daikon) หรือเห็ดชิตาเกะ (Shiitake) หรือขึ้นฉ่าย หรือต้นหัวผักกาด (turnip) ก็จะมีสรรพคุณต้านทานมะเร็ง ทำให้กระเพาะแข็งแรง และบำรุงผิวพรรณ
อีกสรรพคุณที่น่าสนใจก็คือ ถ้านำไปปรุงกับสาหร่ายหวานฮิจิคิ (Hijiki) หรือเต้าหู้ หรือไม่ก็หน่อไม้ จะช่วยป้องกันโรคเบาหวาน บำรุงเลือด แล้วยังเหมาะกับคนอ้วนอีกด้วย



เทคนิคอย่างหนึ่งในการนำโกโบไปปรุงอาหารก็คือ…อย่าปอกเปลือกก่อนนำไปปรุง เพราะเปลือกนั่นแหล่ะที่มีคุณค่าทางอาหารเยอะ ดังนั้นเพียงแค่แปรงโกโบเบาๆ เพื่อปัดฝุ่นดินออกไปขณะที่เปิดให้น้ำไหลผ่านด้วย จึงจะเป็นวิธีเตรียมโกโบที่ดีที่สุด
คราวนี้.. ถ้าเห็นเซ็ตอาหารญี่ปุ่นมีเครื่องเคียงหน้าตาประหลาดๆ เหมือนเอารากไม้มาให้เรากิน ก็คงรู้กันแล้วว่าเจ้านี่เขาเรียกกันว่า “โกโบ” รสชาติดีและมีประโยชน์ ลองทานมันซะหน่อย อย่าปล่อยมันเหลือกลับเข้าครัวให้คนปรุงเขาเสียใจในความตั้งใจดีที่ทำมาให้ เรารับประทานกันเลยนะจ้ะ
ขอให้มีความสุขกับการรับประทานโกโบ รากไม้อุดมประโยชน์…
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://shizuokagourmet.com
http://www.onlyfoods.net/arctium-lappa.html