คอสเพลย์นี้…ช่างดีต่อใจ
เวลาที่เราเป็นติ่งตัวละครไม่ว่าจะเป็นในมังงะ อะนิเมะ ละคร ภาพยนตร์ หรือแม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ศิลปิน, เซเลป น่าจะมีหลายคนที่อยากสวมบทบาทเป็นคนที่ปลาบปลื้มอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต “คอสเพลย์” (コスプレ) ช่วยคุณได้ค่ะ!!!
“คอสเพลย์/คอส” (Cosplay: costume+play) คือ การแต่งตัวเลียนแบบตัวละครหรือบุคคลที่เราชื่นชอบให้ใกล้เคียงมากที่สุด ถ้าคอสให้สุดต้องไปหยุดที่การเลียนแบบถึงบุคลิกท่าทางน้ำเสียงและนิสัยด้วย คำนี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นช่วงปีพ.ศ. 2525 ที่มีการจัดแสดงชุดแต่งกายในงาน Los Angeles Science Fiction (Worldcon) ชุดที่ใช้เป็นชุดที่มีในหนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น และมีการเขียนบทความคอลัมน์นิตยสาร My Anime โดยคุณโนบุยุกิ ทากาฮาชิ จริงๆ ก่อนหน้านี้ที่ประเทศอื่นก็มีการเล่นแต่งกายตามตัวละครต่างๆ เช่น การแต่งตัวเป็นผีปีศาจในเทศกาลฮัลโลวีนของชาวตะวันตก แต่กระแสคอสมาดังจริงจังตอนที่รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนเรื่องนี้ให้กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมใหม่ของชาติ คำนี้โด่งดังกระทั่งว่ามีในพจนานุกรมของ Oxford ที่แปลคำว่า “คอสเพลย์” หมายถึง “รูปแบบการแต่งกายที่เหมือนกับตัวละครจากภาพยนตร์ หนังสือ หรือวิดีโอเกม โดยเฉพาะที่มาจากหนังสือการ์ตูนหรืออนิเมประเทศญี่ปุ่น”
เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผลิตเกม มังงะ อะนิเมะ และมีศิลปินที่มีคาแรกเตอร์น่าสนใจจำนวนมาก ทำให้มีตัวละครให้คอสเยอะ คนญี่ปุ่นเป็นคนที่จริงจังกับการทำทุกสิ่งอย่าง ขนาดการคอสที่เดิมเป็นแค่งานอดิเรกทำเพื่อการผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน/การทำงาน ยิ่งนานวันการคอสยิ่งมีความอลังการมากขึ้น ถึงกับมีการจัดเทศกาล เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความเหนียวแน่น
ไม่ใช่แค่เด็กหรือวัยรุ่นที่สามารถคอสได้เท่านั้น คนวัยผู้ใหญ่เองก็ยังคอสอยู่ได้โดยไม่มีเกณฑ์อายุเป็นข้อห้าม มีคนอธิบายปรากฏการณ์ที่ผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่นยังสามารถทำกิจกรรมของเด็กได้ แม้ว่าแต่เดิมประเทศญี่ปุ่นจะมีความเข้มงวดเรื่องการแบ่งแยกสิ่งที่เด็กทำได้และห้ามทำตอนเป็นผู้ใหญ่ ว่าเป็นเพราะอิทธิพลประชาธิปไตยจากตะวันตก ทำให้คนใช้ชีวิตได้อย่างอิสระทำสิ่งที่อยากทำได้มากกว่าสมัยก่อน อิทธิพลความสนุกจากการคอสได้ขยายไปทุกพื้นที่ในโลก รวมถึงประเทศไทยเองด้วยที่เริ่มจากความนิยมในเกมออนไลน์ Ragnarok ที่เริ่มเข้ามาเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2545 เริ่มจากการคอสในกลุ่มเล็กๆ แล้วมีความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ งานคอสในไทยนอกจากจะมีคนที่ชื่นชอบการคอสแต่งกายให้คนถ่ายรูปแล้ว ยังมีการวางขายผลิตภัณฑ์ Fan art เช่น พวงกุญแจ, สมุด อีกด้วย
>> วิธีการคอสเพลย์
@ ชุดและอุปกรณ์คอสเพลย์:
เป็นการแต่งกายเลียนแบบ เน้นเรื่องการแต่งให้คล้ายต้นแบบมากที่สุด เช่น เสื้อผ้ารองเท้า, ทรงผม, เครื่องประดับ, การแต่งหน้า, อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ไม่ได้เน้นว่าต้องใช้เงินเยอะเพื่อให้สวยหรูทุ่มทุนสร้าง
@ ความหลงใหลในตัวละครนั้นและความชื่นชอบ :
จุดประสงค์ของการคอสเพลย์ คือ การแสดงถึงความรักความหลงใหลในตัวละครนั้น ต้องไปศึกษารายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่การแต่งกาย ไปจนถึงนิสัย, แนวคิด, อากัปกิริยา, วิธีการพูด หรือสิ่งอื่นๆที่เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้เข้าถึงตัวละครนั้น
@ การเลียนแบบให้เหมือนมากที่สุด:
เป็นนิยามที่เป็นเอกลักษณ์ของคอสเพลย์ หากขาดสิ่งนี้ไปจะไม่ใช่การคอสแต่เป็นแค่การแต่งกายแฟนซีเท่านั้น
>> ผลจากคอสเพลย์ที่ดีต่อใจ
@ เป็นแรงจูงใจให้สู้ชีวิตต่อไปได้ (Motivation)
สังคมในปัจจุบันมีความเครียดมากมาย ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็เครียดกันทั้งนั้น เวลาที่เครียดมากๆ แล้วไม่มีเป้าหมายหรือรางวัลแรงจูงใจให้กับตัวเอง การใช้ชีวิตแต่ละวันจะดูหดหู่เฉาๆอย่างบอกไม่ถูก ไม่รู้ว่าต้องอดทนไปเพื่ออะไร การคอสเป็นหนึ่งในกำลังใจที่ทำให้คนที่กำลังท้อแท้ฮึดขึ้นมาสู้ เช่น อดทนทำโปรเจกต์นาน 1 เดือนจนเสร็จ โดยตั้งเป้าไว้ว่าเดือนหน้าจะไปงานคอสเพลย์ การได้คอสเป็นการเติมเต็มความฝันความต้องการที่ในชีวิตจริงไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ แม้จะคอสเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็สร้างความสุขใจและเป็นการชาร์จพลังเพื่อกลับไปสู้กับโลกแห่งความจริงต่อ
@ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
การที่จะแต่งกายให้เหมือนตัวละครที่ชอบเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและท้าทาย เพราะชุดที่ตัวละครใส่นั้นอาจไม่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปหรือหากซื้อทุกอย่างจะเปลืองเงินอย่างมาก ดังนั้นต้องมีการครีเอตนำสิ่งของมาประดิษฐ์ให้ใกล้เคียงต้นแบบมากที่สุด นอกจากเครื่องแต่งกายแล้วหน้ากับผมเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เหมือน คนที่เล่นคอสจะได้ฝึกทักษะการแต่งหน้า ทำผมอีกด้วย เมื่อสร้างสรรค์อุปกรณ์และการแต่งตัวได้สำเร็จจะเป็นเพิ่มความมั่นใจว่าอย่างน้อยเราก็สามารถทำสิ่งนี้ได้
@ การได้แรงบันดาลใจ (Inspiration)
จากความหลงใหลในตัวละครนั้นจะทำให้เรา “อยากที่จะเป็น” จนเราได้แรงบันดาลใจ และปรับเปลี่ยนตัวเอง เช่น “โชเน็นมังงะ” (少年漫画) ที่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการตามหาความฝันและการผจญภัยแบบลูกผู้ชาย เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ตัวเอกจะต้องพบกับอุปสรรคต่างๆ ซึ่งตัวเอกจะมีความมุมานะพยายามฟันฝ่าจนได้สิ่งที่ต้องการมา หรือมีคุณสมบัติที่ดีอื่นๆ อย่างความเข้มแข็ง ความมีน้ำใจ ความสามัคคี การทำงานเป็นทีม ที่ทำให้แฟนๆอยากจะพัฒนาตัวเองให้เป็นแบบนั้นบ้าง
@ ฝึกการเข้าสังคม (Socialization)
เป็นโอกาสที่ดีในการที่จะได้พบได้คุยกับคนที่มีความสนใจเหมือนกัน โดยจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์มาจากการคุยติดต่อกันทางโซเชียลมีเดียหรือการเจอตามงานต่างๆ ซึ่งช่วยให้เราโดดเดี่ยวลดลงเพราะมีสังกัดสังคมให้อยู่ (Sense of Community) คนที่ไม่ชอบการเข้าสังคม (Introvert) ที่มีปัญหาในชีวิตจริง เมื่อเขาได้สวมบทบาทเป็นตัวละครที่ชอบจะช่วยลดความกังวลลง เป็นการช่วยให้เขาได้ฝึกที่จะพูดคุยกับคนอื่น เริ่มจากการเป็นตัวละครก่อน จนนำไปสู่การมีความสัมพันธ์เป็นเพื่อนในชีวิตจริง
@ เพิ่มความมั่นใจในตัวเอง (Self-Confidence)
คนที่ขาดความมั่นใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเอง เมื่อได้คอสแล้วสิ่งที่คิดว่าเป็นจุดด้อยจะได้รับการปกปิด เมื่อมีคนเข้ามาพูดคุยทำความรู้จักหรือขอถ่ายรูป จะช่วยลดความกังวลในเรื่องนั้น และเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตามคนที่คอสต้องทำความเข้าใจว่าการคอสเป็นแค่หนึ่งในงานอดิเรกที่ช่วยลดความเครียด แต่สุดท้ายแล้วเมื่อถอดชุดล้างหน้าออกเราต้องกลับสู่โลกของความเป็นจริง คอสเป็นแค่บันไดขั้นหนึ่งที่เราจะใช้ไต่พาตัวเองออกมาจากซอบหลืบแห่งความปลอดภัย (Comfort zone) ออกไปสู่โลกใบใหม่ที่ทำให้ตัวเรามีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
ว่าแล้วหมอขอตัวไปหาอุปกรณ์คอสเป็นแมวน้ำก่อนนะคะ :))
ทักทายพูดคุยกับหมอแมวน้ำเล่าเรื่องได้ที่ www.facebook.com/sealpsychiatrist
เรื่องแนะนำ :
– โนมิไกดื่มเหล้าให้จงหนัก: ผลเสียที่ตามมา
– Maison Kitsuné จิ้งจอกญี่ปุ่นที่กลมกลืนไปกับชาวฝรั่งเศส: ความสามารถในการปรับตัว
– มูจิความเรียบง่ายที่ดีต่อใจ
– นกกระเรียนแทนคุณ: การทำดีโดยไม่หวังผลตอบแทน
– ว่าด้วยเรื่องแมวกับคนญี่ปุ่น: เราจะเลี้ยงแมวดีมั้ยนะ
คลินิก JOY OF MINDS
ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ
https://www.facebook.com/Joyofminds/
Tel: 090-959-9304
#คอสเพลย์นี้…ช่างดีต่อใจ