คุณ Koukami มองว่ามีเพียงแค่ผู้คนกลุ่มเดียวกลุ่มเดิมเท่านั้นที่ชอบญี่ปุ่น ความเป็นญี่ปุ่นยังไม่ได้แพร่กว้างถึงยังกลุ่มคนที่ไม่สนใจญี่ปุ่น คนต่างชาติหลายคนยังไม่เคยได้ยินคำว่า Cool Japan ด้วยซ้ำ
เล่าโดย วสุ มารุมุระ
Cool Japan ที่ว่านี้คืออะไร?
ความหมายที่ 1
เป็นรายการทีวีที่ญี่ปุ่นที่ฉายมาตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งเชิญคนต่างชาติมาให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นต่างๆกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อค้นหาว่าอะไรคือ Japan Only พิธีกรของรายการนี้เป็นชาวญี่ปุ่น คุณ Koukami Shouji (鴻上尚史) เป็นทั้งนักเขียน นักแสดงด้วย
ความหมายที่ 2
Cool Japan คือหน่วยงานพิเศษของภาครัฐบาลญี่ปุ่นก่อตั้งในปี 2012 ที่มีหน้าที่โปรโมท Contents ของญี่ปุ่น อันได้แก่ การ์ตูน การท่องเที่ยว ภาพยนตร์ เพลง และอื่นๆ เพื่อที่จะให้คนต่างชาติรับรู้ในความ “เท่” ของญี่ปุ่น โดยมีความคาดหวังว่าคนต่างชาติจะหันมาบริโภค Contents ญี่ปุ่นกันมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่าคนซื้อการ์ตูนญี่ปุ่นอ่านมากขึ้น คนมาเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้น
ความหมายที่ 3
เป็นชื่อหนังสือที่คุณ Koukami Shouji (鴻上尚史) (คนเดียวกับที่กล่าวไว้ในความหมายที่ 1) ที่รวบรวมประสบการณ์จากการทำรายการ Cool Japan
ในหนังสือ Cool Japan ได้มีเนื้อหาดังนี้
– คนต่างชาติว่าญี่ปุ่นเท่ตรงไหน –
คุณ Koukami รวบรวมผลการโหวตคนต่างชาติ 100 คนในปี 2009 (ข้อมูลอาจจะเก่าและสัมภาษณ์น้อยคนไปสักนิดครับ แต่หวังว่าผู้อ่านพอได้ไอเดีย) ซึ่งมีการจัดอันดับ ญี่ปุ่น…เท่ ไว้ดังนี้
1. ฝาชักโครกที่มีที่ฉีดน้ำล้าง ถ้าคุณเคยใช้คุณจะรู้ว่ามันสุดยอดขนาดไหน
2. การดูดอกซากุระ
3. ร้านร้อยเยน ในประเทศที่ค่าครองชีพแพงและเราสามารถหาของใช้จำเป็นราคาถูกได้ที่นี่ดั่งกับสวรรค์
4. ดอกไม้ไฟ
5. ตัวอย่างอาหารปลอม คุณเคยไปร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีตู้โชว์ตัวอย่างหน้าตาอาหารใช่ไหมครับ…นั่นแหละ
6. ข้าวปั้น
7. โรงแรมแคปซูล
8. เต้นบงโอะโดะริ
9. ดูใบไม้ร่วง สำหรับฝรั่งแล้ว การไปดู “ใบไม้” เป็นอะไรที่อเมซิ่งมากสำหรับเขา แบบฝรั่งต้องตกใจว่าคนญี่ปุ่นคิดได้ไง คุณลองคิดในมุมเขาสิครับ ดูใบไม้!นะ ไม่ใช่ดูดอกไม้นะ
10. ชินคันเซน
11. ร้านอิซากะยะ ไม่ใช่แค่ร้านเหล้า แต่มีอาหารอร่อยให้กินด้วย
12. การปีนฟุจิซัง
13. ความเป็นคนโอซาก้า ที่เปิดเผยโอเพ่นมากกว่าคนญี่ปุ่นทั่วไป
มีการจัดฉากในรายการทีวีให้คนต่างชาติแกล้งยื่น “กล้วย = banana” ให้คนโอซาก้า บอกคนโอซาก้าว่า “มีโทรศัพท์มาครับ” คนโอซาก้าก็รับกล้วยไปแนบหูแล้วพูดว่า “โมชิโมชิ (ฮัลโหล)” แล้วเขาก็บอกต่อว่า “เฮ้ยนี่มัน บานาน่านี่” เมื่อลองถามคนโอซาก้าว่าทำไมต้องรับโทรศัพท์ไปด้วย คนโอซาก้าจะบอกว่า “นี่มันเรื่องปกตินี่ ต้องรับ (มุก) อยู่แล้ว” ซึ่งถ้าเราเอาบานาน่าไปยื่นให้คนญี่ปุ่นทั่วไปจะทำท่าตกใจ ทำหน้าเหวอ ทำตัวไม่ถูก บอกขอโทษไม่ยอมรับมุกเพราะไม่รู้จะทำตัวอย่างไร
14. โรงอาบน้ำ
15. ตู้กดน้ำอัตโนมัติ
16. ที่จอดรถแนวตั้ง เป็นตึกที่มีลิฟท์เราเอารถไปจอดเข้าตู้ลิฟท์ เดี๋ยวมันจะเลื่อนไปเก็บให้เอง
17. ตั๋วรถไฟที่ไอซีการ์ดอย่างบัตร Suica Icoca Toica
18. กางเกงของพนักงานก่อสร้าง ที่ชายกางเกงจะโป่งๆ ดูยังกับแฟชั่น ส่วนเหตุผลที่ทำให้ชายกางเกงโป่งๆ เพราะว่าเวลานั่งพื้นจะได้ไม่มีพื้นที่เหลือพอให้ขาขยับได้
19. พิธีแต่งงานในวัดญี่ปุ่น
20. ร้านอ่านการ์ตูนและเล่นอินเตอร์เนตข้ามคืน
ทั้งหมดนี่คือตัวอย่างที่ว่าอะไรในญี่ปุ่นที่เท่…
– บริษัทคือผลลัพธ์ของความอยากเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม –
ในหนังสือยังได้วิเคราะห์ถึงความแตกต่างระหว่างญี่ปุ่นกับคนต่างชาติ สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นได้คือญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการมีพรรคมีพวกของตนเอง ตัวอย่างความเป็นพรรคพวกหรือกลุ่มในยุคปัจจุบันคือ “บริษัท” และการว่าจ้างตลอดชีวิต (แม้ว่าในระยะหลังๆ เริ่มลดลงไปแล้ว)
แต่ว่าเมื่อก่อนคนญี่ปุ่นไม่ได้ทำงานที่ใดชั่วชีวิตนะครับ คนญี่ปุ่นย้ายงานบ่อยเหมือนกัน สมัยก่อนสงครามโลก พนักงานเก่งๆ อาจจะอยู่นานในบริษัทสัก 5 ปีแล้วย้ายงาน
เพราะผู้คนสมัยนั้นยังไม่ได้มองบริษัทเป็น “กลุ่ม” ของตน แต่ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหมู่บ้าน ที่เรียกว่า “มุระ”
ฟังดูคล้ายๆ กับมารุมุระ
ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ยุบระบบ “มุระ” เพื่อต้องการยกความเป็นเอกภาพระดับประเทศญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นก็ยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม มันก็เลยมีบริษัทขึ้นมา
ทำให้มีการว่าจ้างงานชั่วชีวิตเพื่อให้ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้ตลอดไป ซึ่งระบบการว่าจ้างงานชั่วชีวิตเพิ่งมามีหลังสงครามโลก บริษัทได้มาทดแทนระบบ “มุระ” ในอดีต
นี่คือสิ่งที่คุณ Koukami ยืนยันในหนังสือเล่มนี้ครับ
—–
คราวนี้ขอย้อนกลับมาในความหมายที่ 2 ของ Cool Japan
ในฐานะหน่วยงานพิเศษของภาครัฐบาลญี่ปุ่นที่ช่วยโปรโมท Contents ของญี่ปุ่น สุดท้ายแล้วมันประสบความสำเร็จไหม?
คุณ Koukami มองว่ามีเพียงแค่ผู้คนกลุ่มเดียวกลุ่มเดิมเท่านั้นที่ชอบญี่ปุ่น ความเป็นญี่ปุ่นยังไม่ได้แพร่กว้างถึงยังกลุ่มคนที่ไม่สนใจญี่ปุ่น คนต่างชาติหลายคนยังไม่เคยได้ยินคำว่า Cool Japan ด้วยซ้ำ
และในญี่ปุ่นก็มีกลุ่มคนที่มีตั้งเป้าหมายไว้สูง มองว่าเป้าหมายของ Cool Japan ที่หวังแค่เพียงจะก่อให้เกิดการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจนั้น เป็นเป้าหมายที่ “มองต่ำเกินไปไหม” เอาแต่เรื่องเงินทองเป็นหลักทำไมไม่คาดหวังให้ Cool Japan ทำให้คนต่างชาติเข้าใจความเป็นญี่ปุ่นได้ดีขึ้น
คุณ Koukami มีความเห็นว่าจะทำให้ cool japan ประสบความสำเร็จได้ต้องไม่คาดหวังผลลัพธ์ในทันที และต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่จะทำให้ทั้งโลกรู้ว่า Japan cool แค่ไหน
ความเห็นจากวสุ
ผมว่าความนิยมในญี่ปุ่นบ้านเราก็มีมาก แต่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ส่งเสริมถึงขั้นส่งเสริมยกชื่อ Campaign ที่ชื่อว่า Cool Japan ให้คนทั่วไปรู้จักขนาดนั้น ผู้คนอาจจะเคยได้ยินบ้างแต่เป็นส่วนเล็ก ซึ่งเป็นเฉพาะในกลุ่มที่มีความสนใจอยู่แล้ว
ในประเทศเราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีการโปรโมท Cool Japan มากกว่านี้ในแง่การท่องเที่ยว แต่ในแง่การทำงานร่วมกันควรยังต้องปรับความเข้าใจอีกนาน ยังมีแรงเสียดทานกันอยู่ในองค์กร (หากพูดโดยทั่วไปแล้ว Conflict นั้นมีประโยชน์ต่อองค์กร) และในแง่ Contents บันเทิง ถ้าทางญี่ปุ่นกล้าลงทุนได้มากกว่านี้ก็คงดีครับ
แล้วคุณผู้อ่านคิดว่าอย่างไรครับ
เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– อ่านอีกรอบ “South of the border, west of the sun” ของ Murakami
– สำเนียงคันไซ ตอนที่ 2 : อาโฮ่ (โปรดอ่านก่อนใช้)
– สำเนียงคันไซ ตอนที่ 1
– ด้านมืดของตำรวจญี่ปุ่น : มุมมองของทนายความชื่อดังชาวญี่ปุ่น
– ระบบ “หมายเลขของฉัน” ของญี่ปุ่น
ขอบคุณรูปภาพ : -http://www.news-digest.co.uk/news/features/7816-shoji-kokami-interview.html