บทความสาระ วิชาการ (ตรงไหน?) : ว่าด้วย “อาหารจีน” ในญี่ปุ่น
อย่างที่ได้เคยเกริ่นไปแล้วว่า ผมมาเรียนหนังสืออยู่ที่โอซาก้านั้น นอกจากจะได้กินอาหารญี่ปุ่นอยู่ทุกวันๆ (โดยมากจะเป็นข้าวกล่อง ข้าวโรงอาหาร ซูชิร้อยเยน วนไป) แล้ว ร้านอาหารจีน อาหารอิตาเลียน อาหารอินเดีย อาหารเม็กซิกัน (อันนี้เคยกินแค่ครั้งเดียว) ก็ได้สตางค์จากผมด้วยเช่นกัน ยกเว้นอาหารไทยซึ่งเป็นอาหารต่างประเทศสำหรับคนญี่ปุ่นแต่เป็นอาหารประจำชาติสำหรับผม อันนั้นเรียนตามตรงว่า ไม่เคยกินอาหารไทยในโอซาก้าเลย เพราะผมทำใจไม่ได้ที่จะต้องกินอาหารอย่างที่ผมเคยกินโดยที่ต้องจ่ายแพงกว่ากันเกือบห้าเท่าตัว (ฮา)
แต่แปลกว่านอกจากอาหารญี่ปุ่นแล้ว อาหารนอกบ้านที่ผมกินบ่อยมากโดยเฉพาะช่วงแรกๆ กลับเป็นอาหารจีน คงเพราะความรู้สึกคุ้นเคยกับอาหารแนวจีนจำพวก บะหมี่ ข้าวผัด อาหารผัดๆ ทอดๆ ซึ่งผมอยู่กับบ้านที่ไทยเป็นของที่กินในบ้านบ่อย ทีนี้พอมากินอาหารจีนในญี่ปุ่น มันก็เลยอดนึกเปรียบเทียบไม่ได้ ผลก็คือเนื้อหาของบทความนี้ครับ อาจมีความเป็นวิชาการนิดหนึ่ง คิดเสียว่านานๆ ที ละกันครับ (ห้ามยี้นะครับ รักกันต้องอ่านให้จบจึงจะพบกับความบันเทิง)
บทนำ
คำว่า “อาหารจีน” นั้นกินความได้กว้างใหญ่ไพศาลพอๆ กับพื้นที่และความยาวนานของประวัติศาสตร์ชาติจีนเลยทีเดียว ถ้าจะหันมาดูเมืองไทยเรานี้ อาหารจีนก็มีต่างๆ หลากหลายกันไปตามพื้นถิ่นเดิมของคนจีนเชื้อสายต่างๆ มาจากภูมิลำเนาต่างๆ ที่เข้ามา ทั้งฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว ไหหลำ กวางตุ้ง จีนแคะ กระแสการอพยพเข้ามาเมืองไทยของคนจีนมีผลมากต่อรูปแบบของอาหารจีนในไทยที่กินกันมาแต่ก่อน โดยเฉพาะที่ปรากฎในวัฒนธรรมยุคโพสต์โมเดิร์น (post-modern) ของไทยซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พูดง่ายๆ ก็คือ อาหารจีนในไทยนั้นมีลักษณะความเป็น “อาหารเฉพาะถิ่น” สูง และมีความหลากหลายสูงกว่า ถึงแม้ในยุคหลังจะมีอาหารหรูแนวอาหารฮ่องกงเข้ามาตามภัตตาคารก็ตาม แต่อาหารจีนแบบฮ่องกงสำหรับเมืองไทยก็เป็นเพียงวาไรตี้หนึ่งไม่ใช่กระแสหลัก
วัตถุประสงค์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ทบทวนวรรณกรรม วิธีการศึกษา ฯลฯ
นี่ไม่ใช่งานวิชาการนะครับ ผมทำขึงขังไปอย่างนั้น ข้ามไปให้หมดครับ (ฮา)
ผลการศึกษา
1. การศึกษาเปรียบเทียบโดยดูจากคำศัพท์
จากการศึกษาคำยืมภาษาจีนในภาษาไทย เฉพาะคำศัพท์ที่เป็นชื่ออาหาร จะพบร่องรอยการยืมคำจากจีนสำเนียงต่างๆ กันไป ตัวอย่างเช่น (อ้างอิง: ปราณี กายอรุณสิทธิ์ (2526), “คำยืมภาษาจีนในภาษาไทยปัจจุบัน”, วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
จะเห็นได้ว่าคำศัพท์ที่เกี่ยวกับอาหารนั้นได้มากจากคำสำเนียงฮกเกี้ยนหรือแต้จิ๋วอยู่มาก ฉะนั้นอาหารจีนในไทยก็น่าจะได้อิทธิพลจากอาหารท้องถิ่นฮกเกี้ยนหรือแต้จิ๋วเป็นหลัก แล้วมีกวางตุ้งหรือจีนแคะแทรกเข้ามาประปราย
2. การเก็บความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารจีนในญี่ปุ่นผ่านสื่อจำพวกการ์ตูน
อาหารจีนในญี่ปุ่นน่าจะมีเข้ามาเป็นเรื่องเป็นราวหลังสงคราม คนจีนอพยพที่อาศัยแถบโยโกฮาม่าได้ทำให้แถวนั้นกลายเป็นไชน่าทาวน์ไป ในตอนต้นคนญี่ปุ่นมองว่าอาหารจีนเป็น “อาหารกรรมกร” มีแต่ของผัดๆ น้ำมันเยิ้ม อย่างไรก็ดี อาหารจีนได้เริ่มขยับฐานะขึ้นตามยุคสมัยที่ญี่ปุ่นเริ่มบ้านดีเมืองดี อยากจะเสาะหาอาหารแปลกๆ บ้าง บวกกับกระแสอาหารฮ่องกงบูมขึ้นมา น่าสังเกตอีกอย่างว่าอาหารจีนในญี่ปุ่นได้อิทธิพลจากอาหารเสฉวนด้วย ซึ่งเดาว่าได้จากคนไต้หวันอพยพที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและกลายเป็นพ่อครัวอาหารจีน อาหารบางอย่างเช่นเต้าหู้ผัดเผ็ด (มาโบโตฟุ 麻婆豆腐) นั้นกลายเป็นอาหารจีนสามัญที่แพร่หลายในญี่ปุ่น
อาหารจีนในญี่ปุ่นบางอย่างก็เป็นอาหารดัดแปลงที่พ่อครัวจีนในญี่ปุ่นคิดให้เข้ากับรสลิ้นคนญี่ปุ่น เช่นกุ้งชุบแป้งผัดซอสพริก (เอบิชิลลี่) อาหารฮ่องกงซึ่งถือว่าเป็นอาหารจีนที่ “ดัดแปลง” ให้มีรสค่อนไปทางรสฝรั่ง เช่นกุ้งทอดคลุกมายองเนส ก็เป็น “อาหารจีน” ยอดนิยมตามร้านอาหารจีนในญี่ปุ่นเช่นกัน
3. ข้อสังเกตจากประสบการณ์ตรงในการกินอาหารจีนในญี่ปุ่น
จากประสบการณ์ส่วนตัวผมมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1. ร้านอาหารจีนในญี่ปุ่นนั้นมีทั้งระดับภัตตาคารและร้านเล็กๆ แบบร้านชาวบ้าน ร้านระดับภัตตาคารนั้นส่วนมากกระแสหลักก็คืออาหารฮ่องกง มายุคหลังๆ ถึงมีอาหารปักกิ่ง อาหารเซี่ยงไฮ้เข้ามา ข้อนี้ไม่ต่างกับเมืองไทยเท่าไหร่
จุดต่างจริงๆ คือรูปแบบของการให้บริการ ผมเคยเจอร้าน “ติ่มซำหมุน” ที่เคยเล่นให้ฟังไปคราวก่อนโน้น อันนี้คือคงกะเลียนแบบซูชิหมุน ซึ่งกินแล้วเช็กบิลเสร็จ ขอกลับไปกินติ่มซำบุฟเฟต์ดีกว่า
2. เมื่อพูดถึงติ่มซำแล้ว เมืองไทยเราเรียกว่าติ่มซำ 点心 เท่านั้น แต่ที่ญี่ปุ่นบางทีก็เรียก “หยำฉา” 飲茶 (เป็นสำเนียงกวางตุ้ง แปลตรงตัวว่า “กินน้ำชา” หมายถึงว่าเป็นของว่างจำพวกกินกับน้ำชา) เท่าที่กินมาติ่มซำที่เสิร์ฟตามร้านในญี่ปุ่นนั้น หลักๆ ก็คือซาลาเปา (นิยมซาลาเปาไส้หมูแดง 叉焼まん ชาชูมัน) ขนมจีบ 焼売 (“ชูมัย” ขนมจีบที่ญี่ปุ่นลูกโตกว่าเมืองไทย แต่ไม่อร่อย สำหรับผมมันเลี่ยนมาก) ฮะเก๋า พวกเกี๊ยวนึ่ง บางทีก็มีแผลงๆ อย่างเกี๊ยวนึ่งไส้หูฉลาม อะไรพวกนี้ บางทีก็มีบ๊ะจ่างด้วย (บ๊ะจ่างที่นี่รสอ่อนกว่าเมืองไทยแฮะ) แต่อย่าไปถามหาสาหร่ายทรงเครื่อง ไข่เยี่ยวม้านึ่งกับหมูสับ ก๋วยเตี๋ยวหลอด อย่างที่เรากินตามร้านในไทยเป็นอันขาด ไม่มี๊
เรื่องของหมูแดง 叉焼 ชาชู นั้น สิ่งที่ผมแปลกใจและข้องใจคือ ในขณะที่ของไทยเพี้ยนจากหมูย่าง กลายเป็นเนื้อหมูต้มคลุกสีแดงๆ ของญี่ปุ่นทำไมชาชูที่ใส่ราเม็ง ถึงเพี้ยนจากหมูย่าง กลายเป็นหมูม้วนซ้อนมันแล้วเอาไปต้มซีอิ้วเสียได้ ไม่เข้าใจจริงๆ
ส่วนซาลาเปานั้น เมืองไทยเราประดิษฐ์วิตถารไปได้เรื่อยๆ จากซาลาเปาหมูสับ หมูแดง ถั่วดำ กลายเป็นไส้ครีม ไส้ฝอยทอง ไส้ลาวาไข่เค็ม แต่ที่ญี่ปุ่นผมเจอ “ไส้พิซซ่า” ครับ เจอในร้านสะดวกซื้อ รู้สึกอึ้งเล็กน้อย
ส่วนของทอดไม่มีอะไรฮิตเกิน “เปาะเปี๊ยะทอด” (อาหารที่เราเรียกว่าเปาะเปี๊ยะทอดน่ะ ที่จริงภาษาจีนกลางเรียกว่า “ชุนเจวี่ยน” 春巻 ซึ่งแปลว่า “ม้วนใบไม้ผลิ” ญี่ปุ่นอ่านเป็น “ฮะรุมากิ” ฝรั่งแปลตรงตัวว่า Spring Roll ผมงงว่า คำว่า “เปาะเปี๊ยะ” ที่หมายถึงแผ่นแป้งบางๆ นั้นกลายเป็นชื่ออาหารได้ยังไง)
ที่ญี่ปุ่นไม่เจอหอยจ้อ (เนื้อปูห่อฟองเต้าหู้ทอด) เลยนะครับ เจอแต่แฮ่กึ๊น ซะงั้น อ้อติ่มซำที่นี่ไม่มีจิ๊กโฉ่ไว้จิ้ม ให้มาแค่ซีอิ้วกะน้ำส้มสายชู ประมาณว่าจะกินก็ผสมเอาเองนะ
3. อาหารจีนง่ายๆ อย่างที่เรากินตามร้านเล็กๆ นอกบ้านในชีวิตประจำวันนั้น หลายอย่างกลายเป็นของที่หากินไม่มีสำหรับที่โน่น ผมไม่เคยเห็นข้าวหน้าเป็ด ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้ว ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา กระเพาะปลา เปาะเปี๊ยะสด ขายในร้านอาหารจีนในญี่ปุ่นเลย ดูเหมือนคนญี่ปุ่นจะไม่รู้จักกินเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยซ้ำ ไม่กินเส้นบะหมี่เหลืองไปเลยก็กินเส้นหมี่ขาว (หมี่ฮุ้น 米粉 “บีฟุน”) ซึ่งก็เห็นขายแต่เส้นหมี่ขาวผัด (ยากิบีฮุน 焼きビーフン)
เรื่องข้าวหน้าเป็ด ผมสาบานได้ว่าอยู่ญี่ปุ่นไม่เคยได้กินข้าวหน้าเป็ด หรือว่าเป็ดย่าง อย่างที่กินเป็ดย่างเอ็มเค เป็นย่างพูลสิน เป็ดย่างที่ร้านขายบะหมี่เป็ดย่างตรงท่าพระจันทร์ หรือเป็ดย่างเจ้าไหนๆ อย่างที่ย่างขายในไทยเลย เจอแต่เป็ดปักกิ่ง ซึ่งเป็ดปักกิ่งที่ญี่ปุ่นไม่อร่อยอย่างแรง ขนาดอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนด้วยยังบอกว่าเป็ดปักกิ่งเมืองไทยอร่อยกว่า แล้วก็ไม่เคยเห็น “หมูหัน” อยู่ในเมนูภัตตาคารอาหารจีนที่ญี่ปุ่นด้วย
ส่วนอาหารจีนระดับภัตตาคารที่กินกันเป็นสากล เช่นหูฉลามกับเป๋าฮื้อนั้นแน่นอนมีขาย ผมเคยกินหูฉลามแบบทั้งชิ้นตุ๋น フカヒレ姿煮 (ฟุคะฮิเระสึงาตะนิ) จานคนเดียวกินราคาราวสามพันกว่าเยน แต่ก็อร่อยดี ที่อุตริไปกินก็เพราะว่าคืนก่อนหน้านั้นนอนฝันเห็นหูฉลาม หลักจากนั้นอีกนานพอดูกินหูฉลามตุ๋นทั้งชิ้นที่อีกร้านหนึ่ง (บอกให้ก็ได้ว่าคือร้านเคย์คิน ตรงทางหลวงสาย 171 ที่เคยลงรูปไป) มันกระหน่ำเซลเหลือจานละพันห้าร้อยเยน กินแล้วก็รู้สึกว่ามิน่าล่ะ รสชาติไม่เป็นเรื่องเลย ยังกะเอาของกระป๋องมาทำ เห้อ
4. ในขณะเดียวกัน ตามร้านอาหารจีนแบบร้านชาวบ้านๆ ในญี่ปุ่นกลับมีอาหารบางเมนูที่เขากินกันเป็นปกติ แต่ไม่มีในสารบบอาหารจีนของเรา เช่น เท็นชินฮัง 天津飯 (“ข้าวเทียนสิน” คือข้าวโปะไข่เจียวหนาๆ ราดน้ำคล้ายๆ น้ำราดหน้า) เต้าหู้ผัดเผ็ด (มาโบโทฟุ 麻婆豆腐) กุ้งผัดซอสพริก (เอบิชิลลี่ エビチリ) อาหารบางอย่างจะว่าคล้ายก็คลับคล้าย แต่ไม่เหมือนอาหารจีนอย่างที่เรากินกันเสียทีเดียว เช่น ซาราอุด้ง 皿うどん (คล้ายหมี่กรอบราดหน้าแต่ใส่เครื่องเยอะกว่า) ซุบูตะ 酢豚 (คล้ายผัดเปรี้ยวหวาน แต่เอาหมูไปชุบแป้งทอดก่อนแล้วค่อยเอาไปผัดแบบเปรี้ยวหวาน) หมูปั้นก้อนราดซอสเปรี้ยวหวาน 肉団子甘酢 (นิกุดังโงะอามะซุ) หมูผัดกะหล่ำปลีฝอย 回鍋肉 (ฮอยโคโร)
เมนูที่ขาดไม่ได้สองอย่างในร้านอาหารจีนแบบชาวบ้านเพราะเป็นเมนูยอดฮิต กินเป็นกับข้าวก็ได้กับแกล้มก็ดีคือ “เกี๊ยวซ่า” 餃子 กับ “ไก่ทอดคาราเกะ” 鳥から揚げ (โทริคาราอะเงะ) แน่นอนสองเมนูนี้ไม่มีในเมนู “อาหารจีน” ในเมืองไทย แม้แต่เกี๊ยวซ่าทอดอย่างที่ร้านอาหารแนวไต้หวันในเมืองไทยทำขาย ก็ไม่เหมือนเกี๊ยวซ่าทอดอย่างรสปากคนญี่ปุ่นกิน
5. คนไทยเรารู้สึกว่าราเม็งเป็นอาหารญี่ปุ่น ขนาดเรียกมันว่า “บะหมี่ญี่ปุ่น” แต่สำหรับคนญี่ปุ่นมันคืออาหารจีน บางทียังเรียกราเม็งว่า “จูกะโซบะ” 中華そば แปลตรงตัวว่า “โซบะจีน” ด้วยซ้ำ ถึงแม้ในความเป็นจริงมันจะถูกดัดแปลงจนเป็นอาหารญี่ปุ่น เหมือนกับที่คนไทยดัดแปลงเส้นก๋วยเตี๋ยวให้กลายเป็นอาหารอย่างไทยๆ เช่นก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ฯลฯ ก็ตาม
ดังนั้นตามประเพณีนิยม ร้านราเม็งจึงต้องขายเมนูข้างเคียงเป็นอาหารสไตล์จีนง่ายๆ เน้นอิ่มท้อง เพราะราเม็งเป็นอาหารชาวบ้านอย่างเดียวกับที่เรากินก๋วยเตี๋ยวบะหมี่ เช่นข้าวผัด (คงกลัวกินบะหมี่ชามเดียวแล้วไม่อิ่ม) เกี๊ยวซ่า (เกี๊ยวซ่าทอดบนแผ่นเหล็กที่ญี่ปุ่นนั้นเอาเข้าจริงลูกใหญ่กว่าเกี๊ยวซ่าที่กินตามร้านในเมืองไทยสักเท่าตัวได้) ไก่คาราเกะ ร้านราเม็งเขามักจะขายเป็นอาหารชุด มีราเม็งหนึ่งชาม ข้าวสวยหนึ่งถ้วย กับหนึ่งอย่างไม่เกี๊ยวซ่าก็ไก่คาราเกะ ราคาราวๆ 800 เยน เซ็ตเดียวอิ่ม กิมจิ (อันนี้เริ่มมั่วแล้ว เพราะกิมจิเป็นอาหารเกาหลีไม่ใช่จีน สงสัยคนญี่ปุ่นคงคิดว่าจีนกะเกาหลีก็ครือๆ กันละมัง) ร้านราเม็งบางร้านที่ผมเคยกินมีบริการแบบว่าตักกิมจิฟรีไม่อั้น น่าสังเกตว่าเมนูที่ชื่อ “ฮิยาชิจูกะ” 冷やし中華 หรือหมี่เย็นนั้น เขาจะทำขายเฉพาะหน้าร้อน (ราวสิงหา-กันยา) เท่านั้น
6. นอกจากราเม็งแล้ว เกี๊ยวซ่า 餃子 ก็เป็นอาหารจีนอีกอย่างหนึ่งที่ถูกดัดแปลงจนกลายเป็นของกินสามัญในญี่ปุ่น ว่ากันว่าในแต่ละท้องถิ่นคนญี่ปุ่นแถวนั้นก็คิดดัดแปลงทำเกี๊ยวซ่าให้แปลกๆ ไป เกี๊ยวซ่าเป็นของกินยอดฮิตเพราะว่า
1) ราคาถูก ว่ากันว่าสมัยหลังสงครามเกี๊ยวซ่าได้กลายเป็นอาหารยอดฮิตในยุคญี่ปุ่นยังยากจนอยู่ ใช้เศษผักเศษเนื้อก็ทำได้ ราคาถูก กินอิ่มท้องเพราะมีแป้งและเป็นของทอดน้ำมัน คนญี่ปุ่นชอบกลิ่นของทอดน้ำมันที่มันอร่อยๆ อย่างทงคัตซึหรือเทมปุระ เกี๊ยวซ่าทอดแบบที่นิยมกันคือทอดบนแผ่นเหล็กแล้วราดน้ำแล้วปิดฝาอังให้สุก (ยากิเกี๊ยวซ่า 焼き餃子) ส่วนเกี๊ยวซ่าอีกแบบที่เอาลงทอดน้ำมันท่วมอย่างที่เรากินตามฟู๊ดเซ็นเตอร์นั้น (อะเงะเกี๊ยวซ่า 揚げ餃子) ก็มีบ้างแต่ไม่นิยมเท่า
2) มันกินเป็นกับข้าวก็ได้ กับแกล้มก็ดี กินเปล่าๆ ก็ยังได้ อันที่จริงอาหารที่เป็นแป้งห่ออย่างเกี๊ยวซ่านั้นแต่เดิมอย่างคนจีนกินจริงๆ แป้งจะหนาหน่อย เพราะเขาทำกินเป็นอาหารหลักเหมือนกินก๋วยเตี๋ยว แป้งหนาๆ กินอิ่มท้องดี โดยมากจะต้มหรือนึ่ง เกี๊ยวซ่าทอดนั้นมักเป็นการเอาเกี๊ยวต้มที่กินเหลือมาทอดกิน เลยมีภาพลักษณ์เป็น “อาหารเหลือๆ” ที่ควรจะกินเฉพาะในครัวเรือน แต่พอมากลายเป็นอาหารฮิตของคนญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม มันก็ถูกดัดแปลงไป แป้งบางลง ปรุงรสไส้ในให้รสจัดขึ้นจะได้กินกับข้าวได้
เกี๊ยวซ่าเป็นของกินที่คนญี่ปุ่นนิยมกันกันขนาดที่ว่ามีร้านอาหารที่ขายเกี๊ยวซ่าเป็นตัวชูโรง มีราเม็งและอาหารจีนง่ายๆ จำพวกผัดๆ ทอดๆ หมี่ผัดข้าวผัดอะไรพวกนี้เป็นตัวเสริม เน้นราคาถูกปริมาณมาก อย่างร้าน “เกี๊ยวซ่าโนะโอโช” (ขุนพลเกี๊ยวซ่า) นั้นขายเกี๊ยวซ่าหนึ่งแพ (หกลูก) แค่ 150 เยนเท่านั้น (ณ ตอนที่ผมอยู่ที่โน่นนะ) ลูกโตมาก กินเปล่าๆ สักสามที่ก็อิ่มแล้ว หรือจะสั่งข้าวเปล่าสักถ้วยมากินก็ได้ อีกร้านที่ชอบกินเวลาไปฝึกดาบอิไอที่บูโดกันประจำอำเภอมิโน่ คือ “โอซาก้าโอโซ” ราคาจะแพงอีกนิดคือหนึ่งแพ 180 เยน อาหารอื่นที่ชอบของร้านนี้คือ ข้าวผัดกิมจิ
ร้านอาหารจีนราคาถูกพวกนี้ (รวมถึงร้านราเม็งบางร้าน) เข้าไปนี่ระวังหัวเหม็นตัวเหม็นน้ำมันนะจ๊ะ (อารมณ์น้องๆ ไปกินหมูกะทะทีเดียว)
7. เครื่องดื่มนั้น สาบานได้ว่าอยู่ญี่ปุ่นหาน้ำเก๊กฮวย น้ำจับเลี้ยง น้ำหล่อฮั้งก้วยกินไม่ได้เลย เครื่องดื่มอย่างจีนที่คนญี่ปุ่นรู้จักก็คือ “ชาอูลอน” ซึ่งส่วนตัวผมไม่ถูกปาก ดื่มน้ำชามะลิอร่อยกว่า ส่วนเครื่องดื่มมีแอกอฮอล์ที่ขายตามร้านอาหารจีนในญี่ปุ่นนั้น มาก่อนเลยก็คือเบียร์ยี่ห้อ “ชิงเต่า” 青島 (ทำนองว่ากินอาหารจีนก็ต้องกินเบียร์จีน?)
ลำดับต่อมาก็คือเหล้า “เส้าซิง” 紹興酒 (โชโกชุ) เหล้ารสดีสีเข้มนี้กินร้อนหรือเย็นก็ได้ แต่ผมว่ากินร้อนดีกว่า กินร้อนๆ ก็มีสูตรการกินต่างๆ ไปแล้วแต่ร้าน เคยไปร้านหนึ่งเขาเสิร์ฟเหล้าเส้าซิงอย่างร้อนมาพร้อมกับบ๊วยเค็ม เทเหล้าใส่จอกแก้วแล้วหย่อนบ๊วยเค็มลงไปแช่ รสเปรี้ยวหวานของบ๊วยเค็มผสานกับรสเหล้ามันช่างเข้ากันเหลือเกิน อีกร้านหนึ่งเสิร์ฟพร้อมน้ำตาลทรายแดง ใครรู้วิธีกินเหล้าเส้าซิงแบบอื่นๆ ช่วยบอกด้วยเผื่อผมจะได้ลอง
นอกจากเหล้าเส้าซิงแล้วจะมีขายพวกเหล้าใสๆ ที่ปรุงกลิ่นผลไม้ เช่นเหล้าใสกลิ่นแอปริคอต อะไรเทือกนี้ เหล้าอย่างนี้มักกินออนเดอะร็อกหรือผสมโซดาดีนักแล
8. พูดถึงอาหารเครื่องดื่มแล้ว ถ้าไม่มีของหวานตบท้ายมันก็ไม่ครบมื้อ ร้านอาหารจีนในญี่ปุ่นไม่มีของหวานจำพวกงาดำร้อน รังนกแปะก้วยหรือโอวนี้แปะก้วย (โอวนี้ 芋泥 หรือเผือกกวนนี่อาหารแต้จิ๋วนะครับ) หรอกนะครับ คนญี่ปุ่นดูจะชอบของหวานเย็นๆ เนื้อนิ่มๆ มากกว่า ของหวานบังคับที่ทุกร้านต้องมีคือ “เต้าฮวยฟรุตสลัด” 杏仁豆腐 (อันนิงโทฟุ) รองลงมาอาจจะเป็นพุดดิ้งมะม่วง เยลลี่มะนาว หรือแทปปิโอกะในน้ำกะทิ タピオカ入りココナッツミルク (มันคือเม็ดไข่มุกแบบที่ใส่ชานมไข่มุกแหละครับ ญี่ปุ่นเรียก แทปปิโอกะ タピオカ คำว่า Tapioka หมายถึงมันสำปะหลัง เม็ดไข่มุกทำจากแป้งมันสำปะหลัง) ซึ่งดูแล้วล้วนเป็นของหวานจีนแบบที่คิดขึ้นใหม่ตามสมัยนิยมทั้งนั้น ไม่มีของหวานแบบโบราณอย่างที่บ้านเรามีเลย
เรื่องของหวานนี่ผมเคยเจอดีมาแล้ว แหมตอนนั้นกางเมนูจะกินของหวาน อ๊ะอะไรนะ “เซ็นโซเยลลี่” (仙草ゼリー เยลลี่หญ้าเซียน) เอ๊ะมันเป็นยังไง ท่าทางน่าสนใจ ต้องสั่งมากิน ถ้วยละราวสองร้อยกว่าเยน พอเขายกมาเสิร์ฟที่โต๊ะแหละ………ฮึ่ม ฝากไว้ก่อนโอฬาร เพราะที่แท้มันคือ….
…เฉาก๊วยครับ เฉาก๊วย เฉาก๊วยนิ่ม เฉาก๊วยแท้ มาแล้วครับ เฉาก๊วยครับ เฉาก๊วย…
อ่ะเหนื่อยกับเรื่องวิชาการกันมามาก ก่อนจากกัน เชิญชมรูป Senri China Town ที่ผมถ่ายเก็บไว้อีกครั้งเป็นที่ระลึก ณ ปี 2006 ก่อนผมจะเรียนจบและกลับบ้านที่เมืองไทยกันนะครับ เอาให้ดูบรรยากาศเฉยๆ คิดแล้วก็เศร้าใจว่า เหลือแต่รูปถ่ายแล้วครับ สถานที่นี้


เรื่องแนะนำ :
– ชีวิตการซูชิและสุราของข้าพเจ้า (2) อยู่ญี่ปุ่นมีอะไรให้ดื่มได้บ้าง
– ชีวิตการซูชิและสุราของข้าพเจ้า (1) เมื่อผมเสพติดซูชิหมุนร้อยเยน
– ชีวิตข้าวกล่อง Bento Life กับโรงอาหารที่รัก
– อยู่อำเภอมิโน่ เที่ยวน้ำตกมิโน่
– “ความทรงจำและคำอำลา” บ๊ายบาย หอพักนักเรียนนานาชาติคันไซ
#บทความสาระ วิชาการ (ตรงไหน?) : ว่าด้วย “อาหารจีน” ในญี่ปุ่น