คั่นรายการ โดย Lordofwar Nick
บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (3) ว่าด้วยความเที่ยงธรรม (กิ 義)
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ออกตัวกันเลยนะครับ ไปเล้ย
ความเที่ยงธรรม (Rectitude) หรือความยุติธรรม (Justice)
ไม่มีอะไรที่น่ารังเกียจสำหรับเขา (ซามูไร) มากไปกว่าการติดต่อเจรจาแบบลี้ลับซ่อนเร้นและการกระทำที่คดโกง แนวคิดเรื่องความเที่ยงธรรมอาจเป็นที่เข้าใจกันอย่างผิดๆ อาจคับแคบ บูชิ (武士 นักรบ) ผู้เป็นที่รู้จักผู้หนึ่งให้นิยามว่าเป็นพลังแห่งความแน่วแน่แก้ปัญหา ความเที่ยงธรรมคือพลัง ในการตัดสินใจในแนวทางปฏิบัติบางอย่างตามเหตุผล โดยไม่ลังเลหวั่นไหว “ตายเมื่อสมควรตาย ตีเมื่อสมควรตี คือสิ่งที่ถูกต้อง” อีกผู้หนึ่งพูดถึงมันในแง่ต่อไปนี้ “ความเที่ยงธรรมคือกระดูกที่ให้ความมั่นคงและสัณฐาน หากไม่มีกระดูก ศีรษะก็ไม่สามารถวางบนกระดูกสันหลังได้ มือก็ขยับไม่ได้เท้าก็ยืนไม่ได้
ดังนั้น หากปราศจากความเที่ยงธรรม พรสวรรค์หรือการเรียนรู้ก็ไม่อาจทำให้โครงร่างของมนุษย์กลายเป็นซามูไรได้ เมื่อมันขาดซึ่งความสำเร็จก็เท่ากับไม่มีอะไรเลย” เม่งจื้อเรียก (สิ่งนี้) ว่าจิตของมนุษย์ที่มีความดี และเรียกความเที่ยงธรรมหรือความชอบธรรมว่าคือวิถีของเขา “น่าเศร้าเสียจริง” เขาอุทาน “ที่ละเลยวิถีแล้วไม่ทำตาม ที่สูญเสียจิตใจแล้วไม่รู้จักตามมันอีก เมื่อเป็ดไก่และสุนัขของคนเราหายไป เขาย่อมรู้จักตามหาอีก แต่พวกเขาพอสูญเสียจิตใจก็ไม่รู้จักตามหามัน” เราไม่ได้อยู่ที่นี่ “เหมือนในกระจกอันมืดมิด” ที่เป็นอุปมาซึ่งเล่าขานในอีกสามร้อยปีให้หลังในอีกถิ่นหนึ่งโดยบรมครู ผู้เรียกตนเองว่าเป็นวิถีแห่งความชอบธรรม (หมายถึงพระเยซูคริสต์? เม่งจื๊อนั้นเชื่อกันว่าเกิดเมื่อราว 372 ถึง 289 ปีก่อนคริสตกาล) ผ่านผู้ใดที่หายไปที่ถูกพบ? แต่ข้าพเจ้าออกนอกประเด็นไป ความเที่ยงธรรม ตามที่เม่งจื้อกล่าวไว้นั้น เป็นทางที่ตรงและแคบซึ่งมนุษย์ควรจะเดินไปเพื่อได้คืนมาซึ่งสวรรค์ที่หายไป
เดี๋ยวนะ นี่มันอะไรกันน่ะ 555
พึงรู้ว่าท่านผู้เขียนคือ Nitobe Inazō นั้น ในภายหลังได้หันมานับถือศาสนาคริสต์ ดังนั้นสำนวนการเขียนอะไรบางอย่างสำหรับผมก็และดูเหมือนจะไปยกอะไรๆ ในศาสนาคริสต์มากล่าว ซึ่งขอเรียนตรงๆ ว่า เกินความรู้ของผมที่จะเข้าใจอยู่เยอะครับ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “ความเที่ยงธรรม” นี่ล่ะครับ
คำว่า “ความเที่ยงธรรม” นั้น หมายถึงอะไร?
เที่ยงธรรม หมายถึง ชอบด้วยเหตุผล
ความเที่ยงธรรม หมายถึง การปฏิบัติได้ถูกต้องตามจารีต ประเพณี กฎหมาย ซึ่งคนเราจะมีสิ่งนี้ได้ ก็ต้องอบรมสติปัญญา เสริมสร้างความเข้าใจด้วยการศึกษาเล่าเรียน ให้รู้ว่าอะไรถูกควรไม่ถูกไม่ควร
ซึ่งความเที่ยงธรรมนี้ จะโยงไปถึงเรื่อง ความเที่ยงธรรมในหน้าที่ เช่นในเมื่อเรามีบทบาทหน้าที่แบบนี้ๆ เราควรจะทำอย่างไรประพฤติอย่างไรให้ถูกควรไปด้วย
ดังข้อความต่อไปที่จะขอยกมากล่าวนะครับ
ข้าพเจ้าขอพูดถึง (คำว่า) กิ-ริ (義理) ซึ่งตามตัวอักษรหมายถึง เหตุผลอันชอบ (Right Reason) แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันหมายความอย่างคลุมเครือถึง หน้าที่ (duty) ซึ่งความคิดเห็นของสาธารณชนคาดหวังว่าผู้มีตำแหน่งนั้นจะต้องกระทำ ในความหมายดั้งเดิมและไม่เจือปน มันหมายถึงหน้าที่ บริสุทธิ์และเรียบง่าย ดังนั้น เราจึงพูดถึง กิริ ที่เราเป็นหนี้ต่อพ่อแม่ ต่อผู้บังคับบัญชา ต่อผู้ด้อยกว่า ต่อสังคมส่วนรวม และอื่นๆ ในกรณีเหล่านี้ กิริ คือหน้าที่ จะมีอะไรอื่นที่เป็นหน้าที่มากไปกว่า สิ่งที่เหตุผลอันชอบเรียกร้องและสั่งให้เราทำ เหตุผลอันชอบไม่ควรเป็นคำสั่งบังคับเด็ดขาดของเราหรอกหรือ?
กิริโดยแรกเริ่มแล้วไม่ได้หมายถึงอะไรมากไปกว่าหน้าที่ และข้าพเจ้ากล้าพูดได้ว่ารากศัพท์ของมันนั้นมาจากความประพฤติของเรา พูดถึงพ่อแม่ของเรา แม้ความรักควรเป็นแรงจูงใจเพียงอย่างเดียว โดยขาดไปว่า จะต้องมีอำนาจอย่างอื่นมาบังคับใช้ความกตัญญูกตเวที แล้วพวกเขาก็บัญญัติอำนาจนี้ในกิริ การที่บัญญัติอำนาจนี้ คือ กิริ นั้น ทำได้ถูกต้องแล้ว เพราะถ้าความรักไม่เร่งรีบไปสู่การกระทำแห่งคุณธรรม ก็ต้องพึ่งพาสติปัญญาของมนุษย์ และต้องเร่งเหตุผลของเขาให้เร็วขึ้นเพื่อโน้มน้าวเขาถึงความจำเป็นในการปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่นเดียวกับข้อผูกพันทางศีลธรรมอื่นๆ
ทันทีที่หน้าที่กลายเป็นภาระหนัก เหตุผลอันชอบจะก้าวเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้เราหลบเลี่ยงมัน กิริเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นนายงานที่เข้มงวด ที่มีไม้เรียวอยู่ในมือเพื่อให้คนเกียจคร้านทำหน้าที่ของตน มันเป็นอำนาจอันดับรองในจริยธรรม ในฐานะแรงจูงใจ มันด้อยกว่าหลักคำสอนเรื่องความรักของคริสเตียน ซึ่งควรเป็นกฎ อย่างอนันต์ ข้าพเจ้าถือว่านี่เป็นผลผลิตของสภาพของสังคมประดิษฐ์ ของสังคมที่อุบัติเหตุแห่งการเกิด (accident of birth) และความโปรดปรานที่ไม่สมควรได้รับ (unmerited favour) ได้ก่อให้เกิดความแตกต่างทางชนชั้น โดยที่ครอบครัวเป็นหน่วยทางสังคม ซึ่งความอาวุโสทางอายุมีความสำคัญมากกว่าความเหนือกว่าในความสามารถพิเศษ ซึ่งความรักใคร่ตามธรรมชาติมักจะจำนนต่อธรรมเนียมที่มนุษย์สร้างขึ้นตามอำเภอใจ
เพราะความประดิษฐ์นี้เอง กิริ จึงเริ่มเสื่อมถอยลงตามเวลาจนเป็นความหมายที่คลุมเครือของความถูกต้องที่เรียกร้องให้อธิบายสิ่งนี้และบังคับสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น เหตุใดหากจำเป็น ผู้เป็นแม่จึงต้องเสียสละลูกคนอื่นๆ ทั้งหมดของเธอเพื่อช่วยบุตรหัวปี หรือเหตุใดลูกสาวจึงต้องขายพรหมจรรย์ของเธอเพื่อหาเงินสำหรับความสุรุ่ยสุร่ายของพ่อ และอื่นๆ ที่คล้ายกัน โดยเริ่มจากเหตุผลอันชอบ กิริ นั้น ในความเห็นของข้าพเจ้า มักโค้งต่ำลงมากลายเป็นการอ้างเหตุผลแบบเจ้าถ้อยหมอความ (casuistry) มันได้เสื่อมถอยจนกลายเป็นความกลัวการตำหนิอย่างขี้ขลาด ข้าพเจ้าอาจพูดถึง กิริ ด้วยคำที่สก็อตต์ (Sir Walter Scott นักประวัติศาสตร์และกวีชาวสก็อตแลนด์) เขียนเกี่ยวกับความรักชาติ ว่า “ (แต่ความรักชาตินั้น) เนื่องจากมันเป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมาที่สุด บ่อยครั้งมันจึงเป็นหน้ากากปิดบังความรู้สึกอื่นๆ ที่น่าสงสัยที่สุด” เมื่อถูกนำพาจนเกินเลยเหตุผลอันชอบไป กิริ กลายเป็นการเรียกชื่อผิดอย่างมหันต์ มันซ่อนการอ้างเหตุผลตบตาและความหน้าซื่อใจคดทุกอย่างไว้ใต้ปีกของมัน มันอาจกลายเป็นรังแห่งความขี้ขลาดได้ง่ายๆ หากบูชิโดไม่มีสำนึกที่เฉียบแหลมและถูกต้องถึงสิ่งที่เราจะย้อนกลับมา
อ่านจบแล้ว ขออุทาน
โอ้โฮ เว้ย เห้ย
โอเคครับผมอุทานเสร็จแล้ว (ฮา)
ถ้าพูดถึง กิริ (義理) กิริเดียวที่ผมรู้จัก คือกิริช็อกโก (義理チョコ) ครับ 555 กิริช็อกโก คือ ช็อกโกแลตที่ผู้หญิงญี่ปุ่นมอบให้ผู้ชายในวันวาเลนไทน์ แต่มิได้ให้เพราะเสน่หา แต่ให้เพราะมันเป็น หน้าที่พึงกระทำ (ตามความสัมพันธ์เชิงบทบาทหน้าที่ในสังคม) เช่นลูกน้องให้หัวหน้างาน เพื่อนผู้หญิงในห้องซื้อมาเยอะๆ แล้วแจกเพื่อนผู้ชายทั้งห้องให้ได้รับถ้วนหน้ากัน แบบนี้แหละครับ กิริช็อกโก Japan only มาก
ผมตอนอยู่ญี่ปุ่นเคยได้รับสองครั้ง ครั้งแรกได้จากติวเตอร์ (พี่เลี้ยง) สาวญี่ปุ่นที่หอนักเรียนนานาชาติ ครั้งที่สองได้จากป้าเซทสึโกะ เจ้าของอพาร์ทเมนต์ที่ผมเช่าครับ
ชอบครับ ขนมฟรีเนี่ย 555
ผมอึ้งอีกแล้วกับการใช้คำศัพท์ของผู้เขียน กับคำว่า ความโปรดปรานที่ไม่สมควรได้รับ (unmerited favour) คำนี้เป็นคอนเซ็ปท์ศาสนาคริสต์เต็มๆ อีกแล้ว อย่างคำว่า พระคุณ (Grace) คือ ความโปรดปรานที่เราได้รับโดยที่เราไม่สมควรได้รับ คือ ความโปรดปรานที่ประทานแก่คนบาปให้ได้รับความรอด
แต่ในที่นี้มันมีนัยว่าอะไร? บอกตรงๆ ผมไม่เก็ทครับ (แป่ว)
แต่ข้อความที่ผู้เขียนอภิปรายความเห็นผมค่อนข้างทึ่งมาก เพราะเป็นจริงแม้ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ บ่อยครั้งหลักศีลธรรมที่ว่าด้วย “หน้าที่” ที่ไปยึดโยงกับความสัมพันธ์เชิงบทบาทที่ฐานะไม่เท่ากัน ถูกนำไปเป็นเครื่องบังหน้าในการ “ข่มเหง” (abuse) หรือ “ล่วงละเมิด” (harassment) เมื่อใดที่เหตุผลอันชอบถูกละเลยหรือหลงลืม เมื่อนั้นศีลข้อนี้ก็จะถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ (abuse) ได้
ถามว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?
ผมว่าเราควรกลับไปมองที่แนวคิดคำสอนของเม่งจื๊อ “ผู้ปกครองที่ดีต้องไม่เพียงแต่เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องกระทำตนให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ประชาชนควรได้รับ และต่อเงื่อนไขความเหมาะสมของประชาชนด้วย”
พูดแบบประยุกต์ก็คือ มันควรต่างตอบแทนกัน ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ต้องเมตตาผู้น้อยด้วย
หากทุกคนรู้หน้าที่ของตน ทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อย สังคมก็เดินหน้าไปได้อย่างสงบสุข ไม่ต้องให้พวกฝ่ายซ้ายออกมาโวยวายขายฝัน ว่าคนเท่ากันหมด (ซึ่งมันเป็นเรื่องโกหก ผิดไปจากความเป็นจริง) ไม่จำเป็นต้องเคารพผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ เพราะถ้าจะถือกันแบบนั้น ก็เท่ากับว่าคนในสังคมล้วนไม่มีบทบาทหน้าที่ ไม่ต้องมีสัมพันธ์ต่อกัน งั้นก็ไม่ต้องทำอะไรให้ใครเลย อยากทำไรก็ทำเอาตามอำเภอใจตัวเองพอ เหรอ?
ผมพูดแค่นี้ละกันครับ ฝากไว้ให้คิด
ยาต้องกินให้ครบคอร์ส อาหารต้องกินให้ครบห้าหมู่ ฉันใด หลักศีลธรรมนั้นก็ต้องถือให้ครบคอร์สด้วย ฉันนั้น ฉะนั้น ผู้เขียนจึงได้โอกาส เปิดประเด็น ไปสู่ศีลข้อต่อไป คือ….อ๋ออยากรู้เหรอครับ ตามไปอ่านกันสัปดาห์หน้านะครับ วันนี้ขอแค่หอมปากหอมคอแค่นี้ก่อน พบกันใหม่สัปดาห์หน้าสวัสดีครับ
เรื่องแนะนำ :
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (2) รากเหง้าเค้ามูลของ “บูชิโด”
– บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (1) เมื่อ “คนญี่ปุ่น” เอาวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาเขียนขาย “ฝรั่ง”
– Siam Cup BJJ 2023 สักวันหนึ่ง ผมจะเป็น “ซาซากิ โคจิโร่” ให้ได้เลยนะ!!
– “ยอดยุทธ์วาตะ” การ์ตูนเชิดชูยูโดที่ดี แต่ไม่มีอะไรใหม่!?
– โคฮินาตะ มิโนรุ “คุณชายพันธุ์โชะ” กลับมาอ่านอีกที โคตรเกลียดเรื่องนี้เลยครับ!!– มาอ่าน ว่าด้วยเรื่องของ “มูซาชิ” ในการ์ตูนและเกม (เอาเท่าที่ผมรู้จัก)
#บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น (3) ว่าด้วยความเที่ยงธรรม (กิ 義)