เวลาหนังเขามีไตรภาค… ภาคสุดท้ายมันต้องพีคสินะ ต้องมีตัวละครในเรื่องตายถึงจะยิ่งพีค…วันนี้ผมจะเล่านิทานจากบทเรียนที่เราทำงานกับญี่ปุ่นให้ฟัง (ล้อเล่นนะครับ ไม่มีอะไรโหดขนาดน้าน)
เวลาหนังเขามีไตรภาค… ภาคสุดท้ายมันต้องพีคสินะ ต้องมีตัวละครในเรื่องตายถึงจะยิ่งพีค…
วันนี้ผมจะเล่านิทานจากบทเรียนที่เราทำงานกับญี่ปุ่นให้ฟัง (ล้อเล่นนะครับ ไม่มีอะไรโหดขนาดน้าน)
“เบคาราสุ べからず :Bekarazu” เป็นศัพท์ตรงกันข้ามกับคำว่า เบคิ べき:Beki ที่แปลว่า ควร
ดังนั้นถ้าเข้าใจง่ายๆ หากญี่ปุ่นบอกว่า เบคาราสุ (หรือถ้าเป็นภาษาพูดจะบอกว่า べきではない Beki de wa nai) ก็คือไม่ควรนั่นเอง
หลังจากผมทำงานที่ญี่ปุ่นได้สองปี มันจะมีช่วงฤดูกาล rotation (คนญี่ปุ่นเขามักไม่ให้เราทำงานทีมเดิม เรื่องเดิมๆ นานเกินไป เพราะจะทำให้ไม่พัฒนาตัวเอง และเผลอๆ พออยู่นานเกินไปอาจจะโกงบริษัทได้) ผมได้ไปอยู่ทีมใหม่ ก่อนไปรุ่นพี่ทีมเก่าก็เลี้ยงส่ง พร้อมสั่งเสียไว้ซะดิบดี
“วิน… จะบอกอะไรให้ ทีมใหม่ที่จะไปอยู่เนี่ย เป็นทีมดูแลระบบแอพพลิเคชั่นเต็มรูปแบบ มันจะมีปัญหาที่ลูกค้า call เข้ามาแทบทุกวันทุกเวลา ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะบอกนายคือ… ถ้าทีมยังไม่กลับกัน อย่ากลับก่อนเชียว”
คำพูดในวันนั้น ยังอยู่ในโสตประสาทของผม… อยู่มานานมาก ขนาดกลับมาอยู่ประเทศไทยมันยังตามมา replay ให้ได้ยินซ้ำๆ อยู่เลย
ในเย็นวันอังคารที่แสนธรรมดาวันหนึ่ง ผมออกจากบริษัทตั้งแต่ห้าโมงครึ่งเพราะวันนี้ผมมีเดทโตะ หรือแปลเป็นไทยว่ามีนัดทานข้าวกับสาวเจ้า ^^
ผมเดินออกไปจากบริษัทอย่างแสนจะแฮปปี้ โดยไม่รู้ว่าสายตาอีกหลายคู่จับจ้องผมอยู่ … และพอมารู้อีกทีมันคือบทเรียนราคาแพงของผม
ในวันเช้าวันรุ่งขึ้น ทันทีที่ผมวางกระเป๋าข้างโต๊ะทำงาน รุ่นพี่เริ่มจั่วหัว
“งานที่ขอให้โทรไปหาคุณฮาราดะ ได้โทรไปบอกหรือยัง วินคุง?”
“ผมโทรไปเมื่อวานสองสามทีฮาราดะไม่อยู่ เลยทิ้งเมล์ไว้แล้ว”
“บอกให้โทรทำไมไม่ทำ และถ้าอย่างนั้นก่อนกลับก็รายงานก่อนสิ”
ผมเริ่มรู้สึกว่าสถานการณ์ไม่สู้ดี แต่ไม่มีทางเลือกนอกจากน้อมรับและตอบว่า “Hai”
“งานเรื่องที่เขียน การตรวจสอบพื้นที่ในฮาร์ดดิสก์ว่าจะมีปัญหาไหมถ้าเราลงแอพพลิเคชั่นใหม่ มีประเด็นไหม ไปถึงไหนแล้ว”
“เด๋วส่งให้ดูพรุ่งนี้ครับ เพราะจำได้ว่าหัวหน้าขอวันศุกร์”
“ช้าไป! ถ้าส่งให้ดูแล้วต้องมาเสียเวลาแก้อีก มันจะยิ่ง delay เกินไปมากมาย รีบส่งมาให้พี่ภายในวันนี้ อย่างน้อยก็มีเวลารีวิวอีกทั้งวัน ถ้าทำช้าแล้วยังกลับบ้านเร็ว ดาเมะนะ” (ดาเมะภาษาญี่ปุ่นคือ ไม่ได้ ไม่โอ ไม่งาม)
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ว่าการกลับเร็วกลับก่อน จะสร้างปัญหาตามมาให้เราอย่างไม่น่าเชื่อ แน่นอนผู้อ่านหลายท่านอาจมองว่าถ้างานไม่เสร็จกลับก่อนก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว จะเป็นญี่ปุ่น ไทย เบลเยี่ยม โปรตุเกส หรือมุมไหนของโลกก็เหอะ แต่อย่าลืมว่าหากซาลารี่แมนอย่างพวกเราไม่ใช่ทำงานประเภท Routine ที่ทุกวันงานซ้ำๆ เหมือนๆ กันมีช่วงเริ่มและจบแน่นอน งานประเภทโปรเจค งานเขียนโปรแกรม งานเขียนเอกสาร อาจจะเรียกนิยามคำว่า “เสร็จ” ได้ยากมาก เพราะการเสร็จงานของแต่ละคน มีเลเวลที่ต่างกันมากมาย
หลายท่านอาจมองว่า การทำงานโดยไม่จบไม่สิ้นอยู่ดึกเป็นอาจิณยิ่งแสดงถึงประสิทธิภาพที่ด้อยค่า อาจมีส่วนจริงแต่หากเรามองลึกไปกว่านั้น ญี่ปุ่นสร้างขั้นตอนการทำงาน การตรวจเช็ค อนุมัติขึ้นมามากมาย พวกเขา (ส่วนใหญ่) ไม่ได้นั่งเฟสบุ๊คหลังห้าโมงเย็นเพื่อรอให้เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานกลับบ้าน จะได้ไม่น่าเกลียด แต่พวกเหล่าญี่ปุ่นใช้เวลามากมายมหาศาลกับการตรวจซ้ำ สรุปให้เข้าใจง่าย คุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เรื่องชัวร์ ซึ่งท้ายสุดไม่มีทางเลือกอื่นเลยนอกจากต้องเสีย “เวลา” เพื่อแลกกับงานที่คุณภาพเยี่ยมสไตล์ brand made in Japan
และวันวัดใจก็มาถึง เมื่อระบบของเรามีปัญหาจนต้องมาตามแก้ ตามเช็ดจนถึง สี่ทุ่ม…
ไม่ใช่… สี่ทุ่มมันแค่รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไง… ยังๆ พีคยังไม่ได้อยู่ตรงนี้
เหล่าพี่ๆ น้องๆ โทรหาลูกเมีย บอกว่าราตรีนี้ยังอีกยาวไกล บอกราตรีสวัสดิ์กันผ่านมือถือได้เลย
เที่ยงคืน…
ใช่แล้ว… เที่ยงคืนแล้วครับ ดูเหมือนเราเห็นทางออกแล้ว
ซะที่ไหน !!
มันดูเหมือนจะเสร็จ… แต่ไม่ได้ ระบบเปลี่ยนวันเป็นวันถัดไปแล้ว เพื่อความชัวร์เช็ครีพอร์ตที่โปรแกรมจะสร้างตอนตีสองสักหน่อยดีกว่า คนในทีมจะได้นอนหลับฝันดี (หัวหน้าครับ ไม่ฝันดีแล้วครับ ไม่ได้ฝันแล้วครับ เพราะมันจะเช้าแล้ว..)
มีไอ้น้องที่เข้าทำงานปีแรกเพียงคนเดียวที่ขอเผ่นกลับบ้านก่อน… ส่วนสมาชิกที่เหลือในทีมอยู่กับพรึ่บ ซึ่งตอนนั้นวิญญาณน่าจะออกจากร่างกันไปหลายคนแล้ว
เหล่าพนักงานเงินเดือนคงรู้ว่าพวกเราเคยทำงานจนแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันมาบ้างแหล่ะ แต่ผมอยากให้ผู้อ่านจินตนาการตามว่าสภาพร่างกายและจิตใจที่ทำงานถึงสามสี่ทุ่มมาแทบทุกวัน หรือจะบอกว่าทุกวันแล้วล่ะ เมื่อเจอวันที่ต้องอยู่ยาวจนถึงตีสองพร้อมกับปัญหา… คุณรู้ไหมว่ามันนรกแตกแค่ไหน !!?
“ถ้าทีมยังไม่กลับ อย่ากลับก่อนเชียว” เสียงที่ก้องเข้ามาหาผมเป็นราวกับมนต์กฤษณะกาลี ทำให้ผมยืนแข็งทื่อบนตึกตอนตีสองกว่าๆ ท่ามการแสงไฟ ฟลูออเรสเซนต์อันสวยงามกับสิ่งไม่มีชีวิตแต่กำลังจะดูดชีวิตเราที่ชื่อว่า จอคอมพิวเตอร์
คนญี่ปุ่นชอบคนขยัน คนญี่ปุ่นชอบคนตรงต่อเวลา แต่ถ้างานไม่เสร็จแล้วกลับตรงเวลาคุณจะเป็นปัญหาทันที
ตลอดมาผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่าเราเป็นคนชอบทิ้งงาน ผมไม่เคยคิดว่าสุภาษิตไทยที่พูดว่า “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” จะเอามาใช้กับเหล่าคนทำงานแดนซามูไรได้ ในจักรวาลของพวกเขาไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “การหนีปัญหา” อยู่ในพจนานุกรมของพวกเขา !!
นิทานเรื่องนี้… สอนให้รู้ว่า…. ทำงานกับญี่ปุ่นอย่ารีบสะบัดตูดกลับเร็ว อย่าคิดว่าทำแค่เสร็จเป็นอันใช้ได้ คอนเฟิร์มแล้วใช่ไหมว่าไม่มีข้อมูลจากฝ่ายไหนหน่วยไหนตกหล่นไป ไม่ได้มีส่วนที่มโนเองใช่ไหม และสำคัญที่สุดอย่าหนีปัญหา (ถึงแม้มันไม่ใช่ปัญหาที่เราก่อก็ตาม)
รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง คือความคิดที่คนไทย ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะไปลองใช้ในองค์กรเจแปน
แต่ลองดูก็ได้ครับ
“เบคาราสุ (べからず) ไม่ถึงห้าม แต่อย่าทำดีกว่า” ^^
เรื่องแนะนำ :
-The Darkest hours : เบคาราสุ EP.2 (べからずⅡ) นิทานทำงานกับญี่ปุ่นไม่ถึงห้าม แต่อย่าทำดีกว่า
– นิทาน ทำงานกับญี่ปุ่น : เบคาราสุ (べからず) ไม่ถึงห้าม แต่อย่าทำดีกว่า (EP.1)
– (13+) In my memory หญิงเหล็ก working woman เจแปน
– ชื่อ (ไฟล์และโฟลเดอร์) นั้นสำคัญไฉน?
– นิทาน “48”
ขอบคุณรูปประกอบ
http://www.j-campus.com/kotowaza/