พอพูดถึงละครญี่ปุ่น หลายคนก็จะนึกภาพออกมาว่าเป็นละครที่มีเนื้อหาค่อนข้างหนัก พูดถึงเรื่องหน้าที่การงาน และสู้ชีวิตเยอะเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องความรักหวานแหวว โรแมนติกนี่พบเจอได้น้อยมาก
พอพูดถึงละครญี่ปุ่น หลายคนก็จะนึกภาพออกมาว่าเป็นละครที่มีเนื้อหาค่อนข้างหนัก พูดถึงเรื่องหน้าที่การงาน และสู้ชีวิตเยอะเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องความรักหวานแหวว โรแมนติกนี่พบเจอได้น้อยมาก
…จนทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมละครญี่ปุ่นถึงมีแต่แนวเครียดๆ กันนะ ทั้งๆ ที่คนเราก็ต้องการดูละครไปเพื่อความเพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเครียด หลุดจากโลกจริงไปสักระยะ แล้วดูแบบนี้จะไม่เครียดหนักกว่าเดิมเหรอ? วันนี้ก็เลยจะมาคลายความสงสัยกันค่ะว่า “ทำไมละครญี่ปุ่นต้องเครียด”
สาเหตุที่ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีแต่แนวเครียดๆ ก็เพราะว่า…
1. ละครแนวรักคือละครสมัยเก่า!
จริงๆ แล้วใช่ว่าละครญี่ปุ่นจะไม่มีแนวความรักโรแมนซ์ หรือพวกละครน้ำเน่า (Soap Opera) เลยนะคะ ละครแนวรักของญี่ปุ่นเคยฮิตมากในสมัยก่อนค่ะ พอขึ้นยุค 2000 ละครแนวนี้ก็หาได้น้อยแล้ว

ตัวอย่างละครแนวรักโรแมนซ์สมัยก่อนของญี่ปุ่นที่ออกแนวน้ำเน่าหน่อยๆ ก็มีค่ะ อย่างเช่นเรื่อง Tokyo Cinderella Story เป็นเรื่องราวความรักของผู้ใหญ่ธรรมดาคนหนึ่งที่จากบ้านมาทำงานในเมืองหลวง และได้มาพบรักกับหนุ่มธุรกิจ ฐานะดี แต่ดูเหมือนว่าฝ่ายหญิงก็แอบรักฝ่ายชายอยู่ข้างเดียว ตัวละครพระเอกก็จะดูเป็นคนรวยที่เหนือกว่าผู้หญิง ปากไม่ตรงกับใจประมาณนั้นค่ะ เนื้อเรื่องก็จะเป็นแนวความรักระหว่างหนุ่มสาว เป็นรักสามเส้า มีมือที่สามมาเป็นอุปสรรค จุดขัดแย้งของเรื่องก็จะเน้นที่เรื่องราวความรักเป็นหลัก
ถ้าถามว่า ละครแนวรักโรแมนซ์ของญี่ปุ่นในสมัยนี้ยังมีอยู่ไหม ขอตอบว่ามีค่ะ แต่พบได้น้อยมาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ตั้งแต่ยุค 1980 เป็นต้นมา แนวการทำละครญี่ปุ่นค่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ละครแนวรักที่เคยบูมในยุคเก่าๆ ไม่ค่อยแพร่หลายเท่าที่ควรในยุคปัจจุบัน
2. การเข้าสู่ละครแนว Trendy Drama
จากที่บอกไว้เมื่อข้อที่แล้วค่ะว่า พอถึงยุค 1980 ละครญี่ปุ่นเริ่มมการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ก็คือ ละครญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่แนว “Trendy Drama” ค่ะ ละครญี่ปุ่นก็จะมีหลากหลายแนวเหมือนบ้านเรา เช่นแนวรัก แนวสืบสวนสอบสวน แนวครอบครัว แนวชีวิต แต่เนื้อหาของละครทั้งหมดจะอยู่ภายใต้แนวละครที่เรียกว่า “Trendy Drama” ละครแนวนี้จะต่างจากละครในยุคก่อนๆ ค่ะ จากที่เคยทำละครรักพาฝัน หลีกหนีความจริง ก็หันมาสู่การทำละครที่พาคนดูให้หันสู่ “โลกแห่งความจริง” แทน

ละครแนว Trendy Drama นี่ก็มีวิวัฒนาการเหมือนกันค่ะ เริ่มแรกเนื้อหาจะไม่ค่อยเครียดมาก อย่างในช่วงบุกเบิกคือช่วง 1980 จะเป็นละครที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็น “วัยรุ่น” เนื้อหาของละครก็จะผสมผสานระหว่างละครแนวครอบครัว กับแนววัยรุ่น สร้างละครในแบบที่เข้าถึงวัยรุ่น ทำให้มีเรื่องของความรักแทรกเข้าไปด้วยบ้างเล็กน้อย ละครในช่วงนี้ก็ยังไม่เครียดเท่าไรนัก
แต่พอถึงช่วง 1990 เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจ ละครแนว Trendy Drama ก็มีความเข้มข้นขึ้น มีเนื้อหาที่หนักขึ้น เน้นเรื่องหน้าที่การงาน ปัญหาชีวิตมากขึ้น และแทรกแนวทางการแก้ไข เป็นแนวทางให้คนดูได้ปฏิบัติ และเสริมกำลังใจให้คนดู แต่ก็ยังเป็นช่วงที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ละครญี่ปุ่นก็ยังไม่เข้าสู่ Trendy Drama อย่างเต็มตัว ดังจะเห็นได้จากเรื่อง “Tokyo Cinderella Story” ก็ เป็นละครที่สร้างในยุคนี้เช่นเดียวกัน แถมละครแนวรักก็ยังพบเจอได้อย่างแพร่หลาย แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีละครแนว Trendy Drama เข้ามามากขึ้น และถึงแม้จะเป็นละครรัก ก็ต้องมีจุดที่แทรกข้อคิด เรื่องราวอาชีพ หรือแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างลงไป รวมไปถึงความสมจริง

พอมาถึงยุค 2000 จนถึงปัจจุบันนี้ละครญี่ปุ่นก็เข้าสู่ละครแนว Trendy Drama อย่างสมบูรณ์ ทำให้ละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่หนัก และเครียด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่แทรกข้อคิด และให้กำลังใจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ละครญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความสนุกอย่างเดียว แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่ให้คำตอบชีวิตแก่คนดูอีกด้วย
ลักษณะสำคัญของละครแนว Trendy Drama ก็คือเป็นละครที่นำเสนอแง่มุมของโลกจริง ปัญหาชีวิตของคนทั่วไป เช่น ปัญหาการกลั่นแกล้งของเด็กนักเรียน ปัญหาในสังคมทำงาน ปัญหาการใช้ความรุนแรง เป็นต้น (ยกเว้น Live Action ละครที่ทำมาจากการ์ตูนนะคะ เนื้อเรื่องในบางส่วนอาจจะเกินจริง เพราะสร้างมาจากการ์ตูน) ส่วนตัวละครก็มักจะเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไป ไม่ใช่เจ้าชาย เทพบุตรรูปงาม รวยล้นฟ้า แต่เป็นคนธรรมดาเดินดิน เพื่อที่ว่าคนดูจะได้อินตาม ตัวละครมีความใกล้เคียงกับมนุษย์จริงๆ มากขึ้น นอกจากนี้ในระหว่างเรื่องก็จะมีการแทรกข้อคิด แนวทางการแก้ไขปัญหาชีวิตค่ะ เพื่อให้คนดูได้แนวทางปฏิบัติตาม และเสริมสร้างแรงบันดาลใจไปด้วย เช่น …

เรื่อง Priceless พระเอก นี่ถึงขั้นเรียกได้ว่ายาจกค่ะ ไม่มีเงินสักบาท บ้านก็ไม่มี ต้องไปซุกหัวนอนอยู่ในห้องแคบๆ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว พอคนดูเห็นก็จะได้ดูตัวอย่างความมุ่งมั่น การแก้ไขปัญหาด้านชีวิตความเป็นอยู่ มีแรงที่จะต่อสู้กับความลำบากต่อไป

หรือเรื่อง Kazoku Game ค่ะ ละครแนวครอบครัว ไม่มีพระเอก นางเอกอะไรทั้งสิ้น มีเพียงตัวละครเอกที่รับบทโดย Sho Sakurai ที่เป็นตัวละครสำคัญในการดำเนินเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้เลือกที่จะสร้างพล็อตเรื่องให้น่าติดตาม โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรัก แต่หันมาสร้างตัวละครเอกให้เป็นครูที่มีความลึกลับ มีพฤติกรรมแปลกประหลาด รวมถึงเสนอเหตุการณ์ความยุ่งเหยิง และปัญหาของครอบครัวหนึ่งให้เห็นกันอย่างตรงไปตรงมาไปเลย ทำให้คนดูลุ้นดูจนจบค่ะว่า สรุปแล้วครอบครัวนี้จะลงเอยอย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นจะถูกแก้ไขอย่างไร จากที่ได้ดูเรื่องนี้ทำให้เห็นมุมมองของปัญหาครอบครัวปัจจุบันค่ะ จนทำให้สะกิดใจเราจนต้องหันมาใส่ใจเรื่องของปัญหาครอบครัวมากขึ้น
จากละครแนวนี้ ทำให้พบว่า ละครญี่ปุ่นที่ดูเครียดๆ ในเริ่มแรก แท้จริงแล้วกลับเป็นสิ่งที่มอบความสุขให้กับคนดู ทำให้เราเห็นปัญหา และรู้จักเผชิญหน้ากับความจริง และแก้ไขมันให้หมดสิ้นไป คนญี่ปุ่นเองก็ชอบแนวละครแบบนี้ค่ะ เลยทำให้เป็นแนวที่นิยม ยิ่งสมจริงมากเท่าไร ยิ่งเสนอเรื่องใกล้ชีวิตจริงมากเท่าไร คนดูก็ยิ่งชอบค่ะ ส่วนแนวละครแบบ Soap Opera หรือ Melodrama ที่แก่นเรื่องมักเป็นความรัก บีบเค้นอารมณ์ความรู้สึกจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรนัก
3. ละครญี่ปุ่นมีเป้าหมายเพื่อสั่งสอนผู้ใหญ่
เคยได้ยินมาว่า โลกของเราก่อนที่จะมีศาสนาขึ้นมาอบรมสั่งสอนมนุษย์นั้น มนุษย์เราใช้ “ละคร” เป็นสิ่งที่ขัดเกลาจิตใจค่ะ ละครในสมัยก่อนจึงเป็นสิ่งที่ให้ทั้งความสนุก เพลิดเพลิน ข้อคิดเตือนใจ และยกระดับจิตใจของมนุษย์ และดูเหมือนว่าละครญี่ปุ่นสามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์

เรื่อง “Last Friends” เป็นอีกเรื่องที่ดึงประเด็นสังคมญี่ปุ่นออกมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเรื่องครอบครัว การใช้ความรุนแรง หรือเพศที่สาม ถูกนำมาเสนอในละครเรื่องนี้ พร้อมทั้งชี้แนะแนวทางแก้ไขให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้
หรือแม้แต่ละครแนวสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ผูกพล็อตเรื่องให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน หักมุมในตอนจบเพื่อให้คนดูสนุกเล่นๆ หรือมีฉากฆ่าคนตายให้ดูหวาดเสียว สยองขวัญกันไปอย่างเฉยๆ แต่นี่เป็นเพียงแค่ส่วนที่ทำให้ละครน่าสนใจ น่าติดตาม แต่จุดประสงค์หลักจริงๆ คือ ความต้องการที่จะลดปัญหาอาชญากรรมค่ะ ในตอนท้ายของเรื่อง ละครมักจะแทรกข้อคิดให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิต ผลสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การฆ่าคนเป็นสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้ และ…

“ทุกคนย่อมอยากฆ่าคนที่ตัวเองเกลียดกันทั้งนั้น ฉันก็มีคนที่เกลียดหมือนกัน…
แต่พวกเขาเหล่านั้นก็มีพ่อแม่ มีลูกให้เลี้ยงดู ฉะนั้นเลิกคิดแบบนั้นได้แล้ว”
Kinkyu Torishirabeshitsu
และนี่ก็คือเหตุผลหลักๆ ที่ว่าทำไมละครญี่ปุ่นถึงมีแนวเครียดๆ เยอะ ด้วยแนวของละครแบบ Trendy Drama ที่เป็นกระแสหลักของละครญี่ปุ่น รวมทั้งจุดประสงค์ของผู้จัดละครที่ต้องการให้ละครเป็นส่วนหนึ่งเป็นที่ สามารถช่วยเหลือสังคมได้ด้วย เลยทำให้ละครญี่ปุ่นค่อนข้างมีเนื้อหาที่เคร่งเครียด แต่ถึงอย่างนั้นความเคร่งเครียดที่ว่าก็ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นความสุขใน ภายหลัง โดยละครได้มอบคำตอบของชีวิต และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สามารถให้คนที่ท้อแท้ อ่อนล้า และสิ้นหวังเอาไปใช้ได้จริง อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยควบคุมสังคมให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร
บางทีชีวิตจริงก็สามารถดำเนินต่อไปด้วยเรื่องราวจำลองของละคร