จตุรเทพแห่งการสอนภาษาญี่ปุ่นของเมืองไทย
สัมพันธภาพไทย-ญี่ปุ่นนั้นมีมายาวนานกว่า 600 แล้ว แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ. ศ. 2430 ซึ่งในปัจจุบันคือปี 2567 ก็จะครบรอบ 137 ปีพอดี
แต่การเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างเป็นระบบนั้นเกิดขึ้นหลังจากการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นอีกหลายสิบปี อีกทั้งหน่วยงานที่ก่อตั้งในสมัยโบราณที่ยังดำเนินการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นมาจนปัจจุบันที่อยู่นอกเหนือจากสถาบันการศึกษาในระบบอย่างโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น วันนี้จึงจะกล่าวถึงสถาบัน 4 แห่งที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทยมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน
สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ ส. น. ญ.
มีการก่อตั้งสมาคมฯ ในปี พ. ศ. 2494 และก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นราชดำริในปี พ. ศ. 2507 ซึ่งจัดเป็นโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นแห่งแรกของประเทศไทย
ส. น. ญ. มีการย้ายสาขาและขยายสาขาหลายครั้ง ในปัจจุบันมีที่ทำการสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารพหลโยธินเพลส ชั้น 16 โดย ส. น. ญ. มีบทบาทการสอนภาษาญี่ปุ่นมาตลอดหลายทศวรรษ มีการให้ทุนการศึกษาไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นมากมาย ผลงานโดดเด่นที่สุดคือเป็นตัวแทนในการจัดสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น JLPT ในประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษอีกด้วย
ประวัติศาสตร์ของ ส. น. ญ. สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ojsat.or.th/main/72ndhistory/
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส. ส. ท.
ก่อตั้งในปี พ. ศ. 2516 โดยกลุ่มคนผู้เคยไปศึกษาดูงานโดยทุน ABK & AOTS ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับความช่วยเหลือจากสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย (JTECS) และได้รับความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนจากกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (METI)
ส. ส. ท. มีกิจการ 3 สายงาน โดยการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นและสำนักพิมพ์ตำราเรียนต่าง ๆ จะอยู่ภายใต้สายงานบริการ 1 ในขณะที่สายงานบริการ 2 จะดูแลเรื่องการให้คำปรึกษาและบริหารเครือข่ายรวมทั้งงานพัฒนาองค์กรต่าง ๆ ส่วนสายงานบริการ 3 จะเป็นฝ่ายสอบเทียบเครื่องมือวัดอุตสาหกรรมและเครื่องมือวัดทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันมี 2 สาขาคือ สาขาพัฒนาการ 18 และ สาขาสุขุมวิท 29 ซึ่งกำลังรีโนเวตจึงย้ายที่ทำการไปตึกไทมส์ สแควร์ อโศก เป็นการชั่วคราว
ผลงานโดดเด่นที่สุดของ ส. ส. ท. ที่รับรู้เป็นวงกว้างคือการขอลิขสิทธิ์ตำราเรียน MINNA NO NIHONGO มาแปลและตีพิมพ์ในประเทศไทย ทำให้ชาวไทยมีตำราเรียนที่มีสื่อประกอบการสอนที่มีคุณภาพ
ส. น. ญ. และ ส. ส. ท. จัดเป็นโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นที่เป็น 2 เสาหลักสำคัญของวงการภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทยตลอดยุคก่อนการมาถึงของอินเทอร์เน็ต อ่านรายละเอียดของ ส. ส. ท. เพิ่มเติมได้ที่ https://www.tpa.or.th/
Mainichi Academic Group
หลังจากการมาถึงของอินเทอร์เน็ต เริ่มมีโรงเรียนภาษาญี่ปุ่นยุคใหม่ที่เป็นธุรกิจเต็มรูปแบบคือ Mainichi Academic Group ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารสยามพิวรรธน์ทาวเวอร์
จุดเด่นคือ นอกจากการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการจัดอีเว้นต์ใหญ่ต่าง ๆ อย่างเช่น Study in Japan Fair หรืออีเว้นต์บันเทิงเต็มรูปแบบอย่างงาน Japan Expo ที่เรียกว่า “มีทุกอย่างของญี่ปุ่น” ทั้งบันเทิง ศิลปิน นักร้อง อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ฯลฯ
รายละเอียดเพิ่มเติมของ Mainichi Academic Group สามารถดูได้ที่ https://www.study-in-japan.com/
J-Education
นอกจาก Mainichi Academic Group แล้ว ในยุคเดียวกันก็มีโรงเรียนภาษาญี่ปุ่นอีกแห่งที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ J-Education ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ อาคารลิเบอร์ตี้สแควร์
จุดเด่นคือ นอกจากการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการจัดอีเว้นต์ใหญ่ต่าง ๆ อย่างเช่นงาน NIPPON HAKU ซึ่งเป็นอีเว้นต์ “มีทุกอย่างของญี่ปุ่น” เช่นกัน ทั้งบันเทิง ศิลปิน นักร้อง อาหาร สินค้าต่าง ๆ นานา ฯลฯ
รายละเอียดเพิ่มเติมของ J-Education สามารถดูได้ที่ https://jeducation.com/main/
ยังมีอีกหลายสถาบันที่เป็นกำลังสำคัญในการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทยที่มิได้เอ่ยในที่นี่ แต่ที่ผู้เขียนเลือก 4 แห่งนี้ขึ้นมาเนื่องจากความ mass คือการเข้าถึงของบุคคลทั่วไปจะอยู่ที่ 4 แห่งนี้เป็นกระแสหลัก โดยแนวโน้มคือ หากเป็นผู้เรียนยุคก่อนอินเทอร์เน็ตทุกคนจะรู้จัก ส. น. ญ. และ ส. ส. ท. เนื่องจากเป็นเพียง 2 แห่งที่ให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับญี่ปุ่นได้ ในขณะที่หากเป็นผู้เรียน Generation ถัดมาหน่อยที่เกิดมาพร้อมการมีอินเทอร์เน็ตก็จะคุ้นเคยกับ Mainichi และ J-Education มากกว่า เพราะทำเลที่เข้าถึงง่ายและวิธีสื่อสารที่ได้ใจคนรุ่นใหม่
ดูเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนทั้ง 4 แห่งเป็นคู่แข่งกัน แต่ที่จริงเป็น “พันธมิตร” กันมากกว่า เนื่องจากต่างก็เป็นสถาบันที่สร้างคุณูปการให้แก่วงการการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทย และมีส่วนในการสร้างความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยน และความร่วมมือรูปแบบอื่นที่ช่วยพัฒนาสังคมไทยและพัฒนาสัมพันธภาพอันดีระหว่างไทยและญี่ปุ่น
ติดตามผลงานเขียนทั้งหมดของวีรยุทธได้ที่ >> https://www.facebook.com/Weerayuths-Ideas
เรื่องแนะนำ :
– พนักงานในอุดมคติของบริษัท – ญี่ปุ่นชอบพนักงานแนว Generalist แต่ไทยชอบพนักงานแนว Specialist
– การล่ามและการแปลภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย
– การฝึกคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) และสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพด้วย “ฟ้า-ฝน-ร่ม (โซระ-อะเมะ-คะซะ)”
– Soft Power และกรุงโรม ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว: มาพิจารณาการพัฒนา Soft Power ของญี่ปุ่นกัน
– รีวิว “มหาวิทยาลัยนานาชาติ” ของญี่ปุ่นเทียบกับของไทย
ขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.school.ojsat.or.th/
https://th.wikipedia.org/wiki/สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี_%28ไทย-ญี่ปุ่น%29
https://www.nilecon.com/mainichi-app/
https://jeducation.com/
#จตุรเทพแห่งการสอนภาษาญี่ปุ่นของเมืองไทย