พลเอกบัญชร ชวาลศิลป์ เป็นทหารอาชีพเต็มตัวที่เริ่มงานเขียนสู่สาธารณะตั้งแต่ปี 2524 ด้วยเรื่องราวของชีวิตนักเรียนนายร้อยในชุด “สอยดาวมาร้อยบ่า” ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ “นายร้อยสอยดาว” ปัจจุบันมีงานเขียนประจำอยู่ในสยามรัฐทั้งรายวันและรายสัปดาห์ และยังเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกด้วย
เกษียณอายุราชการได้หลายปีแล้ว เลือกที่จะใช้ชีวิตสบายๆ จึงมีเวลาเต็มที่สำหรับการใช้ชีวิตกลางแจ้งตามสไตล์ที่ชื่นชอบ รวมทั้งยังคงมีเวลาให้กับการอ่าน ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ระยะหลังๆ ให้ความสนใจและค้นคว้าเรื่องราวในอดีตตามประสาคนสูงวัย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สงครามจึงกลายเป็นวัตถุดิบที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดกับทุกท่าน |
พบกันได้ทุกวันศุกร์เวลา 12.00 น.ถึง 13.30 น.ทาง FM 101 ในรายการ “เสธ.บัญชร ชวนคุย” ที่จัดคู่กับนฤนารท พระปัญญา
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพุธ ใน www.marumura.com
ฟันธง : ญี่ปุ่นขึ้นที่ท่าแพแน่นอน !!!
ผลการตรวจภูมิประเทศสรุปได้ว่า จังหวัดชายทะเลภาคใต้ทุกจังหวัดเป็นจุดซึ่งข้าศึกสามารถยกพลขึ้นบกได้ทุกแห่ง ร้อยเอก ประชุม ตาตะยานนท์ ประสิทธิ์สรจักร ผู้บังคับกองร้อยอาวุธหนัก ผู้แทนกองพันทหารราบที่ ๓๙ ซึ่งร่วมคณะไปตรวจภูมิประเทศด้วย ได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า ข้าศึกอาจยกพลขึ้นบกที่ท่าแพ แล้วเคลื่อนที่เข้ายึดหน่วยทหารต่อไป ซึ่งเหตุการณ์ในระยะต่อมาเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน เพราะทหารญี่ปุ่นได้ปฏิบัติการณ์ตามที่คาดไว้จริงๆ หลังการตรวจภูมิประเทศ หน่วยทหารทุกหน่วยได้เตรียมการขุดคูยิงและเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ได้มีการขุดคูยิงไว้ที่บริเวณด้านหน้าโรงเก็บปืนใหญ่ซึ่งอยู่ด้านหลังใกล้คลองท่าแพ ไปจนจรดพื้นที่ว่างใกล้ถนนราชดำเนิน การเตรียมการเช่นนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทหารไทยในการสู้รบจนสามารถสร้างความสูญเสียให้กับทหารญี่ปุ่นในวันยกพลขึ้นบกเป็นอย่างมาก…
๘ ธันวาคม : วันวีระไทย
๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลาประมาณ ๐๖.๐๐ น. เศษ พลตรี หลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ก็ได้รับแจ้งข่าวจากนายไปรษณีย์นครศรีธรรมราชว่า ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสงขลาแล้ว จึงได้สั่งการให้ พันตรี หลวงปราบริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ทราบและเตรียมกำลังเคลื่อนย้ายไปสนับสนุนกองพันทหารราบที่ ๕ จังหวัดสงขลาโดยด่วน พันตรีหลวงปราบริปูราบ จึงสั่งให้กองรักษาการณ์เป่าแตรสัญญาณแจ้งเหตุสำคัญทันที
เมื่อหน่วยทหารได้ยินเสียงแตรสัญญาณเหตุสำคัญจึงรีบแต่งชุดสนามโดยด่วน ทั้งนี้ก่อนเกิดเหตุการณ์วันที่ ๘ ธันวาคม ท่านก็ได้ฝึกให้มีการซ้อมเป่าแตรสัญญาณเหตุสำคัญแล้วหลายครั้ง ร้อยโทบุญช่วย (ภายหลังเปลี่ยนเป็น “บัญชา” เคยปกครองผมสมัยเป็นนักเรียนนายร้อย) แก้วเกตุทอง ผู้บังคับหมวดที่ ๑ กองร้อยอาวุธหนักได้ไปรายงานตัวต่อผู้บังคับกองพันเป็นคนแรก จึงได้รับคำสั่งให้เตรียมนำกำลังทหารพร้อมอาวุธปืนกลหนักเคลื่อนที่ไปสนับสนุนกองพันทหารราบที่ ๕
เมื่อนายสิบทุกนายมาพร้อมกันที่กองร้อยอาวุธหนักแล้ว ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓๙ ได้แจ้งคำสั่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ที่ให้นำกับทหารไปสกัดกั้นกำลังทหารญี่ปุ่นที่บริเวณสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองซึ่งเป็นปมคมนาคมสำคัญ โดยประมาณสถานการณ์ว่าข้าศึกคงจะมุ่งเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชเป็นลำดับต่อไป
แต่ครั้นเมื่อร้อยเอก สวัสดิ์วงษ์ บูรณวิสมิต ผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ และร้อยเอกประชุม ตาตะยานนท์ ประสิทธิ์สรจักร ผู้บังคับกองร้อยอาวุธหนักมารายงานตัวกับผู้บังคับกองพัน ก็ปรากฏว่าขณะนั้นญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่ท่าแพแล้ว และกำลังสู้รบกับกำลังของมณฑลทหารบกที่ ๖ และผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๖ ได้สั่งการให้กองพันทหารราบที่ ๓๙ รีบนำกำลังไปท่าแพโดยด่วน
สนามรบที่ท่าแพ
พื้นที่บริเวณสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นอยู่ในเขตพื้นที่มณฑลทหารบกที่ ๖ ทางตอนเหนือ แนวตะวันตก-ตะวันออกของกองรักษาการณ์มณฑลทหารบกที่ ๖ ขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ – ๖๐๐ เมตร และอยู่ในแนวเขตทหารด้านเหนือกับบริเวณตลาดท่าแพ ซึ่งมีถนนราชดำเนินผ่านพื้นที่ในแนวเขตเหนือ-ใต้เกือบจะเป็นแนวกึ่งกลาง พื้นที่ด้านซ้ายซึ่งแคบกว่าเป็นที่ตั้งโรงทหารของหน่วยต่างๆ กองรักษาการณ์และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕ ส่วนด้านขวาเป็นพื้นที่ว่าง มีป่าละเมาะเป็นหย่อมๆ และต่อไปทางทิศตะวันออกก็เป็นบ้านพักนายทหาร เรือนแถวนายทหารและนายสิบตามลำดับ ระหว่างแนวเขตทหารด้านเหนือทางซ้ายเป็นแนวคูขนาดเล็ก ซึ่งอยู่หลังโรงเก็บปืนใหญ่ของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕
ตลาดท่าแพอยู่หน้าแนวเขตทหารนี้ขึ้นไปประมาณ ๕๐๐ เมตร สองข้างถนนมีป่าละเมาะและสวนมะพร้าวประปราย
ติดตามคอลัมน์ รอยล้อประวัติศาสตร์ ได้ทุกเช้าวันพฤหัสบดี ใน www.marumura.com