“ท่าไม้ตาย” คือเทคนิคกลวิธีหรืออาวุธ ที่ใช้ต่อกรกับศัตรูคู่ต่อสู้แล้วได้ผลมากที่สุด หากลองแปลตามตัวคันจิตรงๆ สามารถตีความได้ว่า กลวิธีที่จะฆ่าได้แน่นอน แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นว่าจะต้องปลิดชีพอีกฝ่ายได้เสมอไป
เล่าโดย : วสุ มารุมุระ
รูปประกอบโดย : Ratthaphong
บทความนี้จะมาพูดถึงคำว่า “ท่าไม้ตาย” สักเล็กน้อย
ท่าไม้ตายในภาษาญี่ปุ่น เขียนด้วยคำว่า
必殺技 (Hisatsuwaza) ฮิดสะซึวาซะ
ซึ่งคันจิแต่หละตัวมาจากคำว่า
必ず [kanarazu] = แน่นอน 100% หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Always ที่แปลว่าตลอดไป
殺す [korosu] = การปลิดชีวิต หรือ เรียกภาษาไทยกันง่ายๆว่า การฆ่า
技 [waza] = เทคนิค หรือ กลวิธี
รวมๆ กันก็คือ “เทคนิคในการปลิดชีวิตที่ได้ผลแน่นอน 100%” ภาษาอังกฤษที่ค้นๆ เจอมาเขาจะใช้คำว่า Special Move นะครับ

ส่วนคำว่า “ท่าไม้ตาย” ในภาษาไทยเราเป็นมีที่มาจากแม่ไม้มวยไทยครับ
ไม้ตาย คือ “ไม้มวยที่เมื่อฝ่ายที่กระทำใช้ไม้นี้ออกไป ผู้ถูกกระทำจะไม่สามารถป้องกันแก้ไขได้” (ขอบคุณ ลูกพี่ใหญ่ของมารุมุระ ผู้ให้ความรู้ครับ)
คราวนี้หากเราลองมาอ้างอิงนิยามว่า “ท่าไม้ตาย” คืออะไร มีบทบัญญัติไว้ใน Wikipedia ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น (ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2558) ได้ใจความเป็นภาษาไทยดังนี้ครับ
“เทคนิคกลวิธีหรือ อาวุธ ที่ใช้ต่อกรกับศัตรูคู่ต่อสู้แล้วได้ผลมากที่สุด หากลองแปลตามตัวคันจิตรงๆ สามารถตีความได้ว่า กลวิธีที่จะฆ่าได้แน่นอน แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็นว่าจะต้องปลิดชีพอีกฝ่ายได้เสมอไป”
ในนิยาม ข้างบนตรงส่วนที่ขีดเส้นใต้เอาไว้นั้นบน Wikipedia มีใครสักคนทำเครื่องหมายระบุไว้ว่า “ให้หาหลักฐานอ้างอิง (จะเป็นหนังสือ บทความ) มาด้วย” ซึ่งผมเห็นแล้วก็ยิ้มเล็กน้อยว่าคนญี่ปุ่นนี้ช่างจริงจังกันเหลือเกินครับ
หากพูดถึงวัฒนธรรมของท่าไม้ตายแล้ว ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีกำเนิดในญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกหรือเปล่า (ตั้งแต่ส่วนนี้ไปจะเป็นการมโนของผมซะมาก) แต่เชื่อว่าในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแล้ว ย่อมมีการเรียนรู้ และค้นหาวิธี และกลเม็ดเคล็ดลับในการทำอะไรสักอย่าง (ไม่จำกัดว่าเป็นการฆ่า) หากคนเราสามารถหาวิธีหรือ How-to ที่มีประโยชน์แล้ว ก็คงจดจำไว้ใช้ในครั้งต่อไป
แต่ด้วยวัฒนธรรมมังงะ และอนิเมะ น่าจะทำให้คำศัพท์ “ท่าไม้ตาย” นี่แพร่หลายไปทั่ว เราอาจจะพบเจอท่าไม้ตายได้ตามการ์ตูนต่อสู้ แบบใช้หมัดชกและขาเตะ หรือ อาจจะเป็นแสงที่ปล่อยออกมาจากแขนของอุลตร้าแมน รวมไปถึงลูกเตะไดรฟ์ชู้ตของกัปตันซึบาสะ ท่าไม้ตายเหล่านี้เป็นการสร้างตัวตนหรือ Identity ของการ์ตูนเรื่องนั้นๆ ให้เป็นที่จดจำ ด้วยสีหน้าพระเอกในการ์ตูนที่ดูจริงจัง โพสท่า และเอ่ยปากๆ พูดว่า “พะ ลัง คลื่น เต่า”
นอกเหนือจากสื่อกลางอย่างการ์ตูนแล้ว เราอาจจะยังพบท่าไม้ตายได้ตามวิดีโอเกม ซึ่งโดยปรกติเวลาเราเล่นเกมหรือควบคุมตัวละคร เราอาจจะกดปุ่มเครื่องหมายเครื่องหมาย + (บวก) และปุ่ม B A X Y L R บนจอยแพดทีละครั้ง แต่สำหรับท่าไม้ตายแล้วจะต้องมีรูปแบบ หรือ How-to ในการกดเช่น ต้องกดปุ่ม + ในรูปแบบ “ลง” “ซ้ายลง” “ซ้าย” ตามลำดับพร้อมกับปุ่ม Y (ใช่ไหม?) ซึ่งจะต้องกดปุ่มเหล่านี้ให้เสร็จภายในเวลาไม่กี่วินาที ถึงจะสามารถปล่อยท่าไม้ตายในเกมได้ ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกว่าการที่เราจะปล่อยท่าไม้ตายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากเกินฝึกฝนกันได้
ท่าไม้ตายนี้นอกเหนือจากในเกมและการ์ตูน แล้ว เราสามารถพบเจอท่าไม้ตายได้ในโลกของมวยปล้ำอีกเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ผมไม่มีความเชี่ยวชาญเท่าไร แต่ขอให้คุณรู้ว่ามันมีแล้วกัน
หรือหากมองในสิ่งที่ใกล้เคียงตัวเราอย่างกีฬาฟุตบอล มีบางสิ่งบางอย่างที่ผมรู้สึกว่าเป็นท่าไม้ตาย (ที่ไม่ได้ใช้ฆ่าใคร) ซึ่งก็คือ Zidane Turn (ชื่อจริงๆ ที่เรียกว่า Marseille turn) เป็นการเลี้ยงบอลแล้วหมุนตัว 360 องศาซึ่งจะสามารถสตั๊นท์เหล่ากองหลังไปสองสามวินาทีว่าคนเลี้ยงบอลจะไปทาง ไหนต่อ
โดยส่วนตัวแล้วท่าไม้ตายที่อยู่ในความทรงจำของผมก็น่าจะมี พลังคลื่นเต่า (ดราก้อนบอล) หมัดดาวตกเปกาซัส (เซนต์เซย่า) ฮะโดเคน โชริวเคน (สตรีทไฟเตอร์) และ ไรเดอร์คิก (ไอ้มดแดง) ซึ่งจากชื่อท่าไม้ตายแล้วเราจะสามารถกะได้คร่าวๆ ว่าเขาเหล่านั้นมีอายุอานามประมาณเท่าไร
แล้วท่าไม้ตายในความทรงจำของคุณผู้อ่านคืออะไรล่ะครับ?
ในชีวิตประจำวันหากเราได้มีโอกาสใช้ท่าไม้ตายก็อาจจะทำให้เราได้รู้สึกย้อนวัยกลับเป็นเด็กอีกสักครั้ง
ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ ผม Flash back กลับไปสมัย ม.6 ตอนอายุ 16 ~ 17 ปี มีเพื่อนคนนึงที่ตะโกน (เสียงดังเล็กน้อย) ว่า “สตาร์แพลตตินั่ม โอร่า โอร่า โอร่า โอร่า โอร่า” (ท่าไม้ตายในการ์ตูนเรื่องโจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ) พร้อมกับต่อยเพื่อนอีกคนเบาๆ รัวๆ
เพื่อนกันหยอกล้อกันเล่นนะครับ
แต่พวกเราก็มาถึงจุดนี้กันแล้วในวันนี้ พวกเราโตกันมาระดับหนึ่งแล้ว
บางทีเราก็อาจอยากกลับไปเป็นเด็กกันอีกครั้งครับ เหล่าท่าไม้ตายในการ์ตูนญี่ปุ่นเหมือนทำให้เราได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง
ทักทายพูดคุยกับ Wasu ได้ที่ >>> Facebook Wasu\’s thought on Japan