ในฐานะที่ผมเองทำงานอยู่ในวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นโดยตรง จึงได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกัปเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น “มวยปล้ำเป็นการแสดงรึเปล่า”… “นักมวยปล้ำเจ็บจริงรึเปล่า”… “เลือดออกจริงรึเปล่า”… ฯลฯ
เนื่องด้วยจรรยาบรรณของการทำงาน ผมจึงไม่สามารถให้รายละเอียดในคำถามเหล่านี้ได้ แต่มีอยู่คำถามหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจและอยากนำมาขยายความให้ฟังกันก็คือ
“ทำไมคนญี่ปุ่นดูมวยปล้ำได้เงียบมาก?”
ซึ่งคำถามนี้เอาจริงๆ ตอนผมเริ่มรู้จักมวยปล้ำญี่ปุ่นใหม่ๆ ก็สงสัยเหมือนกันนะครับ อีกอย่างคนที่มาดูมวยปล้ำจะแตกต่างกับทางฝั่งอเมริกาอย่างชัดเจนมากๆ ที่นู่นเหมือนจะเป็นการปลดปล่อยครับ คนดูก็ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ หรือชุดสบายๆ แต่ในญี่ปุ่น คนดูมวยปล้ำจะมีทั้งแบบสบายๆ หรือบางคนเป็นลุงแก่ๆ คุณยายแก่ๆ ใส่ชุดอย่างเป็นทางการ (ใส่สูท ผูกไทต์) และก็จะนั่งเงียบ คอยปรบมือเป็นจังหวะเท่านั้น นี่คือสไตล์ที่ผมคิดว่ามีอยู่ในญี่ปุ่นที่เดียว และเพื่อไม่ให้เสียเวลา เราไปทำความรู้จักกับการดูมวยปล้ำสไตล์ญี่ปุ่นกันเลยครับ

1. การรักษาเวลา
ตรงนี้ถือเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่เป็นพื้นฐานของคนญี่ปุ่นเลยครับ เรื่องนี้ใช้กับทุกงานอีเวนท์ ไม่ใช่แค่เฉพาะมวยปล้ำอย่างเดียว (ยิ่งกับศิลปินที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงหรือจัดในฮอลล์ที่ไม่ค่อยเป็นส่วนตัว)
กล่าวคือคนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับ “เวลาเปิดประตู” ที่ระบุไว้ในบัตรเข้าชมเป็นอย่างมาก พวกเขาจะไปให้ใกล้เคียงกับเวลาที่ระบุไว้มากที่สุด (บวกลบประมาณ 15-20นาที เผื่อเข้าห้องน้ำหรือทำธุระส่วนตัวอื่นๆ) สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะว่าการเช่าสถานที่ในญี่ปุ่นหลายแห่งมีราคาแพง และทางทีมงานก็มักจะเช่าสถานที่ในระยะเวลาสั้นๆ (ไม่เหมือนในไทยที่เข้าไปเตรียมงานกันตั้งแต่คืนก่อนหน้า) ในญี่ปุ่นสมมติว่าอีเวนท์จะเริ่มแสดงตอนบ่ายโมง เวลาที่เราสามารถเข้าไปได้เร็วที่สุดคือประมาณ 8 โมง (โดยพื้นฐานนะครับ) ดังนั้นก็จะเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นที่จะได้จัดเตรียมสถาน ที่ ประกอบเวที จัดโต๊ะ/เก้าอี้ หรือกระทั่งการซ้อม ดังนั้นบรรยากาศที่นั่นจะวุ่นวายอย่างสูง และมันจะเป็นภาพที่ไม่งามแน่ๆ หากคนอื่นได้เห็น
กล่าวคือนักมวยปล้ำหรือศิลปินเองก็ไม่อยากให้คนมา เห็นตัวเองในสภาพที่ไม่พร้อมหรือไม่สมบูรณ์แบบ ในขณะที่คนดูของญี่ปุ่นเองก็มีความสุขที่จะเคารพสิทธิ์ตรงส่วนนั้น พวกเขาจะไม่ฉวยโอกาสมาก่อนเวลาเพื่อได้เจอดาราคนโปรดง่ายๆ (ซึ่งหากมาจริงๆ ก็ได้เจอแน่ๆ แต่อาจจะเจอศิลปินคนโปรดกำลังแบกลังแทน เป็นต้น) เรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่วิน-วิน คือต่างฝ่ายต่างต้องการความสมบูรณ์แบบและต้องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
การรักษาเวลาของคนญี่ปุ่นยังรวมไปถึงในช่วงที่งานเริ่มหรือหลังจากงานเริ่มด้วย ผมยกตัวอย่างในสมาคมมวยปล้ำของผมเอง นักมวยปล้ำจะทำหน้าที่เฉพาะแค่ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น คือระหว่างงาน และในช่วงเวลาขายของ (ประมาณ 30 นาทีหลังอีเวนท์จบ) กล่าวคือเงินจากการขายของเหล่านั้นจะเป็นรายได้หลักของบริษัท การถ่ายภาพคู่หรือการแจกลายเซ็น ต้องอยู่ในกรอบที่ “สร้างรายได้” เท่านั้น นักมวยปล้ำจะไม่สามารถแจกลายเซ็นหรือถ่ายภาพคู่กับแฟนๆ นอกเวลาได้หากไม่ได้รับการอนุญาต (นอกจากการเจอในบริบทอื่นๆ เช่นในวันธรรมดาที่ไม่ได้สืบเนื่องมาจากการปล้ำ) และคนญี่ปุ่นเองส่วนมากก็จะไม่ขอด้วยครับ เรียกว่าเป็นวัฒนธรรมที่ปลูกฝังกันมานานแล้ว (แต่คนที่ขอก็มีครับ ซึ่งก็สร้างความลำบากใจให้กับศิลปินทุกครั้งไป)
2. การปรบมือและการส่งเสียงเชียร์
การปรบมือในมวยปล้ำญี่ปุ่นคือการชื่นชมว่านักมวยปล้ำทำได้ดีบนเวทีครับ อย่างไรก็ตามระดับของการปรบมืออาจไม่ได้ดังขึ้นหรือถี่ขึ้นตามอัตราความ มันส์ของแมตช์แต่อย่างใด คนญี่ปุ่นจะสงวนท่าทีตรงนี้พอสมควร มวยปล้ำญี่ปุ่นจะมีจุดให้ปรบมืออยู่หลักๆ คือจังหวะ “โพสท่า” หลังจากนักมวยปล้ำนัวเนียและท่าล็อคกันครับ จังหวะนี้ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่นการสลับกันใส่ท่าเพื่อให้คนดูรู้สึกว่า “ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน” ท่าเหล่านี้จะจบลงตรงที่ตั้งสองคนต่างป้องกันท่าของอีกฝ่ายได้ และมาโพสท์ท่าเท่ๆ ใส่กัน คนดูก็จะปรบมือให้กำลังใจกันไป
อย่างไรก็ตามปัจจุบันแฟนๆมวยปล้ำญี่ปุ่นหลายๆ คนก็เริ่มคล้ายแบบอเมริกากันเข้าไปแล้วเหมือนกันครับ มีการตะโกนโหวกเหวกในสนามมากขึ้น (ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกวัยรุ่น) แต่แฟนมวยปล้ำดั้งเดิมก็จะส่งเสียงเชียร์ตาม “จุด” ที่ทำต่อๆ กันมาแล้วมากกว่า อย่างเช่นการตะโกนชื่อนักมวยปล้ำไปพร้อมๆ กับเพลงเปิดตัว ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติ์นักมวยปล้ำอย่างสูง, การตะโกนชื่อกรรมการหลังจากโฆษกประกาศ, การร้องเพลงของนักมวยปล้ำขณะเปิดตัว, การตะโกนชื่อท่าเอกลักษณ์ของนักมวยปล้ำ… ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือการเชียร์สไตล์ญี่ปุ่นครับ เนิบๆ ช้าๆ และปล่อยออกมาเมื่อถึง “จุด” ที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ยังมีคนญี่ปุ่นหลายรายที่มองว่ามวยปล้ำ คือศาสตร์การต่อสู้ที่จริงจังและพยายามศึกษาไม่ต่างจากการไปโรงเรียนครับ มีแฟนๆ หลายคนที่ผมรู้จักมาดูมวยปล้ำและพยายามศึกษารูปแบบการปล้ำ วิธีการใส่ท่าต่างๆ ฯลฯ พวกนี้จะมีฟีลเหมือนนักเรียนมาเลกเชอร์เลย (ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้จะไปเป็นนักมวยปล้ำอะไรนะ !? แปลกดีครับแฟนๆ กลุ่มนี้)

3. Steamers หรือการโยนริบบิ้นสี
ริบบิ้นสีถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวงการมวยปล้ำญี่ปุ่นครับ สังเกตได้จากเวลาที่เราเห็นนักมวยปล้ำญี่ปุ่นไปปล้ำในต่างประเทศ ก็จะมีแฟนๆ โยนริบบิ้นสีมาเพื่อเป็นเกียรติ์ให้กับนักมวยปล้ำ หากคนไหนดังๆ ก็จะมีคนโยนริบบิ้นมาให้จนล้นเวทีอย่างที่เห็นในภาพด้านบนนี้ล่ะครับ สำหรับใครที่อยากทราบรายละเอียดของการโยนริบบิ้น ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ลองดูจากคลิปวีดีโอด้านล่างนี้นะครับ (ขอบคุณวีดีโอจากคุณ Shupercousin ครับ)
อย่างไรก็ตามการโยนริบบิ้นเหล่านี้อาจไม่สามารถทำได้ในบางสถานที่นะครับ ทั้งด้วยข้อจำกัดของสนาม รวมถึงริบบิ้นเหล่านี้ คือ “ภาระค่าใช้จ่ายอย่างสูง” กล่าวคือในวงการกีฬาเหล่านี้จะมีกฎเกี่ยวกับการจัดการขยะที่เรียกเป็นภาษา อังกฤษว่า “PAYT” (PAY AS YOU THROW) คือสนามจะให้จ่ายเงินเพิ่มครับ ต้องรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายเรื่องขยะด้วย และในแต่ละอีเวนท์เนี่ย ที่ต้องเป็นขยะแน่ๆ ก็คืออาหารการกินของแฟนๆ เช่นซองขนม กระป๋องน้ำ และยิ่งรวมกับวัสดุในการตกแต่งสนาม (เช่น พวกกระดาษกาวและป้ายโปสเตอร์ต่างๆ) ก็ยิ่งเป็นงบประมาณที่เยอะขึ้นครับ เหตุนี้ในสมาคมเล็กๆ จึงไม่นิยมใช้ริบบิ้นสีกัน เพราะจะไม่คุ้มอย่างแรง อย่างไรก็ตามโดยปกติแล้วสมาคมมวยปล้ำแต่ละค่ายจะกำหนดกฏอย่างชัดเจนและจะ ระบุไว้ด้านหลังแมตช์ครับ
นี่ก็เป็นข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับการเชียร์มวยปล้ำของคนญี่ปุ่นครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้าหรือพูดคุยกันได้ทางทวิตเตอร์ @pumiiiiiiiiii ครับ