เคล็ด (ไม่) ลับทำงานกับญี่ปุ่น…ในสังคมการทำงานของญี่ปุ่น นอกจากจะต้องเป็นคนเอาการเอางาน ขยันขันแข็ง ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบแล้ว “มารยาททางธุรกิจ” ก็เป็นเรื่องสำคัญ เริ่มตั้งแต่ “มารยาทในการทักทาย” เลย
ในสังคมการทำงานของญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะต้องเป็นคนเอาการเอางาน ขยันขันแข็ง ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบแล้ว “มารยาททางธุรกิจ” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการประเมินผลการทำงานของพนักงานในบริษัทญี่ปุ่น ถึงแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นก็ยังคงรักษามารยาททางธุรกิจกันอย่างเข้มงวด เพื่อรักษาความมีระเบียบวินัยในการทำงาน และสาเหตุใหญ่อีกข้อก็คือ ทางด้านธุรกิจนั้น ญี่ปุ่นจะถือว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานที่จะต้องมีการติดต่อกับลูกค้าเป็นประจำ จะต้องรักษามารยาททางธุรกิจอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เสียภาพพจน์ของบริษัท
ปัจจุบันคิดว่ามีคนไทยอยู่จำนวนไม่น้อยที่ทำงานเป็นพนักงานประจำในบริษัทญี่ปุ่น หรืออาจจะได้มีโอกาสติดต่อธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นบ้าง ดังนั้นการเรียนรู้และทำความเข้าใจในมารยาททางธุรกิจของญี่ปุ่น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่รู้ไว้ก็ไม่เสียหาย และถ้าสามารถนำมาใช้ปฏิบัติจริงได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเรามิใช่น้อย
ตอนที่ 1 คำทักทาย
เรามาเริ่มกันด้วย “มารยาทในการทักทาย” กันก่อนก็แล้วกัน สำหรับสังคมการทำงานญี่ปุ่นนั้น “คำทักทาย” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แม้ว่าจะอยู่ในบริษัทเดียวกัน เจอกันอยู่ทุกวัน สนิทสนมกันแค่ไหน เมื่อเจอหน้ากันก็จะต้องทักทายกัน เพราะคนญี่ปุ่นถือว่า “การทักทาย” นั้น เป็นการสื่อสารก้าวแรกที่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดความประทับใจในตัวเรา
และการกล่าวทักทายนั้น ไม่ใช่แค่พูดทักกันให้มันจบๆ ไป การทักทายที่ถูกต้องนั้นจะต้อง “มองตาฝ่ายตรงข้าม แล้วกล่าวคำทักทายด้วยน้ำเสียงที่สดใส มีชีวิตชีวา” เพราะการกล่าวทักทายนั้นเป็นการสื่อให้ฝ่ายตรงข้ามรับรู้ว่า “เรารับรู้ในความมีตัวตนของเขา และขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย” ถือว่าเป็นก้าวแรกของการสื่อสารที่ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นมิตรและใกล้ชิดกัน
เรามาดูตัวอย่างคำทักทายที่จะต้องใช้กันเป็นประจำทุกวันในบริษัทกันก่อนก็แล้วกัน
出社時や午前中は…「おはようございます」
เมื่อพบหน้ากันตอนเข้าบริษัทในช่วงเช้า ทั้งสองฝ่ายจะพูดคำว่า “Ohayou gozaimasu” ให้กันและกัน ถ้าเป็นบ้านเราก็สามารถใช้คำว่า “สวัสดีค่ะ/ครับ” แทนก็ได้ ไม่ว่ากัน ถึงแม้ว่าวันนั้นเราอาจจะเข้างานสายกว่าปรกติสักหน่อย ก็จำเป็นต้องพูดนะ อาจจะเสียงเบาหน่อยก็ได้ไม่เป็นไร ไม่งั้นจะโดนทั้งสองกระทง คือมาทำงานสายแล้วยังไม่ทักทายเจ้านายและเพื่อนร่วมงานอีก

退社するときは…「お先に失礼いたします」
เมื่อเลิกงานแล้วเราเป็นฝ่ายขอตัวกลับก่อน เราจะต้องพูดว่า “Osakini Shitsurei Itashimasu” ความหมายก็คือ “ขอโทษที่จะต้องขอตัวกลับก่อน” ถึงแม้ว่าบางวันเราจะกลับเร็วสักหน่อย ก็จะต้องพูดเพื่อให้เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานรับทราบว่าเราจะกลับบ้านแล้ว บางคนอาจจะรู้สึกละอายใจเล็กน้อยที่จะกลับก่อน ก็เลยของุดๆ ก้มหน้าก้มตากลับไปเลยโดยไม่กล่าวทักทายแล้วล่ะก็ ถือว่าเป็นการเสียมารยาทนะ จริงๆ แล้วก็เหมือนกับประเพณีไทยที่ว่า “ไปลา มาไหว้” นั่นแหล่ะ

退社する人へ…「お疲れさまでした」
เมื่อเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายของเราจะกลับบ้านก่อน เราต้องพูดว่า “Otsukare Sama Deshita” คำว่า 疲れ แปลตรงๆ จะแปลว่า “เหนื่อย” เป็นเหมือนกับการกล่าวขอบคุณที่ได้ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยให้กับบริษัทมา ตลอดทั้งวัน เป็นคำที่ผู้น้อยกล่าวให้กับเพื่อร่วมงานหรือผู้ที่สูงกว่า บางคนอาจะเคยได้ยินเจ้านายเราพูดคำว่า ご苦労様でした “Gokurou Sama Deshita” ให้กับลูกน้องก็ไม่ต้องตกใจนะ มีความหมายเหมือนกับคำว่า “Otsukare Sama Deshita” นั่นแหล่ะ แต่จะเป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้พูดกับผู้น้อย อย่าเผลอไปใช้ “Gokurou Sama Deshita” กับเจ้านายล่ะ จะเป็นการเสียมารยาท
เมื่อจำคำทักทายที่ใช้กันอยู่เป็นประจำได้แล้ว หัวใจหลักของการทักทายที่ลืมไม่ได้ก็คือ
1. การทักทายด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม น้ำเสียงสดใส มีชีวิตชีวา
2. มองหน้าฝ่ายตรงข้ามทุกครั้งที่กล่าวทักทาย
3. สำคัญที่สุดก็คือ ต้องทำทุกวันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย
เรื่องแนะนำ :
– เคล็ด (ไม่) ลับทำงานกับญี่ปุ่น ตอนที่ 9 การรับประทานอาหาร Kaiseki อย่างถูกต้อง
– เคล็ด (ไม่) ลับทำงานกับญี่ปุ่น ตอนที่ 8 การใช้ตะเกียบที่ถูกต้อง
– เคล็ด (ไม่) ลับทำงานกับญี่ปุ่น ตอนที่ 7 มารยาทในร้านอาหารญี่ปุ่น
– เคล็ด (ไม่) ลับทำงานกับญี่ปุ่น ตอนที่ 6 ลำดับที่นั่ง
– เคล็ด (ไม่) ลับทำงานกับญี่ปุ่น ตอนที่ 5 การเยี่ยมลูกค้า
– เคล็ด (ไม่) ลับทำงานกับญี่ปุ่น ตอนที่ 4 มารยาทในการต้อนรับแขกที่มาเยือน
– เคล็ด (ไม่) ลับทำงานกับญี่ปุ่น ตอนที่ 3 การแลกนามบัตร
– เคล็ด (ไม่) ลับทำงานกับญี่ปุ่น ตอนที่ 2 การโค้งคำนับ お辞儀 (Ojigi)