ที่ญี่ปุ่นจะมีพวกโรคจิตเยอะ เช่น พวกที่แอบแต๊ะอั๋งผู้หญิงในรถไฟ พวกรักเด็กชอบเลี้ยงเด็ก (ไม่ใช่อีหนู แต่เด็กแบบเด็กประถมน่ะค่ะ) หรือพวกสโตกเกอร์ (Stalker) ที่แอบสะกดรอยตามสาวหรือไอดอลที่ตัวเองปลื้ม ผู้หญิงและแม่ๆ ชาวญี่ปุ่นเลยค่อนข้างระแวง
คืนก่อน เกตุวดีไปทานข้าวกับลุงส์ (แปลว่า คุณลุงญี่ปุ่นหลายคน :P) ทุกคนทำงานอยู่เมืองไทยมานานแล้ว ลุงที่อยู่นานที่สุดคือลุงที่มาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ค.ศ. 1971 อยู่มาจะ 40 ปีแล้วค่ะ พอดีภรรยาของคุณลุงท่านนี้บินมาเที่ยวเมืองไทย ลุงแกก็เลยเชิญเพื่อนลุงส์และสาวไทยหน้าตาดีอย่างดิฉันไปด้วย เราล้อมวงทานข้าวกัน 5-6 คนที่คอนโดฯลุงนี่แหละค่ะ
จริงๆ ลุงเจ้าภาพตั้งใจว่า งานคืนนั้นเป็นงานละเลียดเหล้าสาเกที่ศรีภรรยาอุตส่าห์แบกมาจากญี่ปุ่น แต่ลุงอีกคนซื้อไวน์ขาวมา 2 ขวด ลุงอีกคนแวะเซเว่นซื้อเบียร์ Leo มา 4 ขวด (ปกติ คนญี่ปุ่นที่มาเที่ยวไทยจะชอบเบียร์สิงห์ แต่ลุงๆชินแล้ว เลยเลือกเอาเบียร์ถูกๆ รสชาติโอเค เมาแล้วก็ครือกัน) คืนนั้นเลยกลายเป็นงานกินดื่มเมาธรรมดาๆนี่แหละ 55… กับแกล้มมีขนมกรุบกรอบญี่ปุ่นเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพวกถั่วปากอ้า หมูกรอบ ปลาหมึกเส้นสควีดดี้และมะม่วงน้ำปลาหวาน สมเป็นลุงที่อยู่ญี่ปุ่น 40 ปีจริงๆ ค่ะ
ลุงท่านหนึ่งเปิดประเด็นขึ้นมาว่า อาทิตย์หน้าจะกลับไปญี่ปุ่น 1 อาทิตย์ ไม่อยากไปเลย อยู่ญี่ปุ่นแล้วอึดอัด ลุงส์ที่เหลือก็ทำเสียงงึมงัมทำนองเห็นด้วย ลุงๆ แกรู้สึกเพลียกับเรื่องต่อไปนี้ค่ะ
1. ห้ามโทรศัพท์ในรถไฟ
เวลาเรานั่งรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน เรามักจะได้ยินเสียงริงโทนเก๋ๆ บ้าง เสียงโหลๆ บ้าง เสียงเจ้า Line เด้งดึ๋งบ้าง บางคนรับสายแล้วก็เม้าท์ยาวตั้งแต่ต้นสายยันเดินลงรถไฟไป นี่ยังไม่นับเสียงโฆษณาทางจอ LCD บนหัวอีก ทว่า หากท่านไปญี่ปุ่น ท่านจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศความเงียบสงบในรถไฟ ไม่มีเสียงโฆษณา เสียงริงโทนหรือเสียง Line ดังดึ๊งๆตลอดเหมือนรถไฟฟ้าไทย ในรถไฟญี่ปุ่น จะมีป้ายแปะเตือนไว้เลยค่ะว่า ขอให้ผู้โดยสารเปิดระบบสั่น ถ้ามือถือใครดัง คนรอบๆ อาจเขม่นได้ ถ้าไม่รีบปิดเสียงมือถือ ลุงหรือป้าที่นั่งข้างๆ อาจสะกิดเตือนคุณก็เป็นได้
เกตุวดีนึกขึ้นได้เรื่องหนึ่ง ภาษาไทยเราเรียกการเปิดระบบสั่นหรือปิดเสียงโทรศัพท์มือถือใช่ไหมคะ ญี่ปุ่นจะเรียกการเปิดระบบสั่นว่า “Manner Mode(マナーモード)” หรือ “โหมดมีมารยาท” ค่ะ ส่วนโหมด “Mute” คือ ปิดเสียงปิดระบบสั่น ที่ญี่ปุ่นจะเรียก “Silent Manner (サイレント・マナー)” ค่ะ เพราะฉะนั้น ใครเปิดเสียงมือถือในสถานที่สาธารณะ อาจกลายเป็นคนไม่มีมารยาทในสายตาคนญี่ปุ่นก็เป็นได้

ประเทศนี้เขาซีเรียสจนถึงขนาดที่ว่า ไม่รับโทรศัพท์ในรถไฟค่ะ เช้าวันหนึ่ง เกตุวดีเคยโทรหาลูกค้าที่ต้องติดต่องาน เขาไม่รับสาย แต่หลังจากดิฉันวางสายไป 3 วินาที เขา SMS กลับมาบอกว่า “ขอโทษด้วย นั่งรถไฟอยู่ครับ เดี๋ยวจะโทรกลับนะครับ” คนญี่ปุ่นบางคนก็รับสาย แต่ก็จะรีบบอกฝ่ายตรงข้ามว่า นั่งรถไฟอยู่ครับ ฝ่ายตรงข้ามก็เข้าใจและรีบวางสายกันไป
ทีนี้สิ่งที่คนญี่ปุ่นที่อยู่ไทยนานๆ แล้วกลับไปญี่ปุ่นเขาลำบากใจกันคือ วิธีการปิดเสียงมือถือค่ะ ลุงบอกว่า พอไปถึงสนามบิน แกก็เช่าโทรศัพท์มือถือญี่ปุ่น ระหว่างนั่งรถไฟเข้าเมืองอยู่นั้น ลูกค้าส่ง SMS เข้าโทรศัพท์มือถือตัวเอง เสียงดังติ๊งต่องๆ ลุงก็ตระหนกตกใจและพยายามหาวิธีปิดเสียง แต่ทำไม่เป็น (มือถือญี่ปุ่นจะต่างจากมือถือไทยและสากลเล็กน้อยค่ะ ระบบจะซับซ้อนกว่า) คนญี่ปุ่นคนอื่นๆในรถก็เริ่มหันมาเขม่นว่าอีตานี่ ทำไมไม่ปิดเสียงเสียที
ลุงบอกว่า วินาทีนั้น อยากแกล้งปลอมเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติอะไรก็ได้มากๆ อยากหันไปชี้แจงให้ทุกคนรับทราบว่า แม้ผมจะเป็นคนญี่ปุ่น แต่ผมอยู่เมืองไทยนาน ลืมวิธีใช้โทรศัพท์มือถือญี่ปุ่นไปแล้ว แต่มันต้องอธิบายยาวมาก สุดท้าย ลุงผู้น่าสงสารก็ตัดใจปิดโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นขณะนั่งรถไฟไปเลย น่าสงสารแท้
2. ห้ามแสดงท่าทีรักเด็ก
คนญี่ปุ่นแทบทุกคนจะชมว่า คนไทยนี่รักเด็กเนอะ ชอบเล่นกับเด็กกันจัง เวลาเพื่อนคนญี่ปุ่นของดิฉันอุ้มลูกหรือพาลูกไปเที่ยวไหน ก็จะมีคนไทยเดินมาเล่น มาหยิกแก้มลูกเขาตลอด เขาก็ประทับใจในความเป็นมิตรของคนไทย เราชอบส่งสายตาให้เด็ก เวลาเด็กขึ้นรถไฟมา เราก็จะสละที่นั่งให้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ คนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยทำค่ะ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เขาค่อนข้างต่างคนต่างอยู่มากกว่า
การที่ลุงๆ มาอยู่เมืองไทยนาน ทำให้ลุงซึมซับความเป็นคนไทยเข้าไปด้วย ลุงก็เล่นกับเด็กที่ไม่รู้จัก ยิ้มให้ บ๊ายบายให้ แต่ลุงบอกว่า ตัวเองทำอย่างนี้ที่ญี่ปุ่นไม่ได้ คนเขาจะมองว่าลุงโรคจิต ไปทำตาหวานเยิ้มใส่ลูกชาวบ้านเขา หากแม่เด็กเห็น เขาจะอุ้มลูกหนีไปไกลๆ กลัวว่าลุงจะลักพาตัวลูกเขาไปทำมิดีมิร้าย

ลุงถามดิฉันว่า เมืองไทยมีโรคจิตไหม ดิฉันบอกว่า มี ถ้าตามรถเมล์ ส่วนใหญ่เป็นพวกแป๊ะแก่ๆ หื่นๆ ส่วนในรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน ยังไม่เคยได้ยินว่ามี ส่วนสโตกเกอร์นั้น ไม่เคยได้ยินว่ามีผู้ชายไทยคนใดอดทนตามรอยสาวที่ตัวเองชอบขนาดนั้น ส่วนใหญ่มีแต่พวกฉุดหรือข่มขืนไปเลย ไม่รู้ว่าแบบไทยกับแบบญี่ปุ่น แบบไหนจะโหดกว่ากันนะคะเนี่ย
3. เพลียกับการอธิบาย
ลุงๆ นานๆ กลับญี่ปุ่นที กลับทีปีละครั้ง ลุงก็ต้องไปเจอญาติโกโหติกา เพื่อนบ้าน เพื่อนเก่าๆ และทุกครั้ง ลุงต้องเผชิญกับคำถามประมาณว่า “ทำไมไปอยู่เมืองไทย” “เมืองไทยมีอะไรดี” ลุงคนหนึ่งเปรยขึ้นมาว่า เวลาเจอคุณป้าข้างบ้านแก แล้วแกบอกว่าอยู่เมืองไทย ป้าต้องบอกทุกครั้งว่า “อ๋อ…ประเทศไทย ชื่อย่อของไต้หวันใช่ไหม อาหารจีนอร่อยเนอะ ฉันเคยไปตอนสาวๆ” ลุงเจอคำถามคำตอบอะไรแบบนี้ก็เลยเซ็งๆ ค่ะ
คนไทยเรามักจะชื่นชมประเทศญี่ปุ่นว่าเจริญ บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาดสะอ้าน แต่พอดิฉันได้ฟังเรื่องที่ลุงๆ เล่าจริงๆ คนญี่ปุ่นก็มีมุมที่อึดอัดลำบากเหมือนกันนะคะ เท่าที่ดิฉันสังเกต คนญี่ปุ่นที่ชอบเมืองไทยจะเป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่ญี่ปุ่นจ๋า เป็นคนชอบอะไรสบายๆ ขำๆกับชีวิต เขาเบื่อชีวิตที่ทุกอย่างต้องเป๊ะ ต้องตรงเวลา ต้องมีระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์ของสังคมญี่ปุ่น พอมาอยู่เมืองไทย สภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตของชาวไทยแบบสบายๆ ไม่เป็นไรของพวกเราจึงถูกอกถูกใจคนญี่ปุ่นเหล่านี้มากค่ะ ถ้ามีประเทศที่เอาญี่ปุ่นกับไทยมาบวกกันแล้วหารสอง คือเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ก็รักสนุก ชีวิตไม่เครียด ก็คงจะดีนะคะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura