ละครญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นละครที่มีแนวอาชีพเยอะมากๆ อยากดูเกี่ยวกับอาชีพไหนมีหมดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นหมอ (แนวนี้จะมีเยอะหน่อย) ครู ทนาย นายธนาคาร นักธุรกิจ ฯลฯ
ละครญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นละครที่มีแนวอาชีพเยอะมากๆ อยากดูเกี่ยวกับอาชีพไหนมีหมดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นหมอ (แนวนี้จะมีเยอะหน่อย) ครู ทนาย นายธนาคาร นักธุรกิจ ฯลฯ
นอกจากแนวอาชีพยอดนิยมที่คนทั่วไปรู้จักแล้ว ละครญี่ปุ่นก็ยังเสนออาชีพที่แปลกๆ ที่คนทั่วไปไม่ค่อยคุ้นชิน วันนี้ก็เลยจะหยิบละครแนวอาชีพที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นมาเล่าสู่กันฟังค่ะ จะมีอาชีพอะไรที่น่าสนใจบ้างตามมาอ่านกันเลยค่ะ
1. บริษัทกำจัดผี

เอ๊ะ! มีอาชีพอย่างนี้ด้วยหรือนี่ ! เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทรักษาความปลอดภัยโอบาเกะ เป็นบริษัทกำจัดผีค่ะในบริษัทประกอบด้วยสมาชิก 3 คน ได้แก่ “โฮไค เท็นมะ” หัวหน้าบริษัท ผู้มีสัมผัสวิเศษสามารถเห็นผีได้ แต่เป็นคนกลัวผีสุดๆ “ไคคากุ เคโซ” พนักงานเก่าแก่ของบริษัท “โอกาซากิ อากิระ” สาว น้อยผู้หลงเข้ามาในบริษัทนี้โดยบังเอิญ เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นบริษัทเกม งานของบริษัทนี้ก็คือต้องคอยปราบผีค่ะ ออกแนวล่าท้าผีอะไรทำนองนั้น แต่จะไม่ใช้วิธีรุนแรงนะคะ จะเป็นการส่งดวงวิญญาณให้ไปสู่สุขคติแทนค่ะ อาชีพนี้อาจจะดูเหนือจริงนิดนึง แต่ดูแล้วก็เพลินๆ ดีค่ะ ถึงจะเป็นละครอาชีพแนวผีๆ แต่เนื้อเรื่องกลับฮากระจายกว่าที่คิด
2. สัปเหร่อ

ห๊า! มีละครชีพสัปเหร่อด้วยเหรอเนี่ย! จะออกมาเป็นอย่างไร มีความน่ากลัวหรือเปล่า หลายคนคงสงสัยใช่ไหมคะ ละครแนวอาชีพนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดค่ะ และก็เป็นสัปเหร่อที่เราอาจจะไม่คุ้นด้วย เพราะว่าเป็นสัปเหร่อญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งอาจมีส่วนที่แตกต่างจากไทยไปบ้าง แต่ถ้าให้เทียบกับอาชีพของไทยก็จะมีลักษณะใกล้เคียงกับสัปเหร่อค่ะ
ละครที่นำเสนออาชีพสัปเหร่อก็คือเรื่องนี้เลยค่ะ “Saikou No Jinsei No Owarikata” นำแสดงโดยหนุ่มยามะพี ยูริ จิเน็น สมาชิกจากวง Hey Say JUMP! สาวอัตจัง อดีตสมาชิกวง AKB48 ค่ะ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว “อิฮาระ” ที่ ประกอบอาชีพเป็นผู้รับจัดพิธีงานศพค่ะ แล้วอยู่มาวันหนึ่งผู้เป็นพ่อ เสาหลักของบ้านก็ได้เสียชีวิตลง ทำให้หนุ่มยามะพีของเราต้องมาสืบทอดกิจการต่อโดยไม่ปลื้มสักเท่าไร แต่จากการได้พบเจอการตาย การสูญเสียของเพื่อนมนุษย์ ทำให้เขากลับเห็นความสำคัญของการมีชีวิต และความสำคัญของอาชีพนี้ อาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ แต่วันนี้กลับเป็นอาชีพที่เขาภาคภูมิ
สำหรับอาชีพนี้ถ้าเทียบกับอาชีพของคนไทยก็จะมีความใกล้เคียงกับสัปเหร่อค่ะ แต่ก็ไม่ใช่สัปเหร่อแบบบ้านเราเสียทีเดียว หน้าที่ของบริษัทจัดงานศพนี้ก็เริ่มตั้งแต่การมารับศพที่โรงพยาบาล หาโลงศพ ตกแต่งโลงศพให้ รวมไปถึงขั้นตอนการจัดพิธีงานศพ ทำให้คนที่ยังอยู่ซาบซึ้ง และเห็นความสำคัญถึงการจากไปของคนพวกเขารัก และส่งวิญญาณของผู้ตายให้ไปสู่สุขคติ หลังจากดูเรื่องนี้ก็เพิ่งรู้เหมือนกันค่ะว่า มีอาชีพแบบนี้ด้วย และก็คิดไม่ถึงเลยว่าญี่ปุ่นจะเอาเรื่องราวอาชีพที่อาจจะดูนอกสายตาของคน ส่วนใหญ่มาสร้างเป็นแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพด้วยค่ะ
3. หมอล่องเรือ
มาต่อกันที่อาชีพคุณหมอล่องเรือค่ะ อาจจะงงๆ นิดหน่อย เพราะเราไม่เคยเห็นอาชีพนี้ในไทยสักเท่าไร อาชีพที่ว่านี้ก็คืออาชีพ “หมอ” นั่น แหละค่ะ เพียงแต่ว่าเป็นหมอที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนเรือ จะคอยล่องเรือไปตามเกาะต่างๆ คอยตรวจ และรักษาคนไข้ หรือถ้ามีคนไข้ฉุกเฉินในเกาะๆ นั้น หมอพวกนี้นี่แหละที่จะเป็นคนคอยช่วยรักษาพยาบาลเบื้องต้น ยื้อชีวิตให้ถึงมือหมอที่อยู่บนฝั่ง ละครญี่ปุ่นที่นำเสนอละครอาชีพแนวนี้ก็คือเรื่อง “Umi no Ue no Shinryojo” หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Clinic on the Sea” นำแสดงโดย “โชตะ มัตสึดะ” รับบทเป็น “คุณหมอโคตะ” จอมเจ้าชู้ ขี้เล่น แต่รักษาเก่งสุดๆ และ “ทาเคอิ เอมิ” รับบทเป็นพยาบาลสาว “มาโกะ” สาวน้อยน่ารัก แต่แอบโหดเบาๆ โดยเฉพาะกับคุณหมอโคตะจอมทะเล้น

เรื่องนี้ก็จะมีเนื้อเรื่องที่นำเสนอถึงอาชีพคุณหมอล่องเรือค่ะ พอคุณหมอไปถึงเกาะๆ หนึ่ง ก็ต้องลงพื้นที่ไปตรวจคนไข้ในบ้านแต่ละหลัง พอมีคนไข้ฉุกเฉินก็ต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนค่ะ พอดูแล้วรู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญเลยทีเดียวค่ะ เพราะเกาะแต่ละเกาะนั้นห่างไกลจากมือหมอ บางแห่งนี่ไม่มีโรงพยาบาลเลยค่ะ ดังนั้นคุณหมอล่องเรือจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากๆ
สำหรับอาชีพนี้อาจจะดูแปลกตาไปจากคนไทยอย่างเราไปสักนิด เนื่องจากว่าบ้านเรามีหมู่เกาะไม่เยอะเท่าญี่ปุ่นค่ะ จึงไม่ค่อยพบเห็นอาชีพนี้สักเท่าไร
4. ฟรีเตอร์

สำหรับอาชีพนี้เป็นอาชีพชื่อเฉพาะของญี่ปุ่นเลยค่ะ Freeter หมายถึง บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 34 ปี (ยกเว้นนักเรียน นักศึกษา และแม่บ้าน) ที่ไม่ได้ทำงานประจำ จะรับจ็อบ ทำงานพาร์ทไทม์ไปเรื่อยๆ ทำไปตามใจต้องการ มีความเป็นอิสระสูง ถ้าเทียบกับอาชีพในไทยก็ประมาณฟรีแลนซ์ค่ะ ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่คนในสังคมมักไม่ค่อยยอมรับเท่าไร แต่มีละครเรื่องหนึ่งที่นำเสนอชีวิตของชาว Freeter ได้ออกมาอย่างน่าประทับใจค่ะ ซึ่งก็คือเรื่อง “Freeter Ie wo Kau” นำแสดงโดย “นิโนะมิยะ คาซุนาริ” สมาชิกวง Arashi รับบทเป็น “ทาเคะ เซย์จิ” เป็นผู้ชายที่กำลังออกหางานทำ แต่ก็หาได้อย่างยากลำบาก จนผลสุดท้ายเขาก็ได้มาทำงานพิเศษที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งไปก่อน เรื่องนี้ได้นำเสนอถึงความลำบาก และความมานะของ Freeter ค่ะ ใช่ว่าพวก Freeter จะเป็นคนที่ไม่เอาไหน หรือขี้เกียจ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเพียงรูปแบบการทำงานหนึ่งที่สุจริต และเป็นอาชีพที่สามารถทำให้เราได้เห็นคุณค่าจากสิ่งที่เรียกได้ว่า “งาน” เช่นกัน
5. ร่างทรง
อาชีพร่างทรงก็สามารถพบเห็นได้ในละครญี่ปุ่นนะคะ ตัวอย่างของละครแนวนี้ต้องเป็นเรื่องนี้เลย “Reinoryokusha Odagiri Kyoko no Uso” นำแสดงโดย “ซาโตมิ อิชิฮาร่า” ในเรื่องนี้เธอมารับบทเป็นร่างทรงค่ะ แต่ไม่ใช่ร่างทรงจริงๆ หรอกนะคะ แต่เป็นร่างทรงจอมปลอมค่ะ!!! เธอเพียงแค่ใช้เทคนิค ไหวพริบต่างๆ ในการสร้างปาฏิหาริย์ขึ้น แถมยังสามารถไขคดีลับได้อีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนทั่วไปก็จะคิดว่า ที่เธอแก้คดีได้เพราะว่ามีตาทิพย์ มีพลังวิเศษ แต่แท้ที่จริงแล้วไหวพริบตัวเองล้วนๆ !

เรื่องนี้มันก็จะสะท้อนถึงชีวิตของร่างทรงจอมปลอมในอีกแง่มุมหนึ่ง อาชีพที่เราคิดว่าเป็นอาชีพที่หลอกลวง แต่ในอีกมุมหนึ่งคนพวกนี้อาจจะไม่ได้ต้องการหลอกลวงเราก็ได้ แต่เป็นเหตุจำเป็นบางอย่างที่ไม่สามารถบอกความจริงได้ และต้องทำ บวกกับบางทีอาชีพนี้ก็เป็นอาชีพที่เสริมสร้างความมั่นใจอะไรบางอย่างให้กับ มนุษย์ค่ะ พอสิ่งลี้ลับบอกว่าชีวิตเขาจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ คนๆ นั้นก็กลับมั่นใจในตัวเองทันที ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนแต่มาจากศักยภาพในตัวเขาเองทั้งนั้น ละครเรื่องนี้เป็นละครแนวอาชีพอีกเรื่องที่นำเสนออีกมุมมองของร่างทรงค่ะที่ น่าสนใจค่ะ
และนี่ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพแปลกๆ ของญี่ปุ่นนะคะ ก็จะมีทั้งอาชีพที่มีความแปลกไปสำหรับบ้านเรา และอาชีพที่ไม่ใช่อาชีพที่นิยม แต่พอดูแล้วก็ทำให้เข้าใจอาชีพนั้น สร้างแรงบันดาลใจได้ด้วยเช่นกันค่ะ จากตรงนี้ทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่างานอะไรก็มีคุณค่าในตัวเองค่ะ
หากแต่เป็นอาชีพที่เรารักและอยากจะทำจริงๆ 🙂
เรื่องแนะนำ :
– รวมตัวละครยอดอัจฉริยะจากซีรีส์ญี่ปุ่น
– เทคนิครับมือกับคุณลูกค้าผู้น่ารักแบบฉบับ Nietzsche Sensei
– 7 สิ่งที่ซีรีส์ญี่ปุ่นแนวอาชีพมีไม่เหมือนใคร
– Kazoku no Katachi : โสดแบบตั้งใจ “การแต่งงาน” อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของชีวิต
– แม้นักแสดงญี่ปุ่นมีอายุเพิ่มขึ้น ก็ยังรับบทพระ-นางได้!?