Japan Gossip ฉบับนี้ขอนำข้อปฏิบัติหรือข้อไม่พึงปฏิบัติเวลาไปบ้านคนญี่ปุ่นมาเล่าให้ทุกท่านฟัง แต่แทนที่จะบอกข้อปฏิบัติอย่างเดียว ดิฉันขอใส่เหตุผลหรือคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีคิดของคนญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ท่านจะได้อินไปกับกฎของเขาและทำตามได้ง่ายขึ้นนะคะ
วันก่อนมีน้องคนหนึ่งเมสเสจมาถามดิฉันในเพจว่า “จะไปพักบ้านแฟนคนญี่ปุ่น (อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่) ทำตัวอย่างไรดี” (พี่อยากถามน้องกลับเหมือนกันว่าการมีแฟนเป็นคนญี่ปุ่น จะทำอย่างไรดี…555)
คุณผู้อ่านหลายท่านที่มีเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่น หรือไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น อาจได้มีโอกาสไปพักบ้านเพื่อนเหมือนคุณน้องข้างบนหรือได้ไปบ้านโฮสท์คนญี่ปุ่น แต่เดี๋ยวก่อน…กรุณาอย่าเพิ่งหลงระเริงว่าชั้นจะใส่ชุดอะไรไปดี ลั้ลลา การไปบ้านคนญี่ปุ่น ไม่เหมือนการไปบ้านเพื่อนคนไทย สังคมญี่ปุ่นจะมีพิธีรีตองมีกฎทางสังคมที่กำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจนและตายตัวเวลาไปบ้านคนอื่น
เพื่อให้ทุกท่านปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องตามธรรมเนียมประเทศเขา Japan Gossip ฉบับนี้ขอนำข้อปฏิบัติหรือข้อไม่พึงปฏิบัติเวลาไปบ้านคนญี่ปุ่นมาเล่าให้ทุกท่านฟัง ทีละขั้นๆ นะคะ แต่แทนที่จะบอกข้อปฏิบัติอย่างเดียว ดิฉันขอใส่เหตุผลหรือคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีคิดของคนญี่ปุ่นเข้าไปด้วย ท่านจะได้ “อิน” ไปกับกฎของเขา และทำตามได้ง่ายขึ้นนะคะ ว่าแล้วตามมาเลยค่ะ
1. นัดล่วงหน้า
อย่าโผล่ไปเคาะประตูบ้านคนญี่ปุ่นปุบปับแบบ….เฮ้ย เผอิญผ่านมาแถวนี้เลยแวะมาหาเพราะคิดถึง….
เวลาไปบ้านคนญี่ปุ่น เราต้องนัดล่วงหน้ากันเป็นกิจจะลักษณะ นัดไปเลยวันไหนกี่โมง เพื่อให้คนญี่ปุ่นได้เตรียมบ้านช่องให้สะอาดเรียบร้อยได้

คนญี่ปุ่นเป็นชาติที่จิตวิญญาณบริการสูงมาก หากเขาทราบว่าเพื่อนหรือคนรู้จักจะมาที่บ้านเขาจะพยายามต้อนรับให้ดีที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาต้องทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูบ้าน ไปหาซื้อขนมนมเนยมาเตรียมต้อนรับ ทีนี้สมมติว่าเราโทรไปบอกเขาแค่ 1 ชั่วโมงล่วงหน้าว่าจะแวะไปหาได้ไหม คนญี่ปุ่นคนนั้นหากเป็นพวกเกรงใจที่จะปฏิเสธเผลอตอบรับให้เราบุกบ้านเขาได้ ตัวเขาเองนี่แหละที่ต้องกุลีกุจอลุกขึ้นมาจัดบ้าน กลายเป็นว่าเราแวะไปสร้างความลำบากให้กับเขา
2. ควรมีของฝากเล็กๆ น้อยๆ
คนญี่ปุ่นจะคิดเป็น Give & Take ตลอด คือเราได้รับอะไรมาก็ต้องให้อะไรฝ่ายนั้นกลับคืน ขนาดงานแต่งงานของชำร่วยที่บ่าวสาวให้ ก็มูลค่าสูงใกล้เคียงกับค่าซองงานแต่ง เขาจะไม่รับอะไรมาฟรีๆ ค่ะ
การที่เราไปบ้านคนญี่ปุ่น เขาต้องเตรียมน้ำเตรียมขนมเตรียมอาหาร ซึ่งแปลว่าเรากำลัง “ได้รับ” อะไรจากเขาอยู่ เพราะฉะนั้นเพื่อ “ตอบแทน” น้ำใจเราก็ควรมีของฝากเล็กๆ น้อยๆ ไปฝากเจ้าของบ้านบ้างไม่ควรไปมือเปล่า หากคุณผู้อ่านไปจากประเทศไทยก็คงเป็นของฝากไทยๆ อยู่แล้วไม่มีปัญหา
แต่…หากเป็นคนที่อยู่ที่ญี่ปุ่น สิ่งที่ต้องระวัง คืออย่าไปซื้ออะไรแถวๆ บ้านคนญี่ปุ่นคนนั้นแล้วถือไปฝาก มันจะดู “ไม่ใส่ใจ” เป็นคนลวกๆ แถมคนญี่ปุ่นจะยิ่งรู้สึกเกรงใจเข้าไปอีกว่า “คนคนนี้คงยุ่งมาก ไม่มีเวลาซื้อของฝาก เลยต้องมาซื้อแถวบ้านฉัน โถ…ฉันคงสร้างความลำบากให้เขาสินะ” (คนญี่ปุ่นคิดมากค่ะ)
เพราะฉะนั้นสำหรับท่านที่อยู่ญี่ปุ่น ก่อนไปบ้านคนญี่ปุ่น ลองไปหาซื้อขนมร้านดังแถวบ้านคุณ หรือขนมร้านโปรดของคุณ ตอนดิฉันอยู่เมืองโกเบเวลาไปบ้านโฮสท์ที่โอซาก้า ดิฉันก็มักจะซื้อคุ้กกี้หรือขนมเค้กร้านดังไปฝากเสมอ (โกเบเป็นเมืองที่ดังเรื่องขนมเค้ก คุ้กกี้ค่ะ) หากท่านเป็นผู้ชายและเจ้าของบ้านเป็นผู้ชาย (เช่น เจ้านาย) อาจไม่เหมาะกับขนมกุ๊กกิ๊ก ลองดูพวกเหล้าสาเก หรือของกับแกล้มไปฝากก็ดีค่ะ ผลไม้ไฮโซเล็กน้อย เช่น สตรอเบอร์รี่ ลูกแพร์ เมล่อนก็ดีค่ะ ของพวกนี้หาซื้อได้ตามชั้นใต้ดินห้างสรรพสินค้าทุกห้างค่ะ เขาจะห่อให้อย่างสวยงามเลย เวลาเอาไปก็ดูดีมีราศีทำให้เราดูดีตามไปด้วย อิๆ
3. ไปให้ “ถูก” เวลา
อันนี้ เหมือนจะง่าย แต่ยาก…โปรดพึงระลึกไว้เสมอว่า …
อย่าไปก่อนเวลานัด
เช่น ไปถึงบ่ายโมงครึ่งทั้งๆ ที่นัดตอนบ่ายสอง เพราะคนญี่ปุ่นเขาจะตั้งอกตั้งใจเก็บกวาดบ้าน เตรียมทำอาหารอย่าง “สุดฝีมือ” หากเราไปก่อนเขายังไม่ได้จัดบ้านในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด เขาจะรู้สึกไม่ดีที่ไม่สามารถต้อนรับเราได้อย่างดีที่สุด ในสภาพที่พร้อมที่สุดได้ (เขาเตรียมพร้อมขนาดไหน ลองอ่านข้อถัดๆ ไปนะคะ)
อย่าไปสาย
อย่าไปสายเกิน 10 นาที ถ้าคิดว่าสายหรือหาบ้านเขาไม่เจอ รีบโทรบอกเขาตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ ไม่เช่นนั้นเขาจะห่วงว่าคุณมาถูกทางไหม เป็นอะไรรึเปล่า
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะไปถึงบ้านคนญี่ปุ่น คือ “ไปให้ช้ากว่าเวลานัดหมายประมาณ 2-5 นาที” ค่ะ (มันจะอะไรขนาดนั้น….คุณผู้อ่านผู้น่ารัก อย่าเพิ่งเขวี้ยงเม้าส์คอมหรือปามือถือใส่ดิฉันนะคะ) สมมตินัดไว้ 15.00 น. เราก็ไปถึงสัก 15.02 น. พอให้เจ้าบ้านเขาเตรียมบ้านได้ในสภาพพร้อมรับเราแล้ว และได้นั่งพักแป๊บหนึ่ง เราถึงค่อยไปกดกริ่ง

ที่ญี่ปุ่นเราสามารถกะเวลารถไฟได้เป๊ะๆ ทำให้เราคำนวณเวลาเดินทางได้ง่ายดายมาก รถไฟ รถเมล์ทุกอย่างก็ตรงเวลามากจนเราสามารถกะเวลาได้ในหน่วยนาที ถามว่า…ถ้าบังเอิญไปถึงก่อน จะทำอะไรดี ก็เดินเล่นแถวๆ นั้นไปค่ะ เดินดูบ้านเรือนแถวนั้น ไปยืนอ่านนิตยสารฆ่าเวลาในร้านสะดวกซื้อก็ได้
4. การเดินเข้าบ้านคนญี่ปุ่น
ดิฉันเขียนจั่วหัวเช่นนี้….อย่าเพิ่งด่าดิฉันค่ะ มันจะอะไรอีก…
อะแฮ่ม…คือ ตอนเปิดประตูเดินเข้าไปในบ้านคนญี่ปุ่น เราจะไม่เข้าไปเงียบๆ ค่ะ แขกอย่างเราจะพูดคำว่า “โอจามะชิมาส (お邪魔します)” ซึ่งแปลว่า “ขอรบกวนหน่อยนะคะ” คนญี่ปุ่นมองว่าการไปบ้านคนอื่นเป็นการไป “รบกวน” ต้องให้เขาจัดน้ำ จัดขนมมาต้อนรับเรา ก่อนเข้าบ้านจึงต้องเอ่ยอะไรแสดงความเกรงใจนิดหนึ่งค่ะ

ถ้าท่านพูดหรือจำภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ อาจพูดในลักษณะที่ว่าขอบคุณที่ให้มาที่บ้านนะ เช่น “Thank you so much for inviting me” ส่วนคนญี่ปุ่นก็จะตอบว่า “โดโสะ” ที่แปลว่า เชิญ
5. การถอดรองเท้า
เขียนมาถึงข้อที่ 5. แล้วยังไม่ได้เข้าบ้านคนญี่ปุ่นกันเลยนะคะ…พิธีรีตองเยอะนิดนึง
บ้านคนญี่ปุ่นจะมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ จะมีสเต็ประหว่างประตูบ้านกับพื้นบ้าน พื้นทางเข้าจะอยู่ต่ำกว่าทางเข้าบ้านเล็กน้อย เวลาใครมาบ้านก็ต้องถอดรองเท้าที่นี่ค่ะ

ทีนี้การถอดรองเท้าก็มีมารยาทค่ะ กรุณาถอดรองเท้า จากนั้นขึ้นไปบนสเต็ปพื้นบ้าน แล้วหันมากลับหัวรองเท้าตัวเองให้หันออกด้านนอก (ตามภาพด้านบน) สำหรับคุณผู้อ่านที่เป็นผู้หญิง กรุณานั่งยองๆ ลงไปกลับรองเท้า อย่าก้มโค้งลงไปหยิบรองเท้า เพราะจะเป็นการโชว์บั้นท้ายอันงดงามของท่านให้เจ้าบ้านดู …เป็นภาพที่ ไม่ค่อยงามเท่าไรค่ะ
ที่แขกต้องทำแบบนี้ เพราะคนญี่ปุ่นมีจิตวิญญาณการให้บริการและการดูแลแขกที่สูงมาก ระหว่างที่แขกขึ้นไปคุยในบ้าน เจ้าของบ้านหรือภรรยาเจ้าของบ้านจะแอบมากลับหัวรองเท้าแขก ขากลับแขกจะได้ใส่รองเท้าเดินกลับออกไปได้ง่ายๆ (ลองสังเกตเวลาไปร้านอาหารญี่ปุ่นสิคะ ขากลับเขาจะเอารองเท้ามาเรียงรอเป็นระเบียบเชียว)
ในฐานะของแขกที่ไปเยือนบ้าน เพื่อไม่ให้เจ้าบ้านต้องเอามือมาหยิบจับรองเท้าอันสกปรกของเรา เราจึงควรกลับรองเท้าให้เจ้าบ้านเลย (คนญี่ปุ่นเขาคิดเผื่อกันและกันอย่างนี้แหละค่ะ)
ทีนี้มีบางคนคิดง่าย ถ้างั้นตอนถอด ชั้นหันหลังแล้วถอดรองเท้าแบบหันหัวรองเท้าไปทางประตูทางออกเลยละกัน … อันนี้ก็ไม่ได้เช่นกันค่ะ เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าเป็นการหัน “ก้น” ให้เจ้าของบ้าน ไม่งาม

อ้อ…เวลาไปบ้านคนญี่ปุ่นอย่าเดินเท้าเปล่านะคะ กรุณาใส่ถุงเท้าด้วย (เพราะฉะนั้น อย่าใส่รองเท้าแตะไปตั้งแต่แรก) คนญี่ปุ่นมองว่าเท้าเป็นอวัยวะที่สกปรกค่ะ ไปเดินไปย่ำอะไรมาก็ไม่รู้ ถ้าเดินเท้าเปล่าเข้าไป เราอาจทำบ้านของเจ้าบ้านเลอะขี้เท้าเราได้ อีกอย่างคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีสลิปเปอร์ให้เราใส่ที่บ้าน แต่เขาคงรู้สึกไม่ดีแน่ถ้าเราใส่สลิปเปอร์ไฮโซเขาด้วยเท้าเปล่าของเรา เพราะฉะนั้นโปรดใส่ถุงเท้าหรือถุงน่องค่ะ
6. เข้าไปนั่งในบ้าน
เมื่อเข้าไปนั่งในบ้านแล้ว โปรดระวังสิ่งต่อไปนี้ค่ะ..
1) อย่าไปนั่งตรงตำแหน่ง “Kami-za(上座)”
ตำแหน่ง “Kami-za(上座)” คือ ตำแหน่งที่เจ้าบ้านหรือคนที่ใหญ่ที่สุดในโต๊ะนั้นนั่ง (อารมณ์ที่นั่งประธาน) หลักง่ายๆ คือ เป็นที่นั่งที่ไกลที่สุดกับประตู และมักนั่งหลังพิงกำแพง (รายละเอียดเพิ่มเติมอ่าน ->https://www.marumura.com/working/?id=1168 )
แต่อย่ากังวลค่ะ คนญี่ปุ่นผายมือให้ท่านนั่งตรงไหน ก็กล่าวขอบคุณแล้วนั่งตรงนั้นไปเลย
2) อย่าเอากระเป๋าวางบนโต๊ะ
คนญี่ปุ่นมองว่ากระเป๋าเรามีฝุ่น อาจสกปรกได้ ให้วางไว้หลังเก้าอี้หรือที่พื้นค่ะ อย่าวางไว้บนโต๊ะ ถ้าห้องเป็นเสื่อตาตามิ (เสื่อญี่ปุ่น) ก็วางไว้ข้างตัว
3) อย่าเหยียบเบาะรองนั่ง
ถ้าห้องเป็นแบบเสื่อญี่ปุ่นและคุณต้องนั่งพื้น กรุณาอย่าเหยียบเบาะรองนั่งค่ะ เพราะเท้าเราสกปรก ไม่ควรไปเหยียบเบาะเขา
7. มอบของฝาก
ถึงขั้นนี้แล้ว ก็มอบของฝากค่ะ คนไทยหลายๆ คนชอบให้ตั้งแต่ที่ประตูบ้าน แต่ธรรมเนียมญี่ปุ่นที่ถูกต้อง คือเข้ามานั่งในห้องรับแขกให้สงบเรียบร้อยกันทั้ง 2 ฝ่ายก่อน แล้วถึงค่อยให้ของฝาก
เวลายื่นให้ก็ไม่ใช่ให้ทั้งถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกนะคะ หยิบเอาของออกมา แล้วยื่นให้กับมือ ส่วนถุงอาจจะพับเก็บหรือพับให้เจ้าของบ้านนำไปใช้ต่อ คนญี่ปุ่นมองว่าถุงกระดาษสกปรก เราหิ้วผ่านรถไฟ ผ่านคนหลายหมื่นคนมา…เออ คนประเทศนี้เขาคิดกันแบบนี้เนอะ ….แม้ว่าประเทศเขาจะสะอ๊าดสะอาดมากก็ตาม
เวลาให้ของเราก็จะมีธรรมเนียมคำพูดค่ะ ภาษาญี่ปุ่นจะใช้คำว่า “つまらないものですが (สึมาราไน่ โมโน เดสหง่า…ซึ่งแปลตรงตัวว่า “นี่เป็นของน่าเบื่อนิดหนึ่งนะ”

จุ๊ๆๆ … คนญี่ปุ่นไม่ได้คิดอย่างนั้นค่ะ
เดิมทีคำนี้สืบทอดมาแต่โบราณ พูดในความหมายว่า “ฉันพยายามหาของที่ดีที่สุดมาให้คุณแล้ว แต่คุณเป็นผู้มีศักดินาสูงศักดิ์ ของที่ฉันนำมาคงดูธรรมดาหรือดูน่าเบื่อในสายตาคุณแน่เลย” เป็นคำพูด “ถ่อมตน” ของคนญี่ปุ่นค่ะ (ถ่อมตัวซะ…)
ตอนดิฉันอยู่ที่ญี่ปุ่น ดิฉันไม่ค่อยอินกับคำว่า “ของน่าเบื่อ” นี้ ถึงจะเข้าใจความหมายและความถ่อมตัว แต่พูดแล้วมันประดักประเดิด ดิฉันเลยมักเลี่ยงมาใช้คำว่า “ของฝากเล็กๆ น้อยๆ จากเมืองไทยค่ะ” หรือไม่ก็ “เค้กร้านนี้ร้านดังแถวบ้านหนูเลยนะคะ! อร่อยมาก ลองชิมดูนะคะ!” แล้วยิ้มสดใส พูดแบบนี้สบายใจและเป็นตัวของตัวเองกว่ากันเยอะค่ะ
ทั้ง 7 ข้อ เป็นมารยาทที่เราพึงทำเวลาไปบ้านคนญี่ปุ่น แต่หากจำไม่ได้หรือทำผิด ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรค่ะ คนญี่ปุนเขาเข้าใจอยู่แล้วว่าเราเป็นคนต่างชาติ เว้นเสียแต่ว่าคุณมีแฟนเป็นคนญี่ปุ่น แม่สามีใจแคบอาจบอกว่าคุณถอดรองเท้าผิดฝั่ง และยกมาเป็นข้ออ้างขอให้ลูกชายเธอเลิกกับคุณ หากไม่ใช่กรณีนั้น การลืมหรือทำผิดบางขั้นตอนเล็กน้อยไม่ใช่สิ่งสำคัญค่ะ ขอเพียงแค่เราจริงใจ มีน้ำใจกับเขา คนญี่ปุ่นก็สัมผัสได้แล้ว
ท่านไหนอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อย่าเพิ่งท้อใจนะคะว่า ทำไมการไปบ้านคนญี่ปุ่น มันถึงยุ่งยากขนาดนี้ … การที่คนญี่ปุ่นเชิญคนมาที่บ้าน แปลว่าเขาให้เกียรติและเห็นความสำคัญของแขกคนนั้นมาก เพราะปกติ คนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยเชิญคนเข้ามาที่บ้านค่ะ หากคุณผู้อ่านท่านไหนได้ไปบ้านคนญี่ปุ่น โปรดระลึกไว้ค่ะว่า ท่านโชคดี ท่านกำลังจะได้รับการต้อนรับที่เต็มที่มากๆ จากเจ้าบ้าน เขาตั้งใจต้อนรับท่าน ท่านก็ลองตั้งใจทำตามมารยาทคนญี่ปุ่นกันดูนะคะ หากทำได้ คนญี่ปุ่นจะชื่นชมท่านอย่างสุดซึ้ง ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ยิ่งใกล้ชิดและดีขึ้นอีกเป็นกองเลยล่ะค่ะ ลองดูนะคะ ☺
ประกาศ: ดิฉันย้ายเพจจากเพจ “เกตุวดี” ไปเพจ “Japan Gossip by เกตุวดี Marumura” แล้วนะคะ มาติดตามข่าวสารเรื่องราว Gossip ญี่ปุ่นมันส์ๆ ต่อได้ในเพจใหม่นะจ๊ะ^^
Link: http://www.facebook.com/japangossip
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura