สิ่งที่เราจะพูดถึงในวันนี้ ก็คือสมาคมมวยปล้ำหญิงที่พุ่งแรงที่สุดยุคนี้ ซึ่งเป็นผลผลิตจากสมาคม DDT สมาคมอินดี้อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ที่หันมาจับตลาดมวยปล้ำหญิงอย่างจริงจังโดยตั้งสมาคมลูกเป็นของตนเองครับ
ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ถือว่าเป็นขาขึ้นของวงการมวยปล้ำหญิงครับ มีค่ายมวยปล้ำหญิงเกิดขึ้นใหม่มากมายในญี่ปุ่น และข่าวคราวของวงการมวยปล้ำหญิงก็ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักมากขึ้น แม้ว่าจะมีทั้งข่าวดีและข่าวไม่ดี
ข่าวดีก็คือปัจจุบันวงการมวยปล้ำนั้นมีการประชาสัมพันธ์ร่วมกับสื่อแขนงอื่นๆ มากขึ้น มวยปล้ำชายในประเทศญี่ปุ่นตอนนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก และทำให้มวยปล้ำหญิงได้อานิสงค์ไปด้วย ตลอดจนมีนักมวยปล้ำหญิงได้เซ็นสัญญากับสมาคมมวยปล้ำ WWE ทำให้เป็นตัวจุดกระแสขึ้นมาอีก
ส่วนในข่าวร้ายๆ ก็เช่นกรณีการนอกบทในค่าย Stardom ซึ่งทำให้นักมวยปล้ำบาดเจ็บจนถึงขั้นรีไทร์ (และทำให้มวยปล้ำหญิงได้ขึ้นปกนิตยสารมวยปล้ำรายสัปดาห์ถึงสองอาทิตย์ติดต่อกัน ตลอดจนออกข่าวจากหลายๆ สำนัก)
ดังนั้นถึงแม้กระแสจะมีทั้งบวกและลบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือช่วงเวลาที่มีสื่อจับจ้องมาในวงการมวยปล้ำหญิงมากเป็นพิเศษอย่างที่ไม่เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว เหตุนี้เองนักลงทุนจึงหันมามองตลาดมวยปล้ำ โดยพยายามหาจุดเด่นของสมาคมตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเอาดาราสวยๆ (ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ในวงการมวยปล้ำ) มาขึ้นต่อสู้ หรือกระทั่งสมาคมผู้ชายเอง ก็พยายามเซ็นสัญญานักมวยปล้ำหญิงเข้ามา
และสิ่งที่เราจะพูดถึงในวันนี้ ก็คือสมาคมมวยปล้ำหญิงที่พุ่งแรงที่สุดยุคนี้ ซึ่งเป็นผลผลิตจากสมาคม DDT สมาคมอินดี้อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ที่หันมาจับตลาดมวยปล้ำหญิงอย่างจริงจังโดยตั้งสมาคมลูกเป็นของตนเองครับ
สมาคมนี้มีชื่อว่า TOKYO JOSHI PRO WRESTLING (東京女子プロレス) เป็นสมาคมลูกของค่าย DDT อย่างที่บอกไป โดยเริ่มก่อตั้งในปี 2012 แต่ว่าตอนนั้นกระแสมวยปล้ำหญิงอยู่ในช่วงตกต่ำและกำลังค่อยๆ ฟื้นฟู (คือมีสมาคมเด่นๆ อยู่ในวงการอยู่แล้ว แต่กระแสไม่มากพอที่จะทำให้ค่ายใหม่ๆ เปิดตัวได้) ทำให้ทางสมาคมต้องปิดตัวไปช่วงนึงครับ (คือตอนแรกแกเปิดเป็น soft opening ลองกระแส) จนกระทั่งเวลาผ่านไปประมาณครึ่งปี สมาคมก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีการเพิ่มรายละเอียดของสมาคมมากขึ้น มีตัวชูโรงคือ Saki Akai อดีตดาราผันตัวมาเป็นนักมวยปล้ำ (แต่ถึงเวลาจริงๆ แกก็ไม่ค่อยโผล่มาในสมาคมครับ เพิ่งจะโผล่มาประจำในช่วงปีที่ผ่านมานี้เอง)

แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า Akai แกไม่โผล่มาในค่ายเท่าไหร่ เพราะ Tokyo Joshi Pro Wrestling ตอนนั้นอยู่ในช่วงตั้งไข่ครับ และทางค่ายแม่อย่าง DDT ก็เห็นว่าการเซ็นสัญญาดาราดังมาด้วยเงินสูงๆ และเอามาปล่อยในค่ายเล็กๆ นั้น ดูจะไม่คุ้มค่าแน่นอน เลยเอาเจ๊มาใช้งานในค่ายหลักมันซะเลย ปล่อยให้ทาง Tokyo Joshi เติบโตด้วยตนเอง ซึ่งสำหรับผมแล้วถือเป็นข้อดีครับ เพราะผมเองมีโอกาสได้คุยกับประธานของสมาคมนี้แบบตัวต่อตัวหลายครั้ง เขาก็บอกว่าการมีคนดังๆ อยู่ในค่าย นอกจากจะเป็นการปิดโอกาสดาวรุ่งในทางอ้อมแล้ว บางทีทางดาวรุ่งเองก็จะรู้สึกสบายใจ ปลอดภัย เหมือนว่าตัวเองจะทำอะไรก็ได้ ยังไงก็มีคนดังคอยคุ้มกะลาหัวอยู่ เป็นต้น
ดังนั้นการขาดหายของ Saki Akai จึงทำให้สมาคม Tokyo Joshi ต้องดิ้นรนด้วยตนเอง ด้วยนักมวยปล้ำของตนเอง (ซึ่งตอนแรกๆ ก็ปล้ำกันไม่ค่อยได้เรื่อง อย่างเช่นปล้ำอยู่ดีๆ ลืมบทกลางอากาศซะงั้น คือก็ทำตัวงึกๆ งักๆ บนเวที) แต่เหตุที่ทางสมาคมไม่ได้สร้างมาโดยบอกว่า “ฉันคือสมาคมมวยปล้ำหญิงที่ดีที่สุด” (แม้จะมีค่ายชั้นนำเป็นตัวตั้งตัวตี) แต่กลับกัน พวกเขาประกาศตั้งแต่ต้นว่านักมวยปล้ำทั้งหมด “เป็นเด็กๆ ที่มีความฝันและอยากจะเป็นนักมวยปล้ำ” ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แฟนๆ จะไม่ได้มาชมเพราะความคาดหวัง พวกเขามาเหมือนแฟนๆ ที่มาดูเหล่าไอดอลที่ผ่านการคัดตัวเข้ามา มาเพื่อเห็นความไม่สมบูรณ์แบบ มาเพื่อให้ได้เห็นพัฒนาการ และมาเพื่อให้กำลังใจนักมวยปล้ำเหล่านี้ ผมมองว่ารูปแบบนี้ได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อครับ

เป็นครั้งแรกที่วงการมวยปล้ำใช้รูปแบบที่วงการไอดอลใช้กัน คือสร้างกลุ่มแฟนๆ ที่เห็นเด็กพวกนี้มาตั้งแต่วันแรก และเนื้อเรื่องของสมาคมนี้ก็คือเห็นการเดินตามฝัน การไต่เต้าของนักมวยปล้ำ ดังนั้นเราจะเห็นอะไรแปลกๆ ในวงการมวยปล้ำจากสมาคมนี้ อย่างเช่น “นักมวยปล้ำ xxx ติดสอบค่ะ มาแข่งขันไม่ได้นะคะ หรือกระทั่งอีเวนท์ที่จัดขึ้นเพื่อฉลองคะแนนสอบของนักมวยปล้ำ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ผมว่าคือความแปลกใหม่ และเป็นความแปลกใหม่ที่ดู “สดใส จริงใจ” เป็นอย่างยิ่ง และนี่คือสิ่งที่ทำให้แฟนๆ ติดตามประทับใจไปด้วยครับ
แต่เดิมนั้น Tokyo Joshi เน้นจัดงานตามเทศกาลต่างๆ ในเมือง และสนามเล็กๆ บางทีก็ปล้ำบนเบาะ คนดูห้าสิบกว่าคนเท่านั้น แต่เวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ยอดคนดูก็เพิ่มมาจนอยู่ที่ระดับ 100 – 200 คนอย่างต่อเนื่อง และค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยที่ทางนักมวยปล้ำเองก็เติบโตขึ้นจนประคองโชว์ได้ ทางสมาคมเองก็ประกาศกฏ 3 ข้อสำหรับนักมวยปล้ำในค่ายก็คือ
1. ห้ามใช้สารเสพติด
2. ห้ามดื่มเหล้า
3. ห้ามมีความรัก
ซึ่งหากใครที่ติดตามวงการไอดอลอยู่ก็จะเห็นว่านี่คือกฏแบบเดียวกันเป๊ะเลยครับ และหลังจากมีกฏนี้ก็จะเห็นว่ามีแฟนๆ ที่มากขึ้น มีฐานคนดูแกร่งขึ้น (คือปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ญี่ปุ่น ฐานแฟนๆ ที่แข็งแกร่งที่สุดก็คือฐานแฟนๆ แนวโอตะเนี่ยแหละ มีทั้งความจงรักภักดีและมีกำลังทรัพย์ในการจ่ายสูง)
หลังจากนั้นทางสมาคมก็มีโอกาสได้ขึ้นโชว์ร่วมกับค่าย DDT มากขึ้นครับ คือในอีเวนท์ใหญ่ๆ อาจจะมีหนึ่งถึงสองแมตช์ที่เปิดโอกาสให้นักมวยปล้ำจาก Tokyo Joshi Pro ขึ้นไปแสดงฝีมือต่อหน้าคนดูจำนวนมาก ที่สำคัญที่สุดก็คือที่ Sumo Hall หรือที่แฟนๆ ซูโม่รู้จักกันในนาม Ryogoku Kokugikan สังเวียนกีฬาระดับตำนานของประเทศที่ว่ากันว่าเป็นสนามแห่งความฝันแห่งหนึ่งของนักสู้ทั่วโลก (ปูมิเองไปดูมวยปล้ำที่นี่มาแล้วหลายครั้งครับ มีเสน่ห์มากจริงๆ คือแค่ออกจากสถานี Ryogoku ก็จะเห็นบรรยากาศสุดยอดแล้ว อยากให้ลองไปกันดูนะครับ)
การขึ้นโชว์กับค่ายใหญ่ ก็ทำให้พวกเธอมีฐานแฟน ๆมากขึ้น จนเริ่มขึ้นไปแตะหลัก 300 คนอย่างต่อเนื่อง เหตุนี้ทำให้ทางสมาคมเริ่มใส่สตอรี่ไลน์เข้าไปในการแข่งขัน จากเดิมที่เป็นเพียงการเอาเด็กมาสู้ๆ กัน ให้เห็นพัฒนาการ พอมีเรื่องราวเหมือนละคร คนดูก็ยิ่งติดตามมากขึ้น และจะให้เป็นละครแบบมวยปล้ำทั่วไปก็คงจะน่าเบื่อ ทางสมาคมเลยหาบทบ้าๆ บอๆ ใส่ไปแทน เช่นเอากุหลาบแวร์ซายมาปนกับมวยปล้ำ (นักมวยปล้ำก็จะแต่งชุดขาว หัวทอง ดูคุณหญิงคุณนาย หรืออะไรแบบนักมวยปล้ำเจอพ่นพิษใส่ แล้วก็ติดพิษกันยกค่าย กลายเป็นปิศาจงู แล้วแก๊งงูก็ตีกับแก๊งนักมวยปล้ำปกติ หรือกระทั่งเจ๊ซากิเอง ก็เคยใช้ชื่อ “ซากิ อองตัวเน็ต” เลียนแบบพระนางมารี อองตัวเน็ต ในขณะที่แกรับบทผู้นำกลุ่มกุหลาบแวร์ซาย เป็นต้น) คือมันตลกและเฮฮามาก (คือเรื่องติงต๊อง แต่พวกนางเล่นกันแบบหน้าตาจริงจังสุด)

…และต้นปี 2016 นี้เองทางสมาคมก็ตัดสินใจครั้งใหญ่โดยการประกาศ “สร้างเข็มขัดแชมป์ของตนเอง” ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากนะครับ ในญี่ปุ่นการจะสร้างเข็มขัดแชมป์สักเส้นนึง ต้องถือว่าตนเองได้รับการยอมรับจากแฟนๆ พอสมควร เพราะที่ญี่ปุ่นคนดูมวยปล้ำจะเรียกตัวเองว่า “คนดูมวยปล้ำมืออาชีพ” คือทันทีที่มีเข็มขัดแชมป์ พวกเขาจะมองคุณด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปทันที กล่าวคือจากเดิมที่อาจจะมองว่าเป็นเด็กที่เขาต้องให้กำลังใจ แต่พอเป็นแชมป์ (หรือท้าชิงแชมป์) พวกเขาจะมองพวกคุณโตขึ้นมาทันที และนั่นคือเวลาที่เขาจะสามารถวิจารณ์ได้ ดังนั้นหากเด็กเหล่านี้ไม่แข็งแกร่งพอ หรือทางสมาคมไม่มั่นใจในอนาคตของสมาคมมากพอ จะไม่มีการสร้างเข็มขัดขึ้นมาอย่างเด็ดขาด
และที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงแค่เข็มขัด แต่เป็นการขึ้นปล้ำที่สนามระดับตำนานที่ได้ชื่อว่า “สวรรค์แห่งวงการมวยปล้ำญี่ปุ่น” อย่าง Korakuen Hall และยังเจ๋งขึ้นไปอีกคือ อีเวนท์ดังกล่าวจัดในวันเดียวกับอีเวนท์มวยปล้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ที่จัดขึ้นในระยะห่างไม่ถึง 500 เมตร ในโตเกียวโดม !!! เรียกว่าเอามวยปล้ำหญิงค่ายเล็กๆ นี้ไปวัดใจกับสมาคมมวยปล้ำที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นไปเลย และผลงานในวันนั้นก็ถือว่ายอดเยี่ยมครับ ทำยอดคนดูได้ถึง 912 คน (ซึ่งหากเทียบกับค่ายอื่นๆ ของมวยปล้ำหญิงถือว่าทำได้ยอดเลยนะครับ อย่างค่ายผมเองทำยอดได้ที่ 800 คน) ถือว่าอีเวนท์ดังกล่าวคือการประกาศศักดาของค่ายนี้อย่างแท้จริงครับ
ความน่ารักอีกอย่างหนึ่งของค่ายนี้ก็คือ “ผู้ประกาศ” นั่นเองครับ โดยผู้ประกาศหลักของค่ายนี้คือ Anime Idol Chic ชื่อดังอย่าง Minami Momochi ที่เชื่อว่าแฟนๆ ไอดอลหรืออนิเมะหลายคนน่าจะรู้จัก หรืออย่างน้อยก็พอจะได้ยินชื่อเธอมาบ้าง โดยเธอเป็นไอดอลที่ใส่หัวมาสคอตอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าอนิเมะ แฟนตาซีมาผสมอยู่ในวงการมวยปล้ำ และ Tokyo Joshi Pro Wrestling ก็ทำให้เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นขึ้นมาครับ อันนี้ถือเป็นความแปลกใหม่เพราะปกติแล้วคนที่เป็นโฆษกจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ใส่สูท หรือทำตัวให้เป็นทางการครับ
และเราขอปิดท้ายกันด้วยภาพของน้อง Miyu Yamashita แชมป์ของค่าย Tokyo Joshi Pro Wrestling คนปัจจุบันครับ เธอมาจากฟุกุโอกะเพื่อเป็นนักมวยปล้ำในโตเกียวโดยเฉพาะ ปัจจุบันอายุ 21 ปีเท่านั้นเอง และหากสนใจสมาคมนี้ก็เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซท์ได้เลยที่ http://www.tokyojyoshipro.net/category/roster มีนักมวยปล้ำน่ารักๆ ให้ติดตามกันเยอะเลยล่ะครับ
ปล. สมาคมมีออกแผ่นกราเวียร์ด้วยล่ะ ….
นี่ก็เป็นอีกสมาคมหนึ่งที่หาแนวทางของตัวเองจนเจอ และประสบความสำเร็จในวงการมวยปล้ำด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีครับ
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ ^^
เรื่องแนะนำ :
– Fukui (ฟุกุอิ) เมืองที่ทำให้ความสุขเบ่งบาน
– Eihei-ji วัดในตำนานที่ชีวิตนี้ต้องไปเยือนสักครั้ง
– พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่ FUKUI 1 ในสถานที่ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับคนรักไดโนเสาร์
– TONAMI : THE CITY OF TULIP “เมืองแห่งทิวลิปที่สวยที่สุดในโลก”
– เกือบตายในบาร์ญี่ปุ่น : การเอาตัวรอดจากคลับบาร์ในเวลาที่โดนโกง