ภูมิภาคโทโฮะกุหรืออีสานของญี่ปุ่นที่จขกท.อยู่นั้น มีชื่อเสียงเรื่องแต่ละจังหวัดจัดเทศกาลหน้าร้อนอย่างประสานเวลากันทำให้ใครมาเที่ยวจะได้ตระเวนดูให้คุ้ม เทศกาลเหล่านี้จัดกันตามลำดับดังนี้ค่ะ
หน้าร้อนของญีปุ่นร้อนจริงๆ ค่ะ แต่เป็นช่วงแห่งการจัดเทศกาลที่สนุกสนาน ขับไล่ความง่วงเหงาหาวนอน
ภูมิภาคโทโฮะกุหรืออีสานของญี่ปุ่นที่จขกท.อยู่นั้น มีชื่อเสียงเรื่องแต่ละจังหวัดจัดเทศกาลหน้าร้อนอย่างประสานเวลากันทำให้ใครมาเที่ยวจะได้ตระเวนดูให้คุ้ม เทศกาลเหล่านี้จัดกันตามลำดับดังนี้ค่ะ
วันที่ 1-4 ส.ค. Sansa Odori เมือง Morioka จังหวัด Iwate

ในงาน Sansa Odori นี้จะมีพาเหรดฟ้อนรำประกอบเพลงซึ่งจะมีเสียงผู้คนร้องว่า Sakkora Choiwa Yasse!ปลุกใจเป็นระยะๆ แปลตรงๆ ได้ว่า “ความสุขนั้นหากเราเรียกหา ก็จะมาเยือน”

Sansa Odori เป็นการเต้นฟ้อนรำประกอบเสียงกลองญี่ปุ่นที่สนุกไม่น่าเบื่อ ผู้เต้นใส่กิโมโนที่มีสีสัน ทำให้ค่ำคืนหน้าร้อนสดชื่นมีชีวิตชีวา งานนี้จัดระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคมทุกปี ในตอนค่ำ เวลา 18.00-21.00 น. บริเวณถนน Chuo-dori หน้าศาลาว่าการจังหวัดอิวะเตะ
วันที่ 2-7 ส.ค. เทศกาล Nebuta ของจังหวัด Aomori

ในงาน Nebuta โคมกระดาษขนาดยักษ์ที่ทำเป็นรูปร่างหน้าตาของนักรบในตำนานโบราณและฉายไฟจากข้างใน โคมนี้จะถูกลากไปตามถนนใหญ่ในเมืองอย่างคึกคัก แสดงถึงพลังและเรี่ยวแรงของกลุ่มผู้ลาก

ผู้เข้าร่วมเดินเป่าปี่ตีกลองและกระโดดแบบถีบขาเหย็งๆ ออกทีละข้างดูน่าสนุก พร้อมกับเปล่งเสียง Rasse Rasse Rassera! ไปตลอดทาง เทศกาลนี้จัดใจกลางเมือง Aomori และหลายจุดในจังหวัดอะโอะโมริค่ะ
วันที่ 3-6 ส.ค. เทศกาล Kanto Matsuri ใจกลางเมือง Akita
ไฮต์ไลต์ของเทศกาลนี้คือการพยายามทรงลำไผ่ท่อนยาวที่แขวนโคมจำนวนมากไว้บนบ่า ลำไผ่นี้อาจยาวถึง 12 เมตรและมีน้ำหนักมากถึง 50 กก.

เมื่อสัญญานบอกเริ่ม ตัวแทน 1 คนจากกลุ่มที่สมัครเข้าร่วมจะยกตั้งลำไผ่ขึ้นและผลัดเปลี่ยนวางบนส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ไหล่ หลัง หน้าผากให้ได้นานที่สุด โดยสมาชิกกลุ่มจะส่งเสียงเชียร์ Dokkoisho, dokkoisho ให้กำลังใจอยู่ข้างๆ เทศกาลนี้มีความหมายเป็นการอธิษฐานขอพร ให้มีความอุดมสมบูรณ์ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป
วันที่ 5-7 ส.ค. เทศกาล Hanagasa เมืองยะมะกะตะ
ผู้คนจะแต่งกิโมโนสีสันสด พร้อมหมวกงอบที่มีดอกคำฝอย(紅花)ประดับอยู่ เนื่องจากเมืองนี้โตมาได้จากการค้าขายดอกคำฝอยมาตั้งแต่สมัยโบราณ และฟ้อนรำในท่าสนุกๆ ที่พวกเขาคิดซ้อมขึ้นมา ขณะเดินเป็นทีมในขบวนพาเหรด ซึ่งจะเปิดเพลงเดียวกัน พร้อมมีเสียงร้องรับ Ha Yassho! Makkasho! เป็นระยะๆ

งานเริ่มตอน 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่มครึ่ง มีโต๊ะรับสมัครผู้ที่อยากเข้าร่วมเต้นในงานด้วย
วันที่ 6-8 ส.ค. เทศกาล Sendai Tanabata ของเมืองเซนได
ระหว่างช่วงเทศกาลดวงดาวของเมืองเซนได ถนนหนทางในเมืองถูกประดับประดาด้วยโคมกระดาษสีสวยที่แขวนบนกิ่งไผ่ลำใหญ่

ตามที่ต่างๆ จะประดับกิ่งไผ่ที่ตบแต่งด้วยกระดาษสีต่างๆ กับมีกระดาษให้เขียนคำอธิษฐานแขวนกันด้วยค่ะ หากมองดูดีๆ จะเห็นว่ามีเครื่องประดับที่ทำเป็นของ 7 อย่างด้วยกัน ซึ่งมีความหมายดังนี้
① นกกระเรียน = ครอบครัวเป็นสุข มีอายุยืนยาว
② แหจับปลา = ทำมาค้าขึ้นทั้งการประมงและเกษตร
③ กระเป๋าสตางค์ = โชคลาภเรื่องเงิน
④ โคมสายกระดาษ = เส้นไหมระลึกถึงเจ้าหญิงทอผ้า
⑤ ชุดกิโมโน = ความสามารถเย็บปักถักรัอย
⑥ ใบคำอธิษฐาน = เขียนขอพรและให้มีความสามารถด้านการเรียน
⑦ ตะกร้าเศษขยะ !! สื่อความหมายว่าไม่ว่าจะทำอะไร สุดท้ายแล้วให้เก็บให้เรียบร้อย และมีความมัธยัสถ์

หากจะมาดูโคมทะนะบะตะในงานเทศกาลนี้ให้ลงรถไฟที่สถานีเซนได แล้วเดินเรื่อยมาบนถนนช้อปปิ้งอาเคดจนถึงหน้าศาลาว่าการเมืองเซนได จะได้เห็นโคมสวยประดับไปตลอดทาง ส่วนที่ลานประชาชน Shimin Hiroba มีการแสดงบนเวทีให้ชมฟรี



ค่ำวันที่ 5 สค. จะยิงดอกไม้ไฟกันถึง 16,000 นัด ติดต่อกัน 90 นาทีเต็มๆ ระหว่าง 19.00-20.30 น.เพื่อฉลองการเริ่มเทศกาลทะนะบะตะ จุดชมดอกไม้ไฟที่ขอแนะนำดังนี้ค่ะ
1) แถวๆ ถนน Hirose ยิ่งใกล้ไปทางมหาวิทยาลัยโทโฮะกุได้มากเท่าไรยิ่งดี
2) หน้าสวน Nishi Koen
3) ถ้าหากมีรถ ไปที่ที่ตั้งปราสาทเซนได เวลาไปดูดอกไม้ไฟ แนะนำให้เอาเสื่อพับหรือเก้าอี้นั่งเล็กๆ ไปด้วย จะได้ไม่เมื่อยค่ะ


ใครจะมาเที่ยวเทศกาล ต้องจองที่พักไว้แต่เนิ่นๆ เพราะเต็มไว้มากอย่างปีนี้ (พ.ศ.2558) คงหาที่พักในช่วงที่เทศกาลกำลังจัดได้ยากแล้ว เอาเก็บไว้เป็นข้อมูลเที่ยวในปีหน้าแล้วกันนะคะ ทุกปีจัดวันที่เดียวกัน