ล่ามนักกีฬาอาชีพ อาชีพที่หลายๆ คน รวมถึงน้องๆ ที่เรียนญี่ปุ่นหรือชอบฟุตบอล Inbox หาผมว่าอยากลองทำ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง ว่ามันเป็นยังไง EP.6 By ทิซัง (^^)
อาชีพนี้ที่น้องๆ หลายๆ คนอยากเข้ามาลอง ซึ่งเรื่องราวการทำงานในวงการนี้หลายๆ คนอาจจะเห็นแค่เบื้องหน้า คือวันแข่งที่ผมนั่งอยู่ในม้านั่งสำรองคอยแปลอยู่ข้างสนาม
แต่พอดีช่วงนี้อยู่ในช่วงฟื้นฟูสภาพร่างการของน้องชายผมพอดี เลยทำให้นึกถึงงานแฝงต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวภายในการทำอาชีพนี้ เลยหยิบยกมาเล่าให้น้องๆ ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นได้ฟัง
หนึ่งในสิ่งที่ต้องเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติม หลังจากเข้ามาในวงการนี้คืออาการบาดเจ็บของนักกีฬา ซึ่งผมเองก็ไม่ได้จบหมอมา แค่จบเอกภาษาญี่ปุ่น แต่ก็ต้องไปเรียนรู้คำศัพท์และจำคำศัพท์ชุดนี้ให้ขึ้นใจ เพราะมันสำคัญต่อระยะเวลาในการรักษาและการประเมินเมนูในการใช้เข้ามาเพื่อเรียกความฟิต
ซึ่งอาการบาดเจ็บของนักฟุตบอลผมแยกเป็นง่ายๆ 2 อย่าง คืออาการบาดเจ็บภายนอก และอาการบาดเจ็บภายใน
อาการบาดเจ็บภายนอกที่ไม่ได้เกิดมาจากตัวเอง ง่ายๆ ก็พวกขาพลิก โดนเสียบจนขาบวม โหม่งหัวชนกันเลือดไหลหรือหมดสติ ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่ส่งผลเยอะต่อการพักรักษาตัว โดยอาจจะใช้เวลาพักประมาณ 1-2 สัปดาห์
ขณะที่อาการบาดเจ็บจากภายในส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อท่อนล่างได้ทุกส่วน ภาษาบอลเขาเรียกว่า “ปิ๊ด” หรือกล้ามเนื้อฉีกจากการใช้งานมากจนเกินไป โดยคำศัพท์วงนี้ต้องลงไปดูในพวกชุดกล้ามเนื้อในแต่ละส่วน ซึ่งจริงๆ ผมก็อาศัยเจอจริง แล้วค่อยๆ เก็บคำมาใช้ หากเกิดอาการฉีกของกล้ามเนื้อ สิ่งที่ต้องทำคือการพาไป MRI ฟังผลจากหมอ ดูการประเมินจากหมอ แล้วนำผลไปบอกต่อเทรนเนอร์ของทีม เพื่อประชุมกันสามคน มีผม เทรนเนอร์ นักบอล ในการคำนวณหรือหาวิธีการรักษาและเสริมกล้ามเนื้อไปควบคู่กับการเรียกความฟิต
หลายคนคงสงสัยว่าแล้วช่วงฟื้นฟูสภาพร่างกาย ล่ามอย่างเราต้องทำอะไรบ้าง เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง แต่บอกเลยว่าช่วงนี้คือช่วงที่ยากทั้งนักบอลทั้งล่าม เหนื่อยกว่าซ้อมบอลปรกติอีก
อาการฉีกของกล้ามเนื้อ แบ่งเป็นเกรด 1, 2, 3 เกรด 1 ก็ 3-4 สัปดาห์ เกรด 2 ก็ประมาณ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งผมจะยกเคสเกรด 2 มาให้ดู เป็นระยะเวลาทำงานที่ยาวหน่อย
เกรด 2 ตามที่ผมบอกคือฉีกเยอะ ใช้เวลาพัก+เรียกฟิตก่อนซ้อมเต็มๆ ให้ได้เหมือนเดิมต้องใช้เวลา 6-8 สัปดาห์ โดย 2 สัปดาห์แรกจะเป็นช่วงที่เล่นอะไรกับขาไม่ได้เลย วิธีการทำงานของเทรนเนอร์เพื่อฟื้นฟูสภาพก็จะเน้นการเล่นท่อนครึ่งตัวบนเป็นหลัก เพื่อรอให้อาการฉีกดีขึ้นก่อนถึงจะค่อยๆ สร้าง งานของผมในช่วงนี้คือการอยู่เล่นเป็นเพื่อนซะเป็นส่วนใหญ่ เขายกเวทอะไรก็ยกไปกับเขาด้วยซะเลย ส่วนตัวผมเองถ้าไม่ได้ซ้อม ความฟิตก็หายเหมือนกัน เพราะไม่ได้วิ่ง แต่ก็จะอาศัยเล่นไปพร้อมๆ กัน เพื่อเรียกกำลังตัวเองให้กลับมาด้วย
เริ่มต้นช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 หลังจากอาการฉีกดีขึ้น ก็จะเริ่มเสริมท่อนล่างและรักษาไปด้วยในตัว พร้อมการให้เริ่มเล่นกับบอลมากขึ้น อาจจะมีสักสองสามฐาน เพื่อคอยเช็คการเคลื่อนไหวว่าดีขึ้นมากน้อยขนาดไหน เพื่อประเมินวิธีการในสัปดาห์ที่ 5-6 ต่อ แต่หลักๆ พอเข้าช่วง 5-6 จะมีทั้งเมนูเสริม ท่อนบน ท่อนล่าง เข้าฐานเล่นกับบอล แล้วจบด้วยการเริ่มจ๊อกกิ้ง เราคู่หูก็ต้องอยู่ในทุกเซ็กชั่น เล่นหมด แล้วก็จะเริ่มฟิตไปพร้อมๆ กัน
7-8 นี่ยากสุดเพราะจะต้องสปีดเต็มร้อย หรือภาษาบอลเรียกว่าการ Interval เพื่อเรียกกำลังและจังหวะหายใจ พอขั้นนี้ให้ตายยังไงเราก็วิ่งไม่ทัน ช่วงนี้ผมก็จะอาศัยวิ่งตัดสนามเอา คอยแจ้งเวลาว่าวิ่งได้ตามเวลาที่เทรนเนอร์กำหนดมาไหม
ไอ้ที่เห็นบางช่วงหายไปจากหน้าจอถ่ายทอดสด เพราะพวกผมกำลังอยู่ในขั้นตอน ถ้าภาษาวงดนตรีก็คือการเตรียมตัวขึ้นโชว์ เพื่อให้ผู้ชมสนุกและมีความสุขไปกับการเล่นของนักกีฬา อีกไม่นานเกินรอครับ เดี๋ยวได้เห็นกันในการถ่ายทอดสดแน่ รอบหน้าจะเล่าเกร็ดเจลีกอะไรในฐานะของล่ามให้ฟังอีก… คอยติดตามครับ ชอบกดแชร์ กดไลท์นะครับ
เรื่องแนะนำ :
– ล่ามนักกีฬาอาชีพ อาชีพที่น้องๆ สายญี่ปุ่นอยากลองทำ ตอนที่ 5
– ล่ามนักกีฬาอาชีพ อาชีพที่น้องๆ สายญี่ปุ่นอยากลองทำ ตอนที่ 4
– ล่ามนักกีฬาอาชีพ อาชีพที่น้องๆ สายญี่ปุ่นอยากลองทำ ตอนที่ 3
– ล่ามนักกีฬาอาชีพ อาชีพที่น้องๆ สายญี่ปุ่นอยากลองทำ ตอนที่ 2
– ล่ามนักกีฬาอาชีพ อาชีพที่น้องๆ สายญี่ปุ่นอยากลองทำ
#ล่ามนักกีฬาอาชีพ อาชีพที่หลายๆ คน รวมถึงน้องๆ ที่เรียนญี่ปุ่นหรือชอบฟุตบอล Inbox หาผมว่าอยากลองทำ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง ว่ามันเป็นยังไง EP.6 By ทิซัง