เรื่องราวของเปลวไฟแห่งฮิโรชิม่ากระจายออกไป ต่อมาจึงมีผู้คนอยากจะรักษามันไว้เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสงคราม
สถานีรถไฟอูเอโนะ ที่ทุกวันก็เต็มไปด้วยผู้คนอยู่แล้ว เช้าวันนั้นยิ่งคับคั่งขึ้นไปอีก…
ผมกับเพื่อนร่วมชีวิตที่เพิ่งถูกเลื่อนขั้นเป็นคุณย่า เดินทางโดยรถไฟสายรอบเมือง Yamanote Line ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาทีจากสถานีต้นทางมาลงที่สถานีอูเอโนะ เป้าหมายก็เหมือนกับคนญี่ปุ่นทั้งชาวกรุงโตเกียวและนักท่องเที่ยวจากหัวเมือง ผู้คนอยากจะมาชื่นชมความงามของดอกซากุระในสวนสาธารณะอูเอโนะ ที่กล่าวกันว่าบรรยากาศงามเหนือแห่งใด

อูเอโนะน่าจะเปรียบได้กับไฮปาร์คของลอนดอน หรือเซนทรัลปาร์คของนิวยอร์ค แต่ที่อูเอโนะเด่นกว่าก็คือมีพิพิธภัณฑ์สำคัญหลายแห่งในบริเวณสวนฯ ทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงโตเกียวตั้งอยู่เพียงเดินข้ามถนน
เดินออกจากสถานีรถไฟหากเลี้ยวซ้ายจะเข้าตลาด เลี้ยวขวาแล้วข้ามถนนจะเข้าสู่บริเวณสวนสาธารณะ วันนี้ดอกซากุระบานฉ่ำรับฤดูใบไม้ผลิ งามยิ่งนัก ราวกับจะพยายามปลอบใจชาวอาทิตย์อุทัยให้คลายความเศร้าโศกต่อการจากไปของเหยื่อแผ่นดินไหว-สึนามิ นับหมื่นชีวิต และอาจจะช่วยคลายความกังวลต่ออนาคต ต่อภาระทางเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องช่วยกันฟันฝ่าให้ประเทศสามารถก้าวข้ามไปให้ได้
กลุ่มที่มาปิกนิคก็เอาเสื่อพลาสติกออกมาปูข้างทาง เตรียมอาหารการกิน และเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้คือเบียร์ เริ่มนั่งล้อมวง วงใครวงมัน
คนที่พาหมามาเดินก็เตรียมการอย่างดี ผมเห็นหมาฉี่กลางทางเดิน สงสัยอยู่ในใจว่าเจ้าของจะทำยังไง ปรากฏว่าเขาควักผ้าซับฉี่เด็ก เอามาซับผลงานของหมาสุดที่รัก แถมยังเอาน้ำดื่มราดและซับอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นทางเดินจะสะอาด
ผู้คนมากมายแต่กลับไม่มีเสียง มาแข่งกับความงามของดอกซากุระ
คนญี่ปุ่นนั้นถือเรื่องมารยาทเป็นสำคัญ พวกเขาจะไม่ส่งเสียงเอะอะมะเทิ่ง หรือตะโกนโหวกเหวก
พลันผมได้ยินเสียงหัวเราะและเสียงตะโกนดังลั่นมาจากด้านหลัง หันไปก็ไม่ผิดคาด คนไทยกลุ่มเล็กมีเพียง 4 – 5 คน สามารถทำลายความสงบงามของฤดูใบไม้ผลิได้เหลือเชื่อยิ่งนัก
ตรงสุดทางเดินเลี้ยวซ้ายจะมีศาลเจ้าตั้งอยู่ แรกๆ ดูก็ไม่น่าสนใจอะไร มาสะดุดใจก็ตรงที่ริมทางเดินด้านขวาก่อนจะเข้าศาลเจ้ามีงานศิลปะแบบลอยตัวตั้งอยู่ เมื่อดูใกล้ๆ จะเห็นเปลวไฟอยู่ในตัวนกพิราบ
ผมเดินมาอ่านที่แผ่นทองเหลืองอธิบายความจึงประจักษ์ว่านี่คือ เปลวไฟที่ถูกนำมาจากเมืองฮิโรชิม่า ที่สำคัญคือเป็นเปลวไฟที่ได้จากการเผาไหม้ของบ้านเรือนที่เกิดจากฤทธิ์ระเบิดปรมาณูที่ทิ้งลง ณ เมืองฮิโรชิม่าเมื่อเช้าตรู่วันที่ 6 สิงหาคม คริสตศักราช 1945 หรือ 66 ปีมาแล้ว และอีก 3 วันต่อมา เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐก็บินไปทิ้งระเบิดปรมาณูอีกลูกหนึ่งที่เมืองนางาซากิ เหตุการณ์ทั้งสองครั้งเมื่อบวกกับความสูญเสียตลอดเกือบ 4 ปีของสงครามมีคนญี่ปุ่นตายไปกว่า 2.5 ล้านคน แต่ทว่าตลอดสงครามทหารญี่ปุ่นก็ไปฆ่าคนต่างชาติหลายแสนคน ทั้งที่เป็นทหารที่สู้รบกันในสมรภูมิ แต่ส่วนใหญ่เหยื่อของทหารเลือดบูชิโด ดูจะเป็นพลเรือนเสียมากกว่า
เรื่องราวของเปลวไฟสันติภาพมีอยู่ว่า หลังจากที่ฮิโรชิม่าถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู ทัดซูโอะ ยามาโมโต้ ได้เดินทางไปที่บ้านลุงของเขาที่เมืองฮิโรชิม่า เขาพบว่าท่ามกลางซากของบ้านที่ถูกทำลายเรียบยังมีเปลวไฟลุกโชนอยู่ เขาจึงต่อเปลวไฟนั้นและนำกลับมารักษามันไว้ที่บ้านเกิดที่จังหวัดฟุกุโอกะทางใต้ของฮิโรชิม่า เรื่องราวของเปลวไฟแห่งฮิโรชิม่ากระจายออกไป ต่อมาจึงมีผู้คนอยากจะรักษามันไว้เสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสงคราม จึงมีกลุ่มคนจัดตั้งกองทุน มีคนเข้าร่วมเซ็นชื่อเพื่อให้รักษาเปลวไฟนี้ถึง 30 ล้านคน และสุดท้ายในเดือนสิงหาคม 1990 ได้นำเปลวไฟมาไว้ในสถานที่อันจะเป็นการเตือนใจผู้คนว่า…
“อาวุธนิวเคลียร์นั้นจะทำลายมนุษยชาติทั้งมวล การขจัดอาวุธนิวเคลียร์เป็นวาระเร่งด่วนสำหรับการคงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์”
There must never be another Nagasaki.”
ผมกับเพื่อนร่วมชีวิต ยืนสงบอยู่หน้าเปลวไฟรำลึกถึงความสูญเสียในสงครามโลกครั้งที่สอง
พลันได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวกของเพื่อนร่วมชาติดังมาจากด้านหลังอีกครั้ง…
ขอบคุณรูปภาพ : http://ryugakusei-desu.blogspot.com/