เขาถูกให้เข้ารับ “การอบรมใหม่” ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นการอบรมหรือพัฒนาความสามารถ แต่เป็นเพียงการสร้างความกดดันทางจิตใจให้ทำงานแย่ๆ เช่น ขัดรถไฟ เช็ดขี้นกพิราบ โดนปรับเงิน โดนพูดจาถากถางและให้เขียนรายงานเกี่ยวกับความผิดซ้ำไปซ้ำมา
สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านหลังจากเราได้ทำความรู้จักกันในสองตอนที่ผ่านมา เราก็กลับมาสู่เรื่องของการทำงานนะคะ
เมื่อเดือนก่อนดิฉันได้เจอเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เล่าให้ฟังว่าเพื่อนที่ทำงานของเขาที่เพิ่งเข้างานอายุเพียง 23 ปี ได้ฆ่าตัวตายที่ห้องพักโดยมีสาเหตุมาจากทนรับแรงกดดันจากเพื่อนร่วมงานไม่ไหว เพื่อนสนิทของเขาอีกคนก็ช็อคที่รู้ข่าวทำให้มีอาการป่วยทางจิตไปด้วย
เหตุการณ์การถูกกดดันในที่ทำงานที่เป็นข่าวโด่งดังในญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือเหตุการณ์รถไฟตกรางครั้งใหญ่ที่โอซาก้า ซึ่งส่งผลให้มีคนตายเป็นร้อยและบาดเจ็บอีกหลายร้อย คนขับรถไฟก็คือพนักงานบริษัทรถไฟ JR ชื่อทาคามิ ที่เพิ่งทำงานได้ 11 เดือน

ทาคามิได้รับความกดดันอย่างมากเนื่องจาก 3 สัปดาห์แรกของการทำงานเคยโดนทำโทษเนื่องจากจอดรถไฟเลยสถานีไป 100 เมตร เขาถูกให้เข้ารับ “การอบรมใหม่” ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นการอบรมหรือพัฒนาความสามารถ แต่เป็นเพียงการสร้างความกดดันทางจิตใจให้ทำงานแย่ๆ เช่น ขัดรถไฟ เช็ดขี้นกพิราบ โดนปรับเงิน โดนพูดจาถากถางและให้เขียนรายงานเกี่ยวกับความผิดซ้ำไปซ้ำมา
ในวันที่เกิดเหตุทาคามิได้ขับรถไฟเข้าสถานีหนึ่งช้าไปหนึ่งนาทีกว่า เขาจึงเร่งความเร็วเพื่อให้ทันเวลาเพื่อเข้าสถานีถัดไป และก่อนรถไฟตกรางเขาเลือกที่จะใช้เบรคธรรมดาแทนเบรคฉุกเฉินเพราะเขารู้ดีว่า หากเขาใช้เบรคฉุกเฉิน เรื่องจะต้องถูกรายงานไปที่บริษัทและเชาจะต้องถูกเข้ารับ “การอบรมใหม่” อีกครั้ง ความเข็ดขยาดในการเข้ารับการอบรมครั้งก่อนทำให้ทาคามิตัดสินใจผิดทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ในปีต่อๆ มารัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว เพราะได้รับรายงานเรื่องการถูกทำร้ายจิตใจในที่ทำงานจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย เพิ่มขึ้น กล่าวกันว่าการถูกกดดันในที่ทำงานมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น เจ้านายที่ใช้อำนาจในหน้าที่กับลูกน้อง ทำให้เกิดการทำร้ายจิตใจโดยพฤติกรรมต่างๆ เช่น ทุบกำแพง ตะโกนใส่ ให้ลูกน้องทำงานในห้องที่อุณหภูมิศูนย์องศาจนถึงขั้นลงไม้ลงมือหรือขว้างของ ใส่ลูกน้อง เช่น กระชากเน็คไท การดูถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อหน้าคนอื่น ใช้คำรุนแรงเช่น โง่ อีเดียท ขยะ ต่อหน้าลูกค้า การให้งานห่วยๆ ที่ไม่ต้องใช้ความสามารถหรือไม่ได้มีความสำคัญ ให้ทำงานเยอะมากๆ เกินกว่าจะรับไหวหรือไม่ให้ทำอะไรเลย
ทั้งนี้มีสืบเนื่องมาจากประเพณีการทำงานแบบใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ สำหรับคนญี่ปุ่นบางคนเห็นว่าการบริหารคือการใช้อำนาจดุดันและห้ามมีการบ่น หรือต่อว่าใดๆ การที่เจ้านายโหดร้ายกลับกลายเป็นเรื่องปกติ สำหรับบางคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์การมีเจ้านายดีๆ ก็คิดว่าการเป็นเจ้านายแบบโหดๆ นั้นดีมีอำนาจ การแสดงอารมณ์โกรธก็เป็นการแสดงอำนาจอย่างหนึ่งก็เลยทำต่อๆ กันมา โดยปกติคนญีปุ่นก็ไม่เปลี่ยนงานกันง่ายๆ ดังนั้นเมื่อโดนกดดันจึงได้แต่ทนหุบปาก หรืออาจทนไม่ได้ต้องลาออกไปเอง
สาเหตุอีกประการคือ การมีพนักงานหลายระดับเช่น พนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว ทำให้พนักงานประจำใช้อำนาจข่มขู่พนักงานชั่วคราว ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวหรือการพยายามกีดกันคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ และมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งต่างๆ นานาได้แก่ การจัดประชุมรวมกลุ่มเพื่อต่อว่าพนักงานคนดังกล่าว กีดกันไม่ให้ทำงาน บอกเวลาเข้าประชุมผิดๆ บอกให้ลาออกทุกๆ วัน ถูกกีดกันไม่ให้ร่วมทริปกับพนักงานคนอื่นๆ ไม่ได้รับการแจกเอกสารเพื่อเชิญไปร่วมงานปาร์ตี้
กล่าวกันว่าลักษณะ สำคัญของออฟฟิสที่มีการกลั่นแกล้งในที่ทำงานได้แก่ มีการสื่อสารกันน้อยระหว่างเจ้านายและลูกน้อง เพราะมันเป็นการยากที่จะสื่อสารให้เจ้านายทราบถึงความรู้สึกไม่พอใจกดดัน กังวลหรือบอกถึงปัญหาต่างๆ รวมถึงออฟฟิสที่ต้องทำงานล่วงเวลามากๆ ออฟฟิสที่ลาพักร้อนได้ยาก
ในทุกๆ ปีโรคเกี่ยวกับจิตใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงโรคซึมเศร้าและโรคอื่นๆ สืบเนื่องมาจากความกดดันจากการทำงานค่ะ