หลังจากคอยสังเกตอยู่ตลอด 8 ปีที่อยู่ญี่ปุ่น เกตุวดีก็พบว่าคนญี่ปุ่นจะถูกฝึกสิ่งต่างๆ เหล่านี้โดยธรรมชาติ ทั้งจากโรงเรียน ที่บ้าน หรือสังคม ยกตัวอย่างง่ายๆ แม้แต่ตอนทานข้าว คนญี่ปุ่นยังต้องอดทนต่อสิ่งต่างๆ นานา ลองมาดดูกันค่ะ
ถ้าถามคนไทยว่าคุณคิดว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนยังไง ร้อยทั้งร้อยจะต้องเอ่ยคำคุณศัพท์ดังต่อไปนี้ค่ะ
“ขยัน” “มีระเบียบ” และ “อดทน”
หลังเกิดสึนามิหรือแผ่นดินไหว คนญี่ปุ่นยังเข้าแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีการแย่งชิงของกัน แบ่งปันกันกิน แบ่งปันกันใช้ ซึ่งคนชาติอื่นจะงงมากว่าคนญี่ปุ่นทำได้ไง ทำไมไม่เกิดจลาจล ไม่มีการแย่งชิง ทำไมเขาทำได้?

หลังจากคอยสังเกตอยู่ตลอด 8 ปีที่อยู่ญี่ปุ่น เกตุวดีก็พบว่าคนญี่ปุ่นจะถูกฝึกสิ่งต่างๆ เหล่านี้โดยธรรมชาติ ทั้งจากโรงเรียน ที่บ้าน หรือสังคม ยกตัวอย่างง่ายๆ แม้แต่ตอนทานข้าว คนญี่ปุ่น (และคนไทยที่ตามไปกินด้วยอย่างเดี๊ยน) ยังต้องอดทนต่อสิ่งต่างๆ นานา ลองมาดูกันค่ะ
1. ทนรอคัมไป
เมื่อไปถึงร้านอาหาร ไม่ว่าแต่ละคนจะเหนื่อยโทรมหิวโฮกเพียงใด คนญี่ปุ่นจะไม่เริ่มกินข้าวจนกว่าจะได้ทำพิธีกรรมหนึ่งค่ะ … นั่นคือการ “คัมไป” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ชนแก้ว”

คุณไปร้านอาหารกับเพื่อนๆ หรือเจ้านายหรือครอบครัว คุณคีบน้ำแข็งใส่แก้ว รินน้ำ แจกจ่ายให้ทุกคน พวกคุณจิบน้ำไป คุยกันไปพลางระหว่างรออาหาร เมื่อพนักงานมาเสิร์ฟอาหาร ทุกคนก็ตักทานไปคุยไป
ที่ว่ามาข้างต้นเป็นภาพปกติที่เห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย
คนไทยจะไม่มีจังหวะที่แน่นอนว่าจะชนแก้วตอนไหนดี อาจชนแก้วตอนเริ่มทานข้าว หรือกินๆไป เมาๆได้ที่ก็“เฮ้ย…ชนแก้วเว่ย” ขนาดงานแต่งงาน เรายังไปชนแก้วตอนกลางๆ พิธีเลย
ทว่า ถ้าคุณไปญี่ปุ่น หากคุณไม่ผ่านพิธีคัมไป คุณจะไม่สามารถแตะต้องอาหารได้! เมื่อเข้าไปนั่งในร้านอาหารเรียบร้อย คุณต้องสั่งเครื่องดื่มก่อน พอบริกรยกเครื่องดื่มมาเสิร์ฟทุกคนเรียบร้อย ผู้ที่อาวุโสในวงหรือรุ่นพี่หรือใครก็ตามจะพูดขึ้นมาว่า “เอ้า เครื่องดื่มได้ครบกันแล้วนะ มาๆ” “คัมไป” ทุกคนก็จะเอาแก้วมาชนกันตรงกลางแล้วพูดว่า “คัมไป”
แล้วไอ้การคัมไปมันฝึกความอดทนตรงไหนเหรอคะ…
ไม่ว่าคุณจะคอแห้ง เจ็บคอ หรือหิวแค่ไหน คุณต้องรอให้เครื่องดื่มทุกคนมา รอให้ทำพิธีกรรมคัมไปให้เสร็จก่อน ห้ามแอบดื่มก่อน ถ้าคุณดื่มก่อน คนญี่ปุ่นจะมองด้วยหางตาว่าคุณเป็นพวกไม่เห็นความสำคัญของส่วนรวม (ตรงไหนวะ) ไม่มีความอดทน เห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก โดนติฉินต่างๆนานา…ในใจเขาค่ะ เขาไม่แหวกหญ้าให้คุณตื่นหรอก
โอเค้… คุณอาจเป็นเด็กดี ทนรอคัมไปได้ แต่เรื่องไม่จบแค่นั้นค่ะ คุณต้องทนตั้งแต่การสั่งเครื่องดื่มมาคัมไปด้วย
ถ้าคุณรู้จักคนญี่ปุ่นดีในระดับหนึ่ง คุณจะรู้ว่าเครื่องดื่มที่คนญี่ปุ่นชอบสั่งมาคัมไปก็คือ “เบียร์” นั่นเอง เคยสงสัยไหมคะว่าทำไม … คือที่ญี่ปุ่น ร้านอาหารเขาจะเทเครื่องดื่มมาเป็นแก้วๆ ไม่ได้มาคีบน้ำแข็งแล้วเทใส่แก้วที่โต๊ะเหมือนบ้านเรา เพราะฉะนั้นต่อให้คุณสั่งโค้ก สั่งชา เขาจะไม่ตั้งเป็นขวด จะยกมาเป็นแก้วๆ สมมติว่า เราไปกัน 8 คน สั่งเครื่องดื่ม 8 อย่าง คนทำก็ต้องนั่งเท นั่งทำทีละแก้ว ซึ่งเสียเวลามาก แต่ถ้าคุณสั่งเบียร์ มันมาเป็นขวดหรือเหยือก ทางร้านจะให้ลูกค้ารินกันเอง ซึ่งก็ง่ายดี เร็วดี พร้อมคัมไปได้เร็ว
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนเกตุวดีไปญี่ปุ่นใหม่ๆ ในขณะที่คนอื่นๆ สั่งเบียร์ เดี๊ยนเสล่อสั่งน้ำสับปะรดปั่นเพราะดื่มเบียร์ไม่ได้ ขอย้ำว่าน้ำสับปะรด “ปั่น” มันไม่ใช่แค่เปิดขวดน้ำสับปะรดแล้วเทใส่แก้วตามปกติ มันต้องหั่นสับปะรด ต้องเอาไปปั่น แต่ตอนนั้นเดี๊ยนไม่ได้นึกถึงภยันตรายที่กำลังจะคุกคามจิตใจตัวเอง ฉันอยากดื่มอะไรฉันก็สั่ง

ปรากฏว่า ทุกคนรินเบียร์กันเสร็จสรรพ สับปะรดปั่นเดี๊ยนยังไม่มาเสียที อีก 7 ชีวิตต้องมานั่งรอเกตุวดีอยู่คนเดียว ฟองเบียร์ที่เทงามๆ ก็ค่อยๆแฟ่บๆ หายไป ทุกคนก็พยายามคุยกันปกติตอนรอ แต่ต่างคนต่างชำเลืองไปทางห้องครัวว่าเมื่อไรแกจะยกอีสับปะรดปั่นออกมาให้นังนี่เสียที บรรยากาศมาคุมาก เกตุวดีรู้สึกกดดันมาก หลังจากนั้นมา ถ้าไปดื่มกับคนญี่ปุ่น เกตุวดีจะพยายามสั่งพวกน้ำอัดลม มันจะได้เทใส่แก้วได้อย่างเดียว สปีดในการทำคงเร็วพอๆกับเบียร์ หรือไม่ก็ถ้ามีใครสั่งน้ำชา น้ำส้ม เราก็สั่งเหมือนเขาด้วย ทางร้านจะได้ทำได้เร็วๆ ส่วนไอ้ที่อยากดื่มจริงๆ เช่น สมูทตี้ ค็อกเทลน่ะ ค่อยไปสั่งทีหลังค่ะ
นี่แหละค่ะ แค่ก่อนทานข้าว คุณก็ต้องทนรอเครื่องดื่มคนอื่นด้วย ทนดื่มสิ่งที่ตัวเองไม่ได้อยากกินด้วย เริ่มทนแล้วนะคะ แต่นี่เป็นแค่การเริ่มต้นค่ะ
2. ทนรอคนอื่นตัก
หลังจากคุณคัมไปเสร็จแล้ว อาหารก็จะถูกลำเลียงมาที่โต๊ะ สมมติว่าเป็นกับข้าวจานๆ ซึ่งต้องตักแบ่งกัน แม้ว่าคุณจะหิวโหยเพียงใด จะตักเลยไม่ได้เป็นอันขาด คุณก็ต้องทน (อีกแล้ว) เนื่องจากคุณต้องรอให้บุคคลต่อไปนี้ตักรับประทานก่อนค่ะ
ลูกค้า … เจ้านาย … ผู้อาวุโส … รุ่นพี่ …

กรณีเดียวที่คุณตักทานก่อนได้ คือตอนที่บุคคล 3 ประเภทข้างต้นบอกให้คุณตักทานก่อนได้เลย กรณีนี้ คนไทยก็ทำเหมือนกัน คือให้ผู้ใหญ่เลือกก่อน ทานก่อน แต่ญี่ปุ่นจะแอ๊ดวานซ์กว่านั้นนิดหนึ่งค่ะ ถ้าผู้ใหญ่เขามัวแต่คุยกัน ไม่ยอมตักเสียที คุณก็ต้องทนๆๆ ทนฟังเรื่องอะไรไม่รู้ทั้งๆ ที่จิตคุณไปจดจ่ออยู่กับปลาหิมะย่างซีอิ๊วตรงหน้าแล้ว สมมติว่าคุณไปกินกับผู้ใหญ่ใจดี เขาอนุญาตให้คุณตักทานก่อน คุณจะลิงโลดทำสีหน้าระรื่นรีบกระโจนไปตักเลยก็ไม่ได้ อย่างน้อยคุณต้องทำสีหน้าเอียงอายหรือเกรงใจนิดหนึ่ง ประมาณว่า “อุ๊ย จะดีเหรอคะ…ถ้างั้นขออนุญาตตักก่อนนะคะ” แล้วค่อยตัก นางเอกมากๆ…
คุณจะต้องอดทนมากขึ้นหากคุณเป็นผู้หญิงเนื่องจากคุณต้องรอให้บุคคลประเภทที่ 4 ได้แก่ “เพศผู้” ตักก่อน แม้ว่าบุรุษผู้นั้นจะรุ่นราวคราวเดียวกับคุณก็ตาม มันเหมือนแสดงความเป็นกุลสตรีญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง เป็นมารยาทที่รวมอะไรหลายๆ อย่าง เช่น การแสดงความมีน้ำใจ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความหัวอ่อน โอนอ่อนผ่อนตาม ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสตรี (หรือภรรยา) แบบฉบับญี่ปุ่นที่ดีนั่นเอง มันจะเป็นภาพที่น่าเกลียดมากหากบริกรยกไก่ทอดมาปุ๊บ สาวน้อยก็คว้าตะเกียบหยิบไก่มากัดปั๊บ หนุ่มๆคงนั่งมองตากันปริบๆ เลยล่ะค่ะ
3. ทนบริการ
และแล้ว…คุณก็สามารถตักกับข้าวมาใส่จานข้าวตัวเองเรียบร้อย ชะช้า… อย่านึกว่าคุณจะได้ทานข้าวอย่างเป็นสุขหรอก คุณยังต้องทน “บริการ” ต่อไปค่ะ
สายตาคุณต้องคอยสอดส่องมองว่าเครื่องดื่มของลูกค้าหรือเจ้านายหรือรุ่นพี่คุณหมดแล้วหรือยัง ถ้าใกล้หมด คุณต้องรินให้หรือไม่ก็ถามว่าเขาจะสั่งอะไรเพิ่ม
เรื่องของเรื่องคือ คนญี่ปุ่นเขาจะไม่รินเครื่องดื่มใส่แก้วเองค่ะ มันเป็นหน้าที่ของผู้อื่นที่ต้องสังเกต ใส่ใจกันและกัน ที่ว่ามานี้ ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ เช่น เจ้านาย-ลูกน้อง หรือลูกค้าเท่านั้น เพื่อนสนิทกันก็ทำค่ะ

แล้วถ้าทุกคนเม้าท์กันเพลิน ไม่มีใครสนใจคุณล่ะคะ
เกตุวดีเคยแอบสังเกตกรณีนี้เหมือนกันค่ะ คือคนอื่นก็เริ่มเมาๆ แล้ว ก็คุยกันเอะอะโวยวายสนุกสนาน ทีนี้ มีคนญี่ปุ่นคนหนึ่งดื่มใกล้หมดแล้วยังไม่มีใครรินเบียร์ให้เขาเสียที คนญี่ปุ่นเขาก็มีเทคนิคของเขาค่ะ สายตาเขายังมองคู่สนทนาอยู่ เหมือนฟังสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังพูด ส่วนมือก็หยิบแก้วที่ดื่มหมดแล้วขึ้นมากระดก แล้วอุทานว่า “โอ๊ะ หมดแล้วนี่นา” เสมือนเขาเพิ่งรู้ว่า เฮ้…เครื่องดื่มในแก้วฉันหมดแล้วนี่นา เป็นการเตือนฝ่ายตรงข้ามอ้อมๆ เขาจะได้ไม่รู้สึกผิดว่า ตูมัวแต่คุย ลืมรินเหล้าให้อีกฝ่าย จากนั้น ฝ่ายตรงข้ามก็จะรีบกุลีกุจอรินเหล้าหรือสั่งน้ำให้ค่ะ
คนชาตินี้ คิดอะไรไม่พูดออกมาตรงๆ ค่ะ ต้องอ่านเดาใจกันและกัน
4. ทนอดข้าว
ถ้าคุณเป็นคนญี่ปุ่น คุณอาจอ่านขั้นนี้ข้ามไปได้เลยนะคะ คุณอดทนอะไรต่างๆ มาเยอะแล้ว

เอาล่ะค่ะ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย สิ่งสุดท้ายที่คุณต้องทนก็คือการอดข้าวนั่นเอง “อดข้าว” ในที่นี้หมายถึง “อดทานข้าวสวยไปพร้อมกับกับข้าว” ค่ะ เวลาคนญี่ปุ่นไปทานอาหารจีน อาหารหม้อไฟ (นาเบะ) หรือไปร้านอิซากายะ (ร้านเหล้าที่มีกับแกล้มเสิร์ฟ) เขาจะชอบสั่งแต่กับข้าวมาทานก่อน แล้วค่อยสั่งข้าวผัดหรือข้าวปั้นมาทานตอนท้ายค่ะ ไม่ได้ทานข้าวสวยไปพร้อมกับกับข้าวเหมือนบ้านเรา
แม้แต่ที่เมืองไทย เวลาเกตุวดีไปทานเอ็มเคหรือโคคาสุกี้กับคนญี่ปุ่น เขาจะสั่งทุกอย่างยกเว้นหมี่หรือข้าว พอทานลูกชิ้น ผัก เนื้อทุกอย่างหมดแล้ว เขาจะสั่งข้าวสวยมา 1 ถ้วย ใส่ลงไปในหม้อ (ที่มีแต่น้ำแกง) ถ้ามีต้นหอมสับก็ใส่ไปด้วย แล้วต้มจนข้าวเริ่มเละๆ ดับไฟแล้วค่อยตีไข่ใส่ลงไปค่ะ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โอจิยะ” ค่ะ รสชาติเหมือนข้าวต้ม หอม อร่อย เบาๆ ดีค่ะ

แต่เกตุวดีก็ยังหงุดหงิดอยู่ดี เวลาไก่ทอดคาราเกะ ปลาย่าง โอเด้ง (เต้าหู้ ลูกชิ้นต่างๆต้มกับน้ำซุป) มา เราอยากกินพร้อมข้าวสวยร้อนๆ นี่นา แต่ก็เกรงใจคนอื่น ไม่อยากทำอะไรผิดแผกแตกต่างไปจากเขา (เดี๊ยนเริ่มเป็นญี่ปุ่นแล้ว!) แถมตอนท้ายได้กินข้าวต้ม ก็มีแต่ข้าวกับไข่และเศษต้นหอม ไม่มีเครื่องอย่างอื่นอีก มันไม่จุใจเดี๊ยนเลยเจ้าค่ะ …
เคยถามคนญี่ปุ่นว่า ทำไมถึงกินข้าวทีหลัง หลายคนทำคอเอียงๆ แล้วบอก “ไม่รู้” มันชิน บางคนบอกว่า เพราะเขากินเหล้าไปด้วย ถ้าทานข้าวเลยมันจะอิ่มเร็ว ซดเบียร์ไม่อร่อย คอเหล้าบ้านเราก็คงเหมือนกัน แต่ที่นี่ ทั้งหญิงชายเด็กเล็กคนแก่ทุกคนก็ทำแบบนี้ค่ะ แปลกดี
แม้จะเป็นแค่การทานข้าวมื้อหนึ่ง แต่คนญี่ปุ่นก็ยังสอดแทรก “ความอดทน” “ความเอาใจใส่กันและกัน” “การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมาก่อน” เข้าไปด้วย ถ้าเมืองไทยเราปรับเอาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้มาใช้ เราอาจทนเข้าแถวขึ้นรถเมล์ รอให้คนในขบวนรถไฟฟ้าออกมาก่อนแล้วค่อยเดินเข้าไป กดสวิทช์ในลิฟท์ค้างไว้รอให้คนอื่นในลิฟท์เดินออกมาก่อน …ประเทศเราอาจจะน่ารักยิ่งขึ้น ถ้อยทีถ้อยอาศัยขึ้นกว่านี้ก็ได้ค่ะ ☺