สงครามชีวิตโอชิน…สอนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ต้นเรื่องโอชินนั้น เป็นที่รู้กันว่าเอามาจากชีวิตการต่อสู้ของ Kazuo Wada ผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าเยาฮัน…
ต้นเรื่องโอชินนั้น เป็นที่รู้กันว่าเอามาจากชีวิตการต่อสู้ของ Kazuo Wada ผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าเยาฮัน…
ห้างเยาฮันตั้งขึ้นเมื่อปี 1930 ที่จังหวัด Shizuoka ทางใต้ของกรุงโตเกียว กิจการของห้างนี้ค่อยๆ เจริญเติบโต ขยายสาขาในจังหวัดของตัวเองและก้าวเข้าในกรุงโตเกียว ต่อมาเมื่อถึงรุ่นลูก กิจการก็ยิ่งขยายออกไปต่างประเทศ เข้าสู่เอเชีย เช่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย จนถึงประเทศไทย ด้านสหรัฐอเมริกา เยาฮันข้ามไปฮาวายและขึ้นฝั่งที่คาลิฟอร์เนีย

ยุคที่ห้างเยาฮันขยายตัวเต็มที่นั้น มีทั้งหมดถึง 450 สาขาใน 16 ประเทศทั่วโลก บ้านเรา ห้างเยาฮันเคย มาตั้งอยู่ที่อาคารฟอร์จูนทาว์น ตรงสี่แยกรัชดาภิเษกตัดกับดินแดง
และวันนั้นก็มาถึง ผู้บริหารรุ่นใหม่ของห้างเยาฮัน แทนที่จะสร้างความเข้มแข็งทางการเงินและระมัดระวังตัวในด้านการบริหารสาขาตามปรัชญาของผู้ก่อตั้ง กลับเลือกที่จะขยายกิจการออกไปอย่างบุ่มบ่าม โดยเฉพาะการขยายกิจการในต่างประเทศ โดยใช้ยุทธศาสตร์ “สร้างหนี้ใหม่ เพื่อใช้หนี้เก่า”
พอเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินเอเชียในปี 1997 ที่เริ่มจากประเทศไทย วันสุดท้ายของห้างเยาฮันก็มาถึง…
วันที่ประกาศล้มละลาย ห้างเยาฮันมีหนี้สินล้นพ้นตัวมากถึง 161 พันล้านเยน กิจการถูกเจ้าหนี้สับเป็นท่อนๆ นำออกขายทอดตลาด หากใครไปญี่ปุ่นเห็นป้าย AEON นั่นแหละ Yaohan เดิม
สงครามชีวิตโอชิน เริ่มตอนแรกด้วยตัว โอชินในวัยชรา แอบเดินทางอย่างเงียบๆ ออกจากบ้านในกรุงโตเกียวโดยไม่ยอมบอกลูกหลาน ในวันประกอบพิธีเปิดสาขาใหม่ ของห้าง…
วันนั้น โอชินเลือกที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด เธอเองไม่เห็นด้วยกับลูกชายที่ขยายกิจการแบบก้าวกระโดด
ญี่ปุ่นในยุค 1980s เป็นช่วงที่ความเจริญเติบโตขยายตัวอย่างยิ่ง เป็นช่วงที่บรรดาฝรั่งหันมามอง “ความมหัศจรรย์ของญี่ปุ่น” ที่สามารถสร้างตัวจากเศษเถ้าถ่านของความพินาศในสงครามโลกครั้งสอง ขึ้นมาเป็น เขตเศรษฐกิจชั้นนำของโลก
ยุคนั้น รถไฟที่เร็วที่สุดในโลกอยู่ที่ญี่ปุ่น อุตสาหกรรมทั้งหนักทั้งเบาล้วนมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ…
ประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่เป็นเกาะ แคบๆ เต็มไปด้วยป่าเขา ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติประเภทใดๆ ทั้งบนดินและใต้ดิน ไม่ว่าจะเป็นสินแร่ ถ่านหิน หรือน้ำมัน หากคิดจะผลิตรถยนต์สักคันผู้ผลิตญี่ปุ่นจะต้องนำเข้าทุกอย่าง แต่ญี่ปุ่นในยุคนั้นก็สามารถผลิตรถยนต์คุณภาพดีราคาถูกออกตีตลาดโลกได้
ญี่ปุ่นมีระบบการบริหารจัดการที่เหลือเชื่อ
ยกตัวอย่างง่ายๆ หากใครเคยไปพักโรงแรมบ้านแบบญี่ปุ่น จะเข้าใจการใช้พื้นที่ การอยู่ในห้องเล็กๆ ต้องใช้สอยพื้นที่ชนิด ทั้งกินทั้งนอนบนเสื่อผืนเดียวกัน บางทีอ่างล้างหน้าวางอยู่เหนือชักโครกในห้องน้ำแคบๆ
ด้วยการเป็นสังคมที่อัตคัดที่ทาง ช่วยให้คนญี่ปุ่นรู้จักการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่าที่สุด จึงสามารถสร้าง ระบบการผลิตและการเก็บสินค้าแบบ just-in-time ช่วยให้ไม่ต้องเก็บของค้างไว้ในสต็อกมากๆ
ด้วยความที่เป็นสังคมที่เคารพในอาวุโส และรู้จักสร้างวัฒนธรรมกลุ่ม ทำให้การบริหารธุรกิจเป็นไปด้วยความราบรื่น…
สงครามชีวิตโอชิน เป็นเช่นคำเตือนจากคนสูงวัยที่มากด้วยประสบการณ์ แต่กลับไม่ฟังกัน สังคมญี่ปุ่น ยังคงหลงระเริงในสูตรสำเร็จ สุดท้าย เศรษฐกิจของประเทศได้ก้าวเข้าสู่ยุคถดถอยยาว 20 ปี ยังไม่มองเห็นทางออก
กิจการพังเพราะลูกดื้อรั้น ไม่ฟังคำเตือนมารดา ลืมคุณค่าอดีต…
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://secebislembarankehidupan.blogspot.com/2010/09/aku-oshin.html
http://www.haijapan.com/article/details/302