ตอนอยู่ญี่ปุ่น ดิฉันกับเพื่อนๆ ปาร์ตี้นาเบะบ่อยมาก เพราะมันไม่ต้องทำอาหาร แค่หั่นๆ แล้วโยนๆ ลงหม้อแค่นั้นเอง มีครั้งหนึ่ง ตอนไปร้านนาเบะที่ญี่ปุ่น เพื่อนคนญี่ปุ่นคนหนึ่งสอนว่าเวลาไปกินนาเบะ จะมีคนอยู่ 4 เหล่า แบ่งกันขำๆ แต่เป็นเรื่องจริง เลยเอามาเล่าให้ฟัง
อิชิกาขิซังหรือก๊ะขิจัง เพื่อนญี่ปุ่นสมัยมหาลัยของดิฉันบินมาดูงานที่กรุงเทพฯ เราเลยนัดกันทานข้าวหลังจากที่ไม่ได้เจอกันมาตั้ง 4 ปีค่ะ
กะขิจังเป็นสาวญี่ปุ่นหวานๆ ตัดผมม้าคิกขุ พูดเสียงค่อยๆ ชอบเอามือปิดปากตัวเองแล้วหัวเราะคิกคัก แต่เห็นแบ๊วๆแบบนี้ นางสอบได้ใบอนุญาตช่างตัดผม และมีร้านตัดผมเป็นของตัวเอง 2 ร้าน ร้านทำเล็บอีก 1 ร้าน ร้านต่อขนตาอีก 1 ร้านที่ญี่ปุ่นนะคะ นางขยายกิจการจนดิฉันเริ่มสงสัยแล้วว่า ธุรกิจเสริมความงามมันกำไรดีขนาดนี้เลยเหรอ
ครั้งนี้ ก๊ะขิจังบินมาดูตลาดไทยกับเวียดนาม เพื่อดูศักยภาพของทั้งสองประเทศในการขยายกิจการไปสู่ต่างประเทศ นางเก่งจังเลย
เนื่องจากว่า ก๊ะขิจังยังไม่เคยมาเมืองไทย และไม่เคยลองอาหารไทยอย่างจริงๆ จังๆ ดิฉันเลยพานางไปทานอาหารไทยที่คนญี่ปุ่นร้อยละ 99.98 ทานได้และเอนจอย นั่นคือ สุกี้ไทยนั่นเองค่ะ
เราสั่งชุดผักเพื่อสุขภาพมาก่อน แล้วค่อยๆ เลือกสั่งอย่างอื่นทีหลัง จะได้ต้มผักรอก่อน พอลูกชิ้นกับเนื้อมา ก็รีบลวกและทานคู่กับผักได้เลย ไม่ต้องรอผักสุก เป็นการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากๆ ขณะที่ดิฉันก็นั่งจิ้มๆ จอ Touch screen สั่งอาหารนู่นนี่เพิ่มเติมไป ก๊ะขิจังก็บรรจงวางผักนานาชนิดลงไปในหม้อไฟ ดิฉันหันกลับมาดูนางกับหม้อสุกี้อีกทีก็ต้องตกใจกับภาพที่เห็นดังต่อไปนี้ค่ะ!

นางมาเอ็มเคเป็นครั้งแรก แต่นางสามารถจัดวางชุดผักจานโตให้ลงไปในหม้อให้หมดได้…..อย่างสวยงาม นั่นเป็นสิ่งที่คนที่ผ่านการกินเอ็มเคมาโชกโชนอย่างดิฉันไม่สามารถทำได้ ทุกทีดิฉัน (และเชื่อว่าคนไทยทั้งหลาย) จะกวาดๆ ผักโครมๆ ลงไปในหม้อ หม้อไฟของเราจะออกมาฟูๆ ดูมึนๆ ผสมๆ กันมากๆ คนญี่ปุ่นเขามีเซ้นส์ในการจัดวางอะไรให้อยู่ในกรอบได้อย่างสวยงามได้จริงๆ นะคะ
เมื่อก๊ะขิจังสัมผัสได้ถึงสายตาอันชื่นชมและรังสีความอิจฉาจากดิฉัน นางเลยอธิบายว่า คนญี่ปุ่นนิยมทานนาเบะ (หม้อไฟ) กันในช่วงหน้าหนาว นาเบะก็มีหลากหลาย เช่น กิมจินาเบะเอย นาเบะซีฟู้ดเอย นาเบะรสแกงกะหรี่เอย ที่บ้านฉันทำทานกันบ่อยมาก ฉันเลยชินกับการจัดวางผักปลาเนื้อสัตว์ให้เข้าที่เข้าทางในหม้อนาเบะ ก็เท่านั้นเอง

ตอนอยู่ญี่ปุ่น ดิฉันกับเพื่อนๆ ทำปาร์ตี้นาเบะกันบ่อยมาก เพราะมันไม่ต้องทำอาหาร แค่หั่นๆ วัตถุดิบแล้วโยนๆ ลงไปในหม้อแค่นั้นเอง จำได้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนไปทานร้านนาเบะที่ญี่ปุ่น เพื่อนคนญี่ปุ่นคนหนึ่งสอนดิฉันว่า เวลาไปกินนาเบะ จะมีคนอยู่ 4 เหล่า แบ่งกันแบบขำๆ แต่เป็นเรื่องจริง เลยขอเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังนะคะ คน 4 เหล่าที่ว่า ได้แก่
1. ผู้พิทักษ์นาเบะ (นาเบะบุเกียว 鍋奉行)
ขณะที่คนอื่นเม้าท์มอยกัน จะมีใครสักคนในโต๊ะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์นาเบะ กล่าวคือ เป็นคนคอยใส่เครื่องใส่ผักลงไปในหม้อไฟ คอยหรี่ไฟและดูว่าควรใส่อะไรก่อน อะไรหลัง พอนาเบะได้ที่ ก็ตักแบ่งให้เพื่อนๆ ในโต๊ะ

คนกลุ่มนี้จะเป็นที่พึ่งพิงของเพื่อนๆ ในโต๊ะมากๆ เพราะเขาจะรู้ดีว่า ลำดับการใส่เครื่องต่างๆ เป็นอย่างไร เช่น ต้องใส่หอยหรือพวกเนื้อไก่ก่อน เพราะจะทำให้น้ำแกงหวาน จากนั้นใส่ผักต่างๆ ลงไปเพราะสุกยาก ต้องต้มนาน ส่วนเนื้อสัตว์และกุ้งเอาไว้หลังสุด เพราะสุกง่ายสุด พวกเขาสามารถจัดวางให้นาเบะออกมาดูสวยๆ ได้ด้วย
ถ้าหม้อเดือดเกินไป คนเหล่านี้จะเป็นคนคอยหรี่ไฟ ถ้าของในหม้อใกล้หมดแล้ว คนพวกนี้จะตักของที่เหลือๆ แจกจ่ายให้สมาชิก จากนั้นเร่งไฟ แล้วเติมผักและเนื้อชุดใหม่ลงไปในหม้อแทน
ทุกครั้งที่ไปทานที่ร้านนาเบะ จะต้องมีใครคนใดคนหนึ่งเสียสละทำหน้าที่นี้ บางคนทำด้วยความภาคภูมิใจ (ว่าตูเก่ง) แต่บางคน ก็เป็นกรณีสมยอมค่ะ
2. นาเบะโชกุน (鍋将軍)
จะคล้ายๆ กับผู้พิทักษ์นาเบะในข้อ 1. เพียงแต่ว่า หากใครตักหรือต้มผิดวิธี คนเหล่านี้จะโมโหโกรธามากๆ จริงๆ นาเบะโชกุนจะอยากให้ทุกคนได้ทานนาเบะในสภาพที่อร่อยที่สุด ไม่สุกจนเกินไป ไม่ดิบเกินไป พวกเขาจะยึดติดกับรูปแบบนาเบะที่ตัวเองปรุงอยู่ ใครทำผิดแบบแผนแก ก็จะโดนโวยวายไป เปรียบได้กับท่านโชกุนผู้มีอำนาจในเมือง ดิฉันคิดว่า มันคือการแสดงออกความรักความห่วงใยรูปแบบหนึ่งนะคะ อย่าเพิ่งรำคาญคนแบบนี้ไป

ที่ผ่านมา ดิฉันจะเจอผู้พิทักษ์นาเบะเสียส่วนใหญ่ ยังไม่เคยเจอระดับท่านโชกุนค่ะ
3. หน่วยตักฟอง (Aku-daikan アク代官)
เวลาต้มหม้อไฟไปนานๆ มันจะเกิดฟองสีน้ำตาลๆ ในหม้อแบบนี้ ซึ่งเกิดจากเนื้อสัตว์ทำปฏิกิริยากับผักค่ะ คนญี่ปุ่นมองว่า ฟองเหล่านี้ทำให้นาเบะเสียรสชาติ จึงมักจะตักออก ถ้าใครไปทานร้านชาบูชาบู เช่น Momo paradise เขาจะมีตะแกรงกระชอนกับไหใส่น้ำเปล่าไว้ เพื่อให้คุณตักฟองพวกนี้ออกค่ะ

เนื่องจากผู้พิทักษ์นาเบะได้ทุ่มเทกายใจในการต้มนาเบะแล้ว ก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากช่วย อยากมีส่วนร่วมในนาเบะ แต่ไม่มีฝีมือเท่าผู้พิทักษ์ คนพวกนี้ก็มักจะรับหน้าที่ตักฟองไปโดยปริยายค่ะ

4. พวกรอกินและกินแรง (Machi-bugyo 待ち奉行) เป็นการเล่นคำกับคำว่า “รอ” กับ「町奉行」 ที่แปลว่าเจ้าหน้าที่ตรวจเมือง
พูดง่ายๆ คือ พวกที่ไม่ทำอะไรกับนาเบะ เอาแต่ถือตะเกียบรอทานอย่างเดียวค่ะ ส่วนใหญ่ดิฉันเป็นพวกนี้ 55
คนไทยเรา เวลาไปทานสุกี้หรือจิ้มจุ่ม เราไม่มีการแบ่งหน้าที่กันขนาดนี้ ไม่ได้จัดวางหม้อไฟให้สวยๆ ขนาดนี้ (โดยเฉพาะตอนตอกไข่ไก่ลงไปในหม้อ เราจะกวนทุกอย่างให้เข้ากัน จริงไหมคะ) แต่คนญี่ปุ่นเขาสร้างให้มีการแบ่งหน้าที่ ให้ความสำคัญกับหน้าตา และวิธีการต้มให้ได้หม้อไฟที่อร่อยที่สุด (เขาเน้นเรื่องลำดับการใส่เครื่องก่อน-หลังมากๆ เลยนะคะ) และนี่เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนให้เห็นความละเอียดอ่อนและความพิถีพิถันของคนญี่ปุ่นค่ะ
(แหม่….วันนี้จบสวย 55)
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura