วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (32) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): ยี่สิบสอง สิ่งที่เรียกว่ากายสับเปลี่ยนเป็นทะจิ
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ในขณะที่ผมเขียนอยู่ตอนนี้ เป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมละ อีกไม่กี่วันผมก็จะต้องไปกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วม “มหกรรม” SIAM CUP BJJ 2022 ซึ่งงานนี้บอกเลยว่ากลายเป็นการจัดงาานแข่งขัน BJJ ระดับอาเซียนไปแล้ว ไม่ใช่ในแค่ระดับประเทศไทยละ มีคนจากยิมต่างๆ ทั้งจากลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย (อันนี้คือที่ตั้งของยิมต่างๆ ที่คนของของยิมนั้นๆ ลงแข่งเท่านั้นนะครับ ถ้านับเฉพาะ “นักกีฬา” นี่ มีนักกีฬาจากเมียนมา มาด้วย) โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียนแข่งขันทะลุหกร้อยคนไปแล้ว โว้ว
ผมเชื่อว่านักกีฬา (เกือบ) ทุกคนคงฟิตเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี
ส่วนผมเหรอ ยังทำกายภาพบำบัดอยู่เนี่ย (ฮา)
ปัญหาที่ผมเคยมองข้ามเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน (ไหล่ซ้ายหลุด แล้วต่อมันใหม่แบบเถื่อนๆ โดยไม่มีหมอหรือนักกายภาพบำบัดช่วยดู) ตอนนี้ลามเป็นปัญหาในระดับกล้ามเนื้อ ประสาทและหลอดเลือดไปละ ซึ่งการจะซ่อมให้กลับมาใกล้เคียงปกติคงต้องใช้เวลาพอสมควร
บางทีการมองข้ามปัญหานี่ก็อาจสร้างปัญหาที่ปะทุขึ้นอีกได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ ฉะนั้นเราควรจะพยายามใส่ใจแม้รายละเอียดที่เล็กน้อยที่สุด เท่าที่เราจะทำได้ นะครับ ว่าแล้วก็มาศึกษาปรัชญาคำสอนของมูซาชิกันต่อดีกว่าครับ
คำแปลข้อความต้นฉบับ
水の巻
คัมภีร์แห่งอาโป
二二 一 太刀にかはる身と云事
ยี่สิบสอง สิ่งที่เรียกว่ากายสับเปลี่ยนเป็นทะจิ
`身にかはる太刀 `共いふべし `惣て敵を打身に太刀も身も一度には打ざるもの也 `敵の打縁により身をばさきへうつ身になり太刀は身にかまはず打所也 `若は身はゆるがず太刀にて打事は有れ共大形は身を先へ打太刀をあとより打ものなり `能々吟味して打習ふべき也
จะขอกล่าวถึง กายสับเปลี่ยนเป็นทะจิ ด้วย โดยรวมแล้ว กายที่ตีศัตรู ทั้งทะจิทั้งกาย เป็นสิ่งที่ตี (พร้อมกันใน) ทีเดียวไม่ได้ โดยอาศัยเหตุปัจจัยแห่งการตีของศัตรู เอากายมาข้างหน้าก่อนเป็นกายตี ทะจินั้นตีโดยไม่ตั้งท่าที่กาย แม้ว่าการตีต้วยทะจิโดยกายไม่สั่นนั้นจะมีก็ตาม โดยภาพใหญ่นั้น เป็นเอากายมาข้างหน้า ตีทะจิจากข้างหลัง ควรคิดพินิจให้ดีๆ ฝึกตีบ่อยๆ
การตีความและอภิปราย
ผมอ่านแล้วนึกถือเวลาเราเข้าไปจับคอเสื้อคู่ต่อสู้ตอนยืนหันหน้าเข้าหากันครับ ถ้าเรารีบร้อนยืดแขนออกไป โดนจับกลับก็มี โดนเอาแขนเอาศอกมาขัดแขนที่เราไปจับคอเสื้อเขาก็มี ฉะนั้น การโน้มตัวเข้าไปก่อน แล้วค่อยยื่นมือมาคว้าจับแบบพยายามอย่าไปยืดจนสุดแขน ข้อนี้ควรคิดแล้วเอามาฝึก พูดถึงตรงนี้ก็คล้ายๆ ในคลิปนี้ช่วงแรกๆ พอดีพูดแล้วนึกขึ้นได้
ไม่มีใครทำอะไรได้สมบูรณ์แต่แรก ย่อมมีผิดพลาดหรือทำไรห่วยๆ (แน่นอนผมก็เป็น) แต่ก็ต้องค่อยๆ เรียนค่อยๆ ปรับเอาครับ
ก่อนหน้าที่จะเขียนนี้ไม่กี่วัน ผมไปเจอพิซซ่าร้านหนึ่งที่ทำให้ผมฉุกคิดอะไรได้ หลังเลิกงานวันเสาร์ ผมขับรถเต็ดเตร่เพราะว่าจะให้ขับตรงกลับบ้านไปกินข้าวที่บ้าน ชีวิตก็จะน่าเบื่อเกินไป 555 ผ่านหน้าร้านอมร (ก่อนถึงวัดโลกโมฬี) เจอซุ้มกาแฟ (?) ที่มีป้ายว่าพิซซ่าโฮมเมด “เริ่มต้นที่ 120 บาท” มันจะอร่อยไหมวะ อ่ะลองก้อได้
พอเข้าไปปุ๊บ เจ้าของร้านเขาบอกว่า มีหน้าแฮมกับเห็ด จะเปลี่ยนแฮมเป็นเบคอนก็ได้ 160 นะ (ถ้าหน้าชีสเฉยๆ หรือหน้ามาการิต้า 120 นาจา) หน้าไส้อั่วก็มี 555 ผมเอาเป็นเบคอนกับเห็ด เจ้าของเขาเอาแป้งโดที่เขาเตรียมไว้เป็นก้อนให้ผมดู แกว่าแป้งก้อนนี้ “หมัก 48 ชั่วโมง” เลยนะ กลิ่นยีสต์กำลังหอมเลย (แกให้ผมลองดม) แล้วแกก็ปั้นแป้งแผ่แป้งใส่ซอสใส่ไส้ใส่ชีสไปตามเรื่อง เป็นมอสซาเรลลาสด เนื้อจะมีน้ำมากหน่อย ทำให้เมื่ออบเสร็จ ชีสเมื่อผสมกับซอสสีจะประมาณนี้
ผลลัพธ์ของ “แป้งหมัก 48 ชั่วโมง” กับ “ชีสมอสซาเรลลาสด” คือ พิซซ่าหน้าตาธรรมดาที่ “อร่อยอย่างที่พิซซ่าควรจะเป็น” นั่นคือ กินแป้งให้อร่อย กินชีสให้อร่อย สำหรับผมพิซซ่าร้านนี้อร่อยมากพอที่จะทำให้ผมกลับไปกินอีกแน่นอน
และไม่ใช่แค่ว่าอร่อยเท่านั้น พิซซ่าถาดนี้ ได้สอนสิ่งที่ผมควรจะรู้ (แต่ผมกลับหลงลืมอย่างไม่น่าให้อภัย) ให้กับผมอย่างนึง
ถึงจะเป็นเรื่องที่ดูพื้นๆ หากใส่ใจกับมัน ก็อาจสามารถ “สร้างความแตกต่าง” ได้
ขอบคุณพิซซ่าถาดนี้ สำหรับการเป็นทั้งอาหารใส่ท้อง และเป็น “อาหารสมอง” ให้กับผมนะครับ
ร้านไม่มีป้ายชื่อนะครับ อารมณ์ซุ้มขายกาแฟ แต่เจ้าของร้านบอกว่ามีเพจนะ (อ้าวจิงดิ) แวะไปดูได้นะครับที่นี่ Gong Jora Pizza
วันนี้ก็ต้องขอลาไปดื้อๆ แต่เพียงเท่านี้ก่อน พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
เรื่องแนะนำ :
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (31) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): ยี่สิบเอ็ด สิ่งที่เรียกว่า การตีแห่งใบไม้แดง
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (30) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): ยี่สิบ สิ่งที่เรียกว่าการกระทบถูกแห่งหินเหล็กไฟ
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (29) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบเก้า สิ่งที่เรียกว่าการกระทบถูกแห่งเหตุปัจจัย
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (28) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบแปด สิ่งที่เรียกว่าการตีแห่งธารน้ำไหล
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (27) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): สิบเจ็ด สิ่งที่เรียกว่า การตีอย่างไร้นึกไร้คิด
#มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (32) คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ): ยี่สิบสอง สิ่งที่เรียกว่ากายสับเปลี่ยนเป็นทะจิ