วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (10) คัมภีร์แห่งปฐวี (ดิน): เรื่องของจังหวะแห่งพิชัยสงคราม
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมแล้วนะครับ และเนื้อหาในวันนี้ก็เข้าสู่ท่อนสุดท้ายของคัมภีร์แห่งปฐวีแล้วนะครับ ช่วงนี้ท่านผู้อ่านเป็นอย่างไรกันบ้างครับ ตัวผมเองนั้นมันก็มีเรื่องรบกวนจิตใจให้ไม่สบายใจอยู่ทั้งเรื่องข่าวต่างๆ ที่มาจากภาวะโควิด ทั้งเรื่องสงครามที่ทำให้น้ำมันแพง แต่ท่ามกลางข่าวต่างๆเหล่านี้ตัวผมเองผมคิดว่า สิ่งที่เราควรจะทำก็คือเราควรจะทำใจให้เย็นแล้วมองสิ่งต่างๆ อย่างมีสติที่สุด
ที่จริงตัวผมเองก็มีเรื่องมีราวเหมือนกันที่ทำให้ต้องหยุดซ้อม bjj ไปตั้ง 5 วัน แต่หลังจากเคลียร์เรื่องราวที่ว่าแล้วก็กลับมาซ้อมใหม่ด้วยความรู้สึกสดใสซาบซ่ากว่าเดิม ซ้อมติดกันพฤหัสศุกร์เสาร์ ถามวันเสาร์ยังทำสถิติไปซ้อมตอนสายที่ pure grappling แล้วไป open mat ต่อตอนเย็นที่ gato studio อีก เรียกว่ามีแรงเท่าไหร่ใส่ให้สุดจริงๆ เอาเป็นว่าผมขอพักการฝอยแต่เพียงเท่านี้ก่อน เรามาเข้าเนื้อหาหลักจังเลยครับผม
คำแปลข้อความต้นฉบับ
地の巻
คัมภีร์แห่งปฐวี (ดิน)
九 一 兵法の拍子の事
เก้า เรื่องของจังหวะแห่งพิชัยสงคราม
`物毎に付拍子は有る物なれ共とりわけ兵法の拍子鍛錬なくては及がたき所也 `世の中の拍子あらはれて有事乱舞の道れい人管絃の拍子など是皆能あふ所のろくなる拍子也 `武芸の道にわたつて弓を射 鉄砲を放 馬に乗る事迄も拍子調子は有り諸芸諸能に至ても拍子をそむく事は有るべからず `又空なる事に於ても拍子は有り `武士の身の上にして奉公に身をしあぐる拍子しさぐる拍子筈のあふ筈のちがふ拍子有 `或は商の道分限になる拍子 `分限にても其たゆる拍子 `道々に付けて拍子の相違有事也 `物毎のさかゆる拍子おとろふる拍子 `能々分別すべし
แม้ในเรื่องราวต่างๆ ย่อมต้องมีจังหวะก็ตาม แต่จำเพาะจังหวะของพิชัยสงคราม หากไม่มีการฝึกฝน ย่อมไปให้ถึงได้ยาก การปรากฎมีจังหวะในโลกนั้น วิถีแห่งการเต้นระบำ นักบรรเลงดนตรี จังหวะของการดีดสีตีเป่า นี้ล้วนเป็นจังหวะอันดีที่อาจสามารถพบได้ ข้ามผ่านมาถึงวิถีแห่งยุทธศิลป์ แม้มาถึงการยิงธนู ยิงปืน ขี่ม้าก็มีจังหวะท่วงทำนอง แม้มาถึงศิลปวิทยาทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่ควรมีการที่หันหลังให้จังหวะ อีกทั้งแม้ในสิ่งที่เป็นความว่าง ก็ยังมีจังหวะ เหนือตัวนักรบขึ้นไป มีจังหวะที่ยกตนให้สูงหรือลดตนให้ต่ำในราชการงานหลวง มีจังหวะที่ถูกเส้น จังหวะที่ผิดเส้น หรือในวิถีแห่งการค้า มีจังหวะที่มั่งมี จังหวะที่แม้มั่งมีก็หมดได้ ในวิถีต่างๆ นั้นย่อมมีจังหวะผิดแผกกัน จังหวะที่สิ่งต่างๆ รุ่งเรืองหรือเสื่อมทรุด ควรแยกแยะให้ดีๆ
`兵法の拍子に於て様々有事也 `先あふ拍子を知つてちがふ拍子を弁へ大小遅速の拍子の中にもあたる拍子を知り間の拍子を知り背く拍子を知る事兵法の専也 `此背く拍子弁へ得ずしては兵法たしかならざる事也 `兵法の戦に其敵其敵の拍子を知り敵の思ひよらざる拍子を以て空の拍子を智恵の拍子より発して勝所也 `何れの巻にも拍子の事を専書記也 `其書付の吟味をして能々鍛錬すべきもの也
จังหวะของพิชัยสงครามนั้นมีหลายๆ อย่าง ก่อนอื่นการรู้จังหวะที่ถูกกันเข้ากันได้ รู้ซึ้งซึ่งจังหวะที่ผิดไป รู้จังหวะที่โดนในจังหวะใหญ่เล็กช้าเร็ว รู้จังหวะในช่วงระหว่าง รู้จังหวะของการหันหลัง (แผลงเป็น การต่อต้าน) ให้ เป็นเรื่องสำคัญจำเพาะของพิชัยสงคราม หากไม่รู้ซึ้งซึ่งจังหวะของการหันหลังให้ พิชัยสงครามย่อมไม่ถูกต้องแม่นยำ ในการศึกพิชัยสงคราม รู้จังหวะของศัตรูนั้นศัตรูนั้น อาศัยจังหวะที่ศัตรูนึกไม่ถึง ปล่อยออกมาซึ่งจังหวะแห่งความว่างจากจังหวะแห่งปัญญา จึงจะชนะได้ ไม่ว่าในม้วนไหนก็เขียนบันทึกไว้เป็นสำคัญจำเพาะซึ่งเรื่องของจังหวะ สมควรคิดพินิจเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าว แล้วฝึกฝนให้ดีๆ
`右一流の兵法の道朝な朝な夕な夕な勤め行ふによつて自ら広き心になつて多分一分の兵法として世に伝ふる所初て書顕す事 `地 `水 `火 `風 `空 `是五巻也
วิถีแห่งพิชัยสงครามของสายสำนักที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ อาศัยหมั่นเพียรปฏิบัติทุกเช้าทุกเย็น ใจเปิดกว้างขึ้นเอง จึงได้เขียนสำแดงเป็นครั้งแรก ถ่ายทอดแก่โลกในฐานะที่เป็นพิชัยสงครามหลายส่วน (แผลงเป็น กองทัพ) หนึ่งส่วน (แผลงเป็น ตัวคนเดียว) เป็นห้าม้วนคัมภีร์ ปฐวี อาโป เตโช วาโย อากาส
`我兵法を学ばんと思ふ人は道を行ふ法有り
คนที่คิดจะเรียนพิชัยสงครามของข้าฯ มีวิธีปฏิบัติซึ่งวิถี (ดังนี้)
`第一によこしまになき事を思ふ所
หนึ่งคือคิดสิ่งใดอย่าได้มีที่ผิดทำนองคลองธรรม
`第二に道の鍛錬する所
สองคือฝึกฝนวิถี
`第三に諸芸にさはる所
สามคือสัมผัสศิลปวิทยาทั้งหลาย
`第四に諸職の道を知事
สี่คือรู้วิถีของอาชีพทั้งหลาย
`第五に物毎の損徳を弁ふる事
ห้าคือรู้ซึ้งซึ่งคุณประโยชน์แลโทษภัยของสิ่งต่างๆ
`第六に諸事目利を仕覚る事
หกคือรู้จำตาไวในสิ่งทั้งหลาย
`第七に目に見えぬ所をさとつて知る事
เจ็ดคือรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งที่ที่ไม่เห็นด้วยตา
`第八にわづかなる事にも気を付る事
แปดคือระวังระไวแม้ในสิ่งที่เล็กน้อย
`第九に役に立ぬ事をせざる事
เก้าคือไม่ทำสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้
`大形如㆑此理を心に懸て兵法の道鍛錬すべき也 `此道に限て直なる所を広く見立ざれば兵法の達者とは成がたし `此法を学び得ては一身にして二十三十の敵にも負べき道にあらず `先気に兵法をたえさず直なる道を勤ては手にて打勝目に見る事も人に勝ち又鍛錬を以て総体自由なれば身よりも人に勝ち又此道になれたるなれば心を以ても人に勝ち此所に至てはいかにとして人にまくる道有んや `又大きなる兵法にしては善人をもつ事に勝人数を遣ふ事に勝身を正しく行ふ道に勝国を治る事に勝民をやしなふ事に勝世の例法をおこなふに勝 `何れの道に於ても人に負ざる所を知りて身をたすけ名をたすくる所是兵法の道也
โดยภาพใหญ่ให้เอาหลักนี้มาใส่ใจฝึกฝนวิถีแห่งพิชัยสงคราม หากจำกัดอยู่ในวิถีนี้ไม่มองที่ลัดตัดตรงให้กว้าง ยากที่จะเป็นผู้บรรลุซึ่งพิชัยสงครามได้ เมื่อเรียนหลักการนี้ได้แล้ว จะไม่มีทางที่ว่าตัวคนเดียวแล้วจะแพ้ให้แก่ศัตรูยี่สิบสามสิบคน ก่อนอื่นให้เอาใจใส่อย่าได้ขาดซึ่งพิชัยสงคราม หมั่นเพียรซึ่งวิถีอันตัดตรง เอามือตีแล้วชนะ เอาตามองก็ยังชนะคนได้ ยิ่งอาศัยการฝึกฝน หากเป็นอิสระทั่วทั้งตัวได้ แม้อาศัยกายก็ชนะ หากยิ่งคุ้นเคยในวิถีนี้ แม้อาศัยใจก็ชนะคนได้ หากไปถึงตรงนี้แล้ว จะอะไรก็ตามก็ไม่มีทางแพ้คน ยิ่งหากเป็นพิชัยสงครามที่ใหญ่ขึ้นไปนั้น อาศัยคนดีชนะ อาศัยจำนวนคนชนะ ชนะในวิถีปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ชนะในการปกครองแว่นแคว้น การทำนุบำรุงประชาชน ชนะในการดำเนินซึ่งระเบียบกฎหมายของโลก แม้ในวิถีอะไรก็ตาม รู้ที่ที่จะไม่แพ้คน ช่วยเหลือตน สร้างชื่อ นี้คือวิถีแห่งพิชัยสงคราม
`正保二年五月十二日 新免武蔵
วันที่สิบสอง เดือนห้า ปีที่สองแห่งศักราชโชโฮ ชินเม็งมูซาชิ
`寺尾孫之丞殿
ถึง เทราโอะ มาโกะโนโจ
`寛文七年二月五日 寺尾夢世勝延 花押
`山本源介殿
วันที่ห้า เดือนสอง ปีที่เจ็ดแห่งศักราชคัมบุน เทราโอะมุเซคัตสึโนบุ ลงเครื่องหมายแทนชื่อ
ถึง ยามาโมโตะ เก็นสุเกะ
การตีความและอภิปราย
นี้เป็นอีกครั้งที่มูซาชิได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่ว่าเราจะเป็นคนเก่งได้เนี่ยเราอย่าไปหมกมุ่นอยู่แค่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวโดยที่ไม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งอื่นๆ เลย อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ อีกสิ่งหนึ่งที่มูซาชิเน้นย้ำมาตลอดก็คือ ไม่ใช่แค่มานั่งคิดรู้กันอยู่ในห้อง อยู่แค่กับทฤษฎีหลักการแล้วมันจบ มันต้องฝึกฝนบ่อยๆให้ชำนาญ ถ้าจะให้ผมพูดแบบแรงๆ ก็คือ หากได้ไปเรียนไปจำอะไรมาแล้วมาฝึกฝนจนตัวเองรู้ชำนาญในสิ่งนั้น เอามาใช้กับชีวิตได้จริง คนอย่างนั้นแหละถึงจะเรียกว่าเป็นบัณฑิตผู้รู้ได้ ถ้าดีแต่จำเรียนเอาคำพูดของคนอื่นมาท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง จำขี้ปากคนอื่นเอามาพูดเพื่อให้ตัวเองดูดีดูหล่อ คนแบบนี้อย่าไปเรียกว่าบัณฑิตเลยครับ เป็นแค่กากเดนตำราเท่านั้น
จากที่ผมได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่าผมไปมีเรื่องมีราวมาทำให้ต้องหยุดซ้อมไป 5 วัน เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจผมก็จะขอเล่าเรื่องให้ฟังอย่างรวบรัดที่สุดดังนี้ครับ
เมื่อตอนวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมไปรับแม่มาจากร้านหมอฟันเตรียมตัวจะเลี้ยวออกจากซอยเข้าถนนใหญ่เพื่อกลับบ้าน ในขณะที่ผมตบไฟเลี้ยวแล้วแต่ผมได้แต่ยื่นหน้ารถค้างไว้เพราะเลี้ยวไปไม่ได้ พอดีมีมอเตอร์ไซค์สองพ่อลูกวิ่งตัดหน้า แล้วก็มีรถบรรทุกคันนึงพุ่งเข้ามาชนที่หน้ารถของผมจนมีสภาพเป็นอย่างนี้
ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้พอรถชนเสร็จปั๊บ คนขับรถบรรทุกร่างยักษ์ราวกับซูโม่วิ่งลงมาระเบิดพลังทุบฝากระโปรงรถผม พร้อมกับบริภาษด่าทอผมต่างๆนานาว่า ไ*******ไ*******มึงตาบอดเหรอ (ขอโทษครับผมไม่ได้ตาบอด ผมเห็นรถคุณมาแต่ไกลแล้ว แต่ถ้าผมรีบเลี้ยวผมก็อาจจะไปชนมอเตอร์ไซค์สองพ่อลูกได้)
ด้วยร่างกายอันใหญ่โตพ่วงพีทรงพลังของคนขับรถบรรทุกคันดังกล่าว ทำให้ฝากระโปรงรถของผมกลายเป็นรอยบุ๋มเช่นนี้
คนเรานี่นะ รถตัวเองก็ใหญ่แล้วตัวเองก็เป็นฝ่ายชน แทนที่จะลงมาถามไถ่เป็นห่วงเป็นใยว่าเป็นอะไรไหม กลับลงมาแสดงกิริยาอันธพาลแบบนี้ ผมอยากรู้ mindset ของคนที่ทำแบบนี้ได้จัง ในหัวของเขาคิดอะไรอยู่
ท่านผู้อ่านก็ลองดูละกันครับว่ารถใหญ่ขนาดนี้ ชนรถผมไม่พอยังมาตบรถผมอีก ขอความเห็นใจหน่อยครับ 555
สิ่งที่ผมทำนะตอนนั้นก็คือ นิ่ง ไม่พูดอะไรทั้งนั้น ไม่ตอบโต้ โทรหาประกัน พร้อมกับให้คนแถวนั้นคือที่ร้านหมอฟันเรียกตำรวจมา
ส่วนตัวผมเองยังครบ 32 ดีครับ
แม่ผมนั้นผมโทรให้เมียเอารถมารับกลับไป ส่วนผมก็ยืนรอจนประกันของทั้งสองฝ่ายเคลียร์กันแล้วออกใบเคลม ในส่วนของการชนกันนั้นก็ถือว่าอย่างน้อยก็มีเงินซ่อมรถแล้ว
แต่นั่นคือความเสียหายที่เกิดจากการชนกันเท่านั้นนะครับ…
…ส่วนที่คนขับรถบรรทุกคนดังกล่าวมาตบรถผมซะบุบขนาดนี้ แน่นอนว่าผมไม่ปล่อยผ่าน (เพราะความเสียหายแบบนี้ประกันเขาไม่จ่ายให้) พอรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งผมก็เลยไปแจ้งความ ข้อหาทําให้เสียทรัพย์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถตามได้ไม่ยากว่าคนขับรถชื่ออะไร พออีกสัปดาห์ต่อมาถึงวันพุธคู่กรณีก็มาตามที่คุณตำรวจเรียกมา พร้อมกับสารภาพว่าได้ตบรถผมจริง ซึ่งทางตำรวจก็ได้ชี้แจงแล้วว่าจริงๆ แล้วเป็นคดีอาญา ผมซึ่งเป็นผู้เสียหายน่ะสามารถเอาผิดฟ้องร้องได้ แต่เนื่องจากผมไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการชดใช้ค่าเสียหายเล็กๆ น้อยๆ แลกกับการยอมความ จึงขอให้คู่กรณีช่วยเหลือผมหน่อย เมื่อคู่กรณียอมช่วยเหลือผมแล้ว ผมก็จะยอมเซ็นใบถอนฟ้องให้ได้ไม่มีปัญหา…
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้อย่างนี้
● โมโหไปก็เท่านั้น อย่าทำเรื่องไร้ประโยชน์ที่กลายเป็นการหาเรื่องใส่ตัว เรื่องคราวนี้จริงๆถ้าแค่รถชนกันแล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของประกันทั้งสองฝ่ายออกใบเคลมกันมันก็จบแล้ว
● อย่าคิดว่าอยากทำอะไรก็ทำตามสันดานดิบหรืออารมณ์ของตัวเอง การกระทำทุกอย่างต่อคนในสังคมย่อมต้องมีผลที่ตามมา (consequence) สักอย่างนึง โปรดคำนึงถึงข้อนี้ทุกครั้งก่อนจะทำอะไรลงไป
● อย่าละเลยการลงโทษคนผิด ที่จริงมีคนทักท้วงผมว่าผมไม่ควรไปแจ้งความกับตำรวจ เพราะเขากลัวว่าคนขับสิบล้อจะมา “เอาคืน” (retaliate) ซึ่งถ้าคิดดูจริงๆ แล้วมันก็มีช่องทางเอาคืนได้นั่นแหละเพราะมันรู้จักหน้าผมแล้วรู้จักเลขทะเบียนรถผมแล้ว แต่จิตสำนึกของผมบอกว่า ถ้าคนทุกคนในสังคมคิดว่าไม่อยากจะเอาเรื่องใครแล้วปล่อยให้คนชั่วลอยนวลสังคมเราจะกลายเป็นสังคมที่คนดียิ่งอยู่ยากมากขึ้น
● ถึงแม้เราตั้งใจจะลงโทษคน แต่ก็ต้องรู้ลิมิตว่าแค่ไหนถึงจะพอหลาบจำ บางครั้งการทำอะไรที่สุดโต่งเกินไปแบบที่ไม่เหลือทางออกทางถอยให้ อาจจะกลายเป็นการ “ไล่หมาให้จนตรอก” จนมาแว้งกัดเราได้ ผมคิดว่าแค่การที่คุณตำรวจโทรไปถึงที่บริษัท และการที่มันต้องยอมจำนนพูดออกมาเองต่อหน้าตำรวจว่าเป็นคนทุบรถจริงนี่ ก็น่าจะเป็นการลงโทษที่สมควรแล้ว
เรื่องก็จบแต่เพียงเท่านี้แหละครับ ขออภัยท่านผู้อ่านที่อาจจะเล่าเรื่องเครียดๆ ให้ฟัง ส่วนเรื่องที่เล่ามานี้มันจะมีความเกี่ยวข้องอะไรกับพิชัยสงครามของมูซาชิหรือไม่นั้น ผมจะขอปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของท่านผู้อ่านเองนะครับ
เพื่อให้บทความของผมกลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น (เอาอีกละ 555) วันนี้ผมขอนำเสนอรูป “ราเมงกับข้าวผัด” ร้าน ozawa ramen มาให้ชมกันนะครับ
อุตส่าห์ดีอกดีใจว่านานมาแล้วที่ไม่ได้กินราเมงกับข้าวผัดแบบนี้แถมมีเกี๊ยวซ่าอีก กินหมดทุกอย่างแล้วเพิ่งมานึกได้ว่า อ้าว นี้อาตมากินหมูไปแล้วเหรอเนี่ย 555 น่าอายจริงๆ
ยอมรับครับว่าช่วงหลังๆ มานี้ทั้งความเคร่งครัดในเรื่องของ intermittent fasting ก็ดีหรือเรื่องการพยายามกินมังสวิรัติเป็นบางมื้อก็ดีดูเหมือนจะทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ จะพยายามตั้งหลักขึ้นมาใหม่อีกครั้งครับ
ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เราจะขึ้นเนื้อหาของ คัมภีร์แห่งอาโป (น้ำ) แล้วนะครับ อย่าลืมติดตามอ่านกันด้วยนะครับ พบกันใหม่สัปดาห์หน้าสวัสดีครับ
เรื่องแนะนำ :
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (9) คัมภีร์แห่งปฐวี (ดิน): การที่ว่ารู้ซึ่งความดีของอาวุธในพิชัยสงคราม
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (8) คัมภีร์แห่งปฐวี (ดิน): การรู้ซึ่งความดีของตัวอักษรสองตัว เฮียวโฮ (兵法 พิชัยสงคราม)
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (7) คัมภีร์แห่งปฐวี (ดิน): การตั้งชื่อสายสำนักนี้ว่านิโต (สองดาบ)
– เซนกับบราซิลเลี่ยนยูยิตสู (ตอนพิเศษ) ยูยิตสูเพื่อชีวิตที่ดีกว่า (จริงๆ นะ)
– มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (6) คัมภีร์แห่งปฐวี (ดิน): การแต่งคัมภีร์ทั้งห้าม้วนแห่งพิชัยสงครามนี้
#มาอ่าน “คัมภีร์ห้าห่วง” ของมูซาชิด้วยกันเถอะ (10) คัมภีร์แห่งปฐวี (ดิน): เรื่องของจังหวะแห่งพิชัยสงคราม