教訓 [เคียวคุง] บทเรียน
รูปประกอบโดย WALK on CLOUD
“มันก็มีคำกล่าวว่า ‘บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือ…’ ”
สมหมายเอ่ยกล่าวขึ้นมา ขณะที่เรานั่งดื่มกาแฟในร้านกาแฟชื่อ h.away แถวอโศก ที่นั่งของพวกเราเป็นที่นั่งเคาน์เตอร์ริมหน้าต่างเห็นสายไฟฟ้าระโยงระยางและถนนซอยสุขุมวิท 28 แลดู Surreal ดั่งเช่นที่ Russel Crowe กล่าวเอาไว้ในทวิตเตอร์ที่เขียนว่า “Bangkok dreaming”
“แล้ว ‘บทเรียน’ ที่ว่านี้คือ?” ผมถาม
“เปล่า วันนี้ฉันจะสอนคำว่า ‘บทเรียน’ ในภาษาญี่ปุ่นต่างหาก”
คำว่า บทเรียน ในภาษาญี่ปุ่นคือคำว่า
教訓
きょうくん
[เคียวคุง]บทเรียน
Lesson, teaching
教える
おしえる
[โอะชิเอะรุ]สอน,
teach
“ส่วน 訓 [คุง] เป็นคันจิที่มีความหมายว่า ‘การสอน’ เช่นกัน ไม่มีคำใช้เป็นคันจิตัวเดียว แต่มักเป็นใช้ประกอบกับคำอื่น ยกตัวอย่างเช่น 訓練 [คุนเรน] training”
“อือ” ผมตอบรับ ไม่แน่ใจในสิ่งที่สมหมายต้องการสื่อ
“นายไม่ถามอะไรมากกว่านี้หน่อยหรือ” สมหมายถาม
“อ้าวแล้วต้องถามอะไรด้วยละ” ผมสงสัย
“เมื่อนายไม่ถาม ฉันก็จะเล่าให้ฟัง” แล้วสมหมายก็สอนต่อ
“教訓 [เคียวคุง] นั้นเป็น ‘บทเรียน’ ที่หมายถึง สิ่งที่ผู้เรียนรู้ได้ประสบพบเจอมากับตนเอง จนเรียกว่า ‘ถือเป็นบทเรียน’ “
“教訓 [เคียวคุง] มันไม่ใช่ ‘บทเรียนตามหนังสือ’ หรือสิ่งที่คนอื่นตระเตรียมไว้ในการสอน”
“เป็นบทเรียนที่เจ้าตัวเรียนรู้จากประสบการณ์ตนเอง” สมหมายสรุปอีกครั้ง
ผมรับฟังและพอจะเข้าใจสิ่งที่สมหมายต้องการจะสื่อ
“ฉันเข้าใจแล้วละ” ผมตอบ
สมหมายยิ้มแล้วหันกลับไปอ่านหนังสือนิยายเรื่อง “สดับลมขับขาน” ในมือของเขา ส่วนผมมองไปสายไฟที่ระโยงระยางที่อยู่โลกภายนอก บนถนนเห็นแสงแดดส่องสว่างดูร้อนระอุดั่งเปลวเพลิง แลเหมือนดั่งคนละโลกเมื่อเทียบกับคาเฟ่ที่พวกเราอยู่ที่มีแอร์เย็นๆ
ผมนึกถึง การเดินทางของ Walter Mitty ที่เปรียบเสมือนดั่ง ‘บทเรียนของเขา” 教訓[เคียวคุง]
การเดินทางไปในต่างถิ่นคงให้เราได้บทเรียนอะไรบ้าง
ส่วนผมเองนั้นนั่งอยู่ในร้านกาแฟใจกลางเมืองกรุงเทพย่านอโศกมองสายไฟระโยงระยางภายนอก แล้วผมเองได้ “บทเรียนอะไรของผม” หรือเปล่านะ
ผมหยิบกาแฟอเมริกาโน่ดื่ม มองดูสายไฟ (หรือสายโทรศัพท์?) แล้วมองดูรถที่วิ่งไปตามถนนของเส้นสุขุมวิท 21 ส่วนสมหมายยังคงจมอยู่ในโลกของมุราคามิในหนังสือนิยายของเขา
ทักทายพูดคุยกับวสุ ได้ที่ >>> Facebook Wasu’s thought on Japan
เรื่องแนะนำ :
– 初売り [ฮะซึอุริ] ขายครั้งแรก (ของปี)
– 孤独 [โคะโดะคุ] ความโดดเดี่ยว
– 転機 [เทงคิ] ทางแยก, turning point
– 試練 [ชิเรน] บททดสอบ
– 神懸る [คะมิกะคะรุ] เทพลง, องค์ลง
#教訓 [เคียวคุง] บทเรียน