ทำไมพระโพธิสัตว์กวนอิมในประเทศญี่ปุ่นถึงมีทั้งปางบุรุษและปางสตรี?
สำหรับชาวไทยนั้น พระโพธิสัตว์ที่เรารู้จักกันแพร่หลายมากที่สุดเห็นจะไม่พ้น “เจ้าแม่กวนอิม” อย่างแน่นอน แต่เวลาทุกท่านไปเที่ยวที่ญี่ปุ่นอาจจะเคยเอะใจว่า ทำไมพระโพธิสัตว์กวนอิม (観音菩薩: คัน-นง-โบะ-ซะ-ทสึ) ของญี่ปุ่นถึงมีทั้ง 2 เพศ นอกจากนี้ยังมีหลายปาง บางปางก็แปลกตา บางปางก็กลับดูน่ากลัวอีกต่างหาก ต่างจากเจ้าแม่กวนอิมอันเปี่ยมด้วยเมตตาตามการรับรู้ของชาวไทยอย่างมาก
วันนี้เลยจะมาเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์กวนอิมในญี่ปุ่นกัน พุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญกับพระโพธิสัตว์กวนอิมนั้นคือพุทธแบบมหายาน (นิยมกันในจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, บางส่วนของอินเดียและเวียดนาม, และคนไทยเชื้อสายจีน) โดยสาเหตุที่ในญี่ปุ่นมีกวนอิมทั้ง 2 เพศและมีหลายปาง มี 3 สาเหตุหลักดังนี้
1) ก่อนที่จะเกิดเป็นตำนานพระโพธิสัตว์กวนอิมนั้น เดิมทีพระโพธิสัตว์องค์นี้ในคติมหายานก็คือ “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (Avalokiteśvara)” ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความเมตตากรุณา จากใน “สัทธรรมปุณฑริกสูตร (法華経: พระสูตรสำคัญของพุทธฝ่ายมหายานซึ่งเชื่อกันว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้เทศนาไว้ก่อนปรินิพพานประมาณ 8 ปี)” กล่าวไว้ว่า พระอวโลกิเตศวรสามารถแปลงกายเป็นปางต่าง ๆ ได้เพื่อจะได้เข้าไปเผยแพร่พระธรรมคำสอนให้สัตว์โลกได้ราบรื่น แปลงเป็นชายก็ได้ หญิงก็ได้ แปลงเป็นคนชรา เป็นเด็ก แม้แต่แปลงเป็นปีศาจก็ได้เช่นกัน
ในญี่ปุ่นเชื่อว่าพระอวโลกิเตศวรมีร่างแปลงทั้งหมด 33 ร่าง (観音三十三身) แต่เนื่องจากลักษณะเด่นที่สุดของพระอวโลกิเตศวรคือความเมตตากรุณา การสร้างพระพุทธรูปของพระอวโลกิเตศวรจึงมีแนวโน้มจะนิยมสร้างให้มีความอ่อนช้อยงดงาม เพื่อแสดงถึงความเมตตาและอ่อนโยน ทำให้หลายครั้งคนมองแล้วเข้าใจว่าเป็นเพศหญิงทั้ง ๆ ที่สร้างพระพุทธรูปเป็นเพศชาย ก็มี
2) พระโพธิสัตว์ที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักมากที่สุดอีกองค์คือ “พระจิโซ (地蔵菩薩: จิ-โซ-โบะ-ซะ-ทสึ)” หรือก็คือ “พระกษิติครรภโพธิสัตว์” ซึ่งในญี่ปุ่นนิยมสร้างพระจิโซเป็นรูปปั้นหินตามเส้นทางในการเดินทางต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าจะคอยคุ้มครองเด็ก ๆ และนักเดินทางได้ ด้วยเหตุที่พระโพธิสัตว์ที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักกันเป็นอย่างดี คือพระจิโซและพระอวโลกิเตศวร พระจิโซในญี่ปุ่นมีลักษณะเด่นเป็นเพศชาย (มีรูปลักษณ์ที่ดูเป็นเพศชาย) ในขณะที่พระอวโลกิเตศวรมีบทบาทด้านเมตตากรุณาและมีแนวโน้ม (แนวโน้ม คือไม่ใช่ว่าทุกองค์จะเป็นแบบนั้น) จะมีรูปลักษณ์อ่อนช้อยคล้ายสตรีเพศ จึงเกิดการรับรู้ที่แบ่งออกจากกันว่า พระจิโซเป็นเพศชาย แล้วพระอวโลกิเตศวรเลยเป็นเพศหญิง ขึ้นมา
3) ตำนานความเชื่อของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่เผยแผ่เข้าไปในประเทศจีนนั้นได้เข้าไปผสมกับตำนานเทพสตรีพื้นบ้านของจีนคือ ตำนาน “องค์หญิงเมี่ยวซ่าน (妙善公主)” ทำให้เกิดเป็นบุคลิกใหม่คือ “เจ้าแม่กวนอิม” ขึ้นมา สาเหตุที่เกิดการผสมตำนานนั้นไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่เนื่องจากศาสนาพุทธเกิดมาตั้ง 2 พันกว่าปี การที่ตำนานพุทธที่เข้าไปในแต่ละประเทศแล้วจะเกิดการผสมกับตำนานพื้นบ้านของท้องถิ่นนั้นก็ไม่น่าแปลกใจนัก จีนอาจจะเกรงกลัวความเป็นอินเดียจึงสร้างตำนานใหม่ที่มีอัตลักษณ์แบบจีนขึ้นมาเอง หรือการเล่าปากต่อปากแบบมุขปาฐะสืบต่อกันนับพันปีก็อาจทำให้ 2 ตำนานผสมกันเป็นเรื่องเดียวไปก็เป็นได้ และแน่นอน พุทธศาสนิกชนที่นับถือพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ในเวอร์ชันของเจ้าแม่กวนอิมก็จะเชื่อเรื่องไม่กินเนื้อวัว เพราะกษัตริย์เมี่ยวจวง (妙荘王) พระบิดาขององค์หญิงเมี่ยวซ่านนั้นก่อกรรมทำเข็ญและต้องกลับชาติไปเกิดเป็นวัวใช้กรรมอีกหลายร้อยชาติ พุทธศาสนิกชนสายเจ้าแม่กวนอิมจึงเลี่ยงไม่กินเนื้อวัว (ไม่ได้แปลว่าชาวจีนทุกคนในโลกจะไม่กินเนื้อวัวนะ) เพื่อจะได้ไม่พลาดไปกินถูกอดีตกษัตริย์เมี่ยวจวงนั่นเอง
(ซีรีย์เรื่อง “กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม: The Reincarnated Princess” ที่ออกอากาศในปี ค. ศ. 1985 นำแสดงโดย จ้าวหย่าจือ ค่อนข้างโด่งดังพอสมควร ลองหามาชมกันได้)
ความเชื่อในพุทธศาสนาของญี่ปุ่นรับมาจากจีนมากพอสมควร แม้ญี่ปุ่นจะไม่ได้แยกเรียกระหว่าง “เจ้าแม่กวนอิม” และ “พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์” เพราะเรียกรวมกันหมดว่า คัน-นง-โบะ-ซะ-ทสึ หรือเรียก คัน-นง-ซะ-มะ (観音様) แต่เวลาสร้างองค์กวนอิม ในบางพื้นที่หรือบางวัดที่รับความเชื่อจีนมามากหน่อย ก็จะสร้างให้เป็น “เจ้าแม่กวนอิม” เป็นเพศหญิงไปเลย ในขณะที่บางพื้นที่หรือบางวัดก็ยังสร้างออกมาให้เป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เป็นชาย ส่วนจะสร้างเป็นชายอ่อนช้อยจนเข้าใจผิดว่าเป็นหญิง หรือสร้างเป็นชายที่เป็นปางต่าง ๆ ก็แล้วแต่ว่าแต่ละแห่งจะสร้างออกมาอย่างไร พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ปางแปลก ๆ ของญี่ปุ่นที่คนไทยจะไม่ค่อยได้พบเห็นนักเช่น
ปางสิบเอ็ดหน้า (十一面観音) หรือ “พระเอกาทศมุขอวโลกิเตศวร”
ปางพันมือพันเนตร (千手観音) หรือ “สหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวร”
ปางพิโรธ (馬頭観音) หรือ “หัยครีวอวโลกิเตศวร”
ความแปลกตาของ “เจ้าแม่กวนอิม” เหล่านี้ นับว่าประหลาดแต่ก็มีเสน่ห์ เวลาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วค้นความรู้เหล่านี้เพิ่ม ก็จะทำให้เที่ยวสนุกขึ้น ดื่มด่ำกับทุกทริปได้มากขึ้นด้วย
เรื่องแนะนำ :
– คาราเต้: ความเป็นมาก่อนจะกลายเป็น 1 ในกีฬาโอลิมปิก 2020
– อะวะโมะริ (泡盛) เหล้าเชื่อมสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น
– ทำไมเรียนปริญญาเอกสายศิลป์ที่ญี่ปุ่นถึงจบยากกกกกกก!?
– ทำไม Manga และ Anime ญี่ปุ่นถึงโด่งดังถึงเพียงนี้?
– สุกี้ยากี้ และเที่ยวบิน JL123
#ทำไมพระโพธิสัตว์กวนอิมในประเทศญี่ปุ่นถึงมีทั้งปางบุรุษและปางสตรี?