วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 11] Vasili Oshchepkov ศิษย์ยูโดโคคัน ผู้สร้างสรรค์วิชา “แซมโบ้”
เอาล่ะครับ หลังจากที่ได้นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการแตกหน่อ จากเมล็ดพันธุ์ที่ชื่อว่า “ยูโด” ได้หว่านเอาไว้ในโลกของศิลปะการต่อสู้ ซึ่งผมอาจโฟกัสไปที่การแตกหน่อในสายโลกตะวันตก โดยมีเรื่องราวของ BJJ เป็นแก่นหลักมากไปหน่อย (ในฐานะที่ผมเรียน BJJ)
แต่ว่าท่านผู้อ่านครับ เมล็ดพันธุ์ที่ชื่อว่า “ยูโด” นั้น ยังได้ไปแตกหน่อถึงดินแดนที่เคยได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนหลังม่านเหล็ก” จนเพิ่งมาประกาศแก่คนทั้งโลกให้รู้ศักดาของวิชา ผ่านชายที่ชื่อ คาบิบ นูร์มาโกเมดอฟ เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ในฐานะผู้ใช้วิชา “แซมโบ้” ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานของรัสเซีย ซึ่งถ้าจะพูดอย่างหยาบๆ มันคือยูโดผสมมวยปล้ำแบบกรีโก-โรมัน ที่คนรัสเซียสร้างขึ้น นี่เอง (ซึ่งก็มีการแจกลูก ผสมวิชาเตะต่อยเข้าไปอีก) ฤทธิ์เดชของวิชาแซมโบ้มีมากถึงขั้นที่ว่า ขนาดในวงการ BJJ เอง ก็ยังรับเอาท่วงท่าในแซมโบ้ (โดยเฉพาะท่าทุ่ม) มาประยุกต์ใช้กันเลย (ขนาดผมยังช่องยูทูป ของ Ivan Vasylchuk เลย) ครับ วันนี้ ผมจะขอนำเสนอเนื้อหาความเป็นมาของแซมโบ้ โดยโฟกัสไปที่เรื่องราวของ Vasili Oshchepkov หนึ่งในผู้ร่วมสร้างวิชาแซมโบ้ ผู้ซึ่งเป็นศิษย์ยูโดโคโดคัน กันนะครับ
Vasili Oshchepkov เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2436 ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะซาฮาลิน (อยู่เหนือเลยฮอกไกโดไปอีก) พออายุได้แปดขวบ พ่อแม่ตายหมดกลายเป็นเด็กกำพร้า พอปี พ.ศ.2448 ภายใต้สัญญาสนธิสัญญาพอร์ตสมัทหลังสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ดินแดนฝั่งใต้ของเกาะซาฮาลินกลายเป็นของญี่ปุ่น วาซิลีที่ได้รับอุปถัมป์โดยคณะมิชชันนารีออร์โธดอกซ์รัสเซียในญี่ปุ่น ถูกส่งมาเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาที่เกียวโต ช่วงนั้นเองที่ได้รู้จักวิชายูโด (คือได้เรียนยูโดในโรงเรียนสอนศาสนา) แล้วก็ได้รับการแนะนำให้มาเข้าโคโดคัน แล้วย้ายมาอยู่โตเกียว ย้ายมาเรียนโรงเรียนเทววิทยาที่โตเกียว แล้วก็ได้เข้าเรียนกับสำนักใหญ่โคโดดันที่โตเกียว เมื่อปี พ.ศ. 2454 พออีกสองปีต่อมา ได้ โชะดัน (สายดำขั้นแรก) แล้วต่อมาจึงได้ นิดัน (สายดำขั้นสอง ซึ่งเก่งมากๆ เพราะสมัยนั้นสายดำยังมีถึงแค่ขั้นห้า) เป็นคนรัสเซียคนแรกที่ได้สายดำยูโดจากโคโดคัน
Vasili Oshchepkov ในชุดยูโด (ที่มา International Sambo Federation)
ตอนปี พ.ศ. 2456 หลังจากเรียนจบโรงเรียนสอนศาสนา วาซิลีกลับรัสเซียไปเป็นคนทำงานแปลภาษาในหน่วยข่าวกรอง พอปี พ.ศ. 2457 เขาได้ตั้งโรงเรียนสอนยูโดที่วลาดิวอสตอค และก็ได้ไปๆ มาๆ ญี่ปุ่นอยู่บ่อยครั้ง พอปี พ.ศ. 2461 ได้สอนยูโดให้ตำรวจที่วลาดิวอสตอค ปีต่อมาทำงานเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นในกองทัพ และเริ่มมีคอนเนคชั่นกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต แล้วก็เปิดโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นหาสตางค์ไปด้วย
ต่อคำถามที่ว่า วาซิลีได้เข้ามามีส่วนในการสร้างวิชาแซมโบ้ได้อย่างไร? เรื่องมันมีอยู่ว่า พอวาซิลีตั้งโรงเรียนสอนยูโด (อารมณ์ประมาณกลุ่มฝึกยูโด) ที่วลาดิวอสตอค พอปี พ.ศ. 2458 ก็มีการจัดแข่งแมทช์ “ยูโดนานาชาติ” คือเอานักยูโดรัสเซียลูกศิษย์ของวาซิลีมาแข่งกับนักยูโดญี่ปุ่นจากโรงเรียนพานิชยการโอตารุ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยพานิชยศาสตร์โอตารุ) เรื่องราวของยูโดถึงดังขนาดไปลงนิตยสารที่มอสโคว์
ปี พ. ศ. 2470 สำนักงานใหญ่ของเขตทหารไซบีเรีย ตัดสินใจให้มีการตั้งกลุ่มศึกษาวิชายูโดสำหรับเจ้าหน้าที่สำนักงานใหญ่
ปี พ.ศ. 2472 วาซิลีได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพลศึกษา กีฬา เยาวชน และการท่องเที่ยวแห่งรัฐรัสเซีย การทำงานที่สถาบันพลศึกษา ทำให้วาซิลีมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนในระบอบสหภาพโซเวียต เขาวิเคราะห์วิชาต่างๆ ทั้งดาบปลายปืน กีฬานานาชาติ ศิลปะการต่อสู้ต่างๆ ศิลปะการต่อสู้ของจีน และวิชาต่อสู้ประจำชาติต่างๆ ในแง่ของการนำไปใช้ในการเผชิญหน้าประจัญบาน โดยอาศัยการวิเคราะห์นี้เป็นพื้นฐาน วาซิลีได้รวมรูปแบบการเคลื่อนไหวพื้นฐานเพื่อสร้างศิลปะการต่อสู้ที่เหมาะกับการประจัญบานในสงคราม ซึ่งต่อมากลายเป็นที่รู้จักในชื่อ แซมโบ้ (ย่อมาก samozashchita bez oruzhiya “การป้องกันตัวโดยปราศจากอาวุธ”)
ปี พ.ศ. 2473 วาซิลีได้จัดทำและตีพิมพ์ “แนวทางสำหรับการเตรียมร่างกายของกองทัพแดง” และปี พ.ศ. 2474 ก็ออกตำรา “การออกกำลังกายของกองทัพแดง” ซึ่งเป็นหลักสูตรการฝึกต่อสู้แบบครอบคลุม ควบคู่ไปกับการจัดหลักสูตรพิเศษสำหรับเจ้าหน้าที่ของกองทหารรักษาการณ์กรุงมอสโคว์ และยังได้เข้าไปสอนวิชาต่อสู้ในหน่วยทหารอีกหลายหน่วย
นี่แหละครับ กำเนิดของวิชาแซมโบ้ ซึ่ง ถึงมันจะเป็นวิชา “ยูโดผสมมวยปล้ำ” ทำนองเดียวกับ BJJ ก็ตาม แต่หลักคิดพื้นฐาน มันคนละเรื่องเลย ระหว่าง “วิชาต่อสู้สำหรับทหารในสนามรบ” กับ “วิชาป้องกันตัวตามถนนของพลเรือน” จากที่ผมเคยดูวิดีโอเก่าๆ ของรัสเซียที่เขาสาธิตวิชา ผมเห็นเลยว่าวิชาสไตล์ทหารของเขานี่ โหดร้ายทารุณ มาก อย่างไรก็ดี ในภายหลังแซมโบ้เองก็มีการถูกทำให้เป็นกีฬาเช่นกัน ซึ่งเขาแต่งตัวได้แบบ ลูกผสมดีมาก ท่อนบนใส่กิที่ตัดแบบทรงแปลกๆ ทรงไม่เหมือนกิยูโดหรือบีเจเจเลย มีสีแดงสีน้ำเงิน (อารมณ์เหมือนมวยสากลสมัครเล่น) ท่อนล่างใส่ขาสั้น ใส่รองเท้าผ้าใบด้วยอ่า ผมดูแล้ว ท่าทุ่มมีรูปแบบการหมุนตามแกนแนวดิ่งเยอะ ต้องใช้ความแข็งแรงของพลังหมุนเยอะอยู่ และยังชอบเล่นท่าจำพวกแบบ กระโดดเอาขารัดหรือทำอาร์มบาร์ด้วย และการแข่งกีฬาของเขาก็ยังมีแบ่งแยกระหว่างคอมแบทแซมโบ้ (คือมีเตะต่อยปล้ำทุ่ม อารมณ์ MMA หรือ Sport JuJitsu ประเภทไฟท์ติ้ง คอมแบทแซมโบ้นี่แหละคือรูปแบบการต่อสู้ของคาบิบ) กับ แซมโบ้เรสลิ่ง (อารมณ์เล่นท่าสายคว้าจับอย่างเดียว อารมณ์คล้ายกีฬายูโด หรือ Sport JuJitsu ประเภทเนวาซ่า))
เอาภาพจาก wikipedia มาให้ดูนะครับ
อันนี้คือ แซมโบ้เรสลิ่ง
ฟังดูแล้ว Vasili Oshchepkov ก็นับว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติใช่ไหมครับ แต่อย่างว่า การเมืองมันไม่เข้าใครออกใคร โดยเฉพาะถ้ามีเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” เข้ามาเอี่ยวด้วย ในปี ในคืนวันที่ 1 ถึง 2 ตุลาคม พ.ศ. 2480 วาซิลีถูกจับกุมด้วยข้อหาว่าเป็น “สายลับ” ให้ “จักรวรรดิญี่ปุ่น” แล้วก็ตายในคุก แต่ผ่านไปตั้งยี่สิบปี คือถึง พ.ศ. 2500 กว่าจะได้รับการประกาศว่าเป็นผู้ไม่มีมลทินมัวหมอง
…และพอมาถึงทุกวันนี้ ก็กลับมาสดุดีว่าเป็น “ผู้ก่อตั้งวิชาแซมโบ้” จนต้องสร้างอนุสาวรีย์ให้
นี่คืออนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2016 ที่หน้าศูนย์กีฬา CSKA ที่เมืองวลาดิวอสตอค ที่ซึ่งเมื่อปี พ.ศ.2457 (หรือเมื่อ 110 ปีก่อน) วาสิลีได้ตั้งโรงเรียนสอนยูโด สร้างเป็นประติมากรรมรูปวาสิลีรับ “สายดำ” จากปรมาจารย์คาโน่ (ที่มา vsuete.com)
เรื่องแนะนำ :
– The Emptiness Machine ทำไมผมฟังเพลงนี้แล้วนึกถึงชีวิต “ซาลารี่มัง” サラリーマン จังเลยห๊ะ?
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 10] “โคเซ็นยูโด” ยูโดท่านอน ที่เกิดก่อน บราซิลเลียนยูยิตสู
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 9] หลุยซ์ ฟรังกา ปรมาจารย์ BJJ นอกวงศ์เกรซี่
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 8] Soshihiro Satake บิดาแห่ง BJJ ผู้ถูกลืม?
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 7] ทานิ ยูคิโอะ ผู้เอาวิชายูยิตสูไปเผยแพร่ถึงเกาะอังกฤษ
#ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 11] Vasili Oshchepkov ศิษย์ยูโดโคคัน ผู้สร้างสรรค์วิชา “แซมโบ้”