วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 10] “โคเซ็นยูโด” ยูโดท่านอน ที่เกิดก่อน บราซิลเลียนยูยิตสู
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รัก ถ้าเรามองจากมุมมองของสมัยนี้ เรามองว่า “ยูโด” นั้น เน้นทุ่ม ส่วน “บีเจเจ” ไม่เน้นทุ่ม แต่เน้นท่านอน ใช่ไหมครับ? ยอมรับว่ายูโดโอลิมปิกนี่มันย้ำให้ภาพจำว่า ยูโดเป็นวิชาทุ่ม นั้นยิ่งชัดเจนขึ้น แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือว่า แท้จริงแล้ว ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ญี่ปุ่นเองก็มีรูปแบบของยูโดที่ “เน้นท่านอน” กะเขาด้วยเหมือนกัน นั่นคือ “โคเซ็นยูโด” มันจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องมาอ่านกันครับ
คำว่า “โคเซ็นยูโด” (高専柔道) นั้น ถ้าดูจากคำ ก็พอจะแปลได้ว่า “ยูโด ม. ปลาย/อาชีวะ” ครับ แปลกันแบบนี้เลย (โค มาจาก โคโตกักโค 高等学校 “โรงเรียน ม. ปลาย” เซ็น มาจาก เซ็มมงกักโค 専門学校 “โรงเรียนอาชีวะ” ครับ) เป็นรูปแบบการแข่งขัน ที่เกิดขึ้นจากการที่โรงเรียน ม.ปลายที่ 1 ของโตเกียว แข่งยูโดกับ โรงเรียน ม.ปลายที่ 2 ของเซ็นได ในปี พ.ศ. 2441 ซึ่งรูปแบบการแข่งขันคือ ยืนๆ อยู่ ลากลงมาเล่นท่านอนได้เลย พูดง่ายๆ คือ กฎการแข่งไม่เหมือนโคโดคันยูโด
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
เหตุผลก็คือเพราะว่ามันเป็นยูโดนักเรียนนี่ล่ะครับ เด็กนักเรียนนั้น ส่วนใหญ่ก็คือเด็กสายขาว และรูปแบบการแข่งระหว่างโรงเรียนยุคนั้นก็เป็นการแข่งแบบทีม ซึ่งเล่นแบบ คนชนะก็เล่นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแพ้แล้วค่อยออกไปให้คนถัดไปลงแทน ฉะนั้น ท่านอนนั้น เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ฝึกให้ใช้เป็นได้ง่ายกว่า ฝึกให้เป็นงานได้เร็วกว่า ก็เลยกลายเป็นว่าไปฝึกเน้นท่านอนเข้าไว้…
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ให้ตายสิ เดจาวู ชะมัด
หลายคนที่มาเล่นบีเจเจ บางคนเคยเล่นยูโดแต่ขยาดยูโดเพราะทุ่มกันแรงจัง สังขารมันจะไมไหวเอา บางคนไม่มีพื้นฐานพวกการทุ่มการเทคดาวน์มาก่อน ก็ไม่กล้าเล่นกล้าเรียนท่ายืนเพราะกลัวเจ็บ (ยังล้มไม่เป็น) ก็กลายเป็นว่าบีเจเจทุกวันนี้ เรียนท่านอนมาก เรียนท่ายืนน้อย แม่มโคตรเหมือนกันเลย และพอไปโฟกัสที่ท่านอน รูปแบบกระบวนท่าใหม่ๆ ที่ถูกคิดขึ้นมารองรับบริบทดังกล่าวก็พัฒนาขึ้น
ว่ากันว่า กระบวนท่า “ซันคาคุจิเมะ” (三角絞め) ซึ่งบีเจเจเรียก Triangle Choke เนี่ย มันก็มาจากโคเซ็นยูโดนี่แหละครับ (แล้วโคโดคันถึงหยิบเอาไปใช้ทีหลัง) นอกจากไทรแองเกิลแล้ว มันก็มีท่าเล่นขาอย่างเช่น ฮิซะจูจิ (膝十字) ซึ่ง เดี่ยวนะ บีเจเจเรียก knee bar ก็มาจากโคเซ็นยูโดนี่แล (ตอนหลังกลายเป็นท่าต้องห้ามของยูโด) การต่อสู้ที่ “เน้นท่านอน” นี่แหละที่ก่อให้เกิดการคิดค้นวิชาพวกนี้ขึ้นมา (เอาจริงๆ knee bar เป็นท่าอันตรายนะครับ แม้บีเจเจเองก็จำกัดว่าให้ถูกกติกา (ใช้ได้) ในการแข่ง เฉพาะสำหรับสายน้ำตาลขึ้นไปเท่านั้น)
ภาพการใช้ “ซันคาคุจิเมะ” ในการแข่งโคเซ็นยูโด (ภาพช่วงราวปี พ.ศ. 2463)
ภาพ Romulo Barra ใช้ Triangle Choke ในการแข่ง World Jiu-Jitsu Championship ปี พ.ศ. 2552
และ เนื่องจากมันเป็น “ยูโดของเด็กสายขาวที่ไม่เก่งท่าทุ่ม” กฎการแข่งจึงถูกทำให้เอื้อต่อนักเรียนเหล่านี้ กล่าวคือ ยูโดนั้นปกติคือ ต้องทุ่มก่อนแล้วค่อยลงไปทับ แต่โคเซ็นยูโดนั้น จากยืนแล้วดึงลงไปเป็นท่านอนเลยก็ได้ (อ่านแล้วนึกถึง pull guard ในบีเจเจเลยนะ) แต่ถ้าทุ่มได้ ทุ่มเป็น จะทุ่มให้ชนะอิปป้งเลยก็ย่อมได้ (อันนี้แหละไม่เหมือนกฎการแข่งบีเจเจ คุณทุ่มเปรี้ยงปร้างยังไงก็ได้แค่ 2 คะแนน และต้องเป็นทุ่มที่เขาลุกมากลับลำไม่ทันด้วย สรุปคือต้องรีบไปทับนะไม่งั้นไม่ได้คะแนนนะเออ)
เอ้อ ห้ามเล่น อาชิบาซามิ (足挟み) คือ เอาขาหนีบหัว นะครับ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากพอหลังๆ การแข่งยูโดก็ชักจะเล่นมุกแบบโคเซ็นยูโด คือไม่ยืนละ เอะอะก็ดึงลงพื้นจะเล่นท่านอนกันลูกเดียว ทางโคโดคันเลยออกกฎ ห้ามการแบบจู่ๆ มาดึงลงพื้น มันซะเลยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้ปีนั้น กลายเป็นปีสุดท้ายที่มีการแข่งแบบโคเซ็นยูโดที่คิวชู
ในเรื่องนี้ จะว่าไงดี เอาจริงๆ นะ แม้แต่ในวงการบีเจเจ ก็มีคนชูประเด็นนี้ขึ้นมาพูดเหมือนกันว่า ถ้าตามโรงเรียนต่างๆ ไม่สอนเกมยืน (ทุ่ม เทคดาวน์) บ้างเลย การเล่นกันโรลกันเวลาอยู่ในยิมมันก็จะแบบว่า เปิดมาก็ลงไปนั่งแล้วก็ไถตูดกับเบาะกันลูกเดียวเลย (เวรกำ) เราควรจะเรียนท่าทุ่มหรือเทคดาวน์ (เรียนเกมยืน) เอาไว้มั่งไหม?
มาดูไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ของกระบวนท่ากันดีกว่า
- พ.ศ. 2441 กำเนิดโคเซ็นยูโด (ในฐานะของรูปแบบการแข่งขันระหว่างโรงเรียน)
- พ.ศ. 2453 มีการใช้กระบวนท่า “อาชิการามิ” (足緘) ซึ่งตอนหลังถูกห้ามใช้ (คือท่านี้ ในบีเจเจ ยังเรียนกันนะครับ ผมเองก็ใช้ เพียงแต่กติกาคือ ห้ามจงใจ “บิดขา” ให้เข่าของอีกฝ่าย “บิดเข้าด้านใน”)
- พ.ศ. 2457 มีการแข่งโคเซ็นยูโดระดับประเทศเป็นครั้งแรก (จัดโดย ม.เกียวโตจักรพรรดิ)
- พ.ศ. 2464 มีการใช้ knee bar เอ๊ย อาชิจูจิจิเมะ (膝十字固め) มีการคิดค้น Triangle Choke ขึ้นมา
- พ.ศ. 2484 มีการแข่งแบบโคเซ็นยูโดที่คิวชู เป็นปีสุดท้าย
แม้ว่า รูปแบบการแข่งขันแบบโคเซ็นยูโดจะโดนโคโดคันสั่งห้ามไป โคเซ็นยูโดนั้น ยังคงมีอยู่ในฐานะที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ยูโดนอกกระแสหลัก” ที่ยังมีการฝึกหัดและแข่งขัน อย่างในลีกที่เรียกว่า “ยูโดเจ็ดมหาลัยจักรพรรดิ” (七帝柔道 นานาเทย์ยูโด ได้แก่ ม.โตเกียว เกียวโต โทโฮขุ คิวชู ฮอกไกโด โอซาก้า และนาโกย่า) ซึ่งยังแข่งกันเป็นประเพณีทุกปี ล่าสุดปีเรย์วะที่ 4 (ปี 2022) ม. โทโฮขุ เป็นเจ้าภาพ ม. ฮอกไกโด ชนะเลิศ ส่วนเจ้าภาพได้ที่สอง ครับ เพราะฉะนั้นมันยังคงอยู่นะครับ
ภาพการแข่ง “ยูโดเจ็ดมหาลัยจักรพรรดิ” ปี 2010 กำลังเล่น side control กันอยู่เลยครับ
เอาช่องยูทูป “โคเซ็นยูโด” มาฝากนะครับ
Kosen Judo・Japanese Judo Club de Judo Gatamé – YouTube
*****
ก่อนจากกันวันนี้ ขอเล่าข่าวสักนิด
ได้ยินข่าวเมื่อไม่นานนี้มาว่า “ต่วย’ตูน” จะเลิกตีพิมพ์แล้ว เอาจริงๆ นะ ผมมีเรื่องจะเล่า…
เมื่อสิบกว่าปีก่อนโน่น (ไม่แน่ใจตอนนั้นยังเรียนที่ญี่ปุ่น หรือเพิ่งกลับมาหว่า?) ผมเคยพยายามส่งต้นฉบับไปลง “ต่วย’ตูน” ด้วยแหละ แบบว่า อยากแจ้งเกิดเป็นนักเขียน อะไรงี้ แต่ไม่ได้รับการพิจารณาให้ตีพิมพ์ลงครับ ไม่รู้เพราะว่าสำบัดสำนวนเรามันไม่โดน หรือว่าชื่อชั้นโปรไฟล์เรามันไม่สู้บรรดาท่านๆ นักเขียนชั้นเซียนเหยียบเมฆที่เขียนลงในนั้นอย่าง พิชัย วาศนาส่ง หรือ พลเอกโอภาส โพธิแพทย์ และก็อีกหลายๆ ท่านที่ผมได้อ่านงานของท่านอย่างสนุกสนานสมัยผมเรียนมัธยม จนทำให้อยากเป็นนักเขียนกับเขามั่ง
ผมก็เลยเอาต้นฉบับเดียวกันไปลงวารสารสนญ. ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นที่ชอบอกชอบใจจนได้ตีพิมพ์ลง ซึ่งก็ได้เขียนงานลงไปสักสี่ห้าฉบับได้
และจาก portfolio การที่เคยเขียนงานลงวารสารสนญ. นี่แหละ จึงต่อยอดมาเขียนงานรายสัปดาห์ใน marumura สร้างจักรวาลของ Lordofwar Nick มาจนถึงบัดนี้ได้ นี่แหละครับ
ผมต้องขอขอบพระคุณทั้ง บก. และท่านผู้อ่าน ณ ตอนนี้ มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ
พบกันใหม่สัปดาห์นะครับผม วันนี้ก็ขอลาไปก่อนสวัสดีครับ
เรื่องแนะนำ :
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 9] หลุยซ์ ฟรังกา ปรมาจารย์ BJJ นอกวงศ์เกรซี่
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 8] Soshihiro Satake บิดาแห่ง BJJ ผู้ถูกลืม?
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 7] ทานิ ยูคิโอะ ผู้เอาวิชายูยิตสูไปเผยแพร่ถึงเกาะอังกฤษ
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 6] ทานาเบะ มาตาเอมอน ผู้ซึ่งสี่จตุรเทพยังขยาด!
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 5] สี่จตุรเทพแห่งโคโดคัน
#ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie [เชิงอรรถ 10] “โคเซ็นยูโด” ยูโดท่านอน ที่เกิดก่อน บราซิลเลียนยูยิตสู