วิชายุทธ วิถีเซน by Lordofwar Nick
ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie (7) ความตกต่ำของวิชาสายคว้าจับ (grappling) ในแง่การให้ราคาของสังคม
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มารับใช้ท่านผู้อ่านอีกแล้วนะครับกับเรื่อง “ประวัติศาสตร์ของยูยิตสู” ที่ท่านผู้อ่านน่าจะได้เห็นพัฒนาการของ “ยูยิตสู” แล้วซึ่งเติบโตจากการเป็นเพียง “ภาคผนวก” ของวิชาอาวุธในสนามรบ กลายเป็น “วิชาต่อสู้ด้วยมือเปล่า” ซึ่งก็พัฒนาทักษะที่จำเพาะเจาะจงลงไปเรื่อยๆ จนเป็นระบบการต่อสู้ที่ครอบคลุมตั้งแต่ท่ายืนถึงท่านอน วันนี้จะมาพูดถึงการคลี่คลายต่อไปอีกจากการเป็น “วิชาต่อสู้” กลายเป็น “กีฬา” ซึ่ง ผมคงต้องขอเรียนตรงๆ ว่า มันเป็น “ดาบสองคม” ในตัวมันเอง และดาบสองคมนี่แหละ ที่นำพาวิชาสายคว้าจับให้ตกต่ำลง ในแง่ของการให้ราคาของสังคมไป
นับจากการที่ “โคโดคันยูโด” ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางความเสื่อมสูญของยูยิตสูโบราณ จนผงาดฟ้า เป็นหนึ่งในใต้หล้า กลายเป็น “วัฒนธรรม” เป็น “ซอฟท์พาวเวอร์” สามารถส่งออกไปได้กว้างไกลในระดับโลก แถมก่อให้เกิดการแตกหน่อต่อยอด สร้างวิชายี่ห้อใหม่ๆ ที่เอายูโดไปเป็นฐานเพื่อต่อยอด คลี่คลายได้ถึงสองวิชา คือแซมโบ้ของรัสเซีย กับบราซิลเลียนยูยิตสูของบราซิล (ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นกีฬาต่อสู้ของชนชาวโลกไปแล้ว คนไทยคนจีนคนญี่ปุ่นคนเกาหลีเขาก็เรียนกัน) เรียกว่า “ยูโด” นี่แหละ มีอิทธิพลต่อวงการวิชาต่อสู้ของโลกมากที่สุดแล้วในศตวรรษที่ 20
แต่แล้วเมื่อ “ยูโด” พยายามมุ่งหน้าสร้างความ “แมส” ด้วยการ “ทำให้เป็นกีฬา” การลดทอนในเชิงวิชา จึงเกิดขึ้นก่อน
ว่ากันว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ท่านปรมาจารย์คาโน่ไม่ชอบใจที่ชักจะเห็นคนเล่นกันแบบ เอะอะก็นั่งลงเลย แบบนั่งลงกับพื้นเบาะเพื่อหนีการจับทุ่ม (มันคือกติกาของ “โคเซ็นยูโด” ยูโดสายเน้นท่านอนไม่เน้นทุ่ม ที่ตอนนั้นเติบโตจนถึงกับมีแข่งระดับประเทศ) ซึ่งผมเล่น BJJ ผมก็เข้าใจความคิดของท่านครับ เรื่องนี้ ในวงการ BJJ เองก็มีคนพูดเหมือนกัน คือแบบหลายคนไม่ยอมเล่นเกมยืน ไม่ยอมหัดเทคดาวน์เลย ได้แต่นั่งพื้นแล้วก็กระถกตูดไปมากับพื้นโดยที่อีกฝ่ายยืนๆ อยู่นั่นแหละ ยิมบางที่ด้วยความหมั่นไส้กับสิ่งนี้ ถึงกับบอกว่า ห้ามเล่น pull guard คือแค่เอาตีนยันสะเอวคู่ต่อสู้แล้วหย่อนก้นนั่งแปะเฉยๆ ส่วนยิมผมด้วยความที่โค้ชแกเป็นยูโดเก่า บางทีจะจัด sparring แบบ ให้เล่นแค่เทคดาวน์หรือทุ่มอย่างเดียวไปเลย นั่นก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า คนในแวดวง BJJ ซึ่งเน้นท่านอนเอง ก็ยัง “ตระหนัก” อยู่เหมือนกันว่า เฮ้ย เราฝึกวิชาทุ่ม (เทคดาวน์) ฝึกท่ายืนกันน้อยไปป่าววะ? อยู่เหมือนกัน และก็พยายามจะแก้ไขเท่าที่กรอบของวิชาอำนวย
โอเค พอปรมาจารย์คาโน่เห็นแบบนั้น ท่านก็ไม่โอเคกับสิ่งนี้ ก็เลยแก้ไขกติกาเพื่อตีกรอบว่า คุณต้องยืนนะ ต้องพยายามทุ่มอีกฝ่ายนะ ใครลงไปนั่งเฉยๆ หรือแค่ฉุดคู่ต่อสู้ลงไปเฉยๆ มีโทษนะ
มันดีในแง่ของการรักษาจุดเด่น จุดขายของวิชายูโดว่าเป็น “วิชาทุ่ม” ซึ่งเป็นอิทธิพลมาจากยูยิตสูสำนักคิโตริวอย่างชัดเจน และมันก็เป็นการยกระดับการทุ่มของยูโดให้กลายเป็น “ศาสตร์และศิลป์” เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของวิชา แต่ทว่า ในอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นการทำให้วิชาสายท่านอน ท่าล็อก (ที่ถ้าพูดในแง่ประวัติศาสตร์ มันเป็นวิชาที่ถูก “แอด” เข้าไปทีหลัง) มันหดลงไป เพราะเมื่อเรียนแล้วใช้แข่งไม่ได้ คนที่เรียน (โดยเฉพาะเรียนเป็นกีฬาไปแข่ง) เลยรู้สึกว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม ไม่ใช่ทางหลัก
พอพูดถึงตรงนี้แล้ว เรื่องราวแบบนี้มันก็เกิดกับ BJJ เหมือนกัน แต่เกิดแบบกลับด้าน คือ BJJ ไปเน้นท่านอน ท่าล็อค ในการเรียนการสอนเสียเยอะ จนเวลาที่จะเรียน “ท่ายืน” อย่างจริงจังลดถอยลงไป และพอถึงที่สุดแล้ว ก็กลายเป็น ไม่เล่นเกมยืน ไม่ยอมยืนแลกกันชิงกันทุ่มหรือเทคดาวน์เลย แบบ พูลการ์ด ลงไปนั่งก้นจ้ำเป้า กระถดก้นกับพื้น ชึบๆๆ กันซะงั้น
ลองดูวิดีโอสั้นนี่ดูครับ
การกลายเป็น “กีฬา” ที่ เน้นทุ่มอย่างเดียว ยิ่งเพิ่มดีกรีไปอีกเมื่อ “ยูโด” กลายเป็น “กีฬาโอลิมปิก” ถามว่ามันดีไหมที่เป็นกีฬาโอลิมปิก มันดีแน่นอน ในแง่ที่ว่า “ยูโด” เป็นวัฒนธรรม เป็น “ซอฟท์พาวเวอร์” ที่ส่งออกไปทั่วสากลโลก และการได้เป็นกีฬาโอลิมปิก มันก็เป็นการพิสูจน์ว่า เห็นไหม “ยูโด” กลายเป็น “กีฬาของชนชาวโลก” แล้ว แต่ แต่ แต่ หากมองในแง่ของการเป็น “วิชาต่อสู้” ที่ต้องมีองค์ประกอบให้ครอบคลุม-ครบเครื่อง แล้ว กฎกติกาที่ถูกตั้งขึ้นทั้งหลายในทางกีฬา จะเพื่อขับเน้นเอกลักษณ์เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง หรือเพื่อความบันเทิงของคนดู สิ่งเหล่านี้แหละอาจเป็นดาบสองคม ที่บั่นทอนวิชาได้
เข้าใจครับ ถ้ายูโดมาเล่น “ท่านอน” ตอนแข่ง มันอาจะยาวนาน น่าเบื่อ และไม่อิน สำหรับคนดูทั่วไปที่ไม่ใช่คนฝึกวิชา ถ้าแบบ มาทุ่มกันโป้งป้างๆ มันดูน่าสนุกตื่นเต้นกว่า มันดูมีของ ได้โชว์
แต่การไปบั่นทอนด้านอื่นๆ ของวิชา จนวิชาแลดูขาดความ “ครอบคลุม-ครบเครื่อง” นี่แหละ มันจะย้อนกลับมาบั่นทอน ทำให้คนรู้สึกว่า วิชานั้น มันก็มีอยู่แค่ที่เห็นในกีฬา จนพาลคิดไปว่า มันใช้งานจริงไม่ได้ (ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่แบบนั้น) กลายเป็นวิชาที่คนไม่ให้ราคาไป ซึ่งผมมองว่า เคสที่ “เจ็บตัว” กับการทำให้เป็นกีฬาหนักยิ่งกว่ายูโดก็คือ “เทควันโด” นี่แหละ เทควันโดในยุคแรกเริ่มถูกฝึกเอาไว้ใช้เป็นวิชาต่อสู้สายยืน ดังที่แต่ก่อนเขาให้ทหารฝึกกัน ผมเคยได้ยินว่า เมืองไทยคนไทยนี่แหละ สมัยก่อนยุคที่อาจารย์จากเกาหลีมาใหม่ๆ คุณจะขึ้นสายดำนี่ต้องทุบน้ำแข็งได้ด้วยซ้ำ (ถ้าผมจำผิดก็ขออภัย) มันแสดงให้เห็นว่า เออนี่มันคือวิชาต่อสู้นะ วิชาสายแข็งนะ มือตีนต้องหนักจริง แต่พอเทควันโดกลายเป็นกีฬาโอลิมปิก แล้วจำกัดกติกาให้ “เน้นเตะทำคะแนน” กลายเป็นว่าภาพลักษณ์การให้ราคา “เทควันโด” ในฐานะวิชาต่อสู้กลายเป็นลดต่ำลงไปเลย ฝรั่งบางคนปรามาสว่าพวกท่าเตะแฟนซีหมุนตัวกลางอากาศอะไรนี่ใช้สู้จริงไม่ได้หรอก บลาๆ
ส่วนในโลกตะวันตก มวยปล้ำ (wrestling) เมื่อถูกทำให้เป็นกีฬา (โดยเฉพาะโอลิมปิก) การมุ่งจะเอาแต้มทำให้เทคนิคที่จะเลือกใช้ว่า “ชัวร์” ทำให้ท่วงท่าที่ใช้ออกถูกจำกัด จนคนดู (ซึ่งเป็นคนไม่รู้วิชา) บอกว่า “น่าเบื่อ” แล้วก็มีคนจับจุดนี้ได้ เข็น “มวยปล้ำอาชีพ” ที่กลายเป็นเหมือน “สตันท์โชว์” มาขายไป โอเค เล่นจริงเจ็บจริงครับและต้องแข็งแรงจริง แต่ในเมื่อมันถูกสาธารณชนรับรู้แล้วว่ามันคือโชว์ “โชว์ก็คือโชว์” มันเลยทำให้คนมองวิชามวยปล้ำแบบ ด้อยค่าไปเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นวิชาต่อสู้ที่ดีนะครับ เป็นหลักฐานพื้นฐานที่คนเรียนสายคว้าจับสมควรเรียนรู้ไว้ (จากที่ได้สัมผัสกับคนที่เขาฝึกมวยปล้ำมา บนเบาะ BJJ) ผมเองมาเรียน BJJ ก็ต้องเรียนรู้การปล้ำแขน การยืนย่อ การใช้หัวดัน ซึ่งเป็นเบสิกในมวยปล้ำเหมือนกัน (แต่เรียนผ่าน BJJ แบบครูพักลักจำกับโค้ชบางคนที่เคยเรียนมวยปล้ำมาก่อน กับคู่ซ้อมบางคนที่เคยเรียนมวยปล้ำมา)
แซมโบ้ กับ บราซิลเลียนยูยิตสู นั้น ถึงจะรักษาความเป็น “วิชาต่อสู้” ไว้ได้ แต่ปัญหาคือ มันเป็นวิชาที่ชาวโลกยุคนั้นไม่รู้จัก! แซมโบ้ของรัสเซีย ก็อยู่ในหลังม่านเหล็กของสหภาพโซเวียตนั่นแหละครับ ส่วนบราซิลเลียนยูยิตสู ก็อยู่แค่ในบราซิล ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ที่ภาครัฐไม่ได้มีกำลังที่จะส่งออกบราซิลเลียนยูยิตสูไปเป็น “ซอฟท์พาวเวอร์” ในระดับสากล เหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นผลักดัน “ยูโด” จนไปโอลิมปิกได้
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้ “วิชาสายคว้าจับ” ถูกด้อยค่าว่า เป็นแค่กีฬา ไม่ใช่ “วิชาต่อสู้ที่ใช้ได้จริง” ก็คือการแพร่หลายของวิชา “สายเตะต่อย” ตั้งแต่ยุคหลังสงคราม ผ่านการเรียนรู้รับเอาวิชาในแวดวงของพวกมหารอเมริกันด้วย ๑ อิทธิพลจากหนังฮ่องกง ๑ อันนี้ เว้ากันซื่อๆ เลย คาราเต้นั้น พวกทหารฝรั่งอเมริกันมารู้จักแล้วก็เรียนเอาไว้ใช้ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังคนทั่วไป เทควันโดในยุคแรกก็มีการผลักดันให้เป็นวิชาที่ทหารเกาหลีใต้ฝึกหัด แล้วพวกฝรั่งอเมริกันก็รับมาอีกที (เคยอ่านเจอว่า กองทัพเกาหลีใต้ที่รบสงครามเวียดนาม มีหน่วยรบ “เสือขาว” ที่ฝึกเทควันโดด้วย) พอมาถึงยุคหลังๆ ฝรั่งเห็นว่ามวยไทยนี้ดี ก็รับเอามวยไทยเข้ามาอีก
ความนิยมในวิชาสายเตะต่อย และกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ที่ทำให้คนในสังคมยิ่งให้ราคา “วิชาเตะต่อย” มากไปอีก จนแทบจะเข้าใจว่า “วิชาต่อสู้=วิชาเตะต่อย” ไปเลย ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งเลยคือ “หนัง” ครับ หนังกังฟูของฮ่องกง นับแต่ยุคหนังกำลังภายในของชอว์บราเธอร์ หนังบู๊ร่วมสมัยของโกลเด้นฮาร์เวสต์ที่มี บรูซ ลี เป็นหัวหอก อิทธิพลของบรูซ ลี มันมากขนาดไหนในโลกตะวันตกจนถึงป๊อบคัลเจอร์คงไม่ต้องบรรยาย เพราะคนสมัยนั้นเขาไม่ได้มองว่า บรูซ ลี เป็นนักแสดง สิ่งที่เห็นในหนังคือการแสดง แต่คนแค่รับรู้สิ่งที่ตาเห็นในหนัง แล้วก็เชื่อว่ามันจริง ฉากที่บรูซ ลี ต่อยตัวร้ายแบบสามหมัดอ้วกเป็นเลือดใน “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง” หรือฉากที่เตะ ชัค นอริส จนขาเดี้ยงแล้วตามไปหักคอ ใน “ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง บุกกรุงโรม” อิมแพคมันสูงมาก
แล้วหนังของโกลเด้นฮาร์เวสต์ก็ตอกย้ำความสำเร็จของหนังบู๊ ดาราบู๊แบบเฉินหลง หงจินเป่า หยวนเปียว แจ้งเกิดพร้อมกับการสร้างภาพลักษณ์ว่า “วิชาต่อสู้=วิชาเตะต่อย” ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น อิทธิพลหนังบู๊ฮ่องกงส่งแรงสะเทือนไปทั่ว หนังฝรั่งก็เอาการเตะต่อยแบบกังฟูใส่เข้าไป ส่วนของไทยต้องนี่เลย หนังบู๊โดย “พันนา ฤทธิไกร” ตั้งแต่ยุคหนังสาย (เคยดู “เกิดมาลุย” ฉบับดั้งเดิมไหมครับ?) ยัน “องค์บาก” โอพระเจ้า วิชาเข่าลอยแบบพุ่งกระแทกที คนอยู่ในรถกระบะกระเด็นออกนอกประตูฝั่งตรงข้าม แถมยังหมุนตัวขาติดไฟกลางอากาศเตะก้านคอศัตรูได้อีก กระโดดตีศอกแล้วหมวกกันน๊อคแยกเป็นสองซีก โอ้ว
ครับสำหรับเนื้อหาของตอนนี้ ขอจบแต่เพียงเท่านี้ก่อน ในตอนหน้าที่จะเป็นตอนสุดท้ายของมินิซี่รี่ส์นี้ จะพูดถึงเรื่องที่ว่าวิชาสายคว้าจับปล้ำทุ่มนั้น ได้รับการกลับมา “ให้ราคา” จากสังคมอีกครั้ง จนนำมาสู่การแพร่หลายของ BJJ ในโลกปัจจุบันกันนะครับ อย่าลืมติดตามอ่านนะครับ
เรื่องแนะนำ :
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie (6) คิมูระ มาซาฮิโกะ ยอดยูโดผู้หักแขน Helio Gracie มาแล้ว!
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie (5) มาเอดะ มิตสึโยะ Conde Koma ผู้สอนวิชา “ยูยิตสู” ให้คนตระกูลเกรซี่!
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie (4) ยูยิตสูสำนักฟุเซ็น จ้าวแห่งท่านอนที่ถูกโคโดคัน “เทคโอเวอร์”
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie (3) เมื่อ “โคโดคันยูโด” ผงาดฟ้า
– ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie (2) ความเจริญและความเสื่อมของยูยิตสูโบราณ
#ประวัติศาสตร์ของ “ยูยิตสู” ฉบับ Renzo Gracie (7) ความตกต่ำของวิชาสายคว้าจับ (grappling) ในแง่การให้ราคาของสังคม