พูดถึงการบ้าน เด็กๆ นักเรียนไม่ว่าจะวัยใดคงไม่ชอบสักเท่าไหร่ แต่มีการบ้านช่วงปิดเทอมอย่างหนึ่งของเด็กประถมญี่ปุ่น ซึ่งคิดว่าน่าสนใจและอยากจะพูดถึง นั่นก็คือการค้นคว้าอิสระของเด็กญี่ปุ่น หรือเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “จิยูเคงคิว”
พูดถึงการบ้าน เด็กๆ นักเรียนไม่ว่าจะวัยใดคงไม่ชอบสักเท่าไหร่ แต่มีการบ้านช่วงปิดเทอมอย่างหนึ่งของเด็กประถมญี่ปุ่น ซึ่งคิดว่าน่าสนใจและอยากจะพูดถึง นั่นก็คือ “การค้นคว้าอิสระ” หรือเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “จิยูเคงคิว” 自由研究
自由 jiyu แปลว่าอิสระ
研究 kenkyuu แปลว่าวิจัย ค้นคว้า
กิจกรรมนี้คือ การให้เด็กๆ ใช้เวลาช่วง 10-40 วันของการปิดเทอมฤดูร้อน เรียนรู้อย่างอิสระในสิ่งที่ตนชอบหรือสนใจ โดยไม่มีการกำหนดหัวข้อใดๆ จากคุณครู
แล้วเค้าทำอะไรกัน
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า “การค้นคว้าหรือวิจัยอย่างอิสระ” วัตถุประสงค์หลักคือ “การลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ” ฉะนั้น เป็นการให้อิสระอย่างเต็มที่ พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือ อยากทำอะไรก็ทำ อาจจะเป็นการทดลอง การประดิษฐ์ การเฝ้าสังเกต หรือการสืบเสาะค้นหา อะไรก็ได้ที่มาจากความชอบ ความสนใจของแต่ละคน โดยอาศัยความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ดูแลอยู่ห่างๆ หรือสนุกไปกับการทดลองของลูกด้วย โดยไม่ลงไปช่วยทำ
พอไม่มีการกำหนดให้ทำอะไรตามคำสั่ง ก็มีบ้างที่เด็กๆ อาจจะคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี หรือต้องเริ่มต้นยังไงดี จึงมีหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาจำหน่าย หรือในเว็บไซต์ต่างๆ มีคำแนะนำ ตัวอย่างให้เลือกมากมาย เช่น แบ่งตามระดับชั้นเรียน ระยะเวลาในการค้นคว้า รวมไปถึงข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวของคุณพ่อคุณแม่
เริ่มต้นตั้งแต่แนะนำวิธีการเลือกหัวข้อที่จะทำ โดยให้เริ่มจากสิ่งที่อยู่รอบตัวในชีวิตประจำวัน และตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถามกับมัน เช่น “ ทำไมถึง… “ “ ถ้าเป็นอย่างนั้น… จะเป็นยังไง”
พอนึกหัวข้อที่สนใจได้แล้ว ก็เริ่มวางแผนขั้นตอนการทำ สิ่งที่อยากทำนั้น มีระยะเวลาในการทำ การค้นคว้าหรือทดลองนานแค่ไหน สามาถรถทำให้เสร็จและสรุปผลได้ภายในช่วงเวลาปิดเทอมไหม ต้องใช้อะไรบ้าง สิ่งของอุปกรณ์มีครบไหม อันตรายไหม ไปจนถึงแนะนำวิธีการเขียนรายงานส่งคุณครู เป็นต้น
ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่าค่ะ
พอใช้คำว่า 研究 เคงคิวหรือวิจัย ค้นกว้า จะรู้สึกว่ามาทางสายวิทยาศาสตร์ใช่ไหมคะ แต่จริงๆ ไม่จำเป็นเลยค่ะ ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่า จากหนังสือตัวอย่างจิยูเคงคิวของเด็กป.1 – ป.4 ซึ่งจะบอกระดับความยากง่ายของการทดลองแต่ละอันให้เลือกทำตามระดับที่เหมาะสม
การทดลอง 実験 : jikken
อันนี้เป็นการทดลองง่ายๆ จากของที่หาได้ในบ้าน
1. ทำยังไงไม่ให้แอปเปิ้ลที่ปอกแล้ว เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ด้วยการลองแช่ชิ้นแอปเปิ้ลในแก้วน้ำ 5 แก้ว เติมเกลือ, น้ำมะนาว, น้ำส้มสายชู, น้ำตาล ลงไปในน้ำแต่ละแก้ว แก้วสุดท้ายเป็นน้ำเปล่าที่ไม่ใส่อะไรลงไปเลย แช่ไว้ 5 นาทีแล้วเอาออกมา วางทิ้งไว้ 5-6 ชั่วโมง คอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแอปเปิ้ลแต่ละชิ้น
2. ทำยังไงให้แอปเปิ้ลที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล กลับมาเป็นสีเดิม
ด้วยการลองแช่แอปเปิ้ลสีน้ำตาล ในแก้วน้ำ 4 แก้ว คราวนี้สิ่งที่เติมลงไปลองเปลี่ยนเป็น เกลือ, น้ำส้มสายชู, นม, น้ำส้ม แล้วคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงทุก 5 นาที 15 นาทีและ 30 นาที
งานประดิษฐ์, งานฝีมือ 工作 : kousaku


การสังเกตการณ์, เฝ้าดู 観察 : kansatsu
ตัวอย่างอันนี้เป็นการเฝ้าสังเกตการณ์รูปร่างของก้อนเมฆ แล้วจดบันทึกวันที่ เวลา วาดรูปของก้อนเมฆที่เห็น จินตนาการดูว่าเป็นรูปอะไร ดูข่าวพยากรณ์อากาศในแต่ละวัน สังเกตวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ฟ้าครึ้ม ฝนตก ลักษณะของก้อนเมฆแตกต่างกันอย่างไร เป็นต้น
คงเคยได้ยินเวลาพยากรณ์อากาศพูดคำว่า ปริมาณน้ำฝนกี่มิลิเมตรต่อชั่วโมง ฟังแล้วสงสัยว่าหมายถึงอะไรน้า การทดลองวัดปริมาณน้ำฝนและเฝ้าสังเกตดูตามตัวอย่างนี้มีคำตอบให้เด็กๆ ค่ะ
การสำรวจ 調査 : chousa
อันนี้สำรวจลายนิ้วมือกันเลยค่ะ เพราะคนเราแต่ละคนจะมีลายนิ้วมือไม่เหมือนกันสักนิ้วและไม่เหมือนซ้ำกันเลย งานนี้นอกจากจะลองพิมพ์ลายนิ้วมือของคนในครอบครัวมาตรวจสอบดูแล้ว ยังบอกวิธีลองพิมพ์ลายนิ้วมือจากแก้วน้ำกันดูอีกต่างหาก
อันนี้เป็นการสำรวจและคิดหาวิธีลดปริมาณขยะในบ้าน หรือศึกษาเกี่ยวกับประเภทของขยะรีไซเคิลชนิดต่างๆ
การเยี่ยมชมโรงงาน 工場見学 : koujou kengaku
มีโรงงานหลายแห่งที่เปิดให้นักเรียนเข้าไปทัศนศึกษาชมขั้นตอนการผลิต การทำงานต่างๆ ค่ะ รวมไปถึงหน่วยงาน บริษัทเอกชน โรงแรม ศูนย์วิจัย ฯลฯ หลากหลายประเภท ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าไปชมการทำงานจริง
ระหว่างที่ทำการค้นคว้า ทดลองนี้ เด็กๆ ต้องมีการจดบันทึก ถ่ายภาพ วาดภาพ หรือเก็บตัวอย่าง เพื่อที่จะทำเป็นรายงานสรุปผลการทดลองค้นคว้าส่งคุณครูตอนเปิดเทอมค่ะ บางโรงเรียนให้ออกไปรายงานการทดลองให้เพื่อนๆ ฟัง บางโรงเรียนมีการนำผลงานที่โดดเด่นไปจัดแสดงในโรงเรียนเอง หรือในสถานที่ส่วนกลางของท้องถิ่น
ไม่ได้หมายความว่า การทดลอง ค้นคว้า วิจัย ทุกชิ้นจะต้องประสบความสำเร็จนะคะ แม้ผลที่ได้จะไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ การทดลองล้มเหลว เกิดความผิดพลาด ก็ไม่เป็นไรค่ะ เพราะได้ลงมือทำในสิ่งที่ตั้งใจทำแล้ว ญี่ปุ่นเค้ามีประโยคยอดฮิตประโยคหนึ่งคือ “結果よりも過程が大切” กระบวนการสำคัญกว่าผลลัพธ์
หมายเหตุ
ที่ญี่ปุ่นเริ่มมีการให้เด็กนักเรียนทำการค้นคว้าอิสระนี้ขึ้น ในช่วงปีค.ศ. 1920 (90 กว่าปีที่แล้ว) โดยรับเอาการปฏิรูปการศึกษาแนวใหม่มาจากประเทศตะวันตกมาใช้ในโรงเรียนบางแห่ง เช่น ร.ร. Seijo Gakuen, Tamagawa Gakuen ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนการสอนที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของญี่ปุ่น และเริ่มมีการบังคับใช้ในโรงเรียนต่างๆ ในปี 2003 ที่ให้ทำในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ถือว่าค่อนข้างนาน จึงมีช่วงเวลาพอที่จะทำการทดลอง ศึกษา และสรุปผลได้
พบปะ “เจ๊เอ๊ด” และ #ทีมเจ๊เอ๊ด ได้ที่ >>> www.facebook.com/jeducationfan
ข้อมูลเรียนต่อญี่ปุ่น-เรียนภาษาญี่ปุ่น >>> www.jeducation.com
เรื่องแนะนำ :
– แผ่นความร้อน Kairo ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ
– ตามรอยคู่ฮันนีมูนคู่แรกของญี่ปุ่น ไปอาบน้ำแร่แช่น้ำโคลนที่ Kirishima
– สาขาวิชาแปลกๆ ในญี่ปุ่น
– ในวันที่ก๊งเหล้ากับพระ….ญี่ปุ่น
– เกาะกระแสกีฬาสีญี่ปุ่น สามัคคีชุมนุม
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://hsgw-dent.jugem.jp/
http://tokushimazyumoku.la.coocan.jp/
http://kids.gakken.co.jp/
https://lidea.today/