สัญลักษณ์ญี่ปุ่น…ถ้าเคยสังเกตุแผนที่ภาษาญี่ปุ่นทั่วไปไม่ใช่แผนที่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเห็นเครื่องหมายที่เดาไม่ออก โดยเฉพาะเมื่อภาษาญี่ปุ่นไม่กระดิกก็ได้แต่อึ้งกันไป ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าที่เห็นอยู่บนแผนที่นั้นคือสถานที่ประเภทไหน
ขอเกริ่นถึงเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่าง ๆ บนแผนที่ของญี่ปุ่นกันนิดนึงนะคะ ภาษาญี่ปุ่นเรียกสัญลักษณ์บนแผนที่ว่า 地図記号 chizu kigō
ถ้าเคยสังเกตุแผนที่ภาษาญี่ปุ่นทั่วไปไม่ใช่แผนที่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเห็นเครื่องหมายที่เดาไม่ออก โดยเฉพาะเมื่อภาษาญี่ปุ่นไม่กระดิกก็ได้แต่อึ้งกันไป ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าที่เห็นอยู่บนแผนที่นั้นคือสถานที่ประเภทไหน

และเนื่องมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นที่พุ่งกระฉูด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก พาราลิมปิกในปีค.ศ. 2020 อันใกล้นี้ ทาง 国土地理院 หรือสำนักงานภูมิสารสนเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น จึงได้ดำเนินการที่จะเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายบนแผนที่ โดยเลือกจาก 18 สัญลักษณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างสูง จากแบบที่เรียบสุดๆ เปลี่ยนมาเป็นแบบที่สากลขึ้นไม่ว่าจะชาติไหนก็ยังพอจะเดาได้ เพื่อใช้ในหนังสือท่องเที่ยว หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ บนสมาร์ทโฟน ให้มีความ friendly ต่อชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างจากภาพตัว H ในวงกลม ที่ชวนให้คิดว่าเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์มากกว่าที่จะหมายถึงโรงแรมที่พัก ก็เปลี่ยนมาเป็นภาพคนนอนบนเตียงให้เห็นจะๆ กันไป เครื่องหมายสวัสดิกะ 卍 ที่ชวนให้นึกถึงฮิตเลอร์ เปลี่ยนให้เป็นเจดีย์สามยอดเพื่อสื่อถึงวัด เป็นต้น ทั้งยังมีการเพิ่มสัญลักษณ์ที่จำเป็น เช่น ร้านสะดวกซื้อสำหรับกองทัพนักท่องเที่ยวที่ต้องแวะหาข้าวปั้นอร่อยๆ รองท้องก่อนไปตะลุยช้อปปิ้ง
แต่กว่าจะสรุปออกมาว่าจะเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์แบบที่เห็นในภาพ ได้มีการทำแบบสอบถามคนต่างชาติในญี่ปุ่นก่อนด้วยนะคะ ว่าสัญลักษณ์แบบไหนเข้าใจง่ายหรือยาก โดยสุ่มตัวอย่างสอบถามนักท่องเที่ยว นักเรียนต่างชาติทั้งในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ในสถานทูต ฯลฯ ประมาณพันคนจาก 92 ประเทศ เพื่อให้ได้ตัวเลือกของสัญลักษณ์ที่เข้าใจกันได้แบบไร้พรมแดน
อีกทั้งยังทำแบบสอบถามเพื่อปรับการใส่ชื่อสถานที่ภาษาอังกฤษ ให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าหมายถึงอะไร เช่น Takaosan เปลี่ยนเป็น Mt.Takao เพื่อให้เข้าใจได้ว่าชื่อภูเขาทะคะโอะ (คำว่า 山 ซึ่งแปลว่าภูเขาจะอ่านออกเสียงได้สองแบบคือ yama และ san เวลาเรียกชื่อภูเขาส่วนใหญ่จะอ่านว่า san)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางสำนักงานภูมิสารสนเทศอยากจะกระตุ้นให้หน่วยงานท้องถิ่น รวมไปถึงบริษัททำแผนที่ภาคเอกชน เปลี่ยนมาใช้เครื่องหมายแบบใหม่ที่มีความเป็นสากล แต่ก็ยังมีเสียงที่เห็นว่าเครื่องหมายแบบเดิมนั้น เป็นที่คุ้นเคยของชาวญี่ปุ่นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด จึงเป็นประเด็นที่จะต้องประชุมหาข้อสรุปกันต่อไปในอนาคตค่ะ
เรื่องของเครื่องหมายสัญลักษณ์นี่ คนส่วนใหญ่จะยังไม่ค่อยทราบว่าภาพสัญลักษณ์ต่างๆ รวมไปถึง トイレマーク : Toilet mark หรือเครื่องหมายสุขาเป็นลักษณะเงาของผู้ชาย-ผู้หญิง ที่เราคุ้นตากันอยู่ทุกวันนี้ จริง ๆ แล้วมีการใช้ครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิคฤดร้อนที่กรุงโตเกียวในปี ค.ศ. 1964 ค่ะ เป็นการสื่อสารโดยใช้สัญลักษณ์ภาพที่เรียกว่า ピクトグラム : Pictogram

พิกโตแกรม เป็นการสื่อสารด้วยสัญลักษณ์ของรูปภาพเลียนแบบสิ่งที่เห็นจริงโดยลดรายละเอียดให้น้อยลง ทำเป็นชุดภาพต่อเนื่องที่มีลักษณะคล้ายกัน ทำให้สามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว เข้าใจได้ง่ายไร้พรมแดนทางภาษา
การแข่งขันโอลิมปิกแต่เดิม มีการออกแบบกราฟฟิกเพื่อใช้แทนสัญลักษณ์ของกีฬาต่างๆ ตามภาพด้านล่างเป็นสัญลักษณ์ของกีฬาแต่ละประเภทในการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอนในปีค.ศ. 1948
แต่เนื่องจากในการแข่งขันโอลิมปิคปีค.ศ. 1964 นั้น นับเป็นครั้งแรกของโอลิมปิคที่จัดขึ้นนอกประเทศที่ใช้ตัวอักษร ABC ซึ่งแน่นอนว่าป้ายต่าง ๆ ของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาญี่ปุ่น ทางญี่ปุ่นจึงเกิดความคิดว่าในการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่จะมีนักกีฬา 7,000 คนจาก 90 กว่าประเทศ รวมถึงผู้มาชมงานอีก 7 หมื่นกว่าคนมารวมตัวกันที่กรุงโตเกียวนั้น การลดปัญหาด้านระบบการสื่อสารระหว่างนานาประเทศที่ใช้ภาษาแตกต่างกัน และสามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุด นั่นก็คือการใช้สัญลักษณ์ “พิกโตแกรม”
ผู้ที่ออกแบบคืออาร์ตไดเรคเตอร์ชื่อว่า Masaru Katzumie และกราฟฟิคดีไซเนอร์ชื่อ Yoshiro Yamashita โดยมีการออกแบบสัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาทั้งหมด 20 ชนิด สัญลักษณ์ของสถานที่และข้อมูลการบริการทั่วไปอีก 39 ชนิด

นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้พิกโตแกรมเพื่อสื่อสารถึงสถานที่และข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แล้ว ยังกลายเป็นมาตรฐานที่ประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกในแต่ละปีจะมีการการออกแบบพิกโตแกรมใหม่ให้เข้ากับคอนเซ็ปท์ของโอลิมปิกแต่ละครั้งมาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ

พบปะ “เจ๊เอ๊ด” และ #ทีมเจ๊เอ๊ด ได้ที่ >>> www.facebook.com/jeducationfan
ข้อมูลเรียนต่อญี่ปุ่น-เรียนภาษาญี่ปุ่น >>> www.jeducation.com
เรื่องแนะนำ :
– เรียนต่อญี่ปุ่น ใช้เงินอย่างประหยัดได้ไม่ยาก
– วิธีการอยู่รอดในหน้าหนาวญี่ปุ่น
– ภาษาโอซาก้า…อาโนเนะ
– จิยูเคงคิว การค้นคว้าอิสระของเด็กญี่ปุ่น
– แผ่นความร้อน Kairo ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ
ขอบคุณข้อมูล :
http://www.gsi.go.jp/
http://olympic-museum.de/
http://kano-lab.org/archives/2319
Japan To Redesign Its Pictograms to Be More Foreigner Friendly