สิ่งที่คนญี่ปุ่นมาเที่ยวเมืองไทยแล้วเอนจอยมากๆ คือ การเดินชม ชิม ชิลบริเวณ Street food หรือย่านอาหารรถเข็นหรือแผงลอยของบ้านเรานั่นเองค่ะ คนไทยเราก็สามารถเนรมิตให้เกิดขึ้นได้ในพื้นที่อันจำกัดไม่เกิน 3 x 3 ตารางเมตร
สิ่งที่คนญี่ปุ่นมาเที่ยวเมืองไทยแล้วเอนจอยมากๆ คือ การเดินชม ชิม ชิลบริเวณ Street food หรือย่านอาหารรถเข็นหรือแผงลอยของบ้านเรานั่นเองค่ะ พวกเขาอะเมซซิ่งมากที่บนถนนเส้นเล็กๆ จะมีทั้งแผงส้มตำไก่ย่าง ผลไม้ กระเพาะปลา แม้แต่อาหารที่ดูลำบากเล็กน้อยในการปรุง เช่น ผัดไท สารพัดยำ คนไทยเราก็สามารถเนรมิตให้เกิดขึ้นได้ในพื้นที่อันจำกัดไม่เกิน 3 x 3 ตารางเมตร

ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีแผงลอยหรือรถเข็นเหมือนบ้านเราค่ะ เมืองไหนที่มีแผงลอยเยอะๆ อย่างฟุกุโอกะ อาหารรถเข็นก็เลยกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองไป ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 屋台 – Yatai แปลว่าร้านที่อยู่บนแท่น (พร้อมเคลื่อนที่) ค่ะ

สาเหตุที่คนญี่ปุ่นติดใจอาหารรถเข็นบ้านเราก็มีหลายประการด้วยกัน อาทิ
1. Performance ตื่นตาตื่นใจ
ในสายตาคนญี่ปุ่น รถเข็นแผงลอยบ้านเราเปรียบเสมือน Open kitchen จะผัดจะทอด พร้อมอร่อยในพริบตา…. ทำกัน ปรุงกันตรงนั้นเลย หอยทอดร้อนฉ่าๆ ส้มตำปาปาย่าป๊อกๆ ที่คนญี่ปุ่นชอบมากคือ รถเข็นผลไม้ค่ะ พวกนางจะทึ่งฝีมือการควงมีดหั่นมะม่วงเป็นชิ้นๆ แล้วเทเข้ากรวยใส่ถุงพร้อมตบด้วยพริกเกลือ ทุกอย่างใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที
จริงๆ รัฐบาลไทยควรริเริ่มนำเทคนิคเหล่านี้มาทำเป็นโชว์ Performance ได้แล้ว ดิฉันมั่นใจว่า วิธีการปรุงอาหารไทยของชาติเราโดดเด่นไม่แพ้โชว์ Nanta ของเกาหลีแน่นอนค่ะ
2. ความหลากหลาย
แผงลอยริมถนนมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ตั้งแต่ร้านขายพวงมาลัย ไก่ย่าง ปลาเผา ส้มตำ น้ำแข็งไส ผักบุ้งไฟแดง แถมช่วงเวลาต่างกัน รถเข็นที่มาขายก็จะต่างกัน เช่น ตรงพื้นที่นี้ ตอนเช้าเป็นรถเข็นปาท่องโก๋ ตอนเที่ยงเป็นรถขายกับข้าวถุง ตอนเย็น กลายเป็นแผงส้มตำมาขายแทน

3. อาหาร Made-to-order
อยากทานอะไร ก๋วยเตี๋ยวจะใส่ลูกชิ้นแบบไหน ไม่ใส่ผักชียังไง พ่อค้าแม่ค้าไทยจัดให้ไม่บ่น เพื่อนคนญี่ปุ่นของดิฉันทานอาหารเผ็ดไม่ได้ เวลาไปทานแผงลอยอาหารตามสั่ง ฮีก็จะมีเมนูเด็ดของแก คือ เส้นเล็กแกงจืดเต้าหู้ กล่าวคือ แกงจืดเต้าหู้ธรรมดา แล้วลวกเส้นเล็กใส่ลงไป ทานสไตล์ก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าก็จัดให้ได้สบายๆ ไม่มีบ่นเรื่องคิดราคาไม่ได้ ปรุงไม่ได้
สถานการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นเลยที่ญี่ปุ่น หากคุณเข้าร้านอาหารญี่ปุ่นหรือร้านราเม็งแล้วสั่งเมนูนอกกรอบ พนักงานจะเริ่มกระสับกระส่ายทำอะไรไม่ถูก เขาจะบอกว่า ทำให้ไม่ได้ครับ ไม่ครบสูตรครับ หากคุณยังยืนยันว่าจะทาน พนักงานคนนั้นก็จะวิ่งหลังร้านเพื่อไปพลิกคู่มือ (Manual) ดูว่า เราจะเอาหน่อไม้ดองออกและใส่เนื้อหมูเพิ่มให้ลูกค้าอีก 1 แผ่นได้หรือไม่ หรือไปปรึกษาผู้จัดการร้านว่า อะไรที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ ในกฎ ในคำสั่งนาย ในธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมา คนญี่ปุ่นะจะค่อนข้างตื่นเต้นตกใจ และต้องใช้เวลาระดมสมองกันสักพักกว่าจะหาคำตอบได้ค่ะ
แม้อาหารแผงลอยจะมีจุดเด่นและสร้างความสำราญใจให้คนญี่ปุ่นได้ขนาดนี้ แต่ก็ยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้คนญี่ปุ่นเขาไม่ค่อยแฮ้ปปี้กับรถเข็นแผงลอยบ้านเราค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
1. แม่ (ค้า) ไม่เข้าใจฉัน
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ทานเผ็ดไม่ค่อยได้ค่ะ เวลาเขาสั่งพวกส้มตำ หรือยำ ก็มักจะบอกแม่ค้าว่า “ไม่เผ็ดนะครับ” แต่แม่ค้าก็ยังระดมใส่พริกให้พวกเขา พอเขาทานแล้วทำท่าดูดปากซี้ดซ้าด แม่ค้าไทยก็จะขำแล้วบอกว่า
“ไม่เห็นจะเผ็ดเลย (พริก 3 เม็ดเอง)”
หลังๆ ดิฉันเลยต้องบอกคนญี่ปุ่นว่า เวลาสั่งส้มตำ ให้บอกว่า เอาพริกเม็ดเดียว ระบุจำนวนพริกไปเลย อย่าไปเชื่อการตัดสินใจของแม่ค้า Level ภูมิต้านทานความเผ็ดเรามันต่างกัน
2. แม่ค้าที่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง
เป็นอีกสถานการณ์ที่คนญี่ปุ่นเกรงกลัวมาก และเกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น โยชิ เพื่อนดิฉัน ไม่ชอบเครื่องดื่มหวานๆ เวลาแกไปสั่งกาแฟรถเข็น เขาจะสั่งว่า “ขอกาแฟดำ ไม่หวานครับ”
แม่ค้าก็จะทำเสียงหึๆ ในลำคอ แล้วบอกว่า “กาแฟไม่หวานไม่อร่อยหรอก”
พร้อมเทนมข้นหวานให้ 3 ช้อน อีตาโยชิบอกว่าอยากกรี๊ดแล้วหยิบขวดชาแถวนั้นมาเขวี้ยงแม่ค้ามาก ฮีบอกว่า สั่งกาแฟอย่างนี้ทีไร สมมติว่าสั่ง 10 ครั้ง จะต้องเจอแม่ค้าที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ฟังคำขอร้องจากฮีอย่างน้อย 5 ครั้ง ทำไมพ่อค้าแม่ค้าไม่ฟังลูกค้าเลย

หากท่านพบเห็นชายหนุ่มญี่ปุ่นรูปร่างสูงโปร่ง อายุประมาณ 30 กว่าๆ ท่าทางกระฟัดกระเฟียดดูหัวเสียแถวร้านเครื่องดื่มย่านสีลม นั่นอาจเป็นโยชิค่ะ ลองเดินเข้าไปตบไหล่ปลอบๆ เขาด้วยนะคะ พี่แกอยู่ไทยมา 2 ปีแล้วก็ยังไม่ชินเสียที
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> Japan Gossip by เกตุวดี Marumura