เราคงเคยเห็นละครแนวแซ่บๆ เชือดเฉือนอารมณ์กันแบบถึงใจให้เห็นอยู่บ่อยๆ ตามละครโทรทัศน์บ้านเรา แล้วถ้าเป็นฝั่งละครญี่ปุนล่ะ จะมีละครแนวนี้ให้ดูเยอะหรือเปล่า แล้วถ้ามีจะเป็นเป็นยังไงบ้าง วันนี้จะมาแนะนำละครแนวแซ่บๆ แบบญี่ปุ่น มาให้ได้รู้จักกันค่ะ
เราคงเคยเห็นละครแนวแซ่บๆ เชือดเฉือนอารมณ์กันแบบถึงใจให้เห็นอยู่บ่อยๆ ตามละครโทรทัศน์บ้านเรา แล้วถ้าเป็นฝั่งละครญี่ปุนล่ะ จะมีละครแนวนี้ให้ดูเยอะหรือเปล่า แล้วถ้ามีจะเป็นเป็นยังไงบ้าง วันนี้จะมาแนะนำละครญี่ปุ่นแบบแซ่บๆ มาให้ได้รู้จักกันค่ะ

1. ไม่จำเป็นต้องแซ่บเปรี้ยว
ละครแซ่บแบบญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าต้องเป็นละครแนวจิกกัดแบบผู้หญิงๆ เท่านั้น ประชันความสวยความเลิศกัน แต่ละครแนวแซ่บๆ ของญี่ปุ่นยังรวมไปถึงละครแนวอาชีพ แนววัยรุ่น ที่ออกแนวเชือดเฉือนทางอารมณ์กัน
อย่างเช่นเรื่อง “Age Harassment” ชีวิตของพนักงานสาวที่ถูกละเมิดทางอายุและเพศ ต้องคอยต่อสู้กับเหล่าพนักงานผู้หญิงอายุมากกว่า ที่คอยกลั่นแกล้งชิงดีชิงเด่นกันตลอดเวลา รวมถึงต้องปกป้องตัวเองให้รอดพ้นจากภัยคุกคามในด้านต่างๆ จากพวกเหล่าพนักงานผู้ชาย

หรือจะเป็นเรื่อง “LIFE” เรื่องราวของเด็กนักเรียนผู้หญิงคนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้ง เพื่อความอยู่รอดเธอจึงต้องลุกขึ้นมาสู่แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน!

แนวแซ่บๆ สายแม่บ้านก็มีค่ะ อย่างเรื่อง “Hirugao” เรื่องราวชู้รักในหมู่แม่บ้านค่ะ หรือผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว แต่กลับไปกุ๊กกิ๊กกับชายอื่น เห็นแบบนี้แล้วจะไม่ให้เรียกว่า “แซ่บ” ได้ยังไงกันล่ะคะ แต่ละครพวกนี้ไม่ได้ทำออกมาให้เห็นว่าแซ่บเฉยๆ นะคะ แต่มักจะแฝงข้อคิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องราว “ชู้รัก” ในอีกมุมมองหนึ่ง อย่างละครเรื่องนี้เปิดมาด้วยประเด็นคำถามที่ว่า “ชู้รักมันเป็นสิ่งที่เลวร้าย หรือเป็นรักแท้ที่มาช้าเกินไป?”
2. เน้นเชือดเฉือนทางอารมณ์
แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นลักษณะเด่นและขาดไม่ได้ของละครแนวนี้ก็คือ ความเชือดเฉือนทางอารมณ์แบบถึงพริกถึงขิง ปะทะคารมกันให้สะใจไปข้าง ซึ่งการเชือดเฉือนทางอารมณ์ที่แสดงออกในละครญี่ปุ่นก็มักจะออกมาในลักษณะนี้ ค่ะ
(1) มองแรง จิกหนัก

เวลาจะส่งสายตาจิก แสยะยิ้มทีเนี่ย เสียวซ่านไปถึงทรวงในเลยค่ะ แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน
(2) ร้ายลับหลัง

เป็นลักษณะความร้ายที่ต้องซ่อนความรู้สึกไม่ให้ใครรู้ค่ะ ต่อหน้ายิ้มๆ แต่ในใจนี่ด่าอย่างเจ็บแสบบางทีก็จะชอบหามุมเอาไว้แอบแสยะยิ้ม เวลาคิดแผนการเด็ดๆ ออก
(3) ด่ากันตรงๆ
แนวนี้มักจะเจอในละครแนวออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ ตอนแรกพวกตัวละครก็จะเก็บความรู้สึก แต่มันจะมีจุดๆ หนึ่งที่ฉันชักจะทนไม่ไหวแล้วก็จะระเบิดอารมณ์ออกมา ปะทะอารมณ์กันตรงๆ อย่างดุเดือด
(4) ใช้คำด่าที่ต้องตีความ
เวลาที่จะด่าทอกันเนี่ย ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เน้นที่คำหยาบสักเท่าไรค่ะ แต่จะเป็นคำพูดในเชิงที่ว่าเราต้องตีความ และพอตีความออกมาได้เนี่ยจะรู้สึกเจ็บแสบจริงๆ อย่างเช่น…

ฉากนี้มาจากเรื่อง First Class ภาค 2 ค่ะ เรื่องของเรื่องก็คือนางนามิเอะ (ผู้หญิงปากแดงในภาพ) กำลังหงุดหงิดที่นางแบบคนหนึ่งโดนเครื่องประดับที่ใส่อยู่บาดข้อมือ แล้วนางแบบก็โวยวาย ส่วนทางนามิเอะเองก็ปรี๊ดแตกฉุนเฉียว พร้อมบ่นออกมาว่า “นี่หล่อนมาทำอะไรกับชิ้นงานของฉันเนี่ย มาทำเลือดเลอะใส่เหรอยะ” ส่วนนางแบบเอง นางก็วีนตรงที่ว่า ทำไมมัวแต่มาห่วงเรื่องชุด ฉันเลือดออกนะยะ นางนามิเอะก็เลยอารมณ์บ่จอย หงุดหงิดในความเรื่องมากของนางแบบเจ้าปัญหาเข้าขั้นแอดวานซ์ นางเลยจ้องหน้านิ่ง และด่าในใจว่า…
“เลือดของเธอน่ะมันก็แต่ ไวน์โหลราคาถูกๆ แต่เลือดฉันน่ะเป็นถึงไวน์ romanee conti ปี 1999 เลือดของเธอมันอยู่แถวบ้านนอกกระจอกๆ แค่น้ำองุ่นตกยุคขายตามตู้หยอดกระป๋อง มีน้ำผลไม้แค่ 10% แต่สังเคราะห์สีและรสถึง 90% เลือดฉันน่ะขายแถวคาเฟ่ย่านโอโมเทะซันโด. . . ยังไงก็ดี เลือดจะออกมากน้อยแค่ไหนทั้งแดกคูล่าและซอมบี้ก็ไม่สนเธอหรอก!”
ด่ายาวมากค่ะ คุณเธอก็ช่างเปรียบเลือดกับไวน์และน้ำผลไม้นะคะ จะด่ากันทีต้องมีความรู้เรื่องไวน์ น้ำผลไม้กระป๋อง แถมความรู้เรื่องสถานที่ของญี่ปุ่นอีกนะคะเนี่ย!
(5) ไม่ทำร้ายร่างกาย
แม้จะจิกจะแสยะยิ้ม ด่ากันจนเจ็บลึกเข้าไปในหัวใจ แต่กฎเหล็กละครแนวแซ่บๆ ของญี่ปุ่นจะไม่ลงไม้ลงมือตบตีกันค่ะ แต่จะเป็นการทำร้ายกันทางคำพูดและการกระทำ กดหัวอีกฝ่ายให้จมดินแบบไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดมากกว่า จะออกแนวเล่นแผนสูงที่ส่งผลเสียถึงระดับชีวิต จะไม่เสียเวลามาระบายอารมณ์ตบกันมะรุมมะตุ้มค่ะ แต่ก็มีบ้างกับฉากตบหน้า แต่เป็นการตบเพื่อเรียกสติ และสั่งสอนอะไรบางอย่าง
3. แย่งผู้ชายไม่ใช่ประเด็นหลัก
พล็อตหลักของละครแนวแซ่บแบบญี่ปุ่นคืออะไร? แม้ละครจะเต็มไปด้วยเหล่าผู้หญิงที่ออกมาปะทะอารมณ์กันแบบดุเดือด แต่สิ่งที่ทำให้พวกนางเขม่นหน้าไม่พอใจกันเนี่ย จริงๆ ไม่ใช่เรื่องความรัก หรือเรื่องผู้ชายหรอกนะคะ และสิ่งที่ทำให้พวกนางต้องทะเลาะกัน ไม่ถูกใจกัน ก็มักจะเป็นความรู้สึกทำนองว่า
“หนอยยย นังนี่ เพิ่งเข้ามาทำงานไม่เท่าไร ก็ออกหน้าออกตา ทำเป็นเก่งนะยะ” หรือไม่ก็
“ใครๆ ก็คอยแต่โอ๋เข้าข้างเธอ เพราะแค่สาวแค่สวยกว่าเท่านั้นน่ะเหรอ”
“ตำแหน่งนี้ต้องเป็นของฉัน ฉันไม่ยอมปล่อยให้เธอหรอก”
เห็นหรือยังคะว่าประเด็นหลักสำคัญที่ทำให้พวกนางบาดหมางกันคืออะไร? สิ่งนั้นก็คือเรื่อง “งาน” ค่ะ ละครแนวแซ่บแบบญี่ปุ่น จะไม่ตบตีแย่งคนรักค่ะ แต่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ

แก่งแย่งตำแหน่งกันในองค์กร หรือโค่นใครสักคนไม่ให้เดินไปถึงจุดที่สูงที่สุด ออกแนวอิจฉาริษยาคนที่ Lucky in Game มากกว่า Lucky in Love เรื่องผู้ชายก็อาจจะมีบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญค่ะ เป็นกิมมิคเสริมเข้ามาเพิ่มรสชาติ และความแซ่บค่ะ
ยกเว้นเรื่อง LIFE ที่สาเหตุหลักของการกลั่นแกล้งมาจากว่าตัวร้ายไม่พอใจที่นางเอกไปยุ่งกับแฟนของเธอ แต่ก็จะเห็นได้ว่าในวัยรุ่นวัยสาว ความรักมักเป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีความสำคัญ ฉะนั้นจึงเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดความบาดหมางใจสำหรับเด็กวัยนี้ได้
4. แฟชั่นเมคอัพจัดเต็ม แต่ยังเป็นแบบที่ใช้ได้จริงในชีวิตทั่วไป
ความแซ่บมักจะมาคู่กับการแต่งหน้าแต่งตัวแบบโฉบเฉี่ยว เพื่อไปเพิ่มน้ำหนักของความร้าย เราเลยเห็นแฟชั่นการแต่งตัวและเมคอัพการแต่งหน้าของตัวละครแนวๆ นี้ในแบบที่จัดเต็มมาก เสื้อผ้าก็ต้องอินเทรนด์ดูมีคลาส แต่งหน้าก็ต้องแต่งแบบให้เป๊ะ เขียนคิ้วให้คม งัดดั้งให้โด่ง ปากต้องสีเจ็บๆ ในละครญี่ปุ่นเองก็เป็นแบบนี้ค่ะ แต่การแต่งตัวแต่งหน้าของเขายังคงเป็นในแบบที่เอาไปประยุกต์แต่งได้จริงใน ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แฟชั่นที่อยู่ได้แค่ในละคร


จะเห็นได้ว่าแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเทรนด์แฟนชั่น แต่เขาก็เลือกที่จะไม่จัดเป๊ะไปซะทุกเรื่องทุกฉาก การแต่งตัวของตัวละครมักจะขึ้นอยู่กับหน้าที่การงาน และสภาพแวดล้อมของตัวละครเป็นหลักค่ะ ถ้าอยากแต่งแบบเลิศๆ เมคอัพเต็มๆ ก็ทำได้ แต่ต้องมีสถานการณ์หรือเหตุผลอะไรบางอย่างมารองรับให้เห็นว่า ทำไมถึงต้องแต่งหน้าแต่งตัวกันถึงขนาดนั้น
5. เป็นแนวละครที่พบเจอได้น้อย
หลายคนที่อ่านมาอาจจะรู้สึกว่าทำไมยกตัวอย่างละครเรื่องซ้ำๆ กัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าละครแนวแซ่บๆ ของญี่ปุ่นมีน้อยมากค่ะ ดิฉันเองก็พยายามนั่งนึกอยู่นานมาก แต่ก็คิดออกได้แค่ไม่กี่เรื่อง อาจเป็นเพราะว่าแนวละครญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะเน้นละครอย่างพวกสืบสวนสอบสวน แนวอาชีพ เนื้อหาเครียดๆ หน่อย (แต่ให้ข้อคิดและกำลังใจให้กับคนดู) ละครที่ถึงใจจริงๆ ไม่ใช่แนวเค้นอารมณ์ความโกรธ ความเศร้าออกมาแบบสุดๆ แต่เป็นละครอะไรบางอย่างที่ดูแล้วกระทบใจแล้วอิ่มใจชวนให้คิดต่อมากกว่าค่ะ
ลักษณะของละครแซ่บๆ แบบญี่ปุ่นก็เป็นประมาณฉะนี้ค่ะ บางจุด บางอย่างก็มีความคล้ายคลึงกับละครแนวแซ่บๆ บ้านเราอยู่เหมือนกันนะคะ แต่ก็มีบางจุดที่ดูเป็นลักษณะเฉพาะแบบญี่ปุ่น แม้จะแซ่บจะเด็ดถึงใจขนาดไหน แต่ก็น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยเห็นละครแนวนี้ได้อย่างบ่อยๆ เรียกได้ว่าเป็นของหายากในละครญี่ปุ่นเลยล่ะค่ะ!
ทักทายพูดคุยกับ ChaMaNow ได้ที่ >>> Facebook Sakura Dramas
เรื่องแนะนำ :
– เรื่องแบบนี้ไม่มีในข่าวบันเทิงญี่ปุ่น
– ว่าด้วยเรื่องบทคนรับใช้ในละครญี่ปุ่น
– เหตุผลที่ทำให้ Live Action ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
– 7 สาเหตุที่ควรชวนคนสำคัญดู “อามะจัง”
– ความจริง 20 ข้อ เกี่ยวกับละครญี่ปุ่น