มีลูกเพจ 2 ท่านเขียนมาถามถึงการเตรียมตัวเพื่อไปงานแต่งคนญี่ปุ่น ซึ่งพิธีรีตองเยอะมาก ดิฉันเลยขออนุญาตนำมาเขียนเปรียบเทียบกันแบบสนุก ๆ ตามนี้เลยค่ะ
เดือนนี้ดิฉันได้รับซองแต่งงานมาแล้ว 3 ซอง … ที่พิเศษคือ หนึ่งในนั้นเป็นนักเขียนใน Marumura นี่แหละค่ะ! (ไม่ใช่ดิฉันนะคะ ไม่ต้องห่วงไป) ปลาบปลื้มกับการจ่าหน้าซองของนักเขียนท่านนี้มาก ๆ ใครว่าการจ่าหน้าซองเชิญแขก ต้องเป็นแค่ชื่อกับนามสกุล
ประจวบกับมีลูกเพจ 2 ท่านเขียนมาถามถึงการเตรียมตัวเพื่อไปงานแต่งคนญี่ปุ่น ซึ่งพิธีรีตองเยอะมาก ดิฉันเลยขออนุญาตนำมาเขียนเปรียบเทียบกันแบบสนุก ๆ ตามนี้เลยค่ะ
1. การ์ดเชิญ
ไทย: การ์ดเชิญ บอกชื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาว พร้อมแผนที่ไปสถานที่จัดงาน
ญี่ปุ่น: เหมือนไทย แต่มีไปรษณียบัตรสำหรับตอบกลับการร่วมงาน แขกทุกคนต้องตอบว่าจะไปหรือไม่ไป เพราะเจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องกำหนดที่นั่งเป๊ะ ๆ ว่าใครนั่งตรงไหน โต๊ะไหน
2. ซองที่ใส่ให้บ่าวสาว
ไทย: เอาเงินใส่ซองที่ได้รับการ์ดเชิญมานั่นแหละ บนซองมีชื่อเราเขียนอยู่แล้ว สะดวกทั้งฝ่ายให้และฝ่ายรับ
ญี่ปุ่น: ห้ามใส่ซองเดิมเด็ดขาด! ต้องซื้อซองใหม่ แถมซองที่ใช้ในการแสดงความยินดีมีหลายแบบ โปรดเลือกแบบที่เป็นเงื่อนผูกไม่ทิ้งปลาย (ไม่งั้นแปลว่าแยกทางกัน) ทางที่ดีถ้าจะซื้อที่ญี่ปุ่น ให้คอนเฟิร์มกับเจ้าของร้านว่าจะเป็นซองใส่สำหรับงานแต่งงาน
ส่วนลายมือที่เขียนหน้าซองต้องเขียนด้วยพู่กันอย่างสวยงาม ย้ำว่า “อย่างสวยงาม” ดิฉันไม่มีปัญญา เลยต้องไปซื้อซองที่ห้างและขอให้ทางห้างช่วยเขียนหน้าซองให้ เสียค่าเขียนซองไปเท่าไร จำไม่ได้แล้ว … แต่คนญี่ปุ่นพิถีพิถันตรงนี้มากค่ะ เขาเชื่อว่าแค่ซองก็แสดงออกถึงความตั้งใจของแขกแล้ว (TvT)

3. จำนวนเงินที่ใส่
ไทย: แล้วแต่ ขึ้นอยู่กับความสนิทสนมกับบ่าวสาว ความหรูหราของสถานที่จัดงาน ถ้าเราแต่งก่อนเขาก็ไปเปิดสมุดบัญชีดูว่า งานเราเขาให้เท่าไร แล้วก็ให้เท่า ๆ กัน (555)
ญี่ปุ่น: ต้องใส่ซองเป็นเงินคี่ เรทปกติตามตลาด คือ 1-3-5 หมื่นเยน (ตกประมาณ 3-6 พันบาท…แพงกว่าไทยเยอะ) เลขสอง…ใส่ซอง 2 หมื่นเยนไม่ได้ เพราะเขีนเลข 2 เป็นคันจิ 二 แล้วเหมือนการแตกแยก ส่วนเลขสี่พ้องกับคำว่า ชิ คือความตาย ส่วนเลข 9 ก็ใส่ไม่ได้ เพราะอ่านว่า คุ มาจากคำว่า คุรุชิมิ แปลว่าทุกข์ร้อน ถ้าได้รับเชิญสามีภรรยา ประมาณ 5 หมื่นถึง 1 แสนเยนค่ะ
ข้อควรระวังคือ ต้องใช้ธนบัตรใหม่เท่านั้น เหมือนเป็นการอวยพรให้คู่รักที่กำลังจะเริ่มชีวิตใหม่ ธนบัตรใหม่นี้ไปแลกที่ธนาคารญี่ปุ่นที่ใดก็ได้ค่ะ ไม่เสียค่าธรรมเนียม (ถ้าแลกไม่ถึง 50 ใบนะคะ)
4. ของชำร่วย
ไทย: ของชำร่วยกระจุ๊กกระจิ๊ก ตะเกียบ ช้อนส้อม ขวดน้ำตาล อะไรก็ว่าไป พิมพ์ชื่อบ่าวสาวไว้นิดหนึ่งแขกจะได้จำได้
ญี่ปุ่น: จัดเต็มถึงเต็มที่สุด เพราะเขาถือว่าของชำร่วย ควรมีมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งของซองที่ได้รับ เช่น แขกให้ซอง 1 หมื่นเยน ของชำร่วยที่ให้ก็ควรมีมูลค่าประมาณ 4-5 พันเยน (ประมาณ 1,600 บาท!) จริง ๆ ญี่ปุ่นไม่เรียกของชำร่วยด้วย เรียกว่า “お返し:Okaeshi: ของที่มอบคืน (แทนคำขอบคุณ)” ค่ะ ตัวอย่างของชำร่วยญี่ปุ่น เช่น เซ็ทน้ำผลไม้ไฮโซ เซ็ทผ้าขนหนูไฮโซ ดิฉันเคยได้แบบเป็นแคตตาล็อก ชอบอะไรก็ไปเลือกเอาในนั้น สนุกสนานมาก รู้สึกคุ้มที่ไปงานแต่งคนญี่ปุ่น 555

5. ชุดที่ใส่ไปงาน
ไทย: ห้ามสีขาว ห้ามสีดำ งานช่วงหลัง ๆ มักมีธีมว่าอยากให้แขกร่วมงานใส่สีอะไร
ญี่ปุ่น: ห้ามสีขาว แต่โอเคกับสีดำมาก ๆ เพราะถือว่าเป็นสีของความเรียบร้อย สุภาพ แต่อย่าเล่นแต่งดำไปทั้งตัวนะคะ อันนั้นคงเอาไว้ไปงานแต่งแฟนเก่าได้กรณีเดียว ผู้หญิงแต่งเดรสหรือวันพีซสีดำได้ แต่ให้หาผ้าคลุมไหล่สีสดใส หรือเป็นใยแก้วบาง ๆ วิบวับคลุมค่ะ ส่วนผู้ชายสูทดำได้ค่ะ แต่อย่าเนคไทดำใส่เนคไทสี ๆ
6. เวลาที่ควรไปถึงงาน
ไทย (เกตุวดี only?): ถ้าในการ์ดบอก 6 โมง อาจไปถึงสักหกโมงกว่า ๆ หกโมงครึ่งก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นโต๊ะจีนไม่ต้องไปเร็วมาก ถ้าถึงเร็วคงได้แต่นั่งแทะข้าวเกรียบหงุบหงิบ กว่าจะเสิร์ฟโน่น…ทุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเป็นค็อกเทลกับบุฟเฟ่ต์ เราจะพยายามไปตรงเวลาเพื่อไม่ให้ของกินหมดงาน (555…ขอโทษนะคะ ไม่ควรเหมาว่าไทย เพราะนี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนล้วน ๆ)
ญี่ปุ่น: ถ้าในการ์ดบอก 12.00 น. คือ เริ่มเที่ยงตรงจริง ๆ ทุกอย่างดำเนินตามเวลาเป๊ะ ๆ ถึงกับมี agenda บอกในการ์ดว่ากี่โมง จะทำอะไร มีอะไรบ้าง (เช่น 12.45 น. ประธานขึ้นกล่าวอวยพร)
7. เวลาเลิกงาน
ไทย (เกตุวดี only?): อาหารหมด เราก็กลับ
ญี่ปุ่น: ตามเวลาที่ระบุไว้ในการ์ด บ่าวสาวจะออกมายืนส่งหน้างาน โค้งขอบคุณ ส่วนแขกก็จะลุกพร้อมกันหมด แล้วทยอยเดินเข้าแถวออกจากสถานที่จัดงาน โอ….ช่างพร้อมเพรียง
งานไทยสบาย ๆ งานญี่ปุ่นค่อนข้างพิธีรีตอง จากการไปงานแต่งมาหลายสิบงานทั้งของไทยและของญี่ปุ่น ดิฉันขอยืนยันว่าไม่ว่างานแต่งแบบไทยหรือแบบญี่ปุ่น ก็ล้วนอบอวลมุ้งมิ้งไปด้วยบรรยากาศแห่งความรัก ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ไม่ว่าชาติใด วัฒนธรรมไหนก็น่าประทับใจค่ะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านที่กำลังจะไปเป็นแขกในงานแต่งงานนะคะ
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– ชามใครก็ชามมัน…วิถีการทานของครอบครัวญี่ปุ่น
– ถ้าโลกนี้ไม่มีแมว… โลกใหม่หลังจากบางสิ่งสูญหายไป
– อามะ … อาชีพน่าเหลือเชื่อของผู้หญิงญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมากว่า 2 พันปี
– มารู้จัก MUJI กันจริง ๆ
– หนุ่มญี่ปุ่นตัดสินใจแต่งงานเมื่อไร