เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงวันปีใหม่..แล้วก็ต้องสะดุดตากับการตกแต่งอาคารรับปีใหม่แบบญี่ปุ่นที่ดูแปลกตา แต่สวยเก๋เข้าท่า มีเสน่ห์จนต้องเก็บภาพมาไว้ดูเล่น อยากจะรู้มากว่ามันคืออะไร หรือเอามาวางทำสวยไว้แค่นั้นเอง
เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงวันปีใหม่..แล้วก็ต้องสะดุดตากับการตกแต่งอาคารรับปีใหม่แบบญี่ปุ่นที่ดูแปลกตา แต่สวยเก๋เข้าท่า มีเสน่ห์จนต้องเก็บภาพมาไว้ดูเล่น อยากจะรู้มากว่ามันคืออะไร หรือเอามาวางทำสวยไว้แค่นั้นเอง เสียดายที่หาคนตอบแบบจริงๆ จังๆ ไม่ค่อยได้ รู้แต่ว่าพอถึงปีใหม่ก็ตกแต่งกันอย่างนี้ทุกปี
กลับมาถึงเมืองไทยแล้วก็ยังคาใจอยู่ดี เลยต้องหาความรู้กันหน่อย ไหนๆ ก็ยังอยู่ในช่วงต้อนรับปีใหม่กันนี่นา เผื่อใครผ่านไปผ่านมาเห็นบางแห่งตกแต่งแบบนี้บ้าง ก็จะได้ร้องอ๋อ! นี่เป็นสไตล์ของคนญี่ปุ่นเขานะ
นี่คือภาพของสิ่งที่ไปเห็นมา เป็นการตกแต่งของโรงแรมน่ะ ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า คาโดมัทสึ (Kadomatsu, 門松) แปลกันตรงๆ ว่า “ประตูสน” มีลักษณะคล้ายกับกระถางหรือแจกันขนาดใหญ่พันด้วยฟางถัก เป็นของประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือนช่วงปีใหม่ ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะหน้าตาที่ไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปแล้วจะประกอบด้วยไม้ไผ่ กิ่งสน และอาจจะมีช่อดอกบ๊วย หรืออื่นๆ ที่มีความหมายเป็นสิริมงคลด้วยก็ได้
“คาโดมัทสึ” นี้คนญี่ปุ่นนิยมจัดตกแต่งในช่วงปีใหม่กันมาก คล้ายๆ กับที่ชาวคริสต์ตกแต่งต้นสนช่วงวันคริสต์มาสเลย โดยเขาเชื่อกันว่า ถ้าตั้งคาโดมัทสึไว้หน้าบ้าน อาคาร หรือสำนักงานต่างๆ ประมาณว่าอะไรที่เป็นทางเข้าก็ตั้งเอาไว้ตรงนั้นเลย เป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าผู้นำปีใหม่มาให้ ชื่อว่าToshogami (年神) บางคนก็เรียกว่า Shōgatsu-sama ซึ่งเป็นเทพเจ้าในศาสนาชินโต ที่ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องพิธีรีตองมาก จึงต้องใส่ใจกับการจัดแต่งคาโดมัทสึกันพอสมควร แล้วสิ่งนี้ยังเป็นเสมือนสถานที่สถิตย์ชั่วคราวของท่านในช่วงปีใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงถึงการต้อนรับดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่จะกลับมาในช่วงปีใหม่
บ้างก็ว่าการจัดคาโดมัทสึนั้น เป็นการขอให้สุขภาพของคนในครอบครัวสมบูรณ์แข็งแรงและขอให้มีแต่ความโชคดี บางทีก็ถือว่าคาโดมัทสึนั้นเป็นทวารบาล หรือเทพผู้พิทักษ์ประตูด้วย อาจจะมีเหตุผลเนื่องมาจากว่า ในสมัยเอโดะ (ราวปี 1400) เกือบทุกบ้านจะต้องมีไผ่ลำใหญ่ใหญ่ เติมน้ำและทรายวางไว้หน้าประตูบ้านเสมอๆ เผื่อกรณีเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดได้บ่อยมากในสมัยนั้น จึงทำให้จำเป็นต้องมีเทพผู้พิทักษ์คอยเฝ้าดูแลบ้านไว้ให้อุ่นใจกันสักหน่อยกระมัง
จริงๆ แล้วคาโดมัทสึนั้น มักจะจัดกันไว้เป็นคู่ แต่ปัจจุบันบ้านหลังเล็กๆ หรือบ้านคนโสดก็มักจะนิยมจัดไว้อันเดียว หรือไม่ก็ใช้แบบพลาสติกไปเลย นำมาใช้ได้หลายปีแล้วยังช่วยประหยัดได้อีกด้วย เพราะราวๆ วันที่ 7 ม.ค. คาโดมัทสึ (สด) ก็จะถูกนำไปที่วัดเพื่อเผาให้เทพเจ้าและยังปลดปล่อยให้ท่านได้กลับไปยังที่ที่ท่านมา
วิธีการประดิษฐ์คาโดมัทสึนั้นเริ่มต้นกันที่ “ไม้ไผ่” ซึ่งหมายถึง ความมั่งคั่งและอุดมสมบูรณ์ ที่ได้ความหมายแบบนี้ก็เพราะว่าไผ่นั้น เป็นไม้ที่ลำต้นแข็งแรงมาก เมื่อโตขึ้นลำต้นก็ยังตั้งตรง สูงตระหง่านเสียดฟ้า อีกทั้งยังมีโครงสร้างของรากที่มั่นคงแข็งแรงด้วย
พอได้ไผ่ต้นไม้ที่มีคุณประโยชน์โดดเด่นของญี่ปุ่นมาแล้ว (ไม้ไผ่สีเขียวสด ตัดใหม่ๆ กลิ่นก็หอมมีเอกลักษณ์มาก) ก็นำมาตัดเฉลียง คือการตัดแบบทแยงมุม ที่คนไทยมักเรียกว่าตัดเป็น “ปากฉลาม” ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันเหมือนกันตรงไหน พอได้ไม้ไผ่ตัดเฉลียง 3 ลำ ก็นำมามัดติดกันเอาไว้ โดยจัดให้ทั้ง 3 ลำนั้นสูงต่ำไม่เท่ากัน
ลำที่อยู่สูงสุดหมายถึงสรวงสวรรค์ ลำที่ต่ำลงมาหมายถึงมนุษยชาติ และลำที่อยู่ต่ำสุดหมายถึงโลก บางตำราก็จัดให้โลกและมนุษยชาติอยู่ในระดับเดียวกัน
หลังจากนั้นก็ได้เวลาตกแต่งกันต่อด้วย “กิ่งสน” ซึ่งหมายถึง อายุมั่นขวัญยืนและความอดทนอดกลั้น เพราะว่าต้นสนนั้นเป็นไม้ใหญ่ โตได้สูงราวกับหอคอย แถมยังอึดอีกด้วย แล้วก็ตามมาด้วย “กิ่งบ๊วย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ความซื่อสัตย์จงรักภักดีไม่เปลี่ยนแปลง เพราะว่าลำต้นและกิ่งก้านของบ๊วยมีความเป็นระเบียบ ประณีต สะอาดตา และไม่ว่าฤดูหนาวจะหฤโหดขนาดไหน พอเข้าฤดูใบไม้ผลิ ต้นบ๊วยก็จะกลับมาบานสะพรั่งได้อย่างงดงามไม่เปลี่ยนแปลง
มัดของตกแต่งทั้งหมดด้วยเชือกฟางสะอาดทถักใหม่ๆ ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ ที่อยู่ร่วมกันได้กับธรรมชาติ และใส่ใจสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มาก ช่างประณีตกันเสียเหลือเกิน
ดูแล้วการทำคาโดมัทสึนี้ ก็คล้ายกับการจัดดอกไม้สไตล์ญี่ปุ่น และยังมีความหมายมาก รวมๆ แล้วก็คือการขอให้อายุยืนยาว มีความมั่นคงมั่งคั่ง นอกจากนี้ยังแสดงถึงความเคารพและความแน่วแน่อีกด้วย พอทำเสร็จแล้วก็สามารถนำไปวางไว้ด้านนอกประตูทั้งสองฝั่ง หรือไม่ก็วางไว้ด้านใดด้านหนึ่งของประตู ปัจจุบันนี้ถือว่าไม่ผิดกติกาแต่ประการใด
นอกจากนี้ก็ยังมีการแต่งเชือกประดับ ที่เรียกว่า ชิเมคาซาริ (Shimekazari, 標飾り) ในช่วงปีใหม่ด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามความเชื่อของศาสนาชินโตเหมือนกับคาโดมัทสึ โดยใช้เชือกศักดิ์สิทธิ์ที่ทำจากฟางข้าว แต่งด้วยแถบกระดาษขาวตัดทแยงทำเป็นพู่ห้อย แล้วก็อาจจะใช้เฟิร์น ส้ม กุ้งมังกร และอื่นๆ ที่มีความหมายเป็นสิริมงคลด้วย เช่น “ส้ม” ก็ถือเป็นสัญลักษณ์แทน ความอุดมสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง มักจะใช้ส้มพันธุ์เล็กเรียกว่า daidai ซึ่งมีเสียงคล้ายกับคำที่มีความหมายว่ามากมายหลายรุ่น เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ และขอให้มีลูกหลานสืบทอดวงศ์ตระกูลมากมาย “กุ้งมังกร” ที่สื่อถึง อายุยืนยาวและ “สาหร่ายสีดำ หรือ konbu” ที่มีเสียงคล้ายกับคำว่า yorokobu ซึ่งแปลว่า ขอให้มีความสุข
ชิเมคาซารินั้นมีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กับพวงมาลา มีหลายขนาด ใหญ่ๆ ก็จะแขวนประดับเหนือคานนอกประตู เล็กๆ ก็อาจจะนำไปประดับประดาตามประตูต่างๆ ในบ้าน หรือเหนือเตาไฟในครัวก็ได้ เชื่อกันว่าจะช่วยป้องกันและขจัดสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาในบ้าน บางคนอาจจะถึงขนาดแต่งไว้ที่กระจังหน้ารถที่ล้างสะอาดสะอ้านเพื่อต้อนรับปีใหม่ด้วย (ไอเดียคุ้นๆ นะ)
แล้วภายในบ้านของชาวญี่ปุ่นก็อาจจะมีการจัดมุมใดมุมหนึ่งไว้ เพื่อรับรองแขกที่มาอวยพรปีใหม่โดยเฉพาะ เรียกว่า “โทโคโนมะ (Tokonoma, 床の間)” ซึ่งยกพื้นสูงขึ้น ตกแต่งด้วยภาพแขวนที่เรียกว่า “คาเคะจิกุ (Kakejiku, 掛軸)” เป็นภาพสัญลักษณ์หรือภาพสัตว์มงคล มีแจกันหรือถาดดอกไม้อิเคบานะ (Ikebana, 生け花) จัดตกแต่งไว้อย่างประณีต
และมีคะงะมิโมจิ (Kagami Mochi, 鏡餅) แปลตรงๆ ว่า “โมจิกระจก” แต่งไว้ด้วยตามความเชื่อแบบชินโต ซึ่งกระจกเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเทพเจ้า นอกจากนี้กระจกยังเป็น 1 ใน 3 เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นด้วย เรียกว่า “กระจกยาตะ (八咫鏡)” ถ้าดูจากในรูปอันแรกคือกระจกที่ว่า อันที่สองคือประแสงดาบ ส่วนอันล่างสุดคือเครื่องประดับมีค่าของราชวงศ์อิมพีเรียลของญี่ปุ่น
ทำให้คะงะมิโมจินี้จึงมีรูปร่างคล้ายๆ กับกระจกสมัยก่อนด้วยมั้ง แล้วพอประมาณวันที่ 11 ม.ค. ก็จะมีการตัดโมจิลูกเล็กไปทำอาหาร เป็นพิธีที่เรียกว่า คากามิ บิรากิ (Kagami biraki, 鏡開き) หรือการเปิดกระจก เพื่อความโชคดี
นอกจากนี้อาจจะตั้งชุดกาและจอกเหล้าโบราณรสแรง ที่เรียกว่า โอโทโสะ (Otoso, 屠蘇) ไว้ด้วย เพื่อดื่มอวยพรกันตามประเพณี ถ้าเป็นสมัยก่อนบ้านซามูไรทั้งหลาย ก็จะเอาชุดเกราะมาตั้งประดับไว้ด้วย
การตกแต่งบ้านรับปีใหม่แบบญี่ปุ่นนี้ ยังมีรายละเอียดทั้งทางศาสตร์และทางศิลป์อีกมากมาย แต่ที่น่าสนใจก็เห็นจะเป็นธรรมเนียมที่ต้องจัดให้เสร็จก่อนวันที่ 30 ธ.ค. บางตำราก็ว่านิยมจัดตกแต่งบ้านรับปีใหม่ให้เสร็จตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค. เพราะชาวญี่ปุ่นถือว่าเลข 8 เป็นเลขนำโชค จึงเลือกเอาวันสุดท้ายของปีที่มีเลข 8 อยู่ด้วยมาเป็นวันมงคลในการจัดแต่งประดับประดาบ้านเรือน และจะจัดกันไว้อย่างนี้จนถึงราวๆ วันที่ 7 ม.ค.
ธรรมเนียมการประดับประดาบ้านเรือนของชาวญี่ปุ่นแบบนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยมุโรมาจิ (1336 – 1573) ถือว่ามีประวัติย้อนหลังไปได้ยาวนานเลยนะ แล้วการจัดตกแต่งแต่ละอย่างก็ยังสะท้อนถึงความเชื่อที่ยังคงมีความลึกซึ้งอีกมากมาย ไม่รู้ว่าคนญี่ปุ่นสมัยนี้จะรู้และเข้าใจในธรรมเนียมนี้กันขนาดไหน แต่ยังไงเค้าก็ยังถือปฏิบัติกันมา แถมยังนำมาจัดตกแต่งกันได้อย่างงดงามร่วมสมัยเสียด้วย ยอดจริงๆ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
http://en.wikipedia.org/wiki/Kadomatsu
http://www.bemyshelf.com/webboard_detail.php?id=123
http://www.hamamoto-house.com
http://townmunakata.blog15.fc2.com/blog-entry-36.html
http://www.japanikuiku.com/143/sacred-straw-festoon-shimekazari/