อย่าทิ้งของกินญี่ปุ่นที่หมดอายุแล้วในทันที…สำหรับที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ไม่ได้มีแต่ “วันหมดอายุ” เท่านั้น อาหารหรือขนมจำนวนไม่น้อยที่จะมี “วันหมดอายุที่อาหารอร่อย” ด้วยนะ อย่างหลังนี้เราเรียกง่ายๆ ว่า “วันหมดความอร่อย”
เวลาที่เราซื้ออาหารหรือขนม ไม่ว่าจะซื้อกินเองหรือซื้อเผื่อแผ่ฝากผู้อื่น เราก็มักจะต้องดูวันหมดอายุกันใช่มั้ยล่ะ (ถ้าใครไม่ดู … อันนี้ก็ไม่รู้จะช่วยยังไงนะจ้ะ)
แต่สำหรับที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ไม่ได้มีแต่ “วันหมดอายุ” เท่านั้นนะสิ อาหารหรือขนมจำนวนไม่น้อยที่จะมี “วันหมดอายุที่อาหารอร่อย” ด้วยนะ อย่างหลังนี้เราเรียกง่ายๆ ว่า “วันหมดความอร่อย”

ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียก “วันหมดอายุ” ว่า 消費期限 (โช-ฮิ-คิ-เก็ง) ส่วนคำว่า “วันหมดอายุความอร่อย” นั้นจะเรียกว่า 賞味期限 (โช-มิ-คิ-เก็ง)
วันหมดอายุ (โช-ฮิ-คิ-เก็ง, shohi kigen) คือ วันที่อาหารหรือขนมนั้นจะเสีย กินไม่ได้แล้ว ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ค่อนข้างเซ้นสิทีฟเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและ สาธารณสุขของประชาชนมาก ดังนั้นวันหมดอายุมักกำหนดล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุจริงประมาณ 2 – 3 วัน เพราะฉะนั้น เต้าหู้เอย นมสดเอย แม้จะหมดอายุแล้ว คุณก็ยังสามารถทานต่อได้อีกประมาณ 3 – 4 วันอย่างสบายๆ
สำหรับ shohi kigen นี้มักจะใช้กับอาหารที่เน่าเสียง่าย เช่น ข้าวปั้นสามเหลี่ยม ข้าวกล่องเบนโตะ แซนวิช หรือเค้กที่มีวิปครีมสด เป็นต้น

ส่วน วันหมดอายุความอร่อย (โช-มิ-คิ-เก็ง, shomi kigen) คือ วันสุดท้ายที่อาหารหรือขนมจะคงสภาพความสดและอร่อยอยู่ เช่น ถ้าห่อขนมติดว่า โช-มิ-คิ-เก็ง คือวันที่ 1 พฤษภาคม แปลว่า ขนมนั้นจะรสชาติดีจนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ถ้าเลยจากนั้นไป คุณก็จะยังทานได้ แต่เตือนไว้ก่อนว่าจะไม่อร่อยเท่าเดิมแล้วนะ เพราะฉะนั้น สินค้าแบบนี้ แม้จะเลยวันหมดอายุความอร่อยไปแล้ว แต่เรายังกินต่อได้อีกเป็นอาทิตย์
Shomi kigen มักจะถูกระบุในอาหารหรือขนมประเภท มันฝรั่งทอด (potato chip) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารกระป๋อง เป็นต้น

ที่น่าสนใจ (และควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง) ก็คือ…อาหารที่เน่าเสียง่ายบางชนิดกลับระบุวัน Shomi kigen (วันหมดความอร่อย) แทนที่จะเป็น shogi kigen (วันหมดอายุ) ซะงั้น เช่น นม ไข่ แฮม และเต้าหู้ เป็นต้น
ดังนั้นหากพบว่าบนฉลากอาหารหรือขนมของญี่ปุ่นมันระบุว่าหมดอายุแล้ว ก็พึงระลึกไว้ให้ดีว่า อย่าเพิ่งทิ้งของกินญี่ปุ่นที่หมดอายุแล้วในทันที…เพราะมันยังกินได้อีกหลายวัน!

แต่ที่ควรระลึกไว้ให้ดีกว่าก็คือ…เขาอุตส่าห์เป็นห่วงสุขภาพผู้บริโภคอย่าง ที่สุด อุตส่าห์กำหนดทั้ง “วันหมดอายุ” และ “วันหมดอายุความอร่อย” ไว้ให้อย่างระมัดระวังแล้ว ในฐานะผู้บริโภคที่ดีก็ควรใช้วิจารณญาณในการบริโภค ใช้ทั้งทักษะการดู (สี) การดม (กลิ่น) การชิม (รส) ก่อนตัดสินใจกินอย่างจริงๆ จังๆ ก็แล้วกัน ยังไงก็ควรบริโภคก่อนวันหมดอายุนั่นแหล่ะดีที่สุด เพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านนะจ้ะ 😉
อ้อ! เรื่อง “วันหมดอายุ” กับ “วันหมดอายุความอร่อย” นี้ จากการวิจัยของ Consumer Affairs Agency ที่โตเกียว …แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็ยังงงๆ สับสนอยู่เหมือนกัน ฮะ ฮะ
แต่ก่อน..จนกระทั่งปี 1995 ที่บริษัทอาหารหรือขนมต่างๆ จะต้องระบุ “วันผลิต” แต่ปัจจุบันก็ปรับมาใช้มาตรฐานสากลคือระบุ “วันหมดอายุ” แทน แล้วก็พยายามพัฒนาวิธีการระบุเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคให้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อลดปริมาณการทิ้งอาหาร (shokuhin rosu) ของประเทศด้วยนั่นเอง

เรื่องที่น่าปวดหัวเป็นที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องการลำดับวันที่หมดอายุน่ะสิ ^^”
ที่ญี่ปุ่นจะยึดหน่วยใหญ่เป็นหลัก จึงมักจะลำดับแบบนี้ ปี-เดือน-วัน แต่ที่ชวนเวียนหัวที่สุดก็คือบางทีก็ใช้เป็นปีญี่ปุ่น บางทีก็ใช้ปีฝรั่ง เพราะจะมีทั้งแบบ 2014.04.09 (อันนี้ง่ายๆ ปีฝรั่งชัดๆ ตามด้วยเดือน และวัน) แต่ถ้าเป็น 26.1.15 ล่ะ หึ หึ ถ้าเป็นแบบนี้ (อันนี้ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ก็ต้องงงกันมั่งแหล่ะ แต่เพราะเค้านิยมใช้ปีขึ้นหน้า ก็ต้องเป็นปี 26 ไง (ปีญี่ปุ่น เฮเซที่ 26 = ปี 2014 นั่นแหล่ะ) ถ้าใครไม่รู้..มีมึนแน่ๆ