ร้านคาเฟ่ญี่ปุ่นมักจะตกแต่งเรียบๆ แต่น่ารักสบายตา ในร้านจะเงียบๆ หรือไม่ก็เปิดเพลงสบายๆ เบาๆ คลอเป็นบรรยากาศที่สงบมากค่ะ ยอมรับว่ารสชาติอาหาร…มีอร่อยบ้าง จืดบ้าง แปลกนิดๆ บ้าง แต่สิ่งที่ชนะใจดิฉันและทำให้ดิฉันติดคาเฟ่ญี่ปุ่น คือ…
เวลาไปเที่ยวหรือไปทำงานที่ญี่ปุ่น ดิฉันมักจะหาโอกาสแวะเข้าร้านคาเฟ่เล็กๆ เสมอๆ (วิธีสังเกตร้านคาเฟ่ญี่ปุ่น: มองต่ำๆ เข้าไว้ ร้านพวกนี้มักชอบตั้งป้ายเล็กๆ พร้อมลูกศรชี้ไปที่ร้าน)
ร้านคาเฟ่ญี่ปุ่นมักจะตกแต่งเรียบๆ แต่น่ารักสบายตา ในร้านจะเงียบๆ หรือไม่ก็เปิดเพลงสบายๆ เบาๆ คลอเป็นบรรยากาศที่สงบมากค่ะ ยอมรับว่ารสชาติอาหาร…มีอร่อยบ้าง จืดบ้าง แปลกนิดๆ บ้าง แต่สิ่งที่ชนะใจดิฉันและทำให้ดิฉันติดคาเฟ่ญี่ปุ่น คือ การจัดอาหารอย่างเก๋ไก๋ค่ะ พนักงานยกมาเสิร์ฟทีไร ดิฉันต้องแอบร้องว้าวในใจทุกที (ถ้าไปกับเพื่อนผู้หญิงญี่ปุ่น ก็จะร่วมกันประสานเสียง “สุโก้ยยยย” “โออิชิโซ่!!!”)
ครั้งนี้ดิฉันรวบรวม 4 เทคนิคการจัดอาหารสไตล์ร้านคาเฟ่ญี่ปุ่น เพื่อให้ทุกท่านได้มีโอกาสสุนทรีเสมือนได้ไปญี่ปุ่นกันค่ะ
1. จัดจานให้มี “สีสัน”
เป็นเทคนิคขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในบรรดาเทคนิคทั้งหมด ข้ออื่นทำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่ข้อนี้ยังไงก็ต้องทำให้ได้ คำว่าจัดจานให้มีสีสันในที่นี้ คือ อย่าให้อาหารในจาน มีแต่สีซีดๆ หรือสีเดียวกัน อย่างน้อยควรมีสีเขียว เหลือง แดง

ถ้าเป็นบ้านเรา สิ่งที่ช่วยเพิ่มสีสันในจานและควรมีในตู้เย็น คือ ผักชี มะเขือเทศราชินี (หรือมะเขือเทศลูกเล็กๆ) งาดำ ไข่ไก่ วัตถุดิบเหล่านี้จะช่วยเพิ่มสีสันได้ดีมาก ดิฉันมักใช้งาดำคั่วโรยบนข้าวขาว ทำให้จานดูมีสีสันตัดกันมากขึ้น (ผักชีกับต้นหอม เป็นผักที่บอบบางและเหี่ยวง่ายมาก เลยไม่ค่อยซื้อติดคอนโด)
ถ้าบ้านไหนอู้ฟู่หน่อย ลูกสตรอเบอร์รี่ ลูกเชอร์รี่ หรือเบอร์รี่ต่างๆ ก็จะช่วยให้สายตาคุณดีขึ้น ….เอ่อ…และทำให้จานดูงดงามขึ้นได้แบบเลอค่าเลยทีเดียว


2. เทคนิค “กองๆ”
พยายามจัดอาหารให้ดูมีมิติ อย่าให้อาหารดูแบนๆ ราบเรียบไปกับจาน เช่น ผักสลัด ก็ใช้มือหยิบๆ ให้เป็นกองผักเล็กๆ อืม….เรียก “กอง” ฟังดูน่าเกลียด เอาใหม่ …. จัดผักหรือกับข้าวให้เป็นทรงพุ่มไม้น้อยๆ แต่พองาม ….



3. เทคนิค “ถ้วยๆ”
หากอาหารเรามีพวกน้ำพริกน้ำแกง จะทำอย่างไรดี …. คำตอบ … หาถ้วยเล็กถ้วยน้อยมาใส่ค่ะ ถ้วยจะทำให้จานของเราดูมีมิติขึ้นด้วย



อันนี้เป็นถ้วยใบโปรดของดิฉัน ใสๆ เรียบๆ วางแล้วจานดูไม่แน่นเกินไปด้วย เพราะแก้วโปร่งใส ซื้อที่ IKEA ค่ะ เดิมเขาเอาไว้ใส่เทียน แต่ดิฉันเห็นสวยดีเลยซื้อมา ใบละ 10 บาทเองค่ะ
ใบนี้ซื้อที่ตลาดที่ขายของโละๆ จากญี่ปุ่น เป็นถ้วยทรงพานเล็กๆ เวลาวางบนจานจะทำให้จานดูมีระดับสูงต่ำ เก๋ดีเหมือนกันค่ะ (แต่ทรงนี้เมืองไทยน่าจะมีน้อย)
ถ้วยเหล่านี้ซื้อในเมืองไทยหมด หาซื้อง่ายและไม่แพง แต่ทำให้อาหารเราดูแพงได้ควรค่าแก่การซื้อไว้ใช้ค่ะ
4. เทคนิคจุ๋มจิ๋ม
กล่าวคือ วางอาหารต่างๆ ให้จุ๋มจิ๋มค่ะ หย่อมละนิดกองละหน่อย หากใช้จานใหญ่ปริมาณอาหารไม่ควรเกิน 30-40% ของขนาดจาน เหลือพื้นที่ให้อาหารได้ขยับตัวบ้าง …. นั่นแหละค่ะ จินตนาการว่าอาหารมีชีวิตและเขาก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัวของเขา เวลาจัดจานให้คิดแบบนั้นเสมอ อย่างภาพข้างล่างนี่จัดแน่นเกินไปทำให้ดูอึดอัด ไม่สบายตา


ข้อดีของเทคนิคจุ๋มจิ๋ม คือ ทำให้เราทานน้อยลงไปโดยปริยาย เหมาะกับผู้ที่ปรารถนาจะไดเอ็ทด้วยค่ะ
และนี่คือ เทคนิคการจัดอาหารสไตล์คาเฟ่ญี่ปุ่น … จัดให้มีสีสัน จัดให้เป็นกองๆ อาจพึ่งถ้วยเล็กถ้วยน้อย และอย่าลืมความจุ๋มจิ๋มน่ารักนะคะ หากประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ไม่ว่าใครที่เห็นจานอาหารเราก็ต้องอุทานว่า คาวาอี้ แน่นอนค่ะ
ท่านใดมีภาพการจัดจานแบบญี่ปุ่นจุ๋มจิ๋ม แชร์กันมาในช่อง comment ได้เลยนะคะ อยากเห็นๆ
หมายเหตุ: สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำอาหารอาจปรับเทคนิคนี้เวลาไปทานบุฟเฟ่ต์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาไปเดทจะทำให้จานเราดูน่าทาน และดูเป็นสตรีมี sense… ดู Elegant ฮ่ะ)
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura
อ่าน Japan Gossip ทั้งหมด CLICK HERE
เรื่องแนะนำ :
– เครื่องดื่มที่มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นโปรดปรานมากที่สุด
– ซักกางเกงใน … ความเหมือนที่แตกต่าง
– ไปทานข้าวคนเดียวสไตล์กุลสตรีญี่ปุ่น
– “ซามะ” “ซัง” “จัง” “คุง” ….มาฝึกวิธีเรียกคนญี่ปุ่นกัน
– สิ่งที่ได้จากการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น…