มาทราบความเป็นมาที่แตกต่างกันระหว่างวันเด็กผู้หญิงและวันเด็กผู้ชายของญี่ปุ่นกันค่ะ ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับวันเด็กมากๆ ค่ะ อยากจะรู้แล้วล่ะสิว่าความเป็นมาเป็นอย่างไร ติดตามชมได้เลยค่ะ
สวัสดีค่ะทุกท่านกลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง กับเกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่นค่ะ
เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานั้น ทุกท่านก็ได้ทราบเรื่องราวของวันเด็กผู้หญิงคือวันที่ 3 มีนาคมมาแล้ว เป็นไงกันบ้างน่าสนใจไหมเอ่ย คราวนี้ Azu จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับวันเด็กผู้ชาย ให้ได้ทราบความเป็นมาที่แตกต่างกันระหว่างวันเด็กผู้หญิงและวันเด็กผู้ชายกันบ้าง ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับวันเด็กมากๆ อยากจะรู้แล้วล่ะสิว่าความเป็นมาเป็นอย่างไร ติดตามชมได้เลยค่ะ

Tan, Hashi (端) – มีความหมายว่า เริ่มต้น
Go, Uma (午) – มีความหมายว่า ม้า (ใน 12 ราศี) แต่ในที่นี้หมายถึงคำว่า Go (五) หรือเลข 5 นั่นเอง เพราะเนื่องจากมีการออกเสียงตัวคันจิเหมือนกัน จึงหมายถึงวันที่ 5 เดือน 5 ไปโดยปริยาย
Sekku (節句) – มีความหมายว่า เทศกาลประจำฤดูกาล
Kodomo (子供) – มีความหมายว่า เด็ก
Hi (日) – มีความหมายว่า วัน
Tango no sekku (端午の節句) เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยนาระ สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยเฮอันก็ได้รับธรรมเนียมประเพณีของสิ่งที่เป็นมงคลทั้ง 5 ที่สามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปได้ พอถึงสมัยเอโดะก็จึงถือว่าวันนี้เป็นวันเด็กผู้ชาย (Kodomo no hi 子供の日) คือวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี และให้ถือว่าเป็นวันหยุดราชการด้วย เพื่อให้ครอบครัวได้ร่วมเฉลิมฉลองอวยพรให้เด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์

สืบเนื่องจากสมัยนาระซึ่งได้รับวัฒนธรรมส่วนใหญ่จากจีน ตามพระราชวังหรือเหล่าขุนนางจะออกไปหาหญ้าสมุนไพร (Shoobu 菖蒲) ซึ่งใบมีลักษณะเรียวยาวและแหลมคมเปรียบเสมือนดาบ ด้วยเหตุนี้จึงมีความเชื่อว่าบรรดายักษ์ และภูตผีปีศาจจะกลัวไม่กล้าย่างกายเข้าหา รวมทั้งยังนำมาดองเพื่อทำเป็นเหล้าสาเกหรือที่เรียกว่า “เหล้าไอริส” ซึ่งเชื่อกันว่าจะขับไล่สิ่งไม่ดีต่างๆ โรคภัยไข้เจ็บ และขจัดวิญญาณสิ่งชั่วร้ายออกไปได้

บางครอบครัวจะนำเอาหญ้า Shoobu มาแขวนไว้ที่ชายคาบ้าน หรือนำมาใส่ในอ่างอาบน้ำ (Ofuro お風呂) โดยจะใช้ส่วนใบและรากของหญ้า Shoobu มาแช่น้ำร้อนไว้สำหรับอาบน้ำ
ในวันเด็กผู้ชายจะนิยมประดับตุ๊กตาหรือธงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงวันเด็กผู้ชาย ซึ่งสามารถเลือกประดับเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับฐานะของบ้านนั้นๆ ของประดับก็มีดังนี้

ในครอบครัวที่มีลูกชายมักจะประดับ ตุ๊กตานักรบ (Musha-ningyoo 武者人形) เสื้อเกราะ (Yoroi 鎧) หมวกเหล็กของนักรบ (Kabuto 兜) หรือที่เรียกว่า ตุ๊กตาเดือน 5 (Gogatsu-ningyoo 五月人形) ชุดเกราะทั้งหมดนี้มีหน้าที่ป้องกันร่างกายเมื่อมีสงครามจึงถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพร่างกายที่แข็งแกร่ง



พ่อแม่มักจะสอนให้ลูกของตนนั้นหัดพับกระดาษเป็นรูปหมวกนักรบ ก็เป็นการฝึกให้เด็กมีสมาธินะค่ะ นอกจากนี้ในครอบครัวที่มีลูกชายเล็กๆ ก็มักจะมีการชัก ธงปลาคาร์ฟ (Koi nobori) อีกด้วย


ปลาคาร์ฟเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นผู้ชาย ครอบครัวที่มีลูกชายมักจะชัก Koi nobori ขึ้น เพื่อขอพรให้เด็กผู้ชายเติบโตแข็งแรงมีความสุข สามารถเอาชนะกับสิ่งที่ยากลำบากในชีวิตและประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นความเชื่อตามตำนานจีนที่เล่าขานกันว่า มีลำธารที่เชี่ยวกรากอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำเหลืองและปลาคาร์ฟที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะสามารถว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปเพื่อจะกลายเป็นมังกรในที่สุด

การชักธงปลาคาร์ฟ (Koi nobori 鯉のぼり)
1. ติดกังหันลูกศรบนยอดเสาแล้วมัดล้อติดลงข้างใต้
2. ร้อยเชือกให้มีความยาว 2 เท่าของเสาไปบนล้อแล้วมัดปลายทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกันให้แน่นหนา
3. ตั้งเสาไว้ในสวน (ถ้าเป็น Apartment ก็จะตั้งเสาไว้ที่ระเบียงหรือหน้าต่าง) แล้วตรึงให้แน่น
4. ผูกธงสี (Fukinagashi 吹き流し) ไว้ที่ปมเชือกที่ร้อยไปบนล้อ
5. ค่อยๆ สาวเชือกแล้วผูกธงปลาคาร์ฟ (Koi nobori 鯉のぼり) สีดำขนาดใหญ่อยู่บนสุดและตามด้วยสีแดง และสีฟ้าซึ่งแต่ละขนาดก็เล็กลงไปตามลำดับ
ธงสี (Fukinagashi 吹き流し) | แสดงถึง กระแสน้ำ |
ปลาสีดำ (Magoi 真鯉) | แสดงถึง ความเป็นพ่อ |
ปลาสีแดง (Higoi 緋鯉) | แสดงถึง ความเป็นแม่ |
ปลาสีฟ้า (Kogoi 小鯉) | แสดงถึง ความเป็นลูก |
6. สาวเชือกจนกระทั่งธงสี (Fukinagashi 吹き流し) ขึ้นไปถึงล้อแล้วมัดเชือกเข้ากับเสา
7. ให้ลดธงสี (Fukinagashi 吹き流し) ลงในตอนเย็นหรือเมื่อฝนตก
โดยปกติจะเริ่มชักธงกันตอนกลางเดือนเมษายน ตามมาตรฐานแล้วมักจะชักธงแค่ปลา 3 สี (ชุดเล็ก) บางคนอยากให้ดูธงใหญ่ๆ ก็สามารถเพิ่มสีของปลาได้


ขนม 2 อย่างนี้คืออะไรเอ่ย ทุกท่านรู้จักกันไหมคะ?
สำหรับวันเด็กผู้ชายจะรับประทาน ขนมบ๊ะจ่างญี่ปุ่น (Chimaki ちまき) ซึ่งเป็นขนมแป้งต้มทำจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบไผ่แล้วนึ่ง ในสมัยก่อนจะห่อด้วยใบต้น Chigaya (茅) จึงเรียกว่า Chimaki (ちまき) และจะรับประทาน ขนมแป้งข้าวเหนียวไส้ถั่วแดงบดห่อด้วยใบโอ๊ก (Kashiwa-mochi 柏餅) ซึ่งทำจากแป้งข้าวเหนียวที่นวดแล้วแผ่เป็นรูปไข่ ยัดไส้ด้วยถั่วแดงหวานบด แล้วนำไปนึ่ง และห่อด้วยใบโอ๊ก

ใบ Kashiwa เป็นสัญลักษณ์ของลูกหลานที่เจริญเติบโต ลักษณะพิเศษของใบ Kashiwa คือ ถ้าใบใหม่ไม่งอก ใบเก่าก็จะไม่ร่วงโรย ซึ่งมีความหมายว่า พ่อแม่จะไม่ตายก่อนที่จะเห็นลูกหลานเกิด วงตระกูลจะยั่งยืนยาวนาน
วันนี้ Azu นำรูปบรรดาอาหารและขนมในช่วงวันเด็กผู้ชายมาให้ดูค่ะ อยากบอกว่าคนญี่ปุ่นตกแต่งอาหารและขนมได้น่ารักมากๆ เห็นแล้วจะไม่อยากทานกันเลยทีเดียว~~

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นวันเด็กผู้ชายหรือวันเด็กผู้หญิง วัฒนธรรมประเพณีของคนญี่ปุ่นก็ล้วนหมายถึง การอวยพรให้บุตรชายหรือบุตรสาวของตนนั้น เติบโตแข็งแรง มีความสุข และมีชีวิตที่ราบรื่น สามารถเอาชนะสิ่งที่ยากสำบากในชีวิตได้ และประสบความสำเร็จทุกประการ
เรียบเรียงโดย : ทีมงานโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น เจ.เอ.ที. (JAT)
เอื้อเฟื้อโดย :
โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นแจ๊ท Jat (JAT Japanese language school)
http://www.jatschool.com
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ :
หนังสือวัฒนธรรมญี่ปุ่น. โอคะโมะโทะ โทะมิ(ผู้แต่ง), แสวง จงสุจริตธรรม(ผู้แปล), รศ.ปราณี จงสุจริตธรรม(ผู้แปล). วัฒนธรรมญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม, 2547
http://www.kagisho.co.jp/pages/contest1.htm
http://preserved-kei.jp/SHOP/008.html
http://milkrown.livedoor.biz/archives/50974996.html
http://kotomin.jp/shop/00000316168/news?d=350191
http://item.rakuten.co.jp/mon-juillet/mon-412/
http://tenjinsite.jp/topics/detail.php?hid=29060
http://baigetsu.hamazo.tv/d2010-04.html
http://www.katashima.co.jp/info/2011/04/post_398.html
http://babyxbaby.com/recipe/charaben/000107.php
http://blog.livedoor.jp/chiyogaigo/archives/2010-05.html?p=2
http://www.misaki.rdy.jp/illust/kisetu/ivent/kodomo/sozaitext/1603.htm
http://blog.livedoor.jp/kisetu_sozai-illust/archives/5408374.html
http://rosell.ti-da.net/d2009-04.html
http://ma304.blog61.fc2.com/blog-category-6.html
http://kamohanashobuen.blog61.fc2.com/blog-entry-99.html
http://mondbar.cocolog-nifty.com/photos/uncategorized/p1000002s.jpg